Skip to main content

ตุลาคม 2551

"พร้อมหรือยัง"
ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพ
แสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง

"หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย


ต๋อม ตรี แดน แอค และวาซามิหนึ่งสาวญี่ปุ่นที่พูดไทยได้ชัดแจ๋ว กลุ่มนักถ่ายรูปมือสมัครเล่น ที่มาเยือนหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า และได้ค้างแรมหมู่บ้านใต้แสงดาวแห่งนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา


เช้านี้ พวกเขาวางแผนจะเดินทางไปถ่ายรูปหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวบ้านห้วยปูแกง ฉันจึงถือโอกาสติดตามขบวนของพวกเขา "เพื่อกลับบ้าน" บ้านที่ยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ


บ้านที่ว่านี้ก็คือ หมู่บ้านกลางป่าใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างโครงการที่สวยหรูในชื่อ "โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากระเหรี่ยง(ประด่อง)เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน" ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวต้นปี 2550


นึกแล้วก็ใจหาย ฉันแทบจำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่เข้ามาหมู่บ้านนั้นนานเท่าไรแล้ว นับตั้งแต่ผู้คนได้ย้ายเข้าไปอาศัยในหมู่บ้านเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน


ไม่กี่เดือนต่อมาฉันก็ถอยหลังมาเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตการณ์ มันไม่มีเหตุผลอันใดภายใต้เงื่อนไขของภาวการณ์ดำรงชีวิต ที่ถูกขีดให้ต้องเลือกเอาระหว่างภาระภายในและภาระทางสังคม


ข้อจำกัดของฉันคือภาระภายในที่รุมเร้า ฉันไม่อาจทุ่มเทเวลา สมอง ร่างกาย ให้กับหมู่บ้านในฝันได้เช่นที่เคยทำมาแต่ต้น


ชาวบ้านถูกปล่อยให้สานฝันนั้นแต่ลำพัง ด้วยความคลางแคลงใจว่ากลายเป็นผู้ถูกทอดทิ้งท่ามกลางกระแสลมพายุที่โหมกระหน่ำพัด


ฉันไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนทำให้หมู่บ้าน ตกอยู่ท่ามกลางพายุที่โหดร้ายโดยไม่ได้เหลียวแล ซึ่งทำให้ฉันไม่กล้าแม้แต่จะจดบันทึกความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับลงในเวลาอันสั้น


การเดินทางที่ไม่ได้วางแผน ชักนำให้เท้าก้าวไปตามเส้นทางกลับบ้านที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เส้นทางที่ฉันเลือกเดินเมื่อไฟยังคุกรุ่น


เส้นทางสู่วิหารแห่งชีวิตที่เคยพลีร่างกาย เวลา สติปัญญาและแม้แต่ชีวิต เพื่อให้วิหารของตนเองมีความศักดิ์สิทธิ์สวยงาม  แต่แล้วจู่ๆ ฉันกลับทอดทิ้งวิหาร ออกนอกเส้นทางที่เคยเดินโดยไม่ได้ล่ำลา นานเนิ่นนานที่ไม่กล้าแม้แต่จะหวนกลับไปดูซากปรักหักพัง


ข่าวที่แว่วมาว่าหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากระเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "บ้านใหม่ห้วยปูแกง" กลายเป็นบ้านร้าง เงียบเป็นป่าช้า และกำลังกลับคืนเป็นป่าหญ้าในอีกไม่นานนั้น วันนี้ฉันจะได้ไปประจักษ์กับตา


เพื่อนร่วมเดินทางดูมีความตื่นเต้นไม่น้อย ทุกคนหยิบสัมภาระไปเพียงน้ำดื่มและกล้องถ่ายรูป สำหรับตรีและพวกเราชาวบ้านที่เคยไปมาหลายครั้งไม่มีวี่แววกังวลเท่าใดนัก


ในขณะที่ต๋อม ดูท่าทางจะตื่นเต้นที่สุด เพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของการมาเยือนแม่ฮ่องสอน และการเดินทางไกลด้วยสองเท้าในเส้นทางที่ไม่รู้จัก


วาซามิเล่าว่าที่ญี่ปุ่นก็มีภูเขามากมาย เพราะเป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบ จึงไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับการเดินทางครั้งนี้ ดูเธอจะเป็นคนเดียวที่ไม่บ่นและเดินด้วยจังหวะเท้าที่สม่ำเสมอเช่นคนชาวป่าอย่างเรา


แอคและแดนนั้น ยังคงง่วนอยู่กับการเก็บภาพ พวกเขาคงจะหอบภาพนับร้อยๆ เพื่อกลับไปบอกเล่าถึงความสนุก ความตื่นเต้นและประทับใจ ที่ได้มาสัมผัสครั้งแรก


คงอีกนานที่พวกเขาจะกลับมาอีก หรืออาจจะนานจนกระทั่งลืมแม้แต่ชื่อผู้คน สถานที่ ที่เคยเก็บภาพไปแล้วก็ได้


หลายสิ่งที่ผ่านเลนส์แห่งชีวิต ไม่ใช่ภาพเสมือน แต่มันชัดเจนและประทับอยู่ในสมองเรา บางครั้งอาจจะลืมภาพผู้คนที่เราผ่านพบ หรือเลือกที่จะจดจำเพียงบางเฟรมแห่งชีวิต แต่เราไม่อาจทอดทิ้งสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันขณะได้ เช่น หมู่บ้านใหม่ห้วยปูแกงใหม่ยามนี้ ที่กำลังจะปิดตำนานลงในเวลาเพียงไม่ถึงสองปี ล้วนเป็นภาพความทรงจำที่ดูเหมือนจะมีไว้ให้ทุกคนรีบลืมมันไป


และแล้วขบวนของเราที่ประกอบด้วยเพื่อนต่างถิ่นห้าคน ฉันและสามี ก็ค่อย ๆ ผ่านแนวป่าเข้าสู่เขตหมู่บ้านเกือบเที่ยงวัน ส่วนพี่เขยและพี่ชายสามีล่วงหน้ามานั่งหย่อนขาอยู่บนกระท่อมก่อนแล้ว

 

 


จากแนวป่าที่โอบล้อม คลายออกให้เห็นภาพหลังคากระท่อมนับสิบหลังที่ยืนเรียงรายอย่างสงบ เงียบ และวังเวงในความรู้สึก


กระท่อมหลายหลังทรุดโทรมเหมือนคนป่วยไข้ที่ถูกปล่อยให้นอนคาเตียงอย่างเดียวดาย ดูเหมือนจะมีเพียงมีต้นหญ้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างร่าเริง


ผู้คนที่เคยมาเยือนอาจจะนึกภาพไม่ออก ถึงชีวิตใต้กระท่อมใบตองตึง ควันไฟจากการเผาไหม้ที่ลอยคว้างเป็นสายเนิ่นนานวัน แปลงผักจากหยาดเหงื่อแรงงานในครอบครัว รอยยิ้มหัวของลูกเล็กเด็กแดงที่ตื่นเต้นกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ


หรืออาจจะเป็นถนนนั่นที่เคยระดมกำลังกันสร้างมันขึ้นมา โดยไม่รู้ว่าในอนาคตที่มาถึงจะกลายเป็นเพียงทางเดินของวัวควาย ไม่ใช่นักท่องเที่ยวอย่างที่หวัง


มีบ้านที่อยู่ใกล้หมู่บ้านห้วยปูแกงเดิมสองสามหลังเท่านั้นที่ยังมีสัญญาณแห่งชีวิต ผู้คนส่วนใหญ่เลือกกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา ไม่ว่าจะหวนคืนสู่บ้านห้วยเสือเฒ่า บ้านเก่าห้วยปูแกง และศูนย์อพยพบ้านในสอย


"ไปดูบ้านเราหน่อยไหม"
สามีร้องเตือนเมื่อเห็นฉันยังยืนตะลึงในภาพที่เห็น สายตาที่ตอบไปแทนคำพูดโดยไม่ต้องให้เอ่ยซ้ำ ฉันไม่กล้าแม้แต่จะเดินไปดูบ้านของตัวเอง


มีใครบางคนถามถึงความเป็นมาเป็นไปของหมู่บ้าน ฉันอ้อมแอ้มตอบไปไม่เต็มเสียง


หน่วยความรู้สึกไหลมาจุกที่อกจนไม่อาจเอ่ยคำใดออกมา พี่ชายและพี่เขยคงรู้สึกแบบเดียวกัน มันคือสมรภูมิรบที่เราพ่ายแพ้อย่างยับเยินในเวลาอันรวดเร็ว


สมรภูมิรบที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางชนะ เราไม่มีเสบียง ไม่มีแม่ทัพ ไม่มีกองหนุนที่มีความจริงใจพอที่จะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่


เราค่อยๆ หมดสิ้นซึ่งกำลังใจทีละนิดทีละนิด และเมื่อทุกคนเลิกรบ ก็ไม่มีใครที่อยากจะเอ่ยถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้เกิดความเสียหายถึงชีวิตแต่ก็ทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้ในใจเราทุกคน.




 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว