Skip to main content

Kasian Tejapira

ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ เราทำให้ขนมมาร์ชมอลโลส์หุ้มช็อคโกแลตพองขึ้นเพื่อดูว่ามันจะระเบิดแตกออกยังไง ปรากฏว่าในชั้นเรียนวิชานี้ ๓ วัน ครูของเราเรียกมันด้วยคำเยอรมันเก่าว่า “จุมพิตนิโกร”แทนที่จะใช้คำใหม่ซึ่งก้าวร้าวน้อยกว่าว่า “จุมพิตช็อคโกแลต” ตกเย็น ผมเล่าเรื่องนี้ให้แม่ผมซึ่งอยู่ในคณะกรรมการความหลากหลายของโรงเรียนฟัง วันรุ่งขึ้น แม่ก็เขียนอีเมล์ถึงโรงเรียนบอกว่า “เราอยากเห็นพ้องต้องกันไม่ใช่หรือคะว่าคำ ๆ นั้นมันไม่เหมาะ?” พอเข้าวันที่สาม ครูก็พูดคำว่า “จุมพิตนิโกร” อีก แล้วก็ทำท่ายกมือป้องปากแล้วบอกว่า “โอ้ แต่ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้พูดแบบนั้น” ครูถามว่ามีใครจะอธิบายได้ไหมว่าทำไม ผมยกมือแล้วตอบว่าเราไม่ใช้คำว่า “จุมพิตนิโกร” เพราะคนเขาใช้คำนั้นดูถูกคนผิวดำ แต่ครูกลับขอดูโทรศัพท์มือถือของผมและบอกว่าผมต้องใช้มันโทรฯบอกเรื่องนี้กับแม่ผมแน่ เรื่องของเรื่องคือเราไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน ผมบอกครูว่าผมไม่ได้โทรฯบอกแม่ ผมบอกเธอต่อหน้าเรื่องคำ ๆ นี้ตอนเย็นต่างหาก และครูก็ใช้คำ ๆ นี้ตั้ง ๓ ครั้งแล้ว ครูตอบว่าเธอใช้คำนี้แค่ครั้งเดียวแล้วก็ริบโทรศัพท์มือถือของผมไป วันต่อ ๆ มาผมก็ต้องเอาโทรศัพท์มือถือให้ครูเก็บไว้อีกและกว่าผมจะได้คืนก็ตอนเลิกชั้นเรียนแล้ว ครูทำแบบนี้ไม่หยุดจนพ่อเลี้ยงผมบ่นเรื่องนี้กับเธอต่อหน้าด้วยตัวเอง แต่กระนั้นครูก็ไม่เคยขอโทษเลย
 
“ฉันมาจากรัสเซียและอาศัยอยู่ในเยอรมนีมา ๑๕ ปีแล้ว ความจริงที่ว่าฉันมีงานทำ ได้แต่งงานกับคนเยอรมัน และไม่ได้พึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่กระนั้นฉันก็ยังไม่ได้ใบอนุญาตพำนักอาศัยถาวรที่นี่ .... นั่นไม่ใช่เรื่องที่ฉันอยากพูดถึงตอนนี้ ฉันติดใจรายละเอียดเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งมากกว่า สองเดือนก่อนฉันมีธุระไปพบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหนล่าสุดและมันฝังใจฉันมาก เจ้าหน้าที่ที่นั่นขอพิมพ์ลายนิ้วมือของฉัน บอกว่ามันเป็นข้อกำหนดอย่างหนึ่งที่ฉันต้องทำเพื่อให้ได้สิทธิ์พำนักอาศัยถาวร ดังนั้นเขาก็เลยพิมพ์ลายนิ้วมือฉันเก็บไว้ ฉันถามเพื่อนชายชาวเยอรมันของฉันซึ่งไปพบเจ้าหน้าที่ด้วยกันว่าเขาต้องผ่านขั้นตอนเดียวกันนี้เพื่อให้ได้บัตรประชาชนเยอรมันหรือเปล่า เจ้าหน้าที่เยอรมันชิงอธิบายว่าพลเมืองเยอรมันไม่จำต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ เฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้นที่ต้องทำ ลายนิ้วมือดังกล่าวเอาไว้ใช้ตามล่าตัวพวกอาชญากร ซึ่งนั่นก็หมายความว่าตัวฉันในฐานะคนต่างชาติถูกถือโดยอัตโนมัติว่าอาจเป็นอาชญากรได้ ขณะที่คนเยอรมันเองไม่ถูกถือเช่นนั้น”
 
“ผมเล่นเป็นกองหน้าของทีมผม จะด่าทอกันมากระหว่างแข่งขัน - มันก็เป็นส่วนหนึ่งของกีฬากายภาพแบบเล่นเป็นทีมหรือการเล่นกีฬาประชิดตัวแบบถึงลูกถึงคนนั่นแหละ แต่ตอนเล่นเกมลีกฤดูหนาวปี ๒๐๑๑ กับทีมหนึ่งจากครึ่งล่างของการจัดอันดับลีก กองกลางฝ่ายตรงข้ามสองคนมันด่ายั่วผมตั้งแต่นาทีแรกสุดเลย - ทั้งหยาคาย เล่นใต้เข็มขัด น่าเจ็บใจมาก ผมไม่อยากเอ่ยซ้ำคำที่พวกมันใช้ แต่มันเหยียดเชื้อชาติมากและมีแต่เรื่องโคตรเหง้าศักราชและสีผิวของผม ผมพยายามทำหูทวนลมแต่สุดท้ายก็โมโหเสียจนหมดสมาธิจะเล่นเกมอีกต่อไป โค้ชดึงตัวผมออกจากสนามในนาทีที่ ๗๐ แลวเราก็ตัดสินใจร่วมกันว่าจะรายงานกรณีนี้ ซึ่งนำไปสู่การไต่สวนของศาลกีฬา ก่อนหน้านั้นผมกังวลบางอย่างเหมือนกัน เช่น ถ้าเกิดพวกเขาไม่เชื่อผมล่ะ? แต่โชคดีมีพยานหลายคนยืนยันคำให้การของผม กองกลางทั้งสองคนก็เลยโดนแบน อีกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ทำให้ผมคิดหนักก็คือจำเลยคนหนึ่งกำลังฝึกอบรมเป็นผู้กำกับการตำรวจอยู่ด้วยตอนนั้น”
 
“เมื่อใดก็ตามที่ผมบอกใครต่อใครว่าผมเป็นนักดนตรีอาชีพ ผมจะได้คอมเมนต์น่ารำคาญตอบกลับมาเสมอ พวกเขาจะพูดว่า ว่าแล้วไหมล่ะเพราะถึงไงดนตรีก็อยู่ในสายเลือดของผม คำตอบมาตรฐานของผมต่อคอมเมนต์แบบนั้นก็คือ “เปล่านะ ผมหัดเอาต่างหาก” ผมมองว่านี่เป็นลัทธิเหยียดเชื้อชาติอีกแบบหนึ่ง คนเขาก็ไม่ได้หมายความไปในทางร้ายหรอก ผมรู้ดี แต่การพูดแบบนั้นน่ะ พวกเขากำลังแสดงออกซึ่งภาพลักษณ์แบบฉบับทางเชื้อชาติและเผยแพร่ลัทธิเหยียดเชื้อชาติออกไปโดยไม่ยั้งคิดเลยว่ากำลังทำอะไรอยู่ ยังกับว่าพอเป็นคนผิวดำก็หมายความโดยอัตโนมัติเลยว่าจะต้องรู้วิธีร้องรำทำเพลง”
 
“หลังจบปริญญาตรีปี ค.ศ. ๒๐๑๑ ฉันอยากฝึกงาน ฉันเจอประกาศรับฝึกงานบนออนไลน์เยอะมาก แต่ทุกที่ ๆ ฉันสมัครไป ฉันถูกปฏิเสธหมด ทุกครั้งจะได้คำตอบทำนองว่าตำแหน่งฝึกงานนั้นรับบรรจุไปแล้ว นักศึกษาชาวเวียดนามในโครงการเดียวกับฉันก็มีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน ขณะที่นักศึกษาเยอรมันแทบไม่เคยมีปัญหายุ่งยากในการหาที่ฝึกงานเลย ท้ายที่สุดฉันก็เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทเพื่อตัวเองจะได้อยู่ระดับที่สูงขึ้น”
 
“แปดปีก่อน ฉันตัดสินใจใส่ผ้าคลุมผมและนับแต่นั้นมาชีวิตของฉันก็เปลี่ยนไป เดิมทีพ่อของฉันอพยพจากโมร็อกโกมาอยู่ฮัมบูร์ก ท่านทำงานที่ท่าเรือแล้วต่อมาก็เป็นผู้อำนวยการกีฬาให้กับทางตำรวจ แม่ของฉันเป็นคนเยอรมัน ไม่มีใครบังคับให้ฉันใส่ผ้าคลุมผม ฉันตัดสินใจของฉันเอง ไม่นานมานี้ ฉันอยู่ที่ป้ายรถเมล์และวางของห่อหนึ่งทิ้งไว้ครู่เดียว ปรากฏว่าบรรดาคนเดินผ่านพากันตื่นตกใจ คิดไปว่าฉันกำลังจะวางระเบิด ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตลิด์ล อยู่ดี ๆ ตาแก่คนหนึ่งก็เริ่มด่าว่าฉันอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย “แกมาทำอะไรที่นี่หือ? เราไม่ต้องการคนอย่างแกที่นี่!” คนขับรถเมล์ไม่เอ่ยทักทายฉันอีกแล้วนับแต่ฉันเริ่มใส่ผ้าคลุมผม ตอนฉันใส่ชุดว่ายน้ำแบบมิดชิดทั้งตัว (เบอร์กินี) ไปสระว่ายน้ำ ยามกู้ชีพก็ตำหนิฉัน อ้างว่าชุดว่ายน้ำของฉันรบกวนคนอื่น ๆ ที่มาว่ายน้ำ บางคนเห็นฉันเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมที่ว่ากันว่าโบร่ำโบราณคร่ำครึซึ่งกีดกันผู้หญิง ส่วนคนอื่นก็มองฉันเป็นพวกสุดโต่งอันตราย เป็นพวกลัทธิอิสลามหัวรุนแรง ฉันไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้หญิงใส่ผ้าคลุมผมที่มั่นใจในตัวเอง”
 
“ฉันมาจากเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย และฉันมาอยู่เมืองโซลิงเกนในเยอรมนีกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็กบางทีคนเจอฉันตามท้องถนนก็จะพูดว่า “แม่หนูช่างน่าสงสารจัง” แล้วก็ให้เงินฉัน ๕ มาร์ค ต่อมาฉันเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่เมืองมานน์ไฮม์และโคโลญ แล้วทำงานเป็นวิศวกรอุตสาหกรรมที่กรุงเบอร์ลินเพื่อนร่วมงานของฉันที่นั่นรีบแสดงออกชัดเลยว่าคิดยังไงกับฉัน นั่นคือพวกเขาไม่เห็นหัวฉันเลย เมื่อเรานั่งลงในห้องกาแฟของบริษัทด้วยกัน ทันใดนั้นพวกเขาก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแอฟริกา ทำยังกับว่าแสนรู้ไปหมดเกี่ยวกับทวีปนั้น รู้ดีกว่าฉันเสียอีก แต่สุดท้ายเรื่องนั้นก็น่าเบื่อเกินไปสำหรับพวกเขา จู่ ๆ ข้อมูลก็เริ่มหายไปจากคอมพิวเตอร์ของฉัน เวลาฉันนำเสนองาน ก็จะหาเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ไม่เจอ ฉันก็เลยต้องวางกลยุทธ์รับมือ โดยล็อกเอาท์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเย็นก่อนกลับบ้าน เก็บสำรองข้อมูลของฉันไว้ในแท่งยูเอสบี และทำสำเนาการนำเสนอโครงงานต่าง ๆ ของฉันเผื่อไว้ ฉันจะไม่เผยไต๋มากไปกว่าที่พวกเขาเผย และแล้วสัญญาจ้างงานของฉันก็หมดอายุลง”
 
“มิหนำซ้ำหมอนี่ยังเป็นชาวกรีกอีกแน่ะ! นั่นคือสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากคิดเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๑ตอนที่ผมกลายเป็นเหรัญญิกของเมืองโอเบอร์เฮาเซนซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ติดหนี้สินรุงรังที่สุดในเยอรมนี และนั่นก็ประมาณว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาเขียนด้วยเหมือนกัน มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับพวกเขา น่าพิศวง และมันก็โอเคอยู่ล่ะครับในตอนแรก ไอ้ที่ไม่โอเคก็คือหลังจากผ่านไปกว่าปีแล้ว โคตรเหง้าเชื้อสายกรีกของผมก็ยังเป็นเรื่องอยู่นั่นแหละ มันยังเป็นสาระส่วนหนึ่งที่สื่อสารกัน สำหรับนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก ประเด็นไม่ใช่เนื้อหา ไม่ใช่คำถามว่าคุณวางแผนจะแก้ไขปัญหาของเมืองโอเบอร์เฮาเซนยังไง? แต่คำถามกลับเป็นว่า คุณมาจากไหน? มากกว่า บ๊องชิบหาย! ผมเกิดในเยอรมนี ที่เมืองฮิลเดนในไรน์แลนด ์ ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ในเยอรมนี พ่อแม่ผมอพยพจากประเทศกรีซมาเยอรมนีตั้งนมนานแล้ว สมัยต้นคริสตทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ในสถานะที่เขาเรียกกันยุคนั้นว่า “คนงานรับเชิญ” แต่เรื่องนั้นน่ะมันไม่เกี่ยวข้องกับงานของผมในฐานะเหรัญญิกเลย เผอิญเหมือนกันว่าในเมืองโอเบอร์เฮาเซนเองภูมิหลังของผมไม่เคยเป็นประเด็นเลย ไม่มีชาวเมือง เพื่อนร่วมงานในคณะบริหารเมืองหรือแม้แต่คู่ต่อสู้ทางการเมืองคนไหนเคยเอ่ยปากออกความเห็นเรื่องนี้เลย มันเป็นเรื่องที่ผมต้องต่อสู้ทางสื่อกับพวกนักหนังสือพิมพ์ล้วน ๆ เลยล่ะ”
 
“ผมพูดไม่ได้หรอกว่าเคยเจออะไรที่มันเลวร้ายมากเป็นพิเศษ ผมกับแม่มาที่นี่จากรัฐเบลารุสแล้วก็ไปเข้าเรียนชั้นเตรียมความพร้อมเข้าโรงเรียน และตอนแรกทุกอย่างมันก็เรียบร้อยดี แต่พอผมเริ่มไปโรงเรียนจริง ๆ ก็เริ่มเจออคติเข้าด้วย พวกเขาเรียกผมว่า “ไอ้รัสเซีย” และเวลาพ่อผมขับรถค่อนข้างหรูไปส่งผมที่โรงเรียน พวกเขาก็จะพูดว่า “ขี่รถหรูแบบคนรัสเซียเลยว่ะ” พวกเขาไม่ได้บอกว่าเป็นรถที่“ขโมย” มาหรอกครับ แต่นัยมันก็ชัดในห้องเรียน ต่อมาพอขึ้นชั้นมัธยมฯ ครูของผมคนหนึ่งจะจ้องผมเขม็งเมื่อใดก็ตามที่เอ่ยเรื่องปูติน อย่างตอนผู้หญิงวง “จิ๋มจลาจล” (Pussy Riot) ถูกจับ ทำยังกับผมจะทำอะไรเรื่องนั้นได้แน่ะ ยังกับผมเป็นปูติน ยังกับคนรัสเซียทั้งหมดเป็นปูติน มันก็ไม่ได้แย่มากมายอะไรแต่มันน่ารำคาญน่ะครับ และมันก็น่ารำคาญด้วยเวลาผมอยู่ในร้านค้าและโทรฯคุยกับญาติเป็นภาษารัสเซีย ผมเห็นเลยว่าพวกผู้หญิงบางคนดึงกระเป๋าตังค์ไปแนบตัวแล้วหนีบไว้แน่นยังไง”
 
“ในสายตาลูกค้าหลายคน หัวล้านของผมทำให้ผมกลายเป็นแมงดาและเคราของผมก็ทำให้ผมกลายเป็นพวกเคร่งอิสลาม ผมเกิดที่ตลาดปลาและโตขึ้นมากับธุรกิจส่งออกของพ่อบนถนนรีเปอร์บาห์นของเมืองฮัมบูร์ก ตอนนี้เรามีกิจการร้านสะดวกซื้อ ผมแน่ใจเลยว่ามันต้องมีที่ประชุมลับที่ไหนสักแห่งที่ชาวบ้านเรียนรู้คำถามมาตรฐานที่จะตั้งเอากับเจ้าของร้านชาวตุรกี อย่างเช่น คุณเป็นเจ้าของร้านนี้หรือเปล่า? ธุรกิจค้ายา(เสพติด)เป็นไงมั่ง? การรีดไถเงินค่าคุ้มครองล่ะ? ครอบครัวเจ้าพ่อดูแลคุณอยู่ใช่ไหมหือ? ครอบครัวเจ้าพ่อน่ะนา? นั่นคงหมายถึงน้องสาวเล็ก ๆ ๓ คนของผมล่ะซีนะ”
 
“ผมคิดว่าเยอรมนีเป็นประเทศน่าอยู่และผมดีใจที่อยู่ที่นี่ แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่มันไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อผมอายุ ๒๔ ปีและได้เป็นหัวหน้าพ่อครัว เพื่อนของเจ้านายผมตอนนั้นพูดกับเจ้านายผมว่า “ลื้อคงไม่เอาคนตุรกีมาเป็นหัวหน้าพ่อครัวหรอกนะ ใช่มั้ย?” และก่อนผมไปฮัมบูร์กเพื่อรับโอนกิจการภัตตาคารแห่งแรกของผมตอนอายุ ๒๘ ปี ผมก็อ่านเจอในหนังสือพิมพ์ว่า “อีกไม่ช้าก็จะมีเคบับแพงระยับที่ภัตตาคารเลอ กานาร์ดแล้วใช่ไหม?” นั่นมันกระเทือนใจผมแรงมากเลยทีเดียว ที่อยู่เบื้องหลังคำพูดนั้นก็คือความคิดเหยียดเชื้อชาติว่าเพราะผมชื่ออาลีและผมสีดำ ผมคงทำเป็นแต่เคบับอย่างเดียวเท่านั้น ผู้คนพากันคิดว่า เจ้านี่น่ะรึอยากเข้าไปยึดกิจการเลอ กานาร์ด ภัตตาคารแพงที่สุดแห่งหนึ่งของเยอรมนี? คนมากมายพูดแบบนั้น แต่สำหรับผมแล้ว มันก็ช่วยเป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน หลังผ่านไปราวปีหนึ่ง ภัตตาคารก็ได้ดาวเรตติ้งดวงแรกมา แล้วคุณรู้อะไรไหมครับ? คอมเมนต์แบบเก่านั้นหายหมดเลยทีเดียว คือถ้าคุณเป็นชาวต่างชาติแค่นั้น มันก็เป็นเรื่องไม่ดี แต่ถ้าคุณ
เป็นชาวต่างชาติและแถมประสบความสำเร็จด้วยแล้ว มันก็โอเคเลยล่ะ ผมต้องทำงานหนักมากเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือ ทุกวันนี้เรื่องทำนองนั้นส่วนใหญ่ที่ยังเกิดขึ้นในภัตตาคารมันดูน่าขำสำหรับผม มันไม่ส่งผลกระทบอะไรกับผมแล้ว ตัวอย่างเช่นเมื่อลูกค้าคนหนึ่งพูดว่า “คุณกุนกอร์มุส ผมกับเมียไปบ้านเกิดคุณที่อีสตันบูลมาเมื่อเร็ว ๆ นี้” ผมก็ตอบว่า “อา, ดีครับ ผมชอบไปเที่ยวอีสตันบูลเหมือนกันแต่มันไม่ใช่บ้านเกิดผมหรอกนะ” หรือลูกค้าอีกคนซึ่งปกติก็เป็นคนใจกว้างและอยากเอ่ยชมฝีมือผมบอกว่า
 
“รสชาติผสมผสานกันเหล่านี้คงมาจากภูมิภาคที่คุณจากมา...” ผมก็ถามกลับอย่างเรียบ ๆ ว่า “คุณหมายถึงรสชาติอะไรจากภูมิภาคไหนหรือครับ?” เขาก็ตอบว่า “ง่า ก็ปลาเทอร์บอตกับซินนามอนจากบ้านเกิดคุณไง...” ผมก็บอกว่า “คุณทราบไหมครับ ผมเติบโตในเมืองมิวนิคและที่นั่นน่ะไม่มีซินนามอนขึ้นนะครับ”

“ผมอายุได้ ๙ ขวบเมื่อผมกับครอบครัวถูกเนรเทศไปค่ายกักกันเอาสช์วิตซ์ พวกนาซีสังหารชาวซินติและโรมา (ชาวยิปซีในยุโรปกลางและที่อื่น ๆ) ไปกว่าครึ่งล้านคน ผมจึงต่อสู้กับความโง่เขลาและอคติมาตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อผมย้ายมาอยู่เมตเตนไฮม์เมื่อ ๕๐ ปีก่อน คนก็พูดกันว่ากลุ่มบุคคล “ต่อต้านสังคม” กำลังเข้ามาตั้งหลักแหล่งในหมู่บ้าน ผมเปิดร้านขายวัตถุโบราณและสร้างบ้านขึ้นที่นี่ แต่กระนั้นบางทีผมก็ยังถูกเรียกหาอย่างดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็น “ยิปซี”
 
“ออมนิปูร์ ลื้อมันแขกอพยพ (kanake คำด่าทอใช้เรียกผู้อพยพจากบรรดาประเทศทางใต้) ซุ่มซ่ามซี้ซั้วนี่หว่า ข้างในค่ายทหารเป็นไงลื้อยังไม่เคยเห็นเลย” ใครคนหนึ่งคอมเมนต์ถึงผม เผอิญนโยบายป้องกันประเทศเป็นเรื่องเชี่ยวชาญเฉพาะของผม แต่ไม่ว่าคอมเมนต์ออนไลน์เอย อีเมล์เอย จดหมายเอย มันก็ออกมาอีหรอบเดียวกันนี่แหละ ผมต้องทนอ่านของพรรค์นี้แทบทุกวัน สต๊าฟของผมจะแยกมันออกเป็นจดหมายประเภทเกลียดกลัวต่างชาติกับประเภทเกลียดกลัวอิสลาม แล้วจัดแบ่งเป็นข้อเขียนในบล็อก, คอมเมนต์บนเฟซบุ๊ค, และจดหมายธรรมดาอีกที ผมออกจากอิหร่านมายังแฟรงค์เฟิร์ตเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ตอนนี้หลังทำงานอยู่ในรัฐสภามาหลายปี ผมพยายามไม่นำพาคำด่าทอดูถูกพวกนี้มาปรารมภ์อีกแล้ว อารมณ์ขันเป็นทางออกจากสถานการณ์แบบนี้ที่ดีที่สุด เมื่อใครสักคนเรียกผมซึ่งเป็นชาวอิหร่านว่า “ไอ้ห่าอาหรับ” และบอกให้ผม “กลับไปตุรกีซะ” ผมก็ได้แต่หัวเราะที่นักคอมเมนต์บางคนมันช่างโง่ซะจริง ๆ”
 
“ทั้งฉันกับสามีเกิดในเบอร์ลินและเรากำลังหาอพาร์ตเมนท์ใหม่ที่นี่ มันกลายเป็นเรื่องยากกว่าที่เราคาด เราเป็นคนแอโฟร-เยอรมัน แต่เวลาคุยโทรศัพท์กัน คนเขาย่อมฟังไม่ออกและพวกเจ้าของห้องเช่าก็มักคิดว่าชื่อของฉันเป็นภาษาฝรั่งเศส เราทั้งคู่ได้เงินเดือนดีและเราก็ได้นัดหมายให้ไปลองเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์เสมอ แต่พอเราไปถึงที่นั่น บรรยากาศก็เย็นชาลงอย่างเห็นได้ชัด เรามองหาอยู่หลายเดือนแต่โชคไม่เข้าข้างเราเลย ดังนั้นฉันกับสามีก็เลยตัดสินใจว่าเขาอย่ามาเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์ด้วยอีกเลยจะดีกว่า พอเหลือฉันคนเดียว ดูเหมือนว่าฉันคงท่าทางน่ากลัวน้อยกว่าผู้ชายผิวดำ มีหนหนึ่งนายหน้าอสังหาฯที่โทรฯคุยกันชอบใจเรามาก ฉันเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ไปเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์และฉันก็ชอบมัน ฉันก็เลยขอแบบฟอร์มต่าง ๆ จากนายหน้าเพื่อจะมากรอก เขาถามว่าฉันวางแผนจะเช่าอพาร์ตเมนท์หรือและพอฉันตอบว่าใช่เขาก็บอกว่าน่าเสียดาย คงไม่ลงตัวหรอก เมื่อฉันถามว่าทำไม เขาก็ตอบคลุมเครือเลี่ยงไปเลี่ยงมา ทำนองว่ามีคนสนใจตั้งหลายรายแล้ว แล้วเขาก็ถามชื่อตัวของสามีฉันพอฉันบอก เขาก็พูดว่ามันคงจะยากมากเลยทีเดียวสำหรับเรา เมื่อฉันกลับถึงบ้าน ฉันกับสามีก็โทรฯไปสำนักงานต่อต้านการเลือกปฏิบัติสังกัดวุฒิสภาของเมือง เจ้าหน้าที่ที่เราคุยด้วยบอกว่านี่เป็นกรณีเหยียดเชื้อชาติชัดเจนและแนะนำให้เราลองให้คนอื่นติดต่อไปเพื่อเปรียบเทียบกันดู ฉันก็เลยให้แม่ลองโทรฯหานายหน้าคนนั้น ปรากฏว่าเขาขมีขมันพูดคุยชักชวนแม่ให้มาเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์และไม่เฉลียวใจแต่อย่างใดว่าแม่เกี่ยวข้องกับฉัน ถึงตอนนี้เรามีหลักฐานพอจะเอาคดีนี้ฟ้องศาลแล้ว แต่ท้ายที่สุดเราก็ตัดสินใจว่าอย่าดีกว่า มันอาจลงเอยเป็นแค่เรื่องจะเชื่อใครระหว่างปากคำของเรากับของนาย
หน้าคนนั้น”
 
“แล้ววันหนึ่งผมถึงได้รู้ว่าเอาเข้าจริงเพื่อนร่วมงานมันคิดยังไงกับผม ระหว่างกินมื้อเที่ยงกัน เมื่อผมแกะห่อซาลามียี่ห้อไบไฟ เขาก็พูดว่า “นายกินเนื้อหมูเหรอ? ไม่เคยเห็นคนตุรกีที่ไหนกินเลย ถึงไงเราก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ทำไมมุสลิมไม่กินเนื้อหมูล่ะ เซ่อชิบเป๋ง” ผมทำงานที่นั่นมาสองปีแล้ว แต่ไม่มีใครสักคนเอาธุระที่จะรู้จักชื่อแซ่ผม ถ้าใครสักคนหาตัวผม ก็จะเรียกว่า “ไอ้ตุรกีนั่นมันอยู่ไหนวะ?” ตลอด ความจริงผมไม่ใช่มุสลิมและไม่ใช่คนตุรกี ผมเป็นชาวเยอรมัน เกิดในเมืองโคโลญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมออกเดตกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอรู้จักแต่ชื่อตัวผม และผมก็เพิ่งโกนหนวดเคราทิ้ง ระหว่างคุยกัน เธอก็พูดว่า “ฉันไม่แน่ใจหรอกนะ แต่ขอบคุณพระเจ้าที่คุณไม่ใช่คนตุรกี” หลังจากนั้นผมก็ไม่โทรฯหาเธออีกเลย”
 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง