Skip to main content

 

เมื่อเอ่ยถึงพลังอำนาจตลอดจนเส้นทางชีวิตของกลุ่มบ้านเมืองอุษาคเนย์ยุคโบราณ อาจกล่าวได้ว่า เมืองหลวงหรือราชธานี คือ จุดศูนย์กลางหรือจุดควบรวมที่ลึกซึ้งที่สุดขององคาพยพแห่งรัฐและสังคม สำหรับราชธานีจารีตเอเชียอาคเนย์ ดูเหมือนว่า ประวัติศาสตร์เขมรยุคหลังพระนคร ได้ช่วยสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับบทบาทและลักษณะเมืองหลวงอันสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของอาณาจักร

เป็นที่ทราบกันดีว่า นับแต่ช่วงการเสื่อมของรัฐศรียโสธรปุระอันมีพระนครหลวง (นครธม) เป็นศูนย์กลาง ประวัติศาสตร์กัมพูชาล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวการย้ายเมืองหลวง ซึ่งเริ่มหลักๆ จากกรุงจตุมุข (พนมเปญ) กรุงละแวก กรุงศรีสันธร กรุงลวาเอม (โลเวียเอม) กรุงอุดงค์มีชัย แล้วไปปิดท้ายที่กรุงพนมเปญอีกครั้งซึ่งก็ได้วิวัฒนาการไปสู่เมืองหลวงสมัยใหม่ของรัฐกัมพูชายุคปัจจุบัน

จากกรณีดังกล่าว ผู้เขียนได้ค้นพบตัวแบบ (Model) ที่น่าใช้วิเคราะห์รูปแบบและความเปลี่ยนแปลงของนคราเขมรยุคหลังพระนคร รวมถึงอาจสามารถใช้เทียบเคียงกับบรรดาราชธานีร่วมสมัยอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีป ได้กว้างไกลขึ้น

1. ตัวแบบเชิงทิศทาง (Directional Model) : การเคลื่อนย้ายราชธานีไปตามทิศทางหรือตำแหน่งแหล่งที่ต่างๆ ล้วนเผยให้เห็นถึงแรงผลักดันและแรงดึงดูดซึ่งมีผลต่อการสร้างศูนย์อำนาจในอาณาจักรใหม่

ต่อข้อสันนิษฐานดังกล่าว รัฐพม่ายุคหลังพุกาม คือ ตัวอย่างคลาสสิกที่ชี้ชวนให้เห็นทิศทางการเคลื่อนย้ายของศูนย์พลังการเมืองที่พุ่งขึ้นไปทางเหนือแถบปีงยะ สะกาย และอังวะ จากนั้นจึงค่อยๆ มุ่งลงใต้โดยผ่านตองอูแล้วไปสุดลงที่หงสาวดี แต่อย่างไรก็ตาม หลังการล่มของจักรวรรดิบุเรงนอง กลับพบเห็นทิศทางการโยกย้ายราชธานีของพม่าที่ทวนกลับขึ้นเหนือไปที่อังวะ ขณะที่การสร้างเมืองหลวงในยุคราชวงศ์คองบอง เช่น อมรปุระ และมัณฑะเลย์ ก็แสดงให้เห็นการปั้นจุดหัวใจจักรวรรดิที่ตั้งอยู่ทางแถบพื้นทวีปและห่างไกลชายฝั่งทะเล

ในอีกทางหนึ่ง รัฐสยามสมัยอยุธยา กลับมิได้ให้ภาพพลวัตการย้ายเมืองหลวงในอัตราความถี่เฉกเช่นเดียวกับรัฐพม่า หากแต่ได้แสดงให้เห็นถึงสภาวะคงที่ โดยตลอดระยะเวลาราว 417 ปี ศูนย์อำนาจสยามล้วนสิงสถิตอยู่ที่อยุธยาและไม่เคยเคลื่อนย้ายไปสู่ทำเลอื่น (อาจมียกเว้นกรณีธรรมเนียมการสร้างราชธานีแห่งที่สอง อย่างพิษณุโลกสมัยพระบรมไตรโลกนาถและลพบุรีสมัยพระนารายณ์)

สำหรับการย้ายราชธานีกัมพูชา พบเห็นทิศทางการโยกย้ายที่พุ่งยาวในแนวตะวันออกเฉียงใต้จากพระนครหลวง (เสียมเรียบ) ทางตอนเหนือของลุ่มทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) เข้าสู่เมืองจตุมุขหรือพนมเปญในสมัยพระบรมราชาที่ 1 หรือ เจ้าพระยายาต ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของลุ่มโตนเลสาบตรงจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาบ

หลังจากนั้น การปั้นราชธานีของกษัตริย์เขมรองค์ต่อมา มักกระทำกันบนแนวแม่น้ำสาบ (ลำน้ำที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับโตนเลสาบ) ที่เขยิบออกจากกรุงพนมเปญขึ้นไปทางเหนือ อาทิ ละแวกและอุดงค์มีชัย หากแต่เมืองต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีระยะทางที่ห่างกันเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร


เมืองสำคัญในกัมพูชายุคหลังพระนคร จากหนังสือเรื่อง 'เขมรสมัยหลังพระนคร' ของ ศานติ ภักดีคำ

จากกรณีดังกล่าว จึงน่าขบคิดต่อว่า ทิศทางการย้ายเมืองหลวงของรัฐเขมรจารีต สามารถสะท้อนอะไรได้บ้างเกี่ยวกับปัจจัยการสร้างเมือง หรือแม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคมในกัมพูชายุคก่อนอาณานิคม

Michael Vickery ได้แสดงความเห็นโดยอาศัยเอกสารจีนโบราณ ซึ่งเขาเชื่อว่าการที่กัมพูชาต้องย้ายเมืองหลวงลงมาทางใต้น่าจะสัมพันธ์กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบการค้ากับจีน โดยเฉพาะที่ตั้งของกรุงจตุมุขซึ่งคุมเส้นทางลำเลียงสินค้าระหว่างเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกับแผ่นดินลาวตอนใต้

อย่างไรก็ตาม เหตุผลทางยุทธศาสตร์และการเมือง น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการย้ายราชธานีเขมรยุคหลังพระนคร อาทิ ฐานอำนาจเดิมของพระบรมราชาที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ทางแถบภาคใต้ของลุ่มโตเลสาบจึงทำให้อาจมีความจำเป็นที่ต้องละทิ้งความวุ่นวายและความเสื่อมถอยทางการเมืองในลุ่มโตเลสาบตอนเหนืออันมีพระนครหลวงเป็นศูนย์กลาง หรือสารัตถะของพงศาวดารเขมรฉบับพระองค์เองที่มีการกล่าวถึงองค์กษัตริย์เขมรที่ถูกชิงราชสมบัติซึ่งมักเสด็จออกมาประทับที่เมืองละแวกเพื่อเป็นการเตรียมสะสมกำลังก่อนตัดสินใจเคลื่อนพลไปชิงราชสมบัติคืน

ในอีกทางหนึ่ง การขยายอิทธิพลของรัฐสยามและรัฐเวียดนามเหนือแผ่นดินกัมพูชา ก็สร้างแรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ต่อการค้นหาทิศทางใหม่ๆ ของกษัตริย์เขมรเพื่อสร้างระบบป้องกันตนเองจากการถูกรุกรานโดยรัฐมหาอำนาจที่ทรงกำลังกว่า

2. ตัวแบบเชิงป้องกัน (Defensive Model) : สัมพันธ์กับตัวแบบแรกโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการโจมตีของข้าศึก ความคงทนของอาณาจักรล้วนเกี่ยวเนื่องกับระบบป้องกันเมืองหรือการวางแนวค่ายคูประตูหอรบของราชธานี

พระนครศรีอยุธยา คือ ตัวอย่างคลาสสิกของการใช้พระนครเป็นฐานรับศึกโดยอาศัยแนวปราการเหล็ก อาทิ การใช้ความกว้าง/ลึกของคูเมือง และความหนา/สูงของกำแพงเมือง เป็นสิ่งกีดขวางเพื่อยันการบุกตีของข้าศึก หรือการตั้งป้อมบนยอดกำแพงเพื่อเพิ่มอำนาจยิงปืนใหญ่ผลักดันข้าศึก ขณะเดียวกัน เมืองในเขตอื่นๆ ก็ล้วนแสดงให้เห็นถึงการขยับขยายแนวป้อมเชิงเทินตลอดจนการฝึกปรือกำลังพลให้มีทักษะความชำนาญเกี่ยวกับการป้องกันเมือง ยกตัวอย่างเช่น คูน้ำที่กว้างใหญ่ของตองอูและมัณฑะเลย์ หรือความสูงหนาของหัวป้อมและฐานกำแพงเมืองที่เชียงใหม่ เชียงตุง และลพบุรี

กระนั้น แม้ความแข็งแกร่งของพลังปราการยุทธศาสตร์จะมีผลต่อการต่ออายุของรัฐอาณาจักร หากแต่อาจมีปัจจัยอื่นที่สามารถบุกทะลวงแนวปราการเหล็กพร้อมหักโค่นราชธานีได้อย่างชะงัด ยกตัวอย่างเช่น การปรับยุทธวิธีของกองทัพพม่าเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการรบข้ามฤดูน้ำหลากพร้อมใช้กลยุทธ์สงครามอุโมงค์ (Tunnel Warfare) ซึ่งนำมาสู่การล้มคลืนพังทลายของกำแพงพระนครศรีอยุธยา

สำหรับตัวแบบเชิงป้องกันในบริบทกัมพูชายุคหลังพระนคร การสร้างกรุงละแวก คือ ตัวอย่างที่ดีของพลัง 'เมืองป้อมค่าย' ที่มีผลต่อความแข็งแกร่งทนทานแห่งกัมพุชรัฐ


ภาพวาดเมืองละแวกโดยชาวยุโรป ซึ่งถ่ายแบบมาจากหนังสือของ F.Valentyn เรื่อง The City of Lovek หากแต่นักวิชาการไทย อย่างธิบดี บัวคำศรี ได้เคยแสดงความเห็นว่าภาพวาดโดยจิตรกรฝรั่งที่เคยระบุว่าเป็นเมืองละแวก แท้จริงแล้วน่าจะเป็นกรุงอุดง (ราชธานีเขมรสมัยต่อมา) เสียมากกว่า โดยข้อโต้แย้งดังกล่าว มีปรากฏในบทความของธิบดีซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2553

ละแวก มีลักษณะเป็นเมืองยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ โดยมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านกว้างมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และด้านยาววัดได้ราวๆ 3 กิโลเมตร พร้อมมีคูน้ำ คันดิน ที่ถูกสร้างเป็นแนวสามชั้นตามขนบแบบตรีบูร รวมถึงมีป่าไผ่ล้อมรอบเมืองซึ่งวัดความหนาได้ประมาณ 160 เมตร จากความกว้างใหญ่ของเมืองนี้ จึงมีคำกล่าวของชาวเขมรที่เล่าสืบต่อกันมาว่า "ไม่ว่าม้าที่มีกำลังมากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถวิ่งรอบกำแพงเมืองละแวกได้"

ขณะเดียวกัน ในหนังสือเอกสารมหาบุรุษเขมร รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระองค์จันท์) ได้กล่าวบรรยายถึงการสร้างเมืองละแวกซึ่งสะท้อนสถานะเมืองป้อมยุทธศาสตร์ที่อาจมีสมรรถนะอย่างพอเพียงในการรับศึก

โดยมีทั้งการสร้างฐานกำแพงดินพร้อมประตูใหญ่อีก 8 ประตู ซึ่งประตูหนึ่งๆ จะมีป้อมอยู่หนึ่งป้อมไว้สำหรับใส่ปืนใหญ่ (ตัวป้อมมีความสูงถึงราว 22 ศอก) ขณะที่ส่วนบนของกำแพงเมือง มีการตั้งปืนล้อมระดะเรียงรายกันไป ผังตัวเมือง ถูกแบ่งออกเป็น 5 ชั้น กำแพงเมืองชั้นที่ 1 ถูกสร้างให้เป็นเขตโรงช้างและโรงม้า ชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งกองทหารปืนเล็ก ชั้นที่ 3 คือ ฐานทหารดาบและทหารอาวุธสั้น ส่วนชั้นที่ 4 คือ ฐานทหารรักษาพระองค์ และชั้นสุดท้าย เป็นที่สถิตของพระราชวังและพระตำหนักต่างๆ ของเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ นอกจากนั้น ในตัวเมืองละแวกยังมีการตั้งคลังข้าวสารและคลังมะขาม ปลา จำนวน 15 หลัง พร้อมคลังกระสุนดินปืนอีก 10 หลัง

จากคำพรรณาดังกล่าว ละแวกจึงมีลักษณะเป็นเมืองทหารที่ยากต่อการโจมตี ซึ่งแม้ละแวกจะเป็นราชธานีเขมรที่มีอายุเพียงแค่ 66 ปี โดยมีกษัตริย์ปกครองอยู่ราว 5 พระองค์ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ระบบป้องกันตนเองของละแวกที่มีทั้งปราการธรรมชาติอย่างป่าไผ่และปราการประดิษฐ์อย่างค่ายคูประตูหอรบ จะดูผกผันกับอายุเมืองที่ค่อนข้างสั้นอยู่บ้าง หากแต่เมื่อพิจารณาถึงความทนทานในการรับศึกสยาม โดยเฉพาะการโหมตีของกำลังพลและยุทโธปกรณ์จำนวนมากของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ละแวกก็สามารถทำสงครามเชิงป้องกันได้ดีจนสร้างความร่นระย่อต่อกองทัพอยุธยา

อนึ่ง ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์กลศาสตร์สารพัดชนิดจากกองทัพสยามที่สะท้อนผ่านเอกสารมหาบุรุษเขมรหรือตำนานเรื่องพระโค พระแก้ว เช่น การทำลายป่าไผ่ หรือการถอยทัพแล้วกลับเข้ามาชิงเมืองอีกคำรบ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความทนทานแข็งแกร่งของราชธานีละแวกที่อย่างน้อยก็ช่วยยันมิให้ชะตาชีวิตของกัมพุชรัฐยุคหลังพระนครต้องล่มสลายในวิถีเวลาที่รวดเร็วเกินไปนัก

ท้ายที่สุด ผู้เขียนอยากกล่าวเน้นว่า ประวัติศาสตร์การโยกย้ายราชธานีเขมรยุคหลังพระนคร สามารถให้มุมมองแง่คิดที่เป็นประโยชน์หลายประการต่อการศึกษาเรื่องนคราภิวัฒน์ (Urbanization) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการพัฒนาตัวแบบเชิงทิศทางและเชิงป้องกัน ซึ่งสามารถนำไปใช้เทียบเคียงกับกรณีการย้ายเมืองหลวงร่วมสมัยอื่นๆ เพื่อค้นหาจุดเด่นเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของเมืองหลวงตลอดจนเหตุปัจจัยและสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนตำแหน่งราชธานี


แผนผังพระราชวังสระสารพรรณยุตแห่งกรุงอุดงค์มีชัยในรัชกาลสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีหรือพระองค์ด้วง พิมพ์ในหนังสือ L'ILLUSTRATION ปี ค.ศ.1868

อนึ่ง นอกเหนือจากเรื่องแนววิเคราะห์เชิงทิศทางและยุทธศาสตร์การป้องกันข้าศึก กัมพูชายุคหลังพระนคร อาจให้ตัวแบบอันสุดแสนวิเศษเกี่ยวกับการต่ออายุราชธานีหรือขวัญของเมืองในยุคจารีต โดยเฉพาะมนตราไสยศาสตร์และขนบความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ซึ่งแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ไม่น่าใส่ใจนักตามระเบียบวิธีวิทยาวิทยาศาสตร์ หากแต่ก็เป็นประเด็นที่มองข้ามมิได้ในระบบรัฐและสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคจารีต โดยเฉพาะ โลกความเชื่อของคนเขมร ซึ่งมีทั้งการใช้เทวดาอารักษ์ในการปกปักรักษาเมืองละแวกจนทำให้กองทัพสยามต้องส่งสายลับเข้ามาถอนอาคม หรือการเนรมิตพระราชวังและวัดศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากในราชธานีอุดงค์มีชัย ซึ่งน่าจะมีผลต่อการคุ้มครองเมือง (จนทำให้กรุงอุดงค์มีอายุยืนยาวกว่า 243 ปี) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เรื่องต่างๆ เหล่านี้ แม้จะยากต่อการพิสูจน์ยืนยัน หากแต่ก็ช่วยผลิตตัวแบบด้านขวัญและจิตวิญญาณ (Moral and Spiritual Model) ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งแนวมองที่ช่วยสร้างความกระจ่างชัดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของราชธานีโบราณ ทั้งในบริบทของกัมพูชาและในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคจารีต


ดุลยภาค ปรีชารัชช


เอกสารประกอบการค้นคว้า

กรมศิลปากร. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2513.
เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540
ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556


 

บล็อกของ ดุลยภาค