Skip to main content

เกษียร เตชะพีระ*

๔ ปีก่อนครูเบ็น แอนเดอสันแห่ง IC (ชื่อย่อลูกคนดังของอาจารย์ คือ Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (1983) หรือนัยหนึ่งหนังสือ ชุมชนจินตกรรมฯ ในพากย์ไทย ได้บรรยายภาษา อังกฤษเรื่อง Monarchy and Nationalism โดยยึดประวัติศาสตร์ยุโรปและอังกฤษเป็นฐานข้อมูลและกรณีตัวอย่าง หลัก เสริมด้วยข้อมูลตัวอย่างเปรียบเทียบจากที่อื่นในโลกรวมทั้งไทย แล้วหนังสือพิมพ์ Bangkok Post นำไปลง โดยตัด ทอนย่อบางส่วน

พอดีผมเอาคำบรรยายฉบับเต็มที่ครูเบ็นกรุณาส่งให้ตั้งแต่ตอนนั้นมาให้นักศึกษาในชั้นเรียนปริญญาเอกวิชาการเมือง เปรียบเทียบอ่าน ก็เลยถือโอกาสนำเรื่องสนุก ๆ สำคัญ ๆ ที่ครูเบ็นวิเคราะห์วิจารณ์ไว้มาเล่าต่อในที่นี้

ก่อนอื่นเลย ครูเบ็นชี้ให้เห็นความแตกต่างขัดแย้งในสาระสำคัญระหว่างชาตินิยมกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณา- ญาสิทธิราชย์แต่เดิม

กล่าวคือขณะที่ชาตินิยมยึดมั่นหลักความเสมอภาคของมนุษย์และถือว่าอำนาจอธิปไตยตั้งสถิตอยู่ที่ “ประชาชนเรา”

สถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เดิมกลับยึดหลักความไม่เสมอภาคและเหลื่อมล้ำลดหลั่นกัน โดยไม่สนใจเสรีภาพ

ความแตกต่างขัดแย้งขั้นหลักการดังกล่าวเป็นมูลฐานที่มาของวิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับชาติ นิยมใน ๔ ขั้นตอน กล่าวคือ

๑)      ขั้นการปฏิวัติชาตินิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๘

๒)     ขั้นการปรับตัวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์เป็นอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและราชาชาตินิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐

๓)     ขั้นการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์เป็นแบบกระฎุมพีในคริสตศตวรรษที่ ๒๐

๔)     ขั้นสถาบันกษัตริย์ในยุควัฒนธรรมสื่อทีวีมหาชนปัจจุบัน

 

๑) ขั้นการปฏิวัติชาตินิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๘

ความแตกต่างขัดแย้งในหลักการมูลฐานของลัทธิชาตินิยมกับสถาบันกษัตริย์ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนำไปสู่การเผชิญ หน้าปะทะต่อสู้กันระหว่างขบวนการชาตินิยมกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมใหญ่ ๆ ๓ ครั้งใน คริสตศตวรรษที่ ๑๘ - ต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ได้แก่:

(พระเจ้าจอร์จที่สามแห่งอังกฤษ, พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกแห่งฝรั่งเศส, พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่เจ็ดแห่งสเปน)

 

๑) การปฏิวัติอเมริกัน เพื่อกอบกู้อิสรภาพจากอังกฤษในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่สาม ค.ศ. ๑๗๗๖ à ระบอบสาธารณรัฐ ในอเมริกา

๒) การปฏิวัติฝรั่งเศส เพื่อโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก ค.ศ. ๑๗๘๙ à ระบอบ สาธารณรัฐในฝรั่งเศส

๓) การปฏิวัตินำโดยไซมอน โบลิวาร์ในนานาประเทศเมืองขึ้นในลาตินอเมริกาเพื่อกอบกู้อิสรภาพจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่เจ็ดแห่งสเปน ค.ศ. ๑๘๑๐ à ระบอบสาธารณรัฐในนานาประเทศลาตินอเมริกา (ยกเว้นบราซิลที่กู้อิสรภาพจาก โปรตุเกสและยังคงระบอบกษัตริย์ ไว้ต่อไป)

ครูเบ็นสรุปว่าผลของการปฏิวัติชาตินิยมรอบนี้คือ: “ในครั้งนั้นกษัตริย์สเปนก็สูญเสียจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ไพศาลของ พระองค์ในซีกโลกตะวันตกไปทั้งหมด, กษัตริย์อังกฤษสูญเสียบรรดาอาณานิคมที่มีผลิตภาพสูงสุดของพระองค์ไป ขณะที่ กษัตริย์ฝรั่งเศสก็ถึงแก่สิ้นพระชนม์”

 

น่าสังเกตว่า:

-ในคำบรรยายครั้งนี้ ครูเบ็นย้ำยืนยันข้อเสนอเชิงลัทธิแก้ทางประวัติศาสตร์ของแกที่ว่าลัทธิ/ขบวนการชาตินิยมปรากฏขึ้น เป็นครั้งแรกในโลกใหม่ที่ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้, ไม่ใช่ในโลกเก่าที่ยุโรป

-วิธีการจัดแบ่งประเภท “การปฏิวัติ” ของครูเบ็นมีอะไรแปลกเตะตาต่างจากปกติ กล่าวคือขณะที่การปฏิวัติอเมริกันและ การปฏิวัตินำโดยโบลิวาร์ในลาตินอเมริกาเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างปกติธรรมดาว่าเป็น “การปฏิวัติชาตินิยม”, แต่ การปฏิวัติฝรั่งเศสปี ๑๗๘๙ มักไม่ถูกมองเช่นนั้น กล่าวคือมักถือว่านี่เป็นแม่แบบของ “การปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี” ต่างหาก, อย่างไรก็ตามจุดร่วมที่การปฏิวัติทั้ง ๓ ครั้งมีตรงกันคือต่างต่อสู้กับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูร- ณาญาสิทธิราชย์

การที่ครูเบ็นจงใจจัดกลุ่มการปฏิวัติทั้ง ๓ ครั้งไว้ด้วยกันและพูดถึงมันไปพร้อมกันสะท้อนว่าในวิธีมองและตีความ ของครูเบ็น [ชาตินิยม กับ ประชาธิปไตยกระฎุมพี] มีอะไรที่เกี่ยวข้องคล้องจองไปด้วยกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อยก็ ในหลักการพื้นฐานเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์และอำนาจอธิปไตยของประชาชน

 

๒) ขั้นการปรับตัวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์เป็นอยู่ใต้ รัฐธรรมนูญและราชาชาตินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐

ในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ลัทธิชาตินิยมที่ถือกำเนิดขึ้นในโลกใหม่ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้เมื่อคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ก็แพร่หลายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคเข้าไปในโลกเก่าทวีปยุโรป ก่อเกิดเป็นขบวนการกู้ชาติต่อสู้ดิ้นรนเพื่อประกาศ อิสรภาพสถาปนารัฐชาติเอกราชของตัวเองมากมายหลายขบวนการตามฐานชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่มชน

เป้าโจมตีได้แก่ราชอาณาจักร/จักรวรรดิที่ประกอบไปด้วยหลายชาติพันธุ์หลายศาสนา อาทิ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่มี ชนชาติเยอรมัน, โรมาเนีย, อิตาเลียน, เชค, โครแอต, โปล, ฮังกาเรียน, ฯลฯ สังกัดอยู่, หรือแม้แต่สหราชอาณาจักรที่มีชน ชาติอังกฤษ, สก็อต, เวลช์, ไอริช สังกัดก็เฉกเช่นกัน ต่างเผชิญการเคลื่อนไหวปฏิวัติชาตินิยมของกลุ่มชาติพันธุ์ภายในที่ ต้องการรัฐชาติอิสระของตนเอง

(จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี)

กระแสชาตินิยมแห่งยุคสมัยที่บ่าไหลแรงยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมของนานาประเทศ ยุโรปกลายเป็นเหมือนตัวประหลาดต่างด้าวในยุคชาตินิยม, จักรพรรดิออสเตรียกลายเป็นคนต่างชาติสำหรับราษฎรชาว ฮังการีของพระองค์ และราชวงศ์ผู้ปกครองสหราชอาณาจักรก็เริ่มอึดอัดขัดเขินที่เอาเข้าจริงตนเป็นเชื้อสายเยอรมันจากพื้น ทวีป ไม่ใช่ชาวอังกฤษหรือชาติพันธุ์ท้องถิ่นอื่น ๆ บนเกาะ

 

สถาบันกษัตริย์แห่งระบอบเก่าของยุโรปจึงต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ใน ๒ แนวทาง ได้แก่:

๑) ลดอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ลงมา กลายเป็นเพียงระบอบกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัด (จาก absolute monarchy สมบูรณาญาสิทธิราชย์ à limited monarchy ปริมิตาญาสิทธิราชย์) โดยยอมให้สถาบันกษัตริย์ขึ้นต่อและ อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง

๒) ปรับตัวสถาบันกษัตริย์เองให้กลายเป็นสังกัดชาติ (royal self-nationalization) หรือนัยหนึ่งสร้างลัทธิชาตินิยมราชการ (official nationalism) ขึ้นมา - หรือถ้าใช้ศัพท์ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลก็คือ สร้างลัทธิราชาชาตินิยม (royal-nationalism) - นั่นเอง ดังที่ราชวงศ์ Saxe-Coburg and Gotha เชื้อสายเยอรมันที่ปกครองสหราชอาณาจักรตัดสิน พระทัยเปลี่ยนพระนามเป็นราชวงศ์ Windsor ซึ่งฟังอังกริ๊ดอังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษรบกับ เยอรมนีอยู่โครม ๆ จะให้ราชวงศ์อังกฤษคงพระนามเยอรมันต่อไปก็ดูกระไรอยู่) 

สาแหรกราชวงศ์ Saxe Coburg and Gotha ที่เปลี่ยนพระนามเป็น Windsor ของอังกฤษ

และกุศโลบายเดียวกันนั้นก็เป็นที่มาของพระราชดำริและพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรีของสยาม ไม่ว่าการจัดตั้งกองเสือป่า, การสถาปนา [ชาติ-ศาสนา-พระมหา กษัตริย์] ขึ้นเป็นสามสถาบันหลักของชาติในทำนอง God-King-and Country ของอังกฤษ, พระราชนิพนธ์เรื่อง ปลุกใจเสือป่า, ความเป็นชาติโดยแท้จริง, พวกยิวแห่งบูรพทิศ, เมืองไทยจงตื่นเถิด, เป็นต้น

(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและกองเสือป่า)

อย่างไรก็ตาม ครูเบ็นประเมินว่าแนวนโยบายการปรับตัวแบบที่สองของสถาบันกษัตริย์ทั้งหลายไม่ค่อยประสบความ สำเร็จมากนัก ดังจะเห็นได้ว่าสถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศของยุโรปพากันล่มสลายลงในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหรือ หลังจากนั้นไม่นาน (ได้แก่รัสเซีย, เยอรมนี, ออสเตรีย, จักรวรรดิอ๊อตโตมาน) ส่วนระบอบกษัตริย์จีนในสมัยราชวงศ์เช็ง ก็ล่มสลายไปก่อนหน้านั้นเสียอีกในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ ด้วยฝีมือของพวกชาตินิยมใต้การนำของซุนยัตเซ็น

 

๓) ขั้นการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์เป็นแบบกระฎุมพีในคริสตศตวรรษที่ ๒๐

ทุกวันนี้ ประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติ ๑๕% เท่านั้นที่เป็นราชอาณาจักร, โดยมีประชากรรวมกันทั้งหมดไม่ถึงครึ่ง ของอินเดียประเทศเดียวด้วยซ้ำ, ประเทศไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศส่วนข้างน้อยนี้มีประชากรมากเป็นอันดับสองรอง จากญี่ปุ่น, และมีขนาดพื้นที่ใหญ่อันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย

ยิ่งกว่านั้น พลวัตการเมืองของราชอาณาจักรก็เปลี่ยนไป ในอดีตราชวงศ์เก่าที่เคยปกครองบ้านเมืองมาอาจเสื่อมถอย บุญญาบารมีเดชานุภาพลง แต่ไม่ช้าก็จะปรากฏผู้มีบุญญาธิการปราบดาภิเษกก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาปกครองจรรโลง แผ่นดินให้สุขสงบเจริญวัฒนาแทน วนเวียนไปอยู่เช่นนี้เป็นวัฏจักร ดังที่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น

แต่ท่ามกลางโลกแห่งลัทธิชาตินิยมและระบอบสาธารณรัฐปัจจุบัน ความเสื่อมถอยของราชวงศ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งอาจนำ ไปสู่การสิ้นสุดของราชอาณาจักรแล้วแทนที่ด้วยระบอบอื่นเลยก็เป็นได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรลาวและเนปาล เป็นต้น

ความตระหนักว่าราชอาณาจักรเป็นระเบียบการเมืองส่วนข้างน้อยที่ใกล้สูญพันธุ์ในโลกแห่งชาตินิยมและสาธารณรัฐนี้เอง เป็นที่มาของการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์เป็นแบบกระฎุมพี (bourgeoisification) หรือแบบคนชั้นกลาง เพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ยุโรปแล้วแผ่กระจายไปทั่วโลก

สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เป็นตัวอย่างที่แสดงออกซึ่งการปรับตัวนี้อย่างเห็นได้ชัด ขอให้ลองพิจารณาเปรียบเทียบดู ความเปลี่ยนแปลงของพระราชจริยวัตรในรัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่เจ็ดกับพระเจ้าจอร์จที่ห้าดู

(พระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่เจ็ด, และพระเจ้าจอร์จที่ห้าแห่งอังกฤษ)

ขณะพระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่เจ็ด (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๑๐) ทรงมีพระสนมและชู้รักมากมายก่ายกอง (เดากัน ว่าราว ๕๕ คน) ใช้จ่ายพระราชทรัพย์อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ไม่ทรงห่วงใยพระราชบุตรและธิดานัก ทรงพระเกษมสำราญ ยิ่งและไม่ทรงดำริว่ามี “พระราชภารกิจ” แต่ประการใดในฐานะกษัตริย์

แต่พระเจ้าจอร์จที่ห้า (ราชโอรสในพระเจ้าเอ็ดเวอร์ที่เจ็ดและพระอัยกาเจ้าของพระราชินีอลิซาเบ็ธที่สองปัจจุบัน ครอง ราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖) กลับทรงเพียรพยายามวางพระองค์ให้น่าเคารพนับถือแบบกระฎุมพีอังกฤษโดย พระราชสำนึก ไม่ทรงมีสนมหรือชู้รักใด ๆ ทรงเป็นพระราชบิดาที่เข้มงวดกวดขัน ส่งพระโอรสธิดาไปโรงเรียนร่วมกับ ลูกหลานชนชั้นสูงอังกฤษอื่น ๆ ทรงถือว่าพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระองค์ต้องทรงประกอบเป็น “พระราชภารกิจ” ที่ตั้ง พระราชหฤทัยทำอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ทรงสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยเยี่ยงคนชั้นสูงอังกฤษแต่เดิม มาแต่ประการใด

(พระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่แปดและนางซิมพ์สัน)

และเมื่อราชโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าจอร์จที่ห้า ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาเป็นพระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่แปด (ครอง ราชย์ ๒๐ มกราคม ถึง ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖) แล้วทรงแจ้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะ อภิเษกสมรสกับนางวอลลิส ซิมพ์สัน แม่หม้ายชาวอเมริกันที่หย่าร้างสามีมาแล้วถึงสองคน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ลงมติ ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง และละเมิดกฎของศาสนจักรอังกฤษที่พระองค์เองเป็นประมุขโดย นาม ส่งผลให้พระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่แปดทรงประกาศสละราชสมบัติเพื่อเข้าสู่พิธีสมรสกับนางซิมพ์สัน แล้วให้พระอนุชาขึ้น ครองราชย์แทนเป็นพระเจ้าจอร์จที่หก (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๙๓๖ - ๑๙๕๒ เป็นพระราชบิดาของพระราชินีอลิซาเบ็ธที่สอง องค์ปัจจุบัน เรื่องราวของพระองค์ถูกนำมาสร้างเป็นหนังเรื่อง The King’s Speech เมื่อปี ๒๐๑๐)

(พระราชินีวิลเฮลมินา, พระราชินีจูเลียนา, พระราชินีบีอาทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์)

การปรับแปรพระราชจริยวัตรของกษัตริย์จากแบบศักดินาเดิมให้เป็นแบบอุดมคติอันดีงามของกระฎุมพี (แบบพระเจ้า จอร์จที่ห้าแห่งอังกฤษ) นี้ได้รับการยึดถือเป็นแบบแผนแนวทางปฏิบัติของกษัตริย์ในยุโรปและทั่วโลกอย่างแพร่หลาย และ ยิ่งง่ายเข้าสะดวกขึ้นเป็นอย่างยิ่งหากพระราชินีทรงครองราชย์ ดังกรณีราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ที่มีพระราชินีในบัลลังค์ ต่อกันถึง ๓ พระองค์ ได้แก่ พระราชินีวิลเฮลมินา (ครองราชย์ ๑๘๙๐-๑๙๔๘) à พระราชินีจูเลียนา (ครองราชย์ ๑๙๔๘-๑๙๘๐) à พระราชินีบีอาทริกซ์ (ครองราชย์ ๑๙๘๐-๒๐๑๓ โดยเพิ่งสละราชสมบัติให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน กลางปีนี้)

กล่าวโดยเปรียบเทียบ สถาบันกษัตริย์ในโลกอิสลามไม่อาจรับแบบแผน bourgeoisification มาปฏิบัติได้เพราะขัดฝืนกับ ธรรมเนียมมุสลิมที่อนุญาตให้สามีมีภรรยาได้หลายคน, ส่วนสถาบันกษัตริย์ในเอเชียแม้จะประพฤติปฏิบัติหลักมีพระสนม มากมายมาแต่เดิม ซึ่งช่วยให้มีราชโอรสมากหลายเผื่อเลือกผู้เก่งกล้าปรีชาสามารถสูงเด่นกว่าในบรรดาพี่น้องขึ้นมาเป็น กษัตริย์ได้ แต่ก็ก่อปัญหาแย่งชิงราชสมบัติฆ่าฟันกันบ่อยครั้ง (ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกษัตริย์อย่างน้อย ๑๑ พระองค์ ที่ถูกแย่งราชสมบัติและปลงพระชนม์โดยพระเชษฐา/อนุชาต่างพระมารดาหรือพระปิตุลา) อีกทั้งก็น้อยมากที่ราชินีจะได้ ขึ้นครองราชย์ในเอเชีย ดังนั้นในที่สุดสถาบันกษัตริย์ในเอเชียก็ปรับรับแบบแผน bourgeoisification ทางวัฒนธรรมมา เช่นกัน

(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี)

ครูเบ็นชี้ว่าพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งโดดเด่นแปลกต่างจากบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าใน แง่ที่พระองค์ทรงเป็นพระราชบิดาแบบอย่าง, ทรงรักถนอมพระราชินีพระองค์เดียวแบบสมัยใหม่, ทรงส่งราชโอรส บุญธรรมและพระนัดดาไปเรียนโรงเรียนยุโรปร่วมกับลูกขุนนางและสามัญชนอื่น ๆ , ไม่ทรงประพฤติล้นล้ำก้ำเกินไม่ว่าใน เรื่องพระราชทรัพย์หรือพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์ ฯลฯ สะท้อนว่าพระองค์นับเป็นพระมหากษัตริย์ “กระฎุมพี” สมัยใหม่ พระองค์แรกของสยามเลยทีเดียว

 

๔) ขั้นสถาบันกษัตริย์ในยุควัฒนธรรมสื่อทีวีมหาชนปัจจุบัน

การปรับตัวเป็นแบบกระฎุมพีของสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผสมผสานทั้งความน่าเคารพนับถือ ตามอุดมคติคนชั้นกลาง เข้ากับพระราชพิธีหรูเลิศอลังการและพระบุญญาบารมี

และทั้งหมดนี้ต้องกระทำภายใต้ตาวิเศษที่คอยตามซูมส่องเป็นสับปะรดไม่คลาดคลายตลอดเวลาของสื่อมวลชนสมัยใหม่ (ตากล้อง paparazzi) เพื่อจะนำไปแพร่ภาพต่อทางทีวี (รวมไปถึงสื่อออนไลน์อย่างคลิปอินเทอร์เน็ตบน YouTube เป็น ต้น)

การที่กษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ทั้งหลายจะต้องทำตัวและประคองตนให้มวลมหาชนคนดูชนชั้นกลางเห็นทางจอแก้วแล้วรู้สึกว่า “เออ ท่านก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเรา(กระฎุมพี)นี่นา”, แต่ขณะเดียวกันในระหว่างประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ “ท่านก็ศักดิ์สิทธิ์สง่าขรึมขลังเหนือสามัญชนคนธรรมดาอย่างเรา(กระฎุมพี)ราวเทพมาจุติ” ใต้ตากล้องทีวี ๒๔/๗ (24 hours a day, seven days a week) ในยุคที่ศรัทธาศาสนาเสื่อมโทรม พิธีกรรมทั้งหลายสื่อส่งนัยทางศาสนาได้เพียงเบา บาง แต่กลายเป็นมหรสพทางทีวีสำหรับผู้ชมและทัวริสต์มาห้อมล้อมรุมดูมากกว่านั้น มันยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด

ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่ทีวีหลากช่องหลายสถานีต่างเป็นธุรกิจขายภาพลักษณ์ที่แข่งกันแพร่ภาพไม่หยุด นำเสนอมหรสพ นานาชนิดไม่เฉพาะพระราชพิธี มันจึงสร้าง “ดารา/เซเล็บ” ขึ้นมาเป็นจุดขาย-สินค้าภาพลักษณ์ที่ดึงดูดใจผู้ชมให้ลุ่มหลง คลั่งไคล้ติดตามใกล้ชิด ไม่ว่านักร้อง นักแสดง นักกีฬา นักธุรกิจไฮโซ นางงาม ฯลฯ

ปัญหาจึงอาจเกิดหากฝ่ายต่าง ๆ ไม่จำแนกแยกแยะบทบาทฐานะออกจากกันให้ชัดเจน เพราะเนื้อหาแก่นแท้แตกต่างกัน กล่าวคือ:

ในขณะที่เซเล็บดำเนินชีวิตโลดแล่นอยู่บนจอแก้วจอเงินท่ามกลางข่าวคาวอื้อฉาวชั่วครู่ชั่วยามเดี๋ยวคนก็ลืมนั้น (ใครคือ คู่รักคนล่าสุดของมาดอนน่าล่ะ?)

สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากเจ้านายกลับเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีที่บำเพ็ญรักษาไว้อย่างยั่งยืนสถาพรชั่วพระชนมชีพ

(เจ้าหญิงไดอาน่า, และภาพขณะเธอพักผ่อนล่องเรือกับโดดี อัล-ฟาเยด ลูกชายเศรษฐีพันล้านชาวอียิปต์ ที่ตากล้อง paparazzi แอบถ่ายมา)

ในกรณีราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงไดอาน่าผู้วายชนม์นับเป็นตัวอย่างของความสับสนปนเปดังกล่าว คือแยกบทบาทฐานะ ของตัวเองไม่ออก และวางตนประหนึ่ง “เจ้าเซเล็บ” ทั้งที่เนื้อแท้และความคาดหวังที่ประชาชนคนดูมีต่อ ๒ บทบาท ๒ ฐานะนั้นต่างกัน อีกทั้งจุดเด่นของเจ้าหญิงไดอาน่าจะสวยหรือเก่งเป็นพิเศษกว่าดารานักแสดงนางงามอื่น ๆ ทั้งหมดก็หา มิได้ หากอยู่ตรงฐานะราชนิกุลของเธอซึ่งได้รับการคาดหวังจากประชาชนอีกแบบหนึ่งต่างจากดาราเซเล็บทั่วไป

เมื่อความคาดหวังดังกล่าวไม่สมหวังเนื่องจากความผันผวนในชีวิตรักและครอบครัวของเจ้าหญิงไดอาน่า สภาพก็เหมือน แก้วที่ปริร้าวแล้ว แต่เจ้าของก็ต้องใช้ต่อไป ไม่อาจทิ้งขว้างเหมือนเลิกดูเลิกนิยมดาราเซเล็บธรรมดาได้

อันนับเป็นโศกนาฏกรรมของผู้ครองตำแหน่งเจ้าหญิงคนนั้นที่สะท้านสะเทือนความมั่นคงของราชบัลลังค์อังกฤษทีเดียว

 

*หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรงในเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira ระหว่างวันที่ 25 ส.ค.-2 ก.ย.56

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง