Skip to main content

ข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป

Kasian Tejapira(27/11/55)

 

นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ผมรับได้ในทางการเมือง เป็นการใช้อำนาจรัฐและเงินงบประมาณรัฐแทรกแซงขนานใหญ่เข้าไปในตลาดข้าว ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุด เป้าหมายเพื่อ "เกลี่ย" ผลประโยชน์การค้าข้าวที่เคยจัดสรรแบ่งกันแต่เดิมในหมู่กลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสียใหม่ โดยให้ประโยชน์กับชาวนาบางกลุ่มมากขึ้น ซึ่งก็ย่อมมีผู้เสียประโยชน์ ไม่พอใจและพยายามต่อต้านคัดค้าน เช่น ผู้ส่งออกข้าว เป็นต้น ต้นทุน/ผลได้การเมืองเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งวัดน้ำหนักทางสังคมและรัฐบาลคงต้องจ่าย/ได้คะแนนในทางการเมือง
 
นั่นแปลว่าข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ในแง่เศรษฐกิจและการบริหารจัดการ นโยบายจำนำข้าวแบบที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำ มีจุดอ่อนอยู่ และเสี่ยงสูง (แบบฉบับทักษิณ) คือเครื่องมือแทรกแซงได้แก่เงินงบประมาณส่วนรวม และก้อนโต ไม่น่าจะทำได้ต่อเนื่องยาวนาน เมื่อทำแล้ว กระทบทำให้ตลาดข้าวเปลี่ยน "ระเบียบเก่า" ทรุดโทรมไป ขณะที่ "ระเบียบใหม่" ยังไม่ลงตัวและอาจไม่ยืนนาน กล่าวคือ มีจุดอ่อนรั่วไหลเยอะ ต้นทุนจะสูงกว่าที่ควรจะเป็น และการยืนนานของนโยบายนี้ไม่แน่ไม่นอนว่ารัฐจะทนควักกระเป้าแทรกแซงเพื่อ "เกลี่ย" ผลประโยชน์ใหม่ไปอีกนานเท่าไร
 
มองเป็น package ทั้งชุด นี่ก็เป็นแนวนโยบายแบบฉบับทักษิณ คือใช้อำนาจรัฐแทรกแซงเศรษฐกิจ จัดการ "เกลี่ย" ผลประโยชน์ในภาคส่วนเศรษฐกิจต่าง ๆ ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกันใหม่ เพื่อปฏิรูปมันไปในทิศทางที่ได้คะแนนเสียงทางการเมือง แต่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจของบางฝ่ายเฉพาะหน้าซึ่งพวกเขาย่อมออกมาต่อต้านคัดค้าน ที่ทำก็ด้วยคำอธิบายว่าจะเอื้อเฟื้อต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว (ยุทธศาสตร์ส่งออกสินค้าถูกแรงงานถูกหมดอนาคตแล้ว ต้องเสริมสร้างตลาดภายใน เพิ่มกำลังซื้อ กระตุ้นอุปสงค์ หรือเพิ่มสมรรถนะทางเศรษฐกิจสังคมของคนส่วนมากบางกลุ่มบางชนชั้น เป็นต้น) ไม่ว่านโยบายจำนำข้าวที่เอื้อประโยชน์ชาวนากลาง, ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศที่เอื้อประโยชน์กรรมกรในอุตสาหกรรมย่อยและกลาง เป็นต้น มันเสี่ยงสูงและหักหาญและจะกระทบกลุ่มผลประโยชน์สำคัญและถูกต่อต้านเยอะ
 
พูดอีกอย่าง ยุคของระบอบนโยบายแน่นอนตายตัวคาดการณ์ได้ที่วางอยู่บนการจัดแบ่งผลประโยชน์อย่างที่เคยเป็นมา และรองรับด้วยฐานเสียงสนับสนุนของเทคโนแครต นักวิชาการ นักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ครอบงำเดิม หมดไปแล้ว พรรคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์มีแนวโน้มบุคลิกประจำที่จะหยิบนโยบายเหล่านี้ที่เขาคิดว่าสำคัญต่อยุทธศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจ มารื้อใหม่ "เกลี่ย" ผลประโยชน์กันใหม่ทีละภาคส่วน ซึ่งเท่ากับเป็นการ politicize ระบอบนโยบายที่เคยสงบเงียบแบ่งปันกันกินอย่างราบคาบ(โดยอาจไม่เท่าเทียมหรือเป็นธรรมแก่ฝ่ายต่าง ๆ และสังคมก็ได้)ขนานใหญ่ ก่อให้เกิดการขัดแย้งต่อสู้อย่างดุเดือดในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น สมาคมอุตสาหกรรม, วงการค้าข้าว, ปัญญาชนสาธารณะ ฯลฯ ดังที่เรากำลังประสบพบเห็น

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"