Skip to main content

Hartmut Rosa (ค.ศ. ๑๙๖๕ - ปัจจุบัน) ศาสตราจารย์สังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Friedrich Schiller ในเมืองเจนา เยอรมนี เชื่อว่ามันมี “ระบอบเวลา” ดำรงอยู่ (ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่อย่างใด) เบื้องหลังมโนทัศน์เรื่องเวลาของพวกเราแต่ละคนที่ถือว่าเวลาเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไร หรือคิดว่าเวลาเป็นตัวแทนความพลิกผันเปลี่ยนแปลงในการดำรงอยู่ของแต่ละบุคคล

Hartmut Rosa


โรซ่าชี้ว่ามีระบอบเวลาที่เร่งเร็วขึ้น ๓ ชนิดทำงานผสมผสานกันอยู่ในระยะอันใกล้นี้ ได้แก่:
-การเร่งเร็วทางเทคนิค (อินเทอร์เน็ต, รถไฟความเร็วสูง, เตาไมโครเวฟ)
-การเร่งเร็วทางสังคม (ผู้คนเปลี่ยนการงานอาชีพและคู่ครองบ่อยขึ้น, ใช้ข้าวของแล้วทิ้งเปลี่ยนใหม่ถี่ขึ้น)
-จังหวะดำเนินชีวิตกระชั้นขึ้น (เรานอนน้อยลง, พูดเร็วขึ้น, สื่อสารกับคนรอบข้างน้อยลง, ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันไป)

อันที่จริงโดยตรรกะแล้ว การเร่งเร็วทางเทคนิคน่าจะช่วยให้ชีวิตเราเครียดน้อยลง แต่เอาเข้าจริง แม้ว่ากระบวนการแต่ละอย่างจะกินเวลาน้อยลง การณ์กลับกลายเป็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลับเพิ่มจำนวนกระบวนการที่เราต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวดูแลจัดการมันเป็นทวีตรีคูณ เช่น พิมพ์อีเมล์ย่อมเร็วกว่าเขียนจดหมายก็จริง แต่เราก็พิมพ์อีเมล์วันละมากมายหลายฉบับกว่าที่เราเคยเขียนจดหมาย, ขับรถทำให้เดินทางเร็วขึ้นก็จริง แต่วัน ๆ เราก็เดินทางไปโน่นมานี่มากมายหลายที่หลายเที่ยวขึ้นจนลงเอยเป็นว่าเราก็หมดเวลาไปกับการเดินทางในแต่ละวันเท่าเก่านั่นแหละ นอกจากนี้ร้อยเรื่องสารพัดสารพันที่เข้ามาพัวพันอีนุงตุงนังกับเรา ดึงดูดความสนใจของเรามากกว่าเก่าหลายเท่าตัวนั้นมันต่างก็ยั่วยุเชื้อเชิญเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เราลองบริโภคอย่างนี้ ผ่อนคลายหรือทำงานอดิเรกอย่างนั้น ดูทีวีเรื่องนี้ ท่องเน็ตเว็บนั้น ไปทานอาหารร้านนี้ ไปเที่ยวหย่อนใจที่นั่น ฯลฯ ทำให้วัน ๆ เราก็เสียเวลาไปกับการชั่งวัดตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ไม่น้อยเลย



โรซ่าเชื่อว่าปรากฏการณ์เวลาเร่งเร็วในทางประวัติศาสตร์ที่ยกมานี้แรกเริ่มเดิมทีถูกขับเคลื่อนไปโดยสังคมตะวันตก ด้วยคำมั่นสัญญาว่ามันจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าและอิสระเสรีที่ปรารถนามานมนาน ทว่ามาบัดนี้การเร่งเร็วกลับลัดวงจรบรรดาสถาบันและโครงสร้างการเมืองทั้หลายแล้วกลายเป็น “พลังเบ็ดเสร็จในสังคมสมัยใหม่” หรือนัยหนึ่งเป็นหลักการนามธรรมที่กำกับบงการทุกแห่งหนชนิดที่ไม่มีใครหนีมันพ้นได้ ผู้คนพากันรู้สึกว่าทั้งหมดที่พอทำไหวตอนนี้คือ “ทำให้ทัน” เท่านั้นเอง (ถ้ายังทันนะ) โดยไม่มีปัญญาจะมานั่งพินิจพิจารณาจากมุมมองที่แยกห่างเยือกเย็นเลยว่าที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้นั้นมันเป็นอย่างไร มันคืออะไร หรือเพื่ออะไร, ชุมชนการเมืองระดับต่าง ๆ ทั้งหลายก็สูญเสียอำนาจควบคุมเหนือชะตากรรมของตนไป ความรีบร้อนเร่งเร็วนี้มาพร้อมกับความรู้สึกเฉื่อยเนือยและปล่อยวางปลงใจว่ามันเป็นเรื่องของชะตาฟ้าลิขิตที่ใครก็กำหนดควบคุมไม่ได้

เป็นอย่างงี้ใช่ไหมล่ะครับ?

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
บทกวีไว้อาลัยการจากไปของ 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ที่ถูกยิงเสียชีวิตวันนี้ "เมื่อกวีจากไปไร้กวี.."
เกษียร เตชะพีระ
ที่คุณสุเทพ ณ กปปส.คัดค้านการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ยืนกรานว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็มีนัยการเมืองสำคัญตรงนี้ คือต้องทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยให้จงได้ ไม่ให้มันได้คลอดได้ผุดได้เกิดผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาลืมตาดูโลก ทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จแล้ว ก็จะได้เคลมตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” แทนนั่นปะไร
เกษียร เตชะพีระ
พลังฮึกห้าวเหิมหาญของม็อบและขบวนการใดที่ก่อตัวขึ้นโดยกัดกร่อนบ่อนทำลายเหล่าสถาบันการเมืองของชาติให้เสื่อมทรุดถดถอยราบคาบลงไป ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา มีแต่พลังทำลาย ผลได้ของการเคลื่อนไหว ไม่ยั่งยืน เมื่อฝุ่นหายตลบแล้วก็จะพบว่ามีแต่ซากปรักหักพังแห่งสถาบันการเมืองของชาติทั้งชาติ โดยไม่ได้ดอกผลการต่อสู้อะไรจริงจังยั่งยืนขึ้นมาเลย
เกษียร เตชะพีระ
ข้อสังเกตหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างและปรับปรุงระบบลอจิสติกส์ของประเทศใหม่ ผิดรัฐธรรมนูญ
เกษียร เตชะพีระ
ผมอ่านข้อเสนอที่นายกแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแถลงล่าสุดแล้ว มีความเห็นว่ามัน "ไม่เป็นกลาง" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้...
เกษียร เตชะพีระ
วิธีการที่ผิด ไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องดีงามได้ และคนอื่นเป็นเจ้าของประเทศไทยเหมือนกันเท่ากับผมและคุณ เท่ากันเป๊ะ