Skip to main content

เป็นที่ฮือฮาพอสมควรในแวดวงประวัติศาสตร์การทูตเมื่อมีการเปิดโปงแผนที่ลับอเมริกันว่าด้วยการพยากรณ์ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ในช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยแผนที่ดังกล่าว ถูกค้นพบที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งหากสืบค้นรายละเอียด พบว่าต้นฉบับถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย Maurice Gomberg ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่วิทยา พร้อมถูกตีพิมพ์ ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อปี ค.ศ.1942 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยการบริหารของประธานาธิบดี Franklin D Roosevelt และตรงกับช่วงที่กองทหารสัมพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และโซเวียต เริ่มเห็นเค้าลางที่จะกำชัยชนะเบ็ดเสร็จเหนือฝ่ายอักษะอย่าง อิตาลี เยอรมันและญี่ปุ่น

ในมิติการเมืองระหว่างประเทศ แผนที่ดังกล่าว (นิยมเรียกกันว่า The Post War II New World Order Map) ถือเป็นประดิษฐกรรมภูมิรัฐศาสตร์ที่สะท้อนถึงโลกทรรศน์ทางการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ได้พยายามคิดฝันถึงการสถาปนาระบอบสหภาพโลก 'World Union' ที่รังสรรค์ออกมาจากพลวัตการเมืองภายในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างแนวทางสมาพันธรัฐ (Confederation) กับสหพันธรัฐ (Federation)


The Post War II New World Order Map ซึ่งประดิษฐ์โดย Maurice Gomberg


ประธานาธิบดี Franklin Roosevelt (ภาพจาก The Living New Deal)

ผลที่ตามมาจากจินตภาพดังกล่าว คือ ภาพการตัดแบ่งสะบั้นเขตภูมิรัฐศาสตร์โลกออกเป็นอนุเขตต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มรัฐชาติที่มีอำนาจค่อนข้างอิสระ หากแต่ตัดสินใจเข้ามาอยู่ร่วมกันแบบหลวมๆ ภายใต้การนำของรัฐอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเปรียบประดุจกับดุมล้อแห่งรัฐบาลโลกที่มีอิทธิพลต่อการใช้อำนาจบังคับรัฐสมาชิกผ่านองค์กรศาลและตำรวจโลก (ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระเบียบความมั่นคงของสันนิบาตชาติอันมีผลต่อการพัฒนาแนวคิดความมั่นคงในสหประชาชาติ)

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่น่าสนใจที่สุดของแผนที่ดังกล่าว ได้แก่ การแบ่งย่านการปกครองโลกออกเป็น 9 เขตหลัก และอีก 5-6 บริเวณย่อย อาทิ กลุ่มสหภาพแอฟริกา-The Union of African Republics (UAR) ที่รวมเอารัฐต่างๆ ทั้งหมดในกาฬทวีป กลุ่มสหรัฐสแกนดิเนเวีย-The United States of Scandinavia (USS) ซึ่งประกอบด้วยนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก

กลุ่มสาธารณสหรัฐจีน-The United Republics of China (URC) ที่มีทั้งจีน เกาหลี ไทย มาลายูของอังกฤษและอินโดจีนของฝรั่งเศส (เวียดนาม ลาว กัมพูชา) กลุ่มสาธารณสหพันธรัฐอินเดีย-The Federated Republics of India (FRI) ที่ปัจจุบันประกอบด้วยอัฟกานิสถาน ปากีสถาน เนปาล ภูฎาน บังคลาเทศ อินเดีย พม่า หรือแผ่นดินชาติยิว-Hebrewland ซึ่งผนวกเอาดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามพันธะสัญญาบวกกับจอร์แดน จนกลายมาเป็นรัฐอิสราเอลและเขตปาเลสไตน์

โดยถึงแม้ว่าเวลาต่อมา รูปร่างหน้าตาการปกครองระหว่างประเทศแบบสหภาพโลกจะผิดเพี้ยนไปจากจินตภาพของกลุ่มสถาปนิกมหายุทธศาสตร์อเมริกันอยู่มาก อาทิ การเกิดขึ้นของรัฐอิสระชมพูทวีปอย่างการแยกตัวของปากีสถานออกจากอินเดีย และการผุดตัดขึ้นมาของรัฐพม่าที่ไม่ขึ้นอยู่กับโซนบริหารอินเดีย หรือการสร้างรัฐอินโดจีนเอกราชที่มิได้ตกอยู่ใต้การปกครองของสาธารณสหรัฐจีนอันมีจีนแผ่นดินใหญ่เป็นรัฐบาลกลาง

แต่กระนั้น การสร้างระเบียบโลกตามแผนที่ชุดดังกล่าว ก็ช่วยสร้างความแม่นยำมิใช่น้อยต่อการรวมกลุ่มในบางภูมิภาค อาทิ การรวมกลุ่มทางการเมืองเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีข่ายภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แตกต่างมากนักจากเขตสหภาพแอฟริกา (UAR) ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่สหรัฐ

สำหรับกรณีของรัฐในเอเชียอาคเนย์นั้น ได้ปรากฏการตัดผ่ากลุ่มรัฐพื้นเมืองออกเป็น 4 เขตปกครองหลักตามระบบคิดของสถาปนิกอเมริกัน ซึ่งได้แก่

  • รัฐพม่าที่ถูกโอนให้เข้าไปอยู่กับสาธารณสหพันธรัฐอินเดีย โดยอาจเป็นผลจากนโยบายการปกครองของอังกฤษในยุคอาณานิคมที่เคยแปลงพม่าให้เป็นเขตหนึ่งของ British India รวมถึงเครือข่ายการเชื่อมต่อทางการค้าการบริหารระหว่างย่างกุ้งกับกัลกัตตา และงานปักปันเขตแดนของข้าหลวงอังกฤษประจำอินเดียที่มีจุดปลายแดนด้านตะวันออกอยู่ที่ตะเข็บพม่า-สยาม
  • รัฐไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งในช่วงก่อนการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐเหล่านี้ล้วนประกอบด้วยเครือข่ายชาวจีนอพยพพร้อมถูกแทรกซึมทางการเมืองจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่เป็นกลุ่มจีนคณะชาติและจีนคอมมิวนิสต์ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน หรือการเตรียมวางแนวกำลังทหารของจีนคณะชาติเหนือเส้นขนานที่ 16 หรือประมาณจังหวัดพิจิตรของไทยขึ้นไปเพื่อร่วมกับสัมพันธมิตรในการขับไล่กองทัพญี่ปุ่น


ส่วนหนึ่งของแผนที่ที่ครอบคลุมเอเชียอาคเนย์พื้นทวีปโดยมีถนนพม่า (Burma Road) เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์หลักที่เชื่อมจีนกับพม่า

  • รัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกโอนให้เข้าไปอยู่ในหน่วยการปกครองที่เรียกว่า สหรัฐอเมริกา-The United States of America (USA) (ชื่อเดียวกับประเทศสหรัฐในปัจจุบัน) ซึ่งประกอบด้วยรัฐต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ กลุ่มรัฐอเมริกากลาง กลุ่มรัฐแคริบเบียนและหมู่เกาะแอตแลนติกอย่างกรีนแลนด์ รวมถึงหมู่เกาะบางแห่งในอินโดนีเซียอย่างสุลาเวสี โดยอาจเป็นเพราะอิทธิพลอาณานิคมอเมริกันในฟิลิปปินส์ หรือการเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ของแนวฐานทัพลอยน้ำสหรัฐช่วงสงครามโลก ที่เชื่อมเอาหมู่เกาะตอนใต้ของฟิลิปปินส์ไปผนึกติดกับแนวหมู่เกาะของเนเธอแลนด์อินดีส อย่าง สุลาเวสีและอนุเกาะในโมลุกกะ
  • รัฐอินโดนีเซีย ที่ถูกผ่าดินแดนออกเป็นสองส่วนหลัก คือ ส่วนที่รวมเข้ากับฟิลิปปินส์และขึ้นกับสหรัฐอเมริกา (ดังที่กล่าวไปเบื้องต้น) กับส่วนที่ตกอยู่ใต้การปกครองของเครือจักรภพอังกฤษ-the British Commonwealth of Nations (BCN) ที่มีทั้งสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ศรีลังกา มาดากัสการ์และดินแดนภาคพื้นสมุทรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย อาทิ เกาะชวา เกาะบาหลี เกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตัน

โดยอาจเกิดจากการเข้ามาปกครองหมู่เกาะอินดีสเป็นการชั่วคราวของอังกฤษหลังจากที่เนเธอร์แลนด์ปราชัยต่อกองทัพญี่ปุ่น รวมถึงอิทธิพลบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เคยเข้าคุมอาณานิคมอินโดในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากที่เนเธอแลนด์ถูกฝรั่งเศสครอบครองในสมรภูมิยุโรป ตลอดจนความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซียกับออสเตรเลีย-โอเชียเนีย

จากจินตภาพการปกครองเอเชียอาคเนย์อันสัมพันธ์กับระเบียบภูมิรัฐศาสตร์โลก ได้ช่วยชี้ชวนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ทางยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่พยายามประดิษฐ์สถาปัตยกรรมการเมืองโลกผ่านการขีดเขียนเส้นเขตแดนรัฐชาติ แล้วปักหมุดแต่งแต้มลงบนผืนกระดาษเพื่อสำแดงเขตครอบครองอนุภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนสัมพันธภาพเชิงอำนาจในระดับโลก โดยมี อังกฤษ อินเดีย จีน และตัวสหรัฐอเมริกาเอง แสดงบทบาทเป็นรัฐบาลท้องถิ่นประจำย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถูกตัดแบ่งออกเป็นห้วงอนุบริเวณ

อย่างไรก็ตาม แม้แผนที่ดังกล่าวจะทำนายผลลัพธ์ทางการเมืองที่ผิดแปลกไปจากสภาพความเป็นจริงในช่วงหลังสงครามโลกอยู่มาก เช่น การผุดตัวขึ้นมาของประเทศต่างๆ ในฐานะรัฐเอกราชสมัยใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นต่อหน่วยปกครองที่สหรัฐได้เคยวาดฝันเอาไว้ อย่าง สาธารณสหรัฐจีน หรือสาธารณสหพันธรัฐอินเดีย หรือความหวาดระแวงทางยุทธศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซียกับออสเตรเลีย และเวียดนามกับจีน ทั้งๆ ที่ดินแดนเหล่านี้เคยมีแนวโน้มว่าจะถูกผนวกเข้าอยู่ในเขตการปกครองเดียวกัน

แต่ถึงอย่างนั้น แบบแผนการปกครองหรือแนวนโยบายต่างประเทศของบางรัฐในเอเชียอาคเนย์ปัจจุบัน ก็กลับมีรูปทิศทางที่เริ่มใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยปรากฏอยู่ในแผนที่ระเบียบโลกของสหรัฐ

ยกตัวอย่างเช่น การจัดการปกครองของพม่าล่าสุดที่มีลักษณะเป็นรัฐเดี่ยวที่ค่อนมาทางสหพันธรัฐมากขึ้น โดยประกอบด้วยรัฐบาลและรัฐสภาประจำ 14 ภูมิภาค (7 รัฐ 7 ภาค) และเขตการปกครองพิเศษประจำเมืองหลวงเนปิดอว์ที่เรียกว่า Union Territory ซึ่งดูๆ ไปแล้ว กลับเริ่มคล้ายคลึงกับระบบสหพันธรัฐนิยมในอินเดีย (อินเดียมีสภา/รัฐบาลประจำ 28 รัฐ และประกอบด้วยเขต Union Territory อีก 7 เขต)

หรือในกรณีแบบแผนนโยบายต่างประเทศที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของฟิลิปปินส์ยังจำเป็นต้องพึ่งพาอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาอยู่ต่อไป ขณะที่ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐกลับกระชับแน่นมากขึ้นผ่านแนวโน้มการตั้งฐานทัพสหรัฐในหมู่เกาะบางแห่งของอินโดนีเซียซึ่งสหรัฐหมายมั่นที่จะทำควบคู่ไปกับการขยายฐานทัพในออสเตรเลีย และแม้แต่ พฤติกรรมทางการทูตของลาว กัมพูชา และไทย ที่ยังคงให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์กับจีนสืบต่อไปผ่านความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และการค้า

จากการวิเคราะห์แผนที่ระเบียบโลกสหรัฐ จึงน่าสรุปต่อได้ว่า สถานภาพของเอเชียนซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงสมาพันธรัฐ (Confederation) ที่เกิดจากการรวมตัวของรัฐอธิปไตยแบบหลวมๆ (โดยยังมิได้เคลื่อนตัวไปสู่สิ่งที่ใกล้เคียงกับสหพันธรัฐอย่างเต็มรูป) ได้เริ่มทำให้เราพอเห็นว่าความพยายามที่จะตรวจสอบหารอยปริแยกภายในภูมิภาคอันเกิดจากความต่างของระนาบทางการเมืองหรือวิวัฒนาการประวัติศาสตร์การทูต ตลอดจนการสำแดงโลกทรรศน์ทางยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจผ่านการผลิตแผนที่ลับเพื่อจัดระเบียบผลประโยชน์ตนตามกลุ่มอนุภูมิภาคต่างๆรอบโลก อาจกลายมาเป็นแนวมองหรือเครื่องมือวิเคราะห์สำคัญที่ทรงอิทธิพลต่อการทำนายระบบรัฐนานาชาติบนเวทีการเมืองอาเซียนในศตวรรษที่ 21

สำหรับรายละเอียดแผนที่ ดูเพิ่มเติมในเพจต่างๆ เช่น Global Research , QuantumBranching และ Bigthink


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค