Skip to main content

 

ตามคำเรียกร้องของแฟนบล็อกนะคะ คราวนี้ขอเสนอคำที่แสดงความรู้สึกในภาษาอินโดนีเซียพร้อมกับตัวอย่างการใช้ค่ะ

 

คำแสดงความรู้สึกในภาษาอินโดนีเซีย

ตามคำเรียกร้องของแฟนบล็อกนะคะ คราวนี้ขอเสนอคำที่แสดงความรู้สึกในภาษาอินโดนีเซียพร้อมกับตัวอย่างการใช้ค่ะ

1. รัก = cinta (จิน-ตา)

เมื่อพูดถึงคำที่แสดงความรู้สึกคงพลาดคำนี้ไม่ได้ค่ะ แต่พอเอามาเข้าประโยคแล้ว cinta ต้องมีการเติมข้างหน้าและข้างหลังด้วย (การผันคำเป็นเรื่องที่ยากที่สุดของภาษาอินโดนีเซีย แต่ก็ไม่ยากเกินการทำความเข้าใจค่ะ) ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันรักคุณ = Saya mencintai Anda. (ซายา เมินจินตัย อันดา)

2. ชอบ = suka (ซู-กา)

ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันชอบเรียนภาษาอินโดนีเซีย = Saya suka belajar bahasa Indonesia (ซายา ซูกา เบอลาจฺารฺ บาฮาซา อินโดนีเซีย)

3. มีความสุข, ยินดี = senang (เซอ-นัง), bahagia (บา-ฮา-เกีย)

ตัวอย่างประโยคเช่น พวกเรามีความสุข = Kita bahgia. (กีตา บาฮาเกีย) หรือ Kita senang. (กีตา เซอนัง) ก็ได้ค่ะ แต่บางที senang ก็แปลว่า “ชอบ” ได้เหมือน suka เช่น Saya senang bermain bola. (ซายา เซอนัง เบอรฺมายอิน โบลา) แปลว่า ฉันชอบเล่นฟุตบอล

4. เกลียด = benci (เบิน-จี)

ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันเกลียดหนู (ที่เป็นสัตว์) = Saya benci tikus. (ซายา เบินจี ตีกุสฺ)

5. เบื่อ = bosan (โบ-ซัน)

ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันเบื่อ (การ) เล่นเฟซบุ้ค = Saya bosan main facebook. (ซายา โบซัน มายอิน เฟซบุ้ค)

6. โกรธ = marah (มา-ราฮฺ)

ตัวอย่างประโยคเช่น ทำไมเขาถึงโกรธ? = Kenapa dia marah. (เกอนาปา เดีย มาราฮฺ)

7. เศร้า = sedih (เซอ-ดิฮฺ)

ตัวอย่างประโยคเช่น พวกเขาเศร้า = Mereka sedih. (เมอเรกะ เซอดิฮฺ)

8. ภูมิใจ = bangga (บัง-กฺา)

ตัวอย่างประโยคเช่น พวกเราภูมิใจในวัฒนธรรมของเรา = Kita bangga dengan budaya kita. (กีตา บังกฺา เดิงงัน บูดายา กีตา)

9. แปลกใจ =heran (แฮ-รัน)

ตัวอย่างประโยคเช่น คนต่างชาติแปลกใจเมื่อได้ยินข่าวการทำรัฐประหารในประเทศไทย = Orang asing heran mendengar berita kudeta di Thailand. (ออรัง อาซิง แฮรัน เมินเดิงงารฺ เบอรีตา คูเดตา ดี ไทยลาน)

10. ตกใจ = kaget (คา-เก็ต)

ตัวอย่างประโยคเช่น คนต่างชาติตกใจเมื่อได้ยินข่าวการทำรัฐประหารในประเทศไทย = Orang asing kaget mendengar berita kudeta di Thailand. (ออรัง อาซิง คาเก็ต เมินเดิงงารฺ เบอรีตา คูเดตา ดี ไทยลาน)

11. ผิดหวัง = kecewa (เกอ-แจ-วา)

ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันผิดหวังกับการกระทำของคุณ = Saya kecewa dengan tindakan Anda. (ซายา เกอแจวา เดิงงัน ตินดักกัน อันดา)

12. พอใจ = puas (ปวสฺ) คำนี้ออกเสียงเหมือนคำว่า ปวด แต่เปลี่ยน ด เป็นเสียง ส แทน

ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันพอใจกับการบริการของการบินไทย = Saya puas dengan pelayanan Thai Airways. (ซายา ปวสฺ เดิงงัน เปอลายันนัน ไทย แอร์เวย์)

13. ตื้นตันใจ, ซาบซึ้ง = terharu (เตอรฺ-ฮา-รู)

ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันซาบซึ้ง/ตื้นตันใจมาก น้ำตาจะไหล = Saya sangat terharu, air mata akan turun. (ซายา ซังงัด เตอรฺฮารู อายรฺ มาตา อากัน ตูรุน)

14. กลัว = takut (ตา-กุต)

ตัวอย่างประโยคเช่น ฉันกลัวหนู = Saya takut tikus. (ซายา ตากุต ตีกุสฺ)

15. ตื่นเต้น = gelisah (เกอ-ลี-ซาฮฺ)

ตัวอย่างประโยคเช่น เขาตื่นเต้น = Dia gelisah. (เดีย เกอลีซาฮฺ)

16. เครียด = stres (สเตรสฺ)

ตัวอย่างประโยคเช่น อย่าเครียด = Jangan stres. (จังงัน สเตรสฺ)

 

เอาแค่นี้พอหอมปากหอมคอก่อนนะคะ Sampai jumpa lagi! (แล้วพบกันใหม่ค่ะ)

บล็อกของ onanong

onanong
คำในภาษาไทยหลายๆ คำที่คล้ายกับคำในภาษามลายู, อินโดนีเซีย และ ชวา มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตอยู่ไม่น้อย
onanong
ชื่อบล็อก “Selamat Datang”  (อ่านว่า เซอลามัต ดาตัง) นั้นแปลว่า “ยินดีต้อนรับ” ซึ่งใช้กันทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไปจนถึงบรูไน, สิงคโปร์ และปาตานี หากคุณพูดภาษามลายูได้ก็หมายความว่าคุณจะพูดกับคนได้เกือบๆ 250 ล้านคน