Skip to main content

นายยืนยง

20080528 ปาจา
(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)
ภาพจาก :
http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16

ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร
ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕
จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม

ฤดูฝนตก ฟ้าย่อมเปียกปอน จะออกจากบ้านไปไหนทีก็ยากลำบาก หนึ่งคือกลัวเปียกทั้งอาศัยอยู่ใต้ฟ้า สองคือไม่รู้แห่งจะไป หยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาจากความทรงจำที่ไหนสักแห่ง ความกังวลก็แล่นหายไป

นิตยสาร หมายถึง หนังสือที่พิมพ์ออกเป็นประจำสัปดาห์หรือปักษ์ หรือเดือน บางฉบับอ่านแล้วก็ผ่านเลย บางฉบับมีภาพประดับที่งาม ขณะบางฉบับมีเนื้อหาให้อ่าน เก็บไว้อ่าน หรือเก็บไว้เป็นหน้าบทประวัติศาสตร์ส่งทอดถึงรุ่นลูกหลาน โดยเฉพาะนิตยสารปาจารยสาร ที่เขาเขียนโปรยประจำปกหน้าว่า โยงหัวใจและความคิด เพื่อชีวิตแสวงหา ท้าทายบริโภคนิยม

เมื่อหยิบเล่มเก่าที่ยังอยู่ดีเรียบร้อยในตู้ก็สะดุดใจกับภาพปกฝีมือ วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ที่มีชื่อว่า “ผมเห็นคุณมีสองหัวเดินไปในเมือง ๒๕๓๑” ชื่อศิลปินกับสายฝนช่างพอเหมาะกันดีแท้

ครั้นจึงนึกได้ว่า เล่มนี้มีบทความน่าอ่านเยอะทีเดียว นึกต่อไปได้อีกว่า ครูสาวคนหนึ่งเคยถามถึงกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ กับนายปรีดี พนมยงค์ คำถามของหล่อนทำให้ฉงน อีกนัยน์ตาของหล่อนนั้นก็เป็นดั่งดวงใจแห่งความกระหายรู้แบบเด็ก ๆ มีหรือใครจะนึกเฉยได้ วันนั้นปาจารยสารเล่มนี้จึงถูกค้นพบในความทรงจำอีกครั้งและทำหน้าที่เป็นวิทยาทานด้วยอาการตื่นใจระคนยินดี

กับวันนี้ที่ฝนทำให้ความทรงจำลื่นละลายออกมา ปาจารยสารเล่มดังกล่าวจึงถูกเปิดอ่านอีกครั้งด้วยชีวิตชีวา

ในหน้าที่ ๒๙ –๓๘ เป็นหัวข้อเรื่องเด่น ที่เขียนโดย ซาลาดิน ชามชาวัลลาชื่อบทความฟังดูหนักหน่วงว่าด้วยแอกอันหนึ่งในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย
“แอกอันหนึ่ง”แปลได้ว่าในประวัติศาสตร์ไทยมีแอกที่คอยกดทับเราอยู่มากกว่าหนึ่งแน่นอน ใช่หรือไม่?

เป็นบทความที่เขียนได้อย่างน่านับถือ เพราะเหตุใด? หนึ่งเพราะเป็นความสับสน กำกวม และหลอกลวงสิ้นดีที่คนในประเทศหนึ่งจะถูกปิดหูปิดตาด้วย “ข่าว”และ “สถานการณ์ที่สร้างมากลบ” ดูเอาเถิดว่าแม้แต่คนที่ขึ้นชื่อว่า “ครู”ยังหาได้รู้ความ “จริง”ยังหาความกระจ่างต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งไม่ได้ ขออนุญาตผู้เขียนและกองสาราณียกรของปาจารยสาร ยกส่วนหนึ่งของบทความที่น่าอ่านยิ่งมาไว้ ณ พื้นที่ตรงนี้

ว่ากันถึงหลักการเขียนบทความ ซึ่งไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากนักในเรื่องของโครงสร้าง อย่างที่เราเคยร่ำเรียนกันมานั่นเอง

บทความประกอบด้วย ๓ ส่วนสำคัญ คือ (๑) บทนำหรือการเกริ่นนำผู้อ่าน (๒) เนื้อหาหรือใจความ
(๓) บทสรุป แต่การจะเขียนบทความให้น่าอ่านก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สลับซับซ้อนเสมอไป อีกทั้งบทความก็มีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งบทความวิชาการ บทความแสดงทัศนคติ อะไรต่าง ๆ เราเองก็ต้องยอมรับว่าบทความเป็นเนื้อหลักของการสื่อสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร

แต่บทความ ว่าด้วยแอกอันหนึ่งในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ที่เขียนโดย ซาลาดิน ชามชาวัลลา นั้นนอกจากเป็นเนื้อหาที่น่าหยิบมาเขียนแล้ว ศิลปะการเขียนของซาลาดิน ชามชาวัลลายังน่าหลงใหลได้ปลื้มอีกด้วย ไม่ทราบว่าเขาหรือเธอผู้นี้คือใครกันหนอ? ใครพอรู้จักมักคุ้น หากกรุณาบอกเล่ากันบ้างจะเป็นพระคุณ...

ด้วยภาษาที่กระชับ มีสำนวนแบบที่เรียกได้ว่า ฉูดฉาด เต็มด้วยสีสัน แต่กลับแกร่งกล้าในตัว โดยเฉพาะการตั้งชื่อบทย่อย เช่น ความเป็นไปได้ของการตายทั้งเป็น การจัดการกับความจริงเกี่ยวกับความตาย เสียงเปล่งของปีศาจบางคนอาจรู้สึกได้ถึงลีลาอย่างเรื่องแต่งหรือวรรณกรรมไปพร้อมกันด้วย ไม่เท่านั้น การจัดวางองค์ประกอบ การแบ่งสัดส่วนของข้อมูล ที่เข้าใจว่ามหาศาล (ดูจากส่วนอ้างอิงท้ายบทความที่มีถึง ๑๓ รายการ ซึ่งล้วนหนักหน่วงทั้งสิ้น) เรียกว่าบริหารข้อมูลให้เข้าถึงเป้าหมายได้พอดิบพอดี (อีกทั้งจะไม่ต้อง “เจ็บตัว”จากตัวอักษรของตัวเองด้วย) การบริหารข้อมูล จัด ตัด ทอน เพิ่ม ข้อมูลให้เหมาะเจาะนั้นเป็นข้อพึงสังวรยิ่งสำหรับผู้เขียนบทความ ไม่เช่นนั้นผู้อ่านอาจจะ “ตื้อ”กับข้อมูลพะเรอเกวียนประดานั้นได้

ครั้นมาดูการเกริ่นนำเรื่องของซาลาดินกันบ้าง

ซาลาดินอาศัยทัศนะของนักคิด นักปรัชญา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซีกตะวันตก เป็นเครื่องมือในการปูพื้นความเข้าใจร่วมกันกับผู้อ่าน (เพื่อดึงเอาสถานภาพระหว่าง ๒ คน เข้ามาเทียบเคียงกัน) ขอยกมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

ความตายคือ “ความเป็นไปได้ของความสามารถที่จะไม่ต้องอยู่ที่นั่นอีกต่อไป (the possibility of a being-albe-no-longer-to-be=there)” หรือ คือ “ความเป็นไปได้ของความเป็นไปไม่ได้ในทุก ๆ วิถีแห่งการดำรงอยู่ (the possibility of the impossibility of every way of…existing” หรือ

นอกจากนี้ ไฮเดกเกอร์ยังมีความเห็นต่อไปว่า “เป็นไปไม่ได้ที่ (คนผู้หนึ่ง) จะตายเพื่อผู้อื่นในความหมายที่ว่าเป็นการ ‘ตายแทนคนผู้นั้น’ ต่อให้เขาจะตายเพื่อผู้อื่นโดย พลี (หรือสังเวย) ความตายของตัวให้แก่ผู้อื่นไปก็ตาม” อย่างไรก็ตาม ในฉบับแปลจากภาษาฝรั่งเศส มีความหมายเป็นไปในทำนองว่า คนเราไม่สามารถตายแทนกันได้ ... ฯลฯ... “ไม่มีใครสามารถถือเอาความตายของผู้อื่นไปจากตัวเขาได้ แน่นอนว่า บางคนสามารถ ‘เดินไปสู่ความตายของตนเพื่อคนอื่น’ ได้ แต่นั่นย่อมหมายถึงการอุทิศตนเพื่อคนอื่น ‘ในกิจการบางเรื่องที่แน่นอน’ ” กล่าวโดยสรุปก็คือ ความตายนั้นไม่มีใครสามารถตายแทนกันได้ (to die in his place) ส่วนความหมายหลังคือ ไม่มีใครพรากเอาความตายของผู้อื่นไปจากตัวเขาได้ (take the other’s dying away from him) ความหมายทั้งสองที่กล่าวข้างต้น จะเป็นการนำไปสู่ประเด็นสำคัญในกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ...

การนำเอาทัศนคติหรือข้อปรัชญามาเกี่ยวเข้ากับกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับทัศนคติที่เคยมีมาของประชาชนคนไทยที่มีต่อกรณีดังกล่าวกับรอยมลทินของนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ผู้อ่านมองเห็นได้อย่างชัดแจ้งถึงเจตนารมที่แท้ของผู้เขียนบทความนี้ และ “แอกอันหนึ่ง”ที่กล่าวถึงนี้คือ “แอก”ที่มีคนขี่ค้ำอยู่อีกไม่รู้เท่าไหร่ ใช่หรือไม่? ขอยกมาให้อ่านต่ออีกสักหน่อยเถอะ

(หน้า ๓๐ –๓๑) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ให้ความหมายการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ที่ซับซ้อนยอกย้อนอย่างมีนัยยะพิเศษในสังคมไทย กล่าวคือ ไม่เพียงแต่ทำในสิ่งที่ขัดขืนต่อความคิดที่ว่า “ไม่มีใครสามารถถือเอาความตายของผู้อื่นไปจากตัวเขาได้” เท่านั้น แต่ได้พรากเอาความตายไปจากพระองค์ท่าน ด้วยการทำให้กรณีสวรรคตกลายเป็นอมตะ เพราะในทัศนะของเสนีย์นั้น การสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ นั้นเป็นผลส่งให้ดวงวิญญาณของพระองค์หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิญญาณของความเป็นชาติ และเท่ากับ “ได้ชุบชีวิตในหลวงอานันท์ให้ฝังสนิทแนบอยู่ในวิญญาณของชาติอันไม่รู้จักตาย ตายอย่างผู้บริสุทธิ์เยี่ยงพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขนการเมือง พระองค์ได้สละแล้วซึ่งชีวิตเพื่อปลุกคนไทยให้ตื่นทั่วแผ่นดิน” การหลอมรวมวิญญาณของพระองค์เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิญญาณของชาตินั้น ได้ทำให้พระองค์กลายเป็นอมตะหรือไม่ตาย เพราะ “วิญญาณของชาติไทยเป็นวิญญาณที่ฆ่าไม่ตาย”

ไม่เพียงเท่านั้น หากเสนีย์ยังได้ผลักเอาความตายของพระองค์ไปหยิบยื่นให้แก่คนอีกผู้หนึ่งไปตายแทนพระองค์ เพราะการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ นั้น กลับมีผลทำให้ต้องออกมรณบัตรแก่อีกบุคคลหนึ่ง คือ ทำให้ปรีดี พนมยงค์ “ถึงฆาตทางการเมือง” ซึ่งเมื่อกล่าวตามสำนวนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็คือ “ชะตาท่านปรีดีตกที่นั่งถึงฆาตทางน้ำ (คือ) น้ำลายประชาชนคนไทย” จนถึงกับต้อง “ตายทั้งเป็น” เพราะฉะนั้น การสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ไม่เพียงแต่ได้ทำให้พระองค์กลับมีชีวิตที่เป็นอมตะ แต่ยังได้กลับตาลปัตรผลักดันให้คนอีกผู้หนึ่งตกที่นั่งถึงแก่มรณะลงเสมือนหนึ่งว่าปรีดีได้ “ตายแทน” พระองค์

นั่นเป็นเพียงบางส่วนที่ขอตัดทอนมา ด้วยเนื้อหาของบทความชิ้นนี้ เป็นการปะติดปะต่อ “รายละเอียด”ข้อมูลและทัศนะจากหนังสือหลายเล่ม จากทัศนคติของหลายฝ่าย แล้วเชื่อมโยงให้ลงตัว กระชับ รัดกุม เหมาะสมกับพื้นที่ของนิตยสาร หากเป็นไปได้ปาจารยสารเล่มนี้ควรหามาเก็บ หามาอ่านอย่างยิ่ง เข้าใจว่าน่าจะติดต่อได้โดยตรงกับกองสาราณียกร เพราะเชื่อว่า นอกจากครูสาวผู้สนใจใคร่รู้ต่อกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ แล้ว อาจจะยังมีบางคนที่ยังคงให้ความสนใจอยู่บ้าง และเพราะเชื่อว่าหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ต่อกรณีนี้เหมือนถูก “สับ”ให้ขาดช่วง ห่างหาย ไปเสียนาน แม้กระทั่งวันที่ ๙ มิถุนายน ของทุกปี ก็ยังไม่เห็นรัฐบาลหรือ “ใคร?” ออกมาแสดงความรู้สึกกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ นอกจากประโคมข่าวกันในวันรัฐธรรมนูญ วันประชาธิปไตยแห่งชาติ วันภาษาไทยแห่งชาติ วันอะไรต่อมิอะไรแห่งชาติกันให้จำไม่หวาดไหว

ไม่เท่านั้น ความ “พยายาม”ที่จะทำให้กรณีดังกล่าวถูกปิดเงียบงึมไปจากความรับรู้ของคนในสังคมจากอดีตถึงปัจจุบันก็ยังคงเคลื่อนไหวอย่างแนบเนียน โดยการกระทำต่าง ๆ เช่นว่า การยกย่องเทิดทูน “บางสิ่ง” หรือ “บางส่วน”ให้มากเกิน มากล้น ก็อาจทำให้ “บางสิ่งที่ถูกลืมอยู่แล้ว”ถูกทำให้เงียบหายไปเลย

ดังที่ซาลาดินได้เขียนไว้ในตอน “ความเป็นไปได้ของการตายทั้งเป็น”ว่า ความพยายามในการฝังศพ “ปีศาจทางการเมือง”เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรณีสวรรคตกลายเป็นประเด็นอันตรายและล่อแหลมในทางการเมืองสำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ ที่อาจจะถูกดึงเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มนิยมเจ้ากับกลุ่ม “ปีศาจทางการเมือง”อันทำให้กรณีสวรรคตกลายเป็นปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่ง ที่ยังปราศจากการค้นคว้าในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเสมือนการทำให้ “ข้อต่อของกาลเวลาแยกออกจากัน”หรือ “the time is out of joint” ที่ยุ่งยากต่อการอธิบายและการทำความเข้าใจเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ก่อให้เกิดความคลุมเครือขึ้นอย่างที่หาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยในช่วงอื่นใดมาเปรียบเทียบได้ยาก ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่ากรณีสวรรคตเป็น “แอกทางประวัติศาสตร์”(burden of history) อันหนึ่งของสังคมไทย ...ฯลฯ ...

แล้ว “แอกทางประวัติศาสตร์”อันหนึ่งนี้ จะพัฒนาไปเป็น “อย่างอื่น”ที่ “พร้อม”หรือจะรอจังหวะ “เหมาะสม”ใด เพื่ออะไร หรือใคร “ปีศาจทางการเมือง”จะแปรโฉมหน้าเลียนแบบ “คนตุลาฯ”หรือไม่

ไม่อยากจะคาดเดา ได้แต่ภาวนาว่า...

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…