Skip to main content

ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง

ที่กำลังเกิดขึ้นในอียิปต์ตอนนี้คือไอ้นี่ครับ = 

๑) การลุกฮือของมวลชน บวก 

๒) รัฐประหารของกองทัพ 

๓) ในนามเสรีนิยม เพื่อล้ม 

๔) ระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งของเสียงข้างมาก

๕) ที่มีแนวโน้มใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม/ไม่เสรี

 
ในความหมายนั้น (๑+๒+๓+๔+๕) รัฐประหารในอียิปต์ครั้งนี้จึงพอเปรียบเทียบได้กับรัฐประหารของ คปค. เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙
 

"..นับวันประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันก็ ล้มง่ายเข้า และ สร้างยากขึ้น ทุกที"

 
เพื่อเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องนี้ มีเหล่าปัจจัยที่ควรคำนึงดังนี้คือ:
 
๑) Information Technology, Social Media, New Media เหล่านี้ทำให้ความไม่พอใจของมวลชนสื่อถึงกันและก่อตัวเป็นกระแสได้พลิกไหว วูบวาบรวดเร็วกว่าในสมัยก่อนมาก และอาศัยสื่อเหล่านี้ การรวมตัวเชิงการเมืองแบบ flash mob ในรูปการต่าง ๆ ก็ง่ายขึ้นด้วย การเชื่อมโยงรวมตัวและรวมศูนย์ความไม่พอใจต่อรัฐบาลไปเป็นพลังฝ่ายค้านบน ท้องถนนจึงเกิดง่าย ทำให้รัฐบาลมีโอกาสเผชิญและสะดุดต่อกระแสม็อบต่อต้านอำนาจตนบ่อยเข้าและง่าย ขึ้น เสถียรภาพทางการเมืองที่ตีกรอบประคองกระแสการเมืองไว้อยู่ในครรลองสถาบัน ทางการยากจะรักษาไว้ให้มั่นคงยืนนานอย่างแต่ก่อน
 
แต่ในทางกลับกัน ม็อบประกายไฟไหม้ลามทุ่งเหล่านี้ก็เป็นประกายไฟไหม้ฟางด้วยในขณะเดียวกัน คือรวมเร็ว เลิกเร็ว ขาดความยั่งยืนเข้มแข็งมั่นคงเหนียวแน่นเชิงองค์การจัดตั้ง แกนนำ สถาบัน อุดมการณ์ หลักนโยบายในการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง จึงมีลักษณะอนาธิปไตย มีศักยภาพที่อาจทำลายอำนาจสถาปนาได้ แต่สร้างอำนาจสถาปนามาทดแทนไม่ได้ 
 
ประชาธิปไตยจึงล้มง่ายเข้าด้วยประการฉะนี้
 
แต่ขณะเดียวกันประชาธิปไตยก็สร้างยากขึ้นด้วย เนื่องจากเหตุหลายประการ กล่าวคือ
 
๒) การแตกแยกระหว่างหลักการและแบบแผนปฏิบัติของ เสรีนิยม กับ ประชาธิปไตย (liberalism & democracy) ซึ่งต่างหากจากกัน พัฒนามาในประวัติศาสตร์คนละชุดคนละกระแสกัน แล้วมาประกอบกันเข้าเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberalism+democracy --> liberal democracy) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง 
 
การปริแตกแยกทางระหว่าง เสรีนิยม (จำกัดอำนาจรัฐ ผ่านหลักสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายชีวิตทรัพย์สินของบุคคลและเสียงข้างน้อย หลักนิติรัฐ ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม) กับ ประชาธิปไตย (กระจายอำนาจรัฐ ตามหลักความเสมอภาคทางการเมือง อำนาจอธิปไตยของปวงชนและการปกครองโดยเสียงข้างมาก) นี้ปรากฏขึ้นทั้งในเหล่าประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่นศูนย์กลางตะวันตก และเหล่าประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ในถิ่นอื่น ๆ ของโลก 
 
ความต่างอยู่ตรงในประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่นศูนย์กลาง เสรีนิยมเฟื่องฟู แต่ประชาธิปไตยฝ่อหด เกิดสภาพประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน
 
ส่วนในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งมักเฟื่องฟู แต่เสรีนิยมถูกบีบรัดจำกัด เกิดสภาพประชาธิปไตยอำนาจนิยม/ไม่เสรี 
 
นี่คือเงื่อนไขแรกที่ทำให้ระบอบเสรีประชาธิปไตยเต็มใบสร้างยาก/ธำรงรักษาไว้ดังเดิมได้ยากขึ้นในที่ต่าง ๆ ของโลก
 
๓) การแพร่ขยายของแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ในทางเศรษฐกิจ (economic neoliberalization/globalization) ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศของโลกเกิดปัญหาสงครามแก่งแย่งทรัพยากรกันระหว่างชนต่างชั้นต่างกลุ่ม ในสังคม เนื่องจากมีการผันทรัพยากรรัฐ/ส่วนรวม/ชุมชน เข้าไปในตลาดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาฉวยใช้สะสมลงทุนกัน การบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนวิธีการใช้ ทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะหนึ่งรัฐสองสังคมที่แตกแยกเหลื่อมล้ำขัดแย้งกันในทางวิถีชีวิต และการใช้ทรัพยากร และ ประชาธิปไตยที่ไร้อำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ ในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลประชาธิปไตยจะมีแนวโน้มอำนาจนิยมมากขึ้น เสรีนิยมน้อยลง และในที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยน้อยลงด้วย เพื่อเอาอำนาจรัฐไปผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (ริบทรัพยากรจากคนส่วนมากที่ได้ใช้ของหลวงของส่วนรวมมาแต่เดิม มาโยนเข้าตลาดให้แย่งชิงกันแบบเอกชนเสรี ใครขวางก็ลุยปราบ) และผลักดันนโยบายประชานิยม (เพื่อสร้างความชอบธรรมชดเชยที่ไปแย่งทรัพยากรเขามา โดยผลักดันผ่านฝ่ายบริหารเป็นหลัก) 
 
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่เดินแนวทางเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ทาง เศรษฐกิจ ยากจะรักษาฉันทมติ (consensus ความเห็นพ้องต้องกัน) และฉันทาคติ (consent ความสมยอมยอมรับอำนาจปกครอง) ของสังคมการเมืองไว้ได้ นโยบายนั้นจะไปเบียดเบียนผลประโยชน์มูลฐานของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม เสมอ ขณะที่กลุ่มอื่นได้ประโยชน์ คนในสังคมการเมืองก็ทะเลาะแบ่งแยกแตกร้าวกันเพราะเสรีนิยมใหม่ เกิดกลุ่มสังคมเศรษฐกิจบางกลุ่มที่ไม่สมยอมยอมรับอำนาจปกครองที่ดำเนิน นโยบายนั้นเพราะเสียประโยชน์ของตนไปภายใต้นโยบาย ต่อให้ชนะเลือกตั้งมาโดยชอบ ก็ไม่ยอมรับ ใส่หน้ากากเปลี่ยนสีเปลี่ยนโฉมไปประท้วงอยู่นั่นแหละ ฯลฯ ก็ทำให้ประชาธิปไตยสร้างได้ยากขึ้น
 
พรรคที่ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนสนับสนุนแนวนโยบาย กลับพบว่าพอเดินจากประชาชนผู้ออกเสียงสนับสนุนตนมา และนั่งลงในทำเนียบรัฐบาล ตัวเองกลับตกอยู่ในพลังกดดันรุมล้อมรอบทิศจากองค์การโลกบาลทางเศรษฐกิจต่าง ๆ (IMF, WTO, World Bank), ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ, และตลาดพันธบัตรโลก ที่ชี้เป็นชี้ตายอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลหนึ่ง ๆ จะต้องจ่ายให้แก่เงินกู้ที่มาซื้อพันธบัตรรัฐบาลของตน เผลอ ๆ ก็ต้องบิดเบนบิดเบี้ยวนโยบายที่รับปากประชาชนตอนหาเสียงไว้ ทำให้ไม่ได้ หรือทำให้ได้ไม่เต็มร้อยอย่างที่สัญญา ประชาธิปไตยก็เสื่อมถอยลง สร้างยากเข้าไปอีก
 
๔) การใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม/ไม่เสรี (authoritarianism/illiberalism รวบอำนาจรวมศูนย์เพื่อผลักดันนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมยอมรับของกลุ่มชนใน สังคม ปิดแคบกีดกันกลุ่มอื่นที่เสียประโยชน์หรือคัดค้านออกไปจากกระบวนการนโยบาย ลดทอนสิทธิเสรีภาพของฝ่ายค้าน ฯลฯ) จึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวที่ดำเนินแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ ที่ไปเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร และประชานิยมเพื่อชดเชยความชอบธรรมนั้น นับวันรัฐบาลประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งเสียงข้างมากมาจึงใช้อำนาจไปใน ลักษณะใกล้เคียงกับรัฐบาลเผด็จการในอดีตมากขึ้น และเผชิญการคัดค้านจากมวลชนบนท้องถนน (เพราะไม่เหลือที่อื่นให้ยืนค้านในกระบวนการนโยบาย) อยู่เรื่อย ๆ
 
๕) ประชาธิปไตยหากยืนหยัดอยู่แค่ความชอบธรรมจากการเลือกตั้งเท่านั้น (ถูกต้องที่ยืนหยัด จำเป็นที่จะต้องยืนหยัด และละเว้นไมไ่ด้ที่จะต้องยืนหยัด เพื่อตัดการรัฐประหารออกไปจากสารบบการแก้ปัญหาทางการเมือง) ก็จะเผชิญสภาพไม่มั่นคง และไม่พอเพียงมากขึ้นทุกที ถ้าทั้งหมดที่เราพูดได้เพื่อปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตยคือ เขามาจากการเลือกตั้งของเสียงข้างมากเพียงแค่นั้นแล้ว มันก็เป็นการพูดที่ถูกต้อง จำเป็นต้องพูด และละเว้นไม่ได้ที่จะต้องยืนยัน แต่มันจะไม่พอรับมือปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นจากเหตุผล ๑, ๒, ๓, ๔ ที่กล่าวมาข้างต้น 
 
ท่าทีที่จำเป็นคือยืนยันความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง (รัฐประหารยังเป็นความเป็นไปได้เชิงโครงสร้างของประเทศที่มีกองทัพประจำการ เสมอ ยกเว้นยุบกองทัพทิ้งแบบที่ส.ส.สงวน ตุลารักษ์เคยเสนอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือคุมกองทัพแน่นปึ้กแบบพรรคคอมมิวนิสต์อย่างในเมืองจีน) แต่จำต้องพัฒนาประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้แผ่ขยายกลไก มิติ เครื่องมือในการปกครองบริหารจัดการออกไปเพื่อผนวกรวมผู้คนในสังคมที่แตกต่าง หลากหลายเข้ามาในกระบวนการใช้อำนาจมากขึ้น ลดด้านอำนาจนิยม ไม่เสรี และเชิงเดี่ยวในการใช้อำนาจผ่านตัวแทนจากการเลือกตั้งล้วน ๆ ลงไป มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งจะยั่งยืนและก้าวหน้า พัฒนาไปทันกับวิกฤตความเปลี่ยนแปลงที่รุมล้อมเข้ามา

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง