Skip to main content
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทย

แม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว


สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่พลาดก็คือ   การเข้าชมหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวห้วยเสือเฒ่าที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงเจ็ดกิโลเมตร
 

นับเป็นความน่าอัศจรรย์ใจในขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจากชนเผ่าอื่นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า  สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชนและจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมากมาย

หญิงกระยันที่ถูกเรียกขานว่า
"กระเหรี่ยงคอยาว"  ด้วยเพราะการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่ลำคอจนดูเหมือนว่าลำคอนั้นยืดยาวกว่าคนปกติ  โดยที่พวกเธอจะเริ่มสวมห่วงแรกๆตั้งแต่อายุประมาณห้าขวบโดยชั่งนำหนักขดทองเหลืองให้ได้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมแล้วนำมาขดไว้รอบๆคอ

โดยปกติจะเพิ่มน้ำหนักทองเหลืองทุกๆ ห้าปี  เพื่อให้ได้รอบวงมากขึ้นและอาจจะเปลี่ยนขนาดเส้นทองเหลืองให้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย

แม่เฒ่าวัย 50-60 ปี จะใช้เส้นทองเหลืองขนาดใหญ่สุดและมีน้ำหนักมากถึงห้ากิโลกรัม บางคนจะแบ่งเป็นสองขด   ขดข้างล่างจะรอบวงกว้างกว่าจะมีห่วงเล็กๆคล้องแยกออกจากขดบน

การสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอมีความหมายที่แท้จริงอย่างไรไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัดเพราะไม่ทราบถึงประวัติที่แท้จริงของจุดเริ่มต้นของการสวมห่วงในลักษณะดังกล่าว

หากแต่ปัจจุบันเมื่อถามแม่เฒ่าที่อายุมากที่สุดก็จะได้คำตอบเดียวกันคือเพื่อความสวยงามโดยอ้างอิงจากตำนานว่าสมัยก่อนเมื่อนานมาแล้วมีการประกวดความงามกันระหว่างชนเผ่ากระยันสี่เผ่าคือกระยันละหุ่วย, กระยันละทะ,กระยันกะง่างและกระยันกะเคาะ

กระยันละห่วยได้นำเส้นโลหะมาคล้องขดไว้ที่คอ ทำให้ชนะการประกวด จึงเป็นความเชื่อขอองชาวกระยันละห่วยตั้งแต่นั้นมาว่าเมื่อใส่ห่วงสีทองไว้ที่คอจะเพิ่มความสวยงามในการแต่งกาย

แม้ว่าก่อนนั้นห่วงโลหะดังกล่าวจะทำมาจากทองจริงๆ  ปัจจุบันเห็นเพียงห่วงทองเหลืองที่เปรียบเสมือนเครื่องประดับชนิดหนึ่งของร่างกาย ซึ่งการแต่งกายที่ครบชุดของหญิงกระยันจะต้องประกอบไปด้วยสามส่วนใหญ่ๆคือส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนขา

ส่วนหัวก็จะเริ่มตั้งแต่การมวยผมเรียกว่ากระลู ผ้ามัดชิ้นบนเรียกว่ากระเก้า ผ้ามัดชิ้นที่ปล่อยชายเรียกว่ากระแขะ กระแขะนี้อาจใช้มากกว่าสามชิ้นก็ได้ 

ส่วนสีสันก็แล้วแต่ความชอบส่วนตัว ถัดลงมาที่คอห่วงทองเหลืองเรียกว่าซือกะโบ และซือบอทึ มีผ้ารองที่คางเรียกว่า กระบอซือ

ส่วนหัวประกอบไปด้วยเสื้อเรียกว่าฮ้วงเจ ผ้านุ่งเรียกว่าหงึ มีกำไลที่แขนข้างละหกวงเรียกว่าล้วงโบ้
ส่วนขามีเส้นทองเหลืองขดไว้ที่เข่าเรียกว่าแบะละโบ๊และกำไลข้อเท้าเรียกว่าห่างกุย
การแต่งกายที่ดั้งเดิมนี้เองที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านอยู่ไม่ขาดสาย    แม่เฒ่ากระยันส่วนใหญ่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายดั้งเดิมนี้ไว้อย่างเคร่งครัดยังคงทอเสื้อกระสอบและผ้าถุงสวมใส่อยู่เช่นเดิม

เมื่อถามถึงการแต่งกายของชาวกระยัน เราจะได้รับคำตอบที่แสนจะภาคภูมิใจ
"ใครเห็นก็จะบอกว่าสวย เพราะถ้าสวมห่วงที่คอ ก็ต้องสวมห่วงที่ขา และก็เกล้าผม ใส่เสื้อและผ้าถุงที่ทอเองแบบแม่เฒ่าใส่อยู่นี้"

มะโน แม่เฒ่าผู้ที่ยังมีความเชื่อเรื่องความงามจากการแต่งกายด้วยการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ ยังหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแต่งกายแบบชาวกระยันต่อไป    สำหรับแม่เฒ่าแล้วยินดีฝังร่างไว้กับห่วงสีทองที่ใส่มาตั้งแต่ห้าขวบ ปัจจุบันแม่เฒ่ามีห่วงที่คอหนักห้ากิโลกรัมมีจำนวนขดเท่ากับยี่สิบสี่วง  และที่ขาอีกข้างละหนึ่งกิโลกรัม

ปัจจุบันแม้เยาวชนในหมู่บ้านจะหันไปแต่งกายตามแฟชั่นบ้างด้วยความสำนึกเรื่องความสวยงามเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  แต่เราก็คงยังเห็นพวกเธอแต่งกายชุดกระยันดั้งเดิมวันช่วงวันสำคัญทางพิธีกรรมต่างๆ เช่น วันแต่งงาน วันงานต้นที หรือช่วงเวลาที่ต้องไปโชว์ตัวในงานประจำจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

"หากวันนี้เราไม่สวมห่วงทองเหลือง และไม่สวมชุดกระยันดั้งเดิมไว้ ต่อไปก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเรา เราจะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะเสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมหมดไป"

แม่เฒ่ากระยันทิ้งท้ายให้ข้อคิดกับเด็กรุ่นใหม่ หากแต่ว่าจะสวนกระแสค่านิยมของแฟชั่นที่ทะลักทลายเข้าหมู่บ้านพร้อมกับแขกผู้มาเยือนอีกนานเพียงใดเป็นสิ่งที่ท้าทายชนเผ่าเล็กๆแห่งนี้.

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เมื่อคืนเรานั่งดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่เราไปเที่ยวกันมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่แม่พาลูกเดินทางไกล จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นลูกเพิ่งอายุได้เจ็ดเดือนเศษ  มีรูปตอนไปเที่ยวสวนสัตว์และเที่ยวงานพืชสวนโลก 2008 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สวยราวกับภาพถ่ายต่างเมืองที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่เมืองไทย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก  นานแล้วที่แม่ไม่ได้หอมกลิ่นดอกเหงื่อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งน้ำประปาหลวง ทำให้บ้านของเราที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดอกเหงื่อที่เกิดจากการจับจอบเสียมเพื่อขึ้นแปลงผักและปลูกต้นไม้เล็กๆน้อยๆ ทำให้แม่มีความสุข เจริญอาหาร และอารมณ์ดีขึ้นไม่น้อย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก  ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม่อยากจะเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องความรักระหว่างพ่อกับแม่ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม
เจนจิรา สุ
เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ