Skip to main content

 

 

มหกรรมการเมืองเสื้อสีที่สาดพลังถาโถมเข้าใส่กันจนแทบกลายเป็นธรรมเนียมปกติของระบบการเมืองไทยตลอดช่วงเวลาราวๆ สิบปีที่ผ่านมา ได้กลายมาเป็นประเด็นแหลมคมที่ทิ่มแทงตอกทะลุสังคมไทยจนมีผู้จินตนาการไปถึงภาพความร่ำส่ำระส่ายของ "สังคมกระจกสี/Mosaic Society” ที่การแตกขั้วทางความคิดและการสวมใส่เสื้อสีตามค่ายหรือกลุ่มพลังทางการเมืองที่ตนชื่นชอบ ได้ค่อยๆ ทำให้รัฐไทยมีชะตาชีวิตที่แตกร้าวเหมือนกระจกสีซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์สีสันอันน่ารื่นรมย์ หากแต่ก็แฝงเร้นไปด้วยรอยร้าวและเหลี่ยมคม จนยากที่จะต่อประสานติดกันอย่างแนบสนิท

ขณะเดียวกัน อารมณ์ที่ถูกปลุกเร้าให้ฮึกห้าวทางการเมือง ก็ได้ทำให้คนบางกลุ่ม เริ่มคิดถึงเรื่องการแยกประเทศตามขนบนิยมทางการเมือง ในลักษณะที่ว่า "หากพวกคุณอยู่ร่วมกันกับผมไม่ได้ ผมก็ขอแยกประเทศและจะไม่ทำสังฆกรรมใดๆ ร่วมกันกับคุณ” ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว ดั่งกรณีของการแขวนป้ายแยกประเทศที่จังหวัดพะเยา โดยอาจมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจของคนเสื้อแดงที่มีต่อการกระทำของคุณสุเทพและกลุ่ม กปปส.

 

"ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกประเทศ" บนสะพานลอยข้ามถนน กลางเมืองพะเยา ภาพจาก dailynews.co.th

กระนั้น สภาพการณ์ดังกล่าวของสังคมไทย ก็มิได้เป็นสิ่งผิดปกติแต่ประการใดในบริบทการเมืองเปรียบเทียบ โดยในสังคมของกลุ่มรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลายทางแถบเอเชีย แอฟริกาหรือละตินอเมริกา เราอาจพบเห็นภาพความขัดแย้งทางการเมืองและวัฒนธรรมของกลุ่มคน ซึ่งอาจมีทั้งประเด็นทางชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมือง จนทำให้รัฐเหล่านั้นมีสภาพเป็นรัฐแห่งความผันผวนโกลาหล โดยความแตกต่างที่รุนแรงมักทำให้รัฐบาลเกิดความพยายามที่จะผลิตโครงสร้างการปกครองแบบรั้งตรึงเพื่อกดทับมิให้ประเทศชาติต้องล่มสลายผ่านการสถาปนาระบอบเผด็จการอำนาจนิยม

หากแต่ในบางประเทศนั้น ความแตกแยกทางเชื้อชาติหรือแนวคิดทางการเมือง กลับสามารถแปลงสภาพให้เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม (Melting Pot) ที่เดินหน้าเคียงข้างไปกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างลงตัว โดยประเทศที่เป็นตัวแบบของรัฐพหุสังคมซึ่งน่าจะนำมาจับคู่เปรียบเทียบกับรัฐไทย ได้สนุกสนานที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น "สาธารณรัฐแอฟริกาใต้”

 

แผนที่แสดงเขตปกครองประเทศแบบหลากสีของแอฟริกาใต้ (ภาพจาก www.mapsofworld.com)


แอฟริกาใต้ ถูกขนานนามว่าเป็น "ชาติสีรุ้ง/Rainbow Nation” อันเป็นผลจากโครงสร้างสังคมที่ประกอบไปด้วย 1.ชาวผิวขาว (ชาวยุโรปที่สืบเชื้อสายจากชาวดัตช์ ชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศส) 2.ชาวผิวสี (พวกลูกผสมระหว่างชาวผิวขาว ชาวผิวดำและชาวอพยพเชื้อสายอื่นๆ) 3.ชาวผิวดำ (พวกพื้นเมืองดั้งเดิมของทวีปแอฟริกา) และ 4.ชาวอินเดียอพยพรวมถึงเหล่าพหุชนชาติอื่นๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแอฟริกาใต้

โดยการแตกกระจายทางประชากรศาสตร์เช่นนี้ ได้ทำให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ ตลอดช่วงปี ค.ศ.1948-1994 ประกาศใช้นโยบายเหยียดสีผิวและแบ่งแยกเชื้อชาติ (Apartheid) ซึ่งส่งผลให้เกิดการกุมอภิสิทธิ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของคนผิวขาว พร้อมๆ กับทัศนคติและพฤติกรรมที่ดูถูกดูแคลนคนผิวสีอื่นๆ โดยเฉพาะพวกผิวดำซึ่งถูกตีตราว่ามีความรู้และฐานะที่ต่ำต้อยที่สุดในสังคม นอกจากนั้น แนวนโยบายเช่นนี้ ยังทำให้เกิดการแบ่งพลเรือนออกเป็นกลุ่มๆ ตามสีผิว พร้อมกับการบังคับโยกย้ายประชากรที่กระจายตัวอยู่ทั่่วประเทศ ให้เข้าไปอยู่ในดินแดนที่ถูกแบ่งสรรเอาไว้ตามความเข้มข้นของเชื้อชาติ

อย่างไรก็ตาม สภาวะความแปลกแยกผิดฝาผิดพวกเช่นนี้ ก็ค่อยๆ ชะลอเบาบางลง ผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มผิวสีต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งแบบหลากชนชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1994 โดยผู้ชนะการเลือกตั้ง คือ นายเนลสัน แมนเดลา จากพรรคคองเกรสแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress) ซึ่งก็นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นตัวแทนของคนผิวดำ

นับจากนั้นเป็นต้นมา แอฟริกาใต้ ได้ก้าวเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างชาติใหม่ในแบบที่ผู้คนต่างความคิดและขนบประเพณีสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ซึ่งแมนเดลา ได้พยายามผลิตสูตรทางการเมือง (Political Formula) เพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ อาทิ การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและระบบสาธารณูปโภค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และชนชั้นจนทำให้คนดำที่ยากจนหลายคน สามารถผันตัวเองขึ้นเป็นชนชั้นกลางหรือมหาเศรษฐีในระดับเดียวกันกับคนขาว หรือการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงกระจุกตัวอยู่ตามภูมิภาคท้องถิ่นต่างๆ สามารถเดินทางรณรงค์หาเสียงได้อย่างเสรี ไม่เว้นแม้แต่ในภูมิภาคซึ่งประชากรมีสีผิวหรือความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างจากฝ่ายตน

หรือแม้แต่การพัฒนาโซนจังหวัด "เกาเต็ง/Gauteng” ซึ่งเป็นแกนกลางความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและประกอบไปด้วยเมืองมหานครอย่างโจฮันเนสเบิร์ก ให้กลายสภาพเป็นตัวแบบแห่งเบ้าหลอมทางการเมือง เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าว ถือเป็นแหล่งดึงดูดให้ประชากรจากภาคต่างๆ ในเขตชนบทห่างไกล เดินทางเข้ามาทำงานหรือตั้งรกรากชั่วคราวร่วมกับพหุชนชาติอื่นๆ จนเกิดเป็นมิตรภาพที่คอยถักทอร้อยเรียงให้คนหลากสีสามารถสื่อสายใยเชื่อมประสานสัมพันธ์ได้อย่างสันติสมานฉันท์

นอกจากนั้น มรดกการจัดกลุ่มภูมิภาคตามวัฒนธรรมการเมืองของประชากร ยังได้รับการปรับแปลงส่งผ่านมาในรูปของโครงสร้างรัฐสภาแนวปรองดองที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 400 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีก 90 ที่นั่ง (แอฟริกาใต้แบ่งออกเป็น 9 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดมีวุฒิสภาได้ จังหวัดละ 10 ที่นั่ง) โดยองค์ประกอบพิเศษของวุฒิสภา ได้ทำให้ภูมิภาคต่างๆ สามารถมีตัวแทนเพื่อเข้าไปร่วมทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติระดับชาติ ซึ่งนับเป็นการออกแบบทางการเมืองที่ช่วยชะลอความรู้สึกเหลื่อมล้ำของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ได้พอสมควร

จากการศึกษาตัวแบบในแอฟริกาใต้ แม้สังคมไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกสีผิวหรือแนวคิดการแยกเขตประเทศตามเชื้อชาติที่รุนแรงและแพร่ระบาดในวงกว้าง หากแต่คตินิยมทางการเมืองตามฐานคะแนนเลือกตั้ง บวกกับลักษณะพิเศษทางการเมืองและเศรษฐกิจของแต่ละภาค หรือการหวงแหนในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น ก็เริ่มทำให้ประชาชนบางกลุ่ม เกิดความรู้สึกในแบบที่ว่า พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน คือ ฐานอำนาจของคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย พร้อมๆ กับมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และการเมืองที่แตกต่างจากส่วนกลาง

 

ผลการเลือกตั้ง สส แบบแบ่งเขต เมื่อปี พ.ศ.2554 แสดงโหมดสีต่างๆ เช่น พรรคเพื่อไทย สีแดง ประชาธิปัตย์ สีน้ำเงิน ภูมิใจไทย สีเขียว ชาติไทย สีชมพู พลังชล สีส้ม และอื่นๆ (ภาพจากวิถีพีเดีย)

 

ส่วนพื้นที่ของกรุงเทพและภาคใต้นั้น ก็คือ ฐานอำนาจของคนเสื้อเหลือง พรรคประชาธิปัตย์ หรือ มวลมหาประชาชน พร้อมๆ กับเต็มไปด้วยผู้คนที่มักคิดว่าตนมีฐานะหรือการศึกษาที่ดีกว่าส่วนที่เหลืออื่นๆ ของประเทศ ซึ่งก็ถือเป็นการตีกรอบทางภูมิศาสตร์การเมือง (Political Geography) แบบคร่าวๆ เนื่องจากยังมีกลุ่มคนเสื้อหลากสีหรือที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงสังกัดสีไหน (หรือพวกที่ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องโยงเรื่องการเมืองเข้ามาพัวพันกับเอกภาพของชาติมากมายขนาดนั้น) ตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนกระจายตัวเป็นหย่อมๆ ไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

จากฉากทัศน์และจินตภาพดังกล่าว ยุทธศาสตร์การปรองดองของแมนเดลา อาจถูกนำมาปรับใช้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการแบ่งแยกสีเสื้อของรัฐไทย ไม่มากก็น้อย เช่น การกำหนดกรอบกติตาให้พรรคการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือ พหุพรรคอื่นๆ สามารถรณรงค์หาเสียงตามภูมิภาคต่างๆ โดยปราศจากการสกัดกั้นจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ซึ่งหากพรรคการเมืองสามารถเจาะฐานเสียงโยกสลับตามโซนอิทธิพลต่างๆ ได้อย่างเสรี น่าเชื่อว่า ประชาธิปไตยของรัฐไทย อาจค่อยๆ เคลื่อนคล้อยจากประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากกินรวบทั้งหมด/Majoritarian Democracy เข้าสู่ประชาธิปไตยแบบฉันทามติ/Consensus Democracy ที่พรรคผู้แพ้ ซึ่งแม้จะไม่สามารถครองเสียงข้างมากในภูมิภาคนอกมาตุภูมิตน แต่ก็พอเก็บเกี่ยวคะแนนมาได้บ้าง สามารถกลายเป็นผู้ถือดุลอำนาจที่มีน้ำหนักมากขึ้น จนดันบุคลากรในสังกัดตนให้เข้าไปมีบทบาททางนิติบัญญัติหรือบริหารร่วมกับพรรครัฐบาลได้อย่างสมน้ำสมเนื้อพร้อมๆ กับได้การยอมรับหรือเห็นอกเห็นใจจากฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น

หรือแม้กระทั่ง การพัฒนากรุงเทพและปริมณฑลให้เป็นโซนต้นแบบสำหรับการสมานฉันท์ทางการเมือง เนื่องจากในทางโครงสร้าง กรุงเทพมีลักษณะเป็นเมืองมหานครคล้ายคลึงกับโจฮันเนสเบิร์ก โดยมีลักษณะเป็นบ้านหลังที่สองของคนเหนือ คนอีสาน หรือ คนใต้ ที่เข้ามาใช้ชีวิตหางานทำหรือแม้แต่เข้ามาร่วมชุมนุมทางการเมือง เพราะฉะนั้น กรุงเทพจึงมิใช่ศูนย์อำนาจที่เป็นปฏิปักษ์กับภูมิภาคอื่นๆ หากแต่เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมที่คนหลากเสื้อสีสามารถเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างสันติ

เช่น การจัดกีฬาฟุตบอลประเพณี โดยรณรงค์ให้นักกีฬาที่ชื่นชอบเสื้อหลากสี เข้ามาอยู่ร่วมทีมเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมเอกภาพและความสามัคคีระหว่างกลุ่มคนที่มีพื้นเพหรือแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นแบบแผนที่เนลสัน แมนเดลา ใช้กับการแข่งขันกีฬารักบี้ (ที่ถือเป็นกีฬาประเพณีของคนขาว) โดยพยายามหัดให้คนดำหันมาสนใจและฝึกฝนทักษะให้มีความชำนาญ จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในทีมรักบี้เดียวกันกับคนขาว พร้อมๆ กับนำมาซึ่งความสมัครสมานและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนหลากสีผิว

สำหรับกรณีการออกแบบโครงสร้างรัฐสภานั้น ตัวแบบแอฟริกาใต้ นับว่ามีความน่าสนใจมิใช่น้อย โดยเฉพาะการผูกโยงบทบาทของวุฒิสภาให้เข้ากับอัตลักษณ์ประจำภูมิภาค ซึ่งอาจมีหลายโมเดลให้หยิบใช้ อาทิ การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นจำนวน 400 ที่นั่ง และตามด้วยวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามภาคต่างๆ (คล้ายกับแอฟริกาใต้) อีก 100 ที่นั่ง

โดยถือเอาตามประเพณีการแบ่งภาคต่างๆ ของสังคมไทย แล้วโยกผนวกพื้นที่บางส่วนให้เกิดความสมดุลของประชากร อาทิ กำหนดจัดแบ่งออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ 1.ภาคเหนือ (ที่นับรวมไปถึงจังหวัดภาคกลางตอนบนอย่างพิษณุโลกหรือนครสวรรค์) 2.ภาคอีสาน 3. ภาคกลาง (ที่รวมกรุงเทพและจังหวัดในภาคตะวันตก-ตะวันออก) และ 4.ภาคใต้ ซึ่งแต่ละภาคจะต้องมีการเลือกตั้งวุฒิสภาได้อย่างละ 25 ที่นั่ง รวมทั้งหมดเป็น 100 ที่นั่ง พร้อมๆ กับเพิ่มบทบาททางนิติบัญญัติของวุฒิสภา อย่างการเสนอหรือกลั่นกรองข้อกฎหมายที่มีความเกี่ยวโยงและสอดคล้องกับเอกลักษณ์และสภาพพื้นฐานของแต่ละภาค/จังหวัด

ขณะเดียวกัน ในเชิงประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ สูตรการแบ่งเช่นนี้ ก็นับว่ามีความคล้ายคลึงกันบางประการกับระบบมณฑลเทศาภิบาลที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่มีการแบ่งโซนภูมิศาสตร์การเมืองออกเป็นย่านหรือมณฑลต่างๆ ซึ่งเกิดจากการรวมเอากลุ่มของเมืองหรือจังหวัดโดยถือเป็นการจัดวางยุทธศาสตร์การปกครองที่สอดคล้องกับโครงสร้างบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ และพัฒนาการทางการเมือง

เพียงแต่ว่า โมเดลการแบ่งโซนที่จะนำมาปรับใช้ล่าสุด จะต้องมิใช่ การปฏิรูปที่โยงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization Reform) เหมือนดั่งในอดีต หากแต่ต้องมีลักษณะที่ค่อนไปทางกระจายอำนาจ (Decentralization) โดยมีทั้งการดึงตัวแทนตามภูมิภาคให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองระดับชาติอย่างแท้จริง หรืออาจจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลหรือรัฐสภาประจำภาคต่างๆ ในรูปลักษณ์ที่จะทำให้ประเทศไทยมีลักษณะเป็นเอกรัฐ (รัฐเดี่ยว) ที่ค่อนมาทางสหพันธรัฐมากขึ้น คล้ายคลึงกับแอฟริกาใต้ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นการปฏิรูปที่มีทั้งข้อดีข้อเสียและจะต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันต่อไป

ในอีกแง่มุมหนึ่ง หากกลุ่มนักคิดที่ไม่นิยมการจัดโซนตามภูมิศาสตร์ ผู้เขียนเองก็มีความเห็นว่าที่มาของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น อาจมีความสอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมของรัฐไทยอย่างพอเพียงแล้ว หากแต่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขบางส่วน (หรือหากใครที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 มีความเหมาะสมมากกว่า ก็สามารถเสนอแนะได้ตามความเหมาะสม)

โดยตามหลักปฏิบัติของการเลือกตั้งที่ผ่านมาล่าสุด จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง (แบบแบ่งเขต 375 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ 125 ที่นั่ง) ส่วนวุฒิสภาจะมีที่นั่งทั้งหมด 150 ที่นั่ง (เลือกตั้งจังหวัดละ 1 ที่นั่ง รวม 77 ที่นั่ง และสรรหาอีก 73 ที่นั่ง) จากกรณีดังกล่าว ทั้งการเลือกตั้ง สส หรือ สว ก็ถือเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้ตัวแทนจากจังหวัดที่แบ่งตามภูมิภาคต่างๆอย่างพอเพียงอยู่แล้ว โดยมิต้องไปกำหนดแบ่งภาคใหม่ (ตามความนิยมทางการเมืองวัฒนธรรม) ให้ซับซ้อน เพียงแต่ว่า จากความไม่เชื่อมั่นของประชาชนบางส่วนเกี่ยวกับคุณภาพของพรรคการเมืองที่ไม่ตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

เราอาจเพิ่มโควต้าให้สัดส่วนวุฒิสภาขยับขึ้นมาเป็นสองเท่า รวม 300 ที่นั่ง (หรืออาจเป็นสูตรอื่นๆ ตามแต่ผู้สันทัดกรณีจะเสนอแนะ) โดยอาจเพิ่มโควตาวุฒิสภาที่มาจากจังหวัดต่างๆ เป็น 154 ที่นั่ง ส่วนอีก 146 ที่นั่ง มาจากการสรรหาหรืออาจมาจากการเลือกตั้งหรือผสมผสานกันไป โดยเลือกตามกลุ่มอาชีพ อย่างเช่น ภาคเกษตรกรชาวนา ภาควิชาการ ภาคการคลังธนาคาร หรือ อาจแบ่งกลุ่มให้ใกล้เคียงกับชื่อกระทรวงบางแห่ง เช่น กลุ่มเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มคลัง กลุ่มศึกษาธิการ ฯลฯ เพื่อให้วุฒิสภาที่ถูกผลิตเพิ่มส่วนขึ้นมาใหม่ สามารถตรวจสอบ สส. หรือ กระบวนการทำงานของรัฐบาล (ที่แยกคร่าวๆ เป็นกระทรวง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ท้ายที่สุด ผู้เขียนอยากจะชี้ชวนให้เห็นว่า รูปแบบการปกครองในแอฟริกาใต้ ทั้งในเรื่องความเป็นชาติสีรุ้ง นโยบายการปรองดองของแมนเดลา หรือ การออกแบบโครงสร้างรัฐสภา ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแบบที่มีคุณูปการต่อการ Design สถาปัตยกรรมการปกครองของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนักปฏิรูปหรือผู้จัดการรัฐไทย รู้จักที่จะเรียนรู้และปรับใช้ตามสภาพแวดล้อม กาละเทสะและลักษณะพิเศษของสังคมไทยได้อย่างเหมาะสมลงตัว

ขณะเดียวกัน พลังของการเมืองภาคประชาชน/People Politics และสถานภาพของรัฐไทยในฐานะ "ประชารัฐ/People State” ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหา/ท่วงทำนองของเพลงชาติ ก็ได้ช่วยยืนยันให้เราตระหนักว่า ประเทศไทยคือมวลมหาสมบัติอันล้ำค่าของประชาชน ที่มิใช่เป็นของชนชั้นนำหรืออภิสิทธิ์ชนแต่เพียงผู้เดียวเหมือนดั่งในอดีต ฉะนั้น การเป็นชาติพหุสีสันของไทย (รักชาติหลายเฉดสี/แต่อย่าทำลายชาติ) พร้อมๆ กับแนวคิดการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้กลุ่มคนหลากสีสามารถที่จะมีบทบาทในการบริหารประเทศได้มากขึ้น จึงเป็นยอดปรารถนาอันสูงสุดของโมเดลการปกครองรัฐไทยในสหัสวรรษใหม่

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

..........................................

แหล่งอ้างอิงที่น่าสนใจ

Bulter, A.(2008), Contemporary South African Politics, 2nd edn (Basingstoke: Palgrave).

Giliomee, H. and Schlemmer, L. (1989), From Apartheid to Nation Building (Cape Town: Oxford University Press).

Venter, A. and Landsberg, C. (2006), Government and Politics in the New South Africa (Pretoria: Van Schaik).

เตช บุนนาค, แปลโดย ภรณี กาญจนัษฐิติ. (2548), การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458,
พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).

บล็อกของ ดุลยภาค