Skip to main content
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทย

แม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว


สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่พลาดก็คือ   การเข้าชมหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวห้วยเสือเฒ่าที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงเจ็ดกิโลเมตร
 

นับเป็นความน่าอัศจรรย์ใจในขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจากชนเผ่าอื่นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า  สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชนและจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมากมาย

หญิงกระยันที่ถูกเรียกขานว่า
"กระเหรี่ยงคอยาว"  ด้วยเพราะการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่ลำคอจนดูเหมือนว่าลำคอนั้นยืดยาวกว่าคนปกติ  โดยที่พวกเธอจะเริ่มสวมห่วงแรกๆตั้งแต่อายุประมาณห้าขวบโดยชั่งนำหนักขดทองเหลืองให้ได้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมแล้วนำมาขดไว้รอบๆคอ

โดยปกติจะเพิ่มน้ำหนักทองเหลืองทุกๆ ห้าปี  เพื่อให้ได้รอบวงมากขึ้นและอาจจะเปลี่ยนขนาดเส้นทองเหลืองให้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย

แม่เฒ่าวัย 50-60 ปี จะใช้เส้นทองเหลืองขนาดใหญ่สุดและมีน้ำหนักมากถึงห้ากิโลกรัม บางคนจะแบ่งเป็นสองขด   ขดข้างล่างจะรอบวงกว้างกว่าจะมีห่วงเล็กๆคล้องแยกออกจากขดบน

การสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอมีความหมายที่แท้จริงอย่างไรไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัดเพราะไม่ทราบถึงประวัติที่แท้จริงของจุดเริ่มต้นของการสวมห่วงในลักษณะดังกล่าว

หากแต่ปัจจุบันเมื่อถามแม่เฒ่าที่อายุมากที่สุดก็จะได้คำตอบเดียวกันคือเพื่อความสวยงามโดยอ้างอิงจากตำนานว่าสมัยก่อนเมื่อนานมาแล้วมีการประกวดความงามกันระหว่างชนเผ่ากระยันสี่เผ่าคือกระยันละหุ่วย, กระยันละทะ,กระยันกะง่างและกระยันกะเคาะ

กระยันละห่วยได้นำเส้นโลหะมาคล้องขดไว้ที่คอ ทำให้ชนะการประกวด จึงเป็นความเชื่อขอองชาวกระยันละห่วยตั้งแต่นั้นมาว่าเมื่อใส่ห่วงสีทองไว้ที่คอจะเพิ่มความสวยงามในการแต่งกาย

แม้ว่าก่อนนั้นห่วงโลหะดังกล่าวจะทำมาจากทองจริงๆ  ปัจจุบันเห็นเพียงห่วงทองเหลืองที่เปรียบเสมือนเครื่องประดับชนิดหนึ่งของร่างกาย ซึ่งการแต่งกายที่ครบชุดของหญิงกระยันจะต้องประกอบไปด้วยสามส่วนใหญ่ๆคือส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนขา

ส่วนหัวก็จะเริ่มตั้งแต่การมวยผมเรียกว่ากระลู ผ้ามัดชิ้นบนเรียกว่ากระเก้า ผ้ามัดชิ้นที่ปล่อยชายเรียกว่ากระแขะ กระแขะนี้อาจใช้มากกว่าสามชิ้นก็ได้ 

ส่วนสีสันก็แล้วแต่ความชอบส่วนตัว ถัดลงมาที่คอห่วงทองเหลืองเรียกว่าซือกะโบ และซือบอทึ มีผ้ารองที่คางเรียกว่า กระบอซือ

ส่วนหัวประกอบไปด้วยเสื้อเรียกว่าฮ้วงเจ ผ้านุ่งเรียกว่าหงึ มีกำไลที่แขนข้างละหกวงเรียกว่าล้วงโบ้
ส่วนขามีเส้นทองเหลืองขดไว้ที่เข่าเรียกว่าแบะละโบ๊และกำไลข้อเท้าเรียกว่าห่างกุย
การแต่งกายที่ดั้งเดิมนี้เองที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านอยู่ไม่ขาดสาย    แม่เฒ่ากระยันส่วนใหญ่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายดั้งเดิมนี้ไว้อย่างเคร่งครัดยังคงทอเสื้อกระสอบและผ้าถุงสวมใส่อยู่เช่นเดิม

เมื่อถามถึงการแต่งกายของชาวกระยัน เราจะได้รับคำตอบที่แสนจะภาคภูมิใจ
"ใครเห็นก็จะบอกว่าสวย เพราะถ้าสวมห่วงที่คอ ก็ต้องสวมห่วงที่ขา และก็เกล้าผม ใส่เสื้อและผ้าถุงที่ทอเองแบบแม่เฒ่าใส่อยู่นี้"

มะโน แม่เฒ่าผู้ที่ยังมีความเชื่อเรื่องความงามจากการแต่งกายด้วยการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ ยังหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแต่งกายแบบชาวกระยันต่อไป    สำหรับแม่เฒ่าแล้วยินดีฝังร่างไว้กับห่วงสีทองที่ใส่มาตั้งแต่ห้าขวบ ปัจจุบันแม่เฒ่ามีห่วงที่คอหนักห้ากิโลกรัมมีจำนวนขดเท่ากับยี่สิบสี่วง  และที่ขาอีกข้างละหนึ่งกิโลกรัม

ปัจจุบันแม้เยาวชนในหมู่บ้านจะหันไปแต่งกายตามแฟชั่นบ้างด้วยความสำนึกเรื่องความสวยงามเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  แต่เราก็คงยังเห็นพวกเธอแต่งกายชุดกระยันดั้งเดิมวันช่วงวันสำคัญทางพิธีกรรมต่างๆ เช่น วันแต่งงาน วันงานต้นที หรือช่วงเวลาที่ต้องไปโชว์ตัวในงานประจำจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

"หากวันนี้เราไม่สวมห่วงทองเหลือง และไม่สวมชุดกระยันดั้งเดิมไว้ ต่อไปก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเรา เราจะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะเสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมหมดไป"

แม่เฒ่ากระยันทิ้งท้ายให้ข้อคิดกับเด็กรุ่นใหม่ หากแต่ว่าจะสวนกระแสค่านิยมของแฟชั่นที่ทะลักทลายเข้าหมู่บ้านพร้อมกับแขกผู้มาเยือนอีกนานเพียงใดเป็นสิ่งที่ท้าทายชนเผ่าเล็กๆแห่งนี้.

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว