Skip to main content

Kasian Tejapira(15/4/56)

ผมเพิ่งดูหนังที่น่ากลัวมากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูมา เปล่าครับไม่ใช่หนังผีหรือหนังสยองขวัญสับเละอะไร แต่เป็นสารคดี 60 Minutes ของสถานีข่าวทีวี CBS อเมริกันเรื่อง “ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีน” ที่ออกอากาศเมื่อต้นเดือนมีนาคมศกนี้ที่ผ่านมา http://www.cbsnews.com/video/watch/?id=50142079n

ข้อเสนอใจกลางของสารคดีก็คือฟองสบู่อสังหาฯและก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกกำลังเกิดขึ้นที่จีนและมันอาจจะแตก

ประสบการณ์ทำนองนี้ของไทยเราเคยมีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ๒๕๔๐ เมื่อหมู่บ้านจัดสรร คอนโด อพาร์ทเมนต์ก่อสร้างขึ้นมาล้นเหลือเกินดีมานด์ของตลาดนับแสนหน่วย ต้องรออีกหลายปีกว่าจะขายหมด แต่นั่นมันหมู่บ้าน, คอนโด, อพาร์ทเมนต์ร้าง, ของจีนทุกวันนี้ไปไกลกว่านั้นมากคือเมืองทั้งเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับรองรับคนเป็นล้าน กลับร้าง รอคนมาอยู่ที่ไม่เคยมา อย่างที่เรียกว่า ghost cities หรือ เมืองผีหลอก เช่น (ดูภาพประกอบเรียงตามลำดับ)

- เมืองผีหลอกสร้างใหม่ในเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน

- เมืองผีหลอกสร้างใหม่ชื่อออโดในมองโกเลียของจีน

- เมืองผีหลอกสร้างเลียนแบบหมู่บ้านอังกฤษมาแล้ว ๕ - ๖ ปีชื่อ Thames Town ใกล้มหานครเซี่ยงไฮ้

- ชอปปิ้ง มอลล์ร้างมา ๓ ปี ไม่มีร้านมาเปิด ได้แต่เอา “ป้าย” (แค่ป้าย) ยี่ห้อดังระดับโลกเช่น KFC, Apple, Adidas, Starbucks, etc. มาติดไว้หน้าร้านหลอกคนเผื่อจะมาจอง ทั้งที่แบรนด์ดังเหล่านั้นไม่รู้เรื่องด้วย

มันเกิดจากอะไร?

เมืองผีหลอกเหล่านี้ว่างร้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าบ้านหรืออพาร์ทเมนต์สร้างใหม่เหล่านี้ขายไม่ได้ มันขายได้ เพราะคนชั้นกลางจีน (เหมือนคนชั้นกลางไทยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง) เอาเงินออมของครอบครัวมาลงทุนซื้อบ้านและอพาร์ทเมนต์เหล่านี้เก็บไว้คนละ ๕ - ๑๐ หลังต่างหากจากบ้าน/อพาร์ทเมนต์ที่อยู่

สาเหตุสำคัญเพราะไม่มีช่องทางการลงทุนที่ดีและคุ้มค่าเปิดให้พวกเขาเลือกเท่าไหร่ เอาเงินออมของตัวไปลงทุนเมืองนอกก็ไม่ได้ รัฐบาลควบคุมหวงห้าม, จะฝากธนาคารกินดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำ ไม่คุ้ม, ครั้นจะลงทุนในตลาดหุ้น ก็ผันผวนขึ้นลงเสียเหลือเกิน, มิสู้ซื้ออสังหาฯเก็บไว้ดีกว่าเพราะราคาที่ผ่านมามีแต่ขึ้นไป ๒ - ๓ เท่าตัว สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ยิ่งลงทุนซื้อเก็บไว้นานยิ่งเพิ่มมูลค่ายิ่งคุ้ม พวกเขาจึงพากันซื้อบ้าน/อพาร์ทเมนต์เก็บขนานใหญ่นับแต่รัฐบาลจีนเปลี่ยนนโยบายยอมให้ประชาชนซื้อหาบ้านเป็นของตนเองได้เมื่อ ๑๕ ปีก่อน

เศรษฐกิจอสังหาริมทรัพยและก่อสร้างจีนจึงบูมมโหฬารเพราะดีมานด์ดังกล่าว มาช่วยทดแทนยามตลาดส่งออกอเมริกาและยุโรปตกต่ำเพราะวิกฤตซับไพรม์หลายปีที่ผ่านมา ภายใต้แรงกระตุ้นสนับสนุนของรัฐบาลจีนที่บีบให้ธนาคารปล่อยกู้ง่ายขึ้นง่ายเข้า จนภาคอสังหาฯ-ก่อสร้างมีสัดส่วนราว ๒๐ - ๓๐% ของเศรษฐกิจจีน, เงินลงทุนร่วม ๒ ล้านล้านดอลฯ ถูกทุ่มไปในกิจการเหล่านี้และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อไป, ผลก็คือมีการสร้าง “เมือง” ทั้งเมืองขึ้นใหม่ทั่วประเทศจีนราวปีละ ๑๒ - ๒๔ เมือง!

 

ชั่วแต่ว่าสร้างขึ้นมาแล้ว ไม่มีใครมาอยู่

ปัญหาพื้นฐานของธุรกิจอสังหาฯ-ก่อสร้างเหล่านี้คือมันสนองตลาดกลางและบน ราคาอพาร์ทเมนต์เฉลี่ยจะตกราว ๕ - ๖ หมื่น - ๑ แสนดอลฯ/หลัง คนจีนส่วนใหญ่ที่รายได้เฉลี่ยราว ๒ ดอลฯ/วัน ที่ไหนจะหาเงินมาซื้อได้ต่อให้อยากซื้อก็ตาม เช่น ในเซี่ยงไฮ้ ราคาเฉลี่ยของอพาร์ทเมนต์โป่งพองฟองสบู่จนคิดเป็น ๔๕ เท่าของรายได้ทั้งปีของคนที่นั่น ถ้าคุณไม่รวยหรือมีเงินออมจากพ่อแม่ จะมีปัญญาซื้อได้ที่ไหน?

ที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยาเหมาะกับคนรายได้น้อยไม่มี มีแต่โครงการแพงสำหรับคนชั้นกลางและเศรษฐี และในกระบวนการก่อสร้างก็ทุบบ้านเล็กเรือนน้อยที่ชาวบ้านเคยอาศัยอยู่มาหลายชั่วคนลงไป ทำให้คนเป็นสิบ ๆ ล้านถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัย กลายเป็นคนไร้บ้าน ไม่มีปัญญาซื้ออพาร์ทเมนต์แพง ๆ อยู่

ไม่เพียงแต่นักวิเคราะห์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจทั้งจีนและตะวันตกเท่านั้นที่ชี้ว่ากำลังเกิดฟองสบู่อสังหาฯใหญ่ในจีน แม้แต่เจ้าพ่อนักธุรกิจอสังหาฯจีนเองก็เช่นกัน อาทิเช่น:

นาย หวังเชอะ 王石 ประธานบริษัท 万科企业股份有限公司 หรือ Vanke http://www.vanke.com/ อันเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในจีน (สร้างบ้านมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก) ดำเนินธุรกิจก่อสร้าง บริหารจัดการ จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ใน ๒๐ เมืองใหญ่ที่ประชากรหนาแน่นในภาคต่าง ๆ มูลค่าธุรกิจถึง ๕๓,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์ฯ มีสำนักงานใหญ่ที่เซินเจิ้น กวางตุ้ง

หวังเชอะ

หวังเชอะยอมรับว่าราคาอสังหาฯในจีนโป่งพองฟองสบู่แพงเกินกำลังชาวบ้านทั่วไปจะซื้อ มีฟองสบู่อสังหาฯเกิดขึ้นในจีนจริงและหลุดพ้นจากการควบคุมไปเสียแล้ว อีกทั้งไม่แน่ว่ารัฐบาลจะแก้ไขได้ทัน

 

หากฟองสบู่อสังหาฯจีนแตกโพละ ใครบ้างจะเดือดร้อน?

- ก่อนอื่นคือบรรดาคนชั้นกลางที่เอาเงินออมทั้งครอบครัวชั่วชีวิตไปซื้ออพาร์ทเมนต์หลังที่ ๒, ๓, ๔, ๕ ฯลฯ เพื่อลงทุน ก็จะพบว่าราคาบ้านที่ซื้อไว้ตกฮวบ ทุนที่ลงถูกกวาดทิ้งเหี้ยนเตียน หายวับไปกับอากาศธาตุ

- คนงานก่อสร้างจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากชนบทร่วม ๕๐ ล้านคน ตกงาน ต้องกลับบ้าน

- บรรดาบริษัทธุรกิจอสังหาฯทั้งหลายซึ่งตกเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

- และแน่นอนวิกฤตหนี้สินจะถล่มธนาคารที่ปล่อยกู้ให้บริษัทอสังหาฯและนักลงทุนเหล่านี้ --> วิกฤตธนาคารตามมา!

โครงการก่อสร้างศูนย์กลางการเงินที่ชะงักหยุดลงในเมืองเทียนจิน

ทางการจีนจึงดำเนินนโยบายเบรคฟองสบู่ให้มันเย็นลงตั้งแต่ปี ๒๐๑๑ โดยออกนโยบายใหม่ จำกัดให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ถือครองกรรมสิทธิ์บ้าน/อพาร์ทเมนต์ได้เพียง ๑ หลังเท่านั้น

ส่งผลให้อสังหาฯราคาตกดิ่งทันที บริษัทพัฒนาอสังหาฯจำนวนมากเป็นหนี้ล้นพ้นตัว ต้องหยุดชะงักโครงการก่อสร้างใหญ่ต่าง ๆ ไว้ก่อน คนงานก่อสร้างพากันกลับบ้าน เศรษฐกิจพลอยทรุดลง เช่น โครงการก่อสร้างขนาดยักษ์ที่เมืองท่าเทียนจินทางตะวันออก หวังตั้งเมืองศูนย์กลางการเงินของจีนเลียนแบบแมนฮัตตันในอเมริกาขึ้นมา ก็ต้องหยุดกลางคัน งานไม่เดินหน้าต่อกันหลายสัปดาห์ ทิ้งตึกร้าง เครื่องมือก่อสร้างคาไว้อย่างนั้นเอง เพราะบริษัทอสังหาฯทั้งหลายเงินขาดมือ

ส่งผลให้คนชั้นกลางที่ลงทุนซื้อบ้านหลัง ๒, ๓, ๔ ฯลฯ ไว้พากันก่อม็อบประท้วงรัฐที่ออกนโยบายนี้ในหลายเมือง

มิหนำซ้ำก็ใช่ว่านโยบายดังกล่าวจะคุมได้หมด เพราะนักลงทุนก็เพียงแต่ออกไปให้พ้นเขตเมืองที่ตัวอยู่ แล้วไปลงทุนต่างเมืองเท่านั้นเอง ด้วยความไม่เชื้อไม่เชื่อว่าวันชื่นคืนสุขเศรษฐกิจบูมจะมีวันสิ้นสุดลง ปัญหาจึงอาจจะใหญ่โตมโหฬารเกินกำลังคุมได้ของรัฐจีนซะแล้ว.....

คนยังเข้าคิวแย่งลงทะเบียนกรรมสิทธิ์อพาร์ทเมนต์หลังใหม่ของตัว

-------

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira 15 เม.ย.56, “ฟองสบู่อสังหาฯจีนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอาจจะแตก! (ตอนต้น)” และ “ฟองสบู่อสังหาฯจีนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอาจจะแตก! (ตอนจบ)

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง