Skip to main content

องค์ บรรจุน

บทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์พิธี "เลี้ยงดง" หรือ "เลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ" พิธีกรรมเก่าแก่ของชาวเชียงใหม่ ที่บ้านแม่เหียะใต้ เชิงดอยคำ หลังสถานีวิจัยเกษตรแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านย่านนั้นพร้อมใจกันจัดขึ้นทุกปี แต่ที่ไม่ทราบแน่ชัดก็คือ นักการเมืองท้องถิ่นได้เข้าไปดำเนินการจัดตั้ง "ปู่แสะย่าแสะ" ให้เป็นหัวคะแนนตั้งแต่เมื่อใด

ตำนานความเป็นมาของพิธีเลี้ยงดง กล่าวโดยย่อคือ ในอดีตย่านนี้เป็นเมืองของชาวลัวะชื่อว่า "บุรพนคร" ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง (อุจฉุคีรี) ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนจากยักษ์พ่อแม่ลูก ๓ ตน ที่มาจับชาวเมืองไปกินทุกวัน จนชาวเมืองต้องพากันอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น

กล่าวถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับรู้ด้วยพระสัมมาสัมโพธิญาณ เห็นความเดือดร้อนของชาวเมืองบุพนครที่เกิดจากยักษ์พ่อแม่ลูก ๓ ตน พระองค์พร้อมด้วยเหล่าสาวกจึงได้เสด็จมาประทับที่ดอยใต้ ได้มีชาวลัวะ ๔ คน เข้าเฝ้าและเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จึงถวายอาหารที่นำติดตัวมา พระองค์ทรงอนุโมทนาและเทศนาโปรดจนชาวลัวะทั้ง ๔ รู้แจ้งเห็นสัจธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ได้ทำนายว่า ในอนาคตเมืองของชาวลัวะแห่งนี้จะได้ชื่อว่า "เมืองชีใหม่" (ต่อมาเพี้ยนเป็น "เชียงใหม่") โดยเรียกตามเหตุการณ์ที่ชาวลัวะบวชใหม่ (ในอดีตเรียกพระว่า ชี) จากนั้นพระพุทธเจ้าได้สนทนากับพระลัวะทั้ง ๔ รูป จนรับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมือง จึงรับสั่งให้พระอานนท์ไปตามยักษ์ทั้ง ๓ ตน มาพบ ทรงแสดงอภินิหารให้ยักษ์เห็น และแสดงธรรมให้ฟัง จนยักษ์เกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์ได้ให้ยักษ์ทั้ง ๓ สมาทานศีลห้า

ต่อมายักษ์นึกขึ้นได้ว่า ตนเองเป็นยักษ์จำเป็นต้องกินเนื้อเป็นอาหาร จึงทูลขอควายกินวันละตัว พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ยักษ์จึงทูลขอควายกินเดือนละตัว พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ที่สุดยักษ์จึงทูลขอควายกินปีละตัว พระพุทธองค์ไม่ตอบ ยักษ์จึงขอกับเจ้าเมือง และตกลงให้กินปีละตัว โดยยักษ์ปู่แสะขอกินควายเผือกเขาคำ ยักษ์ย่าแสะขอกินควายดำกลีบเผิ้ง (ควายหนุ่มเขาเสมอหู) โดยฆ่าควายแล้วชำแหละไปให้ พร้อมกับมีข้อแม้ว่า "ยักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ ๕,๐๐๐ ปี ตลอดจนปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วย"


ปู่แสะย่าแสะ (เสื้อแดงมุมซ้ายล่างของภาพ) กินเนื้อควายสดๆ


ส่วนลูกยักษ์ได้บวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาลาสิกขาออกมาถือเพศเป็นฤๅษี มีนามว่า "สุเทพฤๅษี" ส่วนดอยช้าง หรือ ดอยเหนือ ต่อมาเรียกว่า ดอยสุเทพ ตามชื่อฤๅษีสุเทพซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำฤๅษีหลังดอยสุเทพ ดอยคำ และดอยเหล็ก (ปัจจุบันปรากฏร่องรอยบ่อน้ำอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อฤๅษี)...

จากตำนานดังกล่าวข้างต้น ยังคงสืบทอดความเชื่อต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ภายหลังการเสียชีวิตของปู่แสะย่าแสะแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองยังคงเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์ และต้องการให้วิญญาณปู่แสะย่าแสะช่วยรักษาพระศาสนา และปกป้องคุ้มครองชาวเมือง จึงจัดให้มีพิธีเซ่นสรวง ที่เรียกกันว่า "เลี้ยงดง" เป็นประจำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เป็งเดือนเก้า) สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ชาวเชียงใหม่ (คนเมือง) นับถือผีมาช้านาน ทั้งผีบรรพชน และเทวดาอารักษ์ เช่นเดียวกับผู้คนทุกเชื้อชาติในภูมิภาคแถบนี้ มีการยอมรับนับถือพุทธศาสนามาช้านานตั้งแต่ก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ โดยการนำความเชื่อดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับความเชื่อใหม่ที่ได้รับ เป็นการน้อมนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตของตน

จากตำนานพื้นเมืองเชื่อกันว่า ปู่แสะย่าแสะ เป็นผีบรรพชนของพวกลัวะ ซึ่งส่วนหนึ่งได้สืบเชื้อสายมาเป็นชาวเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีหน้าที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นเจ้าเมือง เสนาอำมาตย์ และราษฎร จะต้องร่วมกันทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ คนโบราณเชื่อว่า หากไม่ทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติ ดังในสมัยพระเจ้าแม่กุ ที่มีการห้ามชาวบ้านทำพิธี เป็นเหตุให้เมืองเชียงใหม่ต้องเสียเอกราช ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

พิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะทำสืบต่อกันมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ทางราชการได้สั่งห้ามจัดพิธีดังกล่าว (กรณีเดียวกับที่ได้มีการห้ามจัดพิธีรำผีมอญที่พระประแดง เพราะทางการเกรงว่าจะมีการทำนายทายทักในทางร้ายทำให้ชาวบ้านตื่นกลัว) จนถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งแต่ให้ทำพิธีทางทิศตะวันออกของเชิงดอยคำ โดยมีชาวบ้านเชิงดอยสุเทพและบ้านแม่เหียะเป็นผู้ทำพิธี ซึ่งข้อกำหนดอย่างหนึ่งของการเป็นร่างทรง (ม้าขี่) ก็คือ บุคคลหนึ่งห้ามเป็นร่างทรงติดต่อกันเกิน ๓ ปี


ปู่แสะย่าแสะเดินกินเครื่องเซ่นในศาลบูชา ช่างภาพร้อยเศษตามประกบ


โดยรอบบริเวณพิธีเป็นป่าไม้ค่อนข้างสมบูรณ์ ล้วนแต่ไม้ขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เช้านั้นฝนโปรยปรายลงมาแต่เช้า ยอดหญ้าฉ่ำน้ำ ผืนดินนุ่มไร้ฝุ่น ท้องฟ้าก็ครึ้มด้วยเมฆขาวหม่น บรรยากาศขรึมขลังชวนศรัทธา จะขัดความรู้สึกบ้างก็ตรงที่เมื่อเดินทางมาถึงเชิงเขา ได้ยินแต่เสียงล้อบดถนนและแตรรถกลบเสียงวงกลอง (ปี่พาทย์) รถนานาชนิดจอดเรียงรายยาวเหยียด รวมทั้งรถตู้นักท่องเที่ยวหลากสัญชาติ เมื่อถึงปากทางมองเห็นผาม (ปะรำพิธี) แต่ไกลกลางลานโล่ง สองรายทางเต็มไปด้วยร้านค้าขายนาชนิด (รวมทั้งเหล้าตอง แต่ปีหน้าคงจะไม่มี หากหน่วยงานเกี่ยวกับสุขภาพ จะเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมชาวบ้าน และอาจจะรวมไปถึงการนำควายมาต้มก่อนเซ่นสรวงปู่แสะย่าแสะ) ด้านขวาเกือบสุดทางเดินก่อนถึงผาม เป็นอาสนสงฆ์ ด้านซ้ายเป็นเต้นท์กองอำนวยการ มีเสียงประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและผลงานของนักการเมืองท้องถิ่น และโฆษณาขายผืนผ้าพระบฏจำลอง


ปู่แสะย่าแสะไหว้สาภาพพระบฏ


ขณะที่ผู้เขียนไปถึงนั้นหีบพระบฎ (ภาพเขียนพระพุทธเจ้า) วางอยู่ใต้ร่มไม้ พระบฏในหีบถูกขึงไว้กับยอดไม้สูงเหนือหัวแล้ว พิธีกรรมต่อจากนั้นเริ่มจาก ร่างทรง (ม้าขี่) ของปู่แสะย่าแสะ ขึ้นไปทำพิธีบนผาม เปลี่ยนชุดตามแบบโบราณ เน้นผ้านุ่งผ้าห่มสีแดง ทำพิธีเซ่นสรวงเชิญวิญญาณปู่แสะย่าแสะเข้าร่าง วิญญาณในร่างทรงรับหมากมาเคี้ยวปากแดง สูบบุหรี่มอญมวนใหญ่ กระโจนลงจากผาม เดินมุ่งไปหาซากควายที่ชำแหละวางไว้ทั้งเนื้อ หนัง หัว และเขาควายครบทุกชิ้นส่วนกลางลาน ปู่แสะย่าแสะขึ้นขี่บนหลังควาย เกลือกร่างไปบนซากควาย ฉีกเนื้อกินสดๆ มือวักเลือดในภาชนะขึ้นดื่ม หิ้วเนื้อควายติดตัวไปบางส่วน เดินตรวจตราดูศาลบูชาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่โดยรอบลานพิธี ทั้ง ๑๒ ศาล ตามจำนวนปู่แสะย่าแสะ ลูก หลาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของเมือง ภายในศาลวางกระทงใบตองตึง ใส่เครื่องเซ่นคาวหวานนานาชนิด หลังปู่แสะย่าแสะรับเครื่องเซ่นแล้วก็เกิดเหตุอัศจรรย์ภาพพระบฏแกว่งไกว ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นปาฏิหารย์ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปี โดยไม่มีลมพัดต้องแม้แต่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้ปู่แสะย่าแสะรับรู้ กลับเข้าไปในผาม เปลี่ยนชุดใหม่ เน้นสีขาวบริสุทธิ์ เข้าไปไหว้สาพระบฏ อันเป็นสัญลักษ์ตัวแทนของพระพุทธเจ้า จากนั้นปู่แสะย่าแสะก็จะเดินเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ที่สำคัญยังมีการปลูกฝังสั่งสอนชาวบ้าน เป็นต้นว่า มีการเข้าทรง "เจ้านาย" เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง การบอกกล่าวฝากฝังต่อผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการรักษาป่าไม้ ที่มีผู้คนทำลายบุกรุกทำลาย ให้ชาวบ้านสามัคคีช่วยกันแก้ไขปัญหา สาปแช่งคนบุกรุกทำรายให้มีอันเป็นไป เป็นต้น (โชคดีที่ป่าผืนนั้นเป็นเขตทหาร คำสาปแช่งของปู่แสะย่าแสะจึงคงยังศักดิ์สิทธิ์ไปอีกนาน)

นอกจากตำนานจะกล่าวถึงชนพื้นเมือง คือ ชาวลัวะ ว่าเป็นชนดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นการผสานความเชื่อเรื่องผีของชนพื้นเมืองที่มีมาแต่เดิม เข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง ให้ดำเนินคู่กันไปอย่างกลมกลืน เท่ากับว่าตำนานและพิธีกรรมในอดีตมีส่วนสำคัญในการร้อยเรียงผู้คนต่างชาติพันธุ์ ต่างความเชื่อ และลัทธิทางศาสนาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีกติกาที่ชุมชนเป็นผู้ตกลงร่วมกัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวบ้านกลับตกอยู่ภายใต้การชี้นำของทุนนิยม ปัจจัยภายนอกส่งอิทธิพลต่อรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนที่ต้องอาศัยเครื่องประดับกาย และเครื่องประดับเกียรติ หนทางหนึ่งนั้น คือ "การเมือง" ระบบซึ่งพรากความกลมเกลียวไปจากชุมชน และยัดเยียดความแตกแยกทิ้งไว้ให้ชุมชน ผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้กระทำทุกวิถีทางเพื่อขึ้นสู่อำนาจ แม้แต่การเบียดบังพื้นที่ของผีบรรพชน


นักการเมือง กับ ปู่แสะย่าแสะ

อำนาจ "ชัตเตอร์" รุกล้ำประชิดถึงปลายคางโหนกคิ้วของผี เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามในสายตาของช่างภาพ ในยุคดิจิตัล มือถือถ่ายภาพได้ราคาถูกหาซื้อได้ง่าย ไม่นับรวมนักเลงกล้องมืออาชีพ กล้องวีดีโอจากนักท่องเที่ยวหลายชาติ นักข่าวหลายช่อง นับด้วยตาคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่าร้อย รั้วไม้หยาบๆ กั้นชาวบ้านให้นั่งดูเรื่องที่เป็นจิตวิญญาณของตนได้เท่านั้น แต่รั้วไม่สามารถกั้นช่างภาพและนักการเมืองให้เข้าไปเกาะติดผีได้ ไม่มีการนิยามถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีการเคารพตำนานและตัวตนการมีอยู่ของความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะ ผู้เขียนไม่อาจรู้ได้ว่าพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่นั่งราบอยู่กับพื้นพนมมือด้วยศรัทธาจะปวดร้าวใจเพียงใด เมื่อได้ยินช่างภาพและนักการเมืองท้องถิ่นพูดกับปู่แสะย่าแสะที่พวกเขาเคารพศรัทธา
"อย่าเพิ่งลุกๆ นั่งต่อแป๊บนึง กัดเนื้อควายค้างไว้ ขอมุมสวยๆ อีกภาพ..."

หรือคำที่ผู้ชมกล่าวถึงด้วยความ...
"ปีก่อนๆ กว่าจะขึ้นต้นไม้ได้ต้องดันกันแล้วดันกันอีก ปีนี้นักท่องเที่ยวเยอะ กล้องทีวีก็เยอะ นายกเทศบาลมาเองด้วย ร่างทรงกระโดดปลิวขึ้นต้นไม้ไปเลย... ปีนขึ้นไปสูงซะด้วย..."

แน่นอนว่าในแต่ละขั้นตอน ภาพนักการเมืองจะต้องไม่หลุดเฟรม นั่นคือการอยู่ให้ไกล้ร่างทรงที่สุด กระทั่งเกาะกุมลากจูงมือร่างทรง แบบที่ไม่เคยมีในอดีต ผู้เขียนบอกไม่ได้ว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่เท่าที่ผ่านมามนุษย์ใช้งานผีด้วยความเคารพ ลำพังนักการเมืองไม่เข้ามาอิงแอบบารมีผีใช้เป็นฐานคะแนน ผีทั้งหลายก็มีที่อยู่ที่ยืนน้อยลงทุกทีเพราะความเชื่อเก่าถูกท้าทายลงทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งมาถึงทุกวันนี้ ภาพผีที่ถูกชี้นิ้วสั่ง ฉุดลากไปมาตรงหน้า อย่างที่นักการเมืองท้องถิ่นต้องการ ศรัทธาของคนรุ่นใหม่ย่อมไม่เกิด ศรัทธาของคนรุ่นเก่าก็ยิ่งเหือดแห้งลงทุกขณะ

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการตอบสนอง นับแต่โบราณกาลมีตั้งแต่การสุมไฟให้เกิดควัน นกพิราบสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารมีหลายวิธีรวดเร็วทันใจมากขึ้น อาจเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ระบบโทรคมนาคม หรือการสื่อสารระบบเครือข่ายที่อาศัยดาวเทียมและสายเคเบิลใยแก้ว ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็ได้ ส่วนภาษาที่มาพร้อมกับวิธีการสื่อสารเหล่านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีการหยิบยืมคำในภาษาอื่น เปลี่ยนรูปแบบและความหมายตลอดเวลา…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการหาที่เก็บของเก่าก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดทำพิพิธภัณฑ์ว่าจะใช้เก็บของเก่าหรือใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตน การตัดสินใจเกี่ยวกับท้องถิ่นจึงควรมาจากท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน     หญ้าขัดมอญ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มเตี้ย ตระกูลเดียวกับชบา ขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูกและดูแลรักษา คนในสังคมเมืองคงไม่คุ้นชื่อคุ้นต้นไม้ชนิดนี้ หลายคนเห็นเป็นวัชพืชอย่างหนึ่งที่ต้องกำจัด นอกจากบางคนที่ช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวก็อาจจะพบว่า หญ้าขัดมอญ เป็นไม้พุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเล็กเรียวเขียวเข้ม ยิ่งเวลาออกดอก สีเหลืองอ่อนหวานพราวพรายรายเรียงอยู่ทั่วทุกช่อใบ ชวนมองไม่น้อย แถมมีประโยชน์ในครัวเรือนหลายอย่าง ทั้งด้านการใช้สอยและสรรพคุณทางสมุนไพร
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน ๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริงขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน แค่อ่านชื่อเรื่องหลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีว่านี่คือเนื้อเพลง “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับคนที่เป็นคอลูกทุ่งยิ่งต้องรู้ว่า เพลงนี้ขับร้องโดยราชินีเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อเพลงเป็นครูเพลงคู่บุญของเธอ ลพ บุรีรัตน์ 
ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในความเป็นชาติ รู้สึกทันทีว่าไพเราะกินใจ ซาบซึ้งไปกับบทเพลง ยิ่งฟังยิ่งเพราะ ขนาดที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยส่งเทปจัดรายการเพลงไปประกวดดีเจทางคลื่น “สไมล์เรดิโอ” ใช้เพลง “สยามเมืองยิ้ม” เป็นเพลงปิดรายการ ได้เข้ารอบแรกเสียด้วยแต่ตกรอบ ๒๐ คนสุดท้าย เพื่อนๆ ที่รอฟังและตามลุ้นพูดเหมือนกันว่า “สมควรแล้ว…
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน คนทั่วไปสับสนเกี่ยวกับลักษณะสายพันธุ์และชื่อเรียกของ "กระเจี๊ยบ" ว่าเป็นอย่างไรและเรียกว่าอะไรกันแน่ จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงที่มาและคุณค่ามากมายมหาศาลของกระเจี๊ยบบ้านมอญในชนบทหลายแห่งเคยมีต้นกระเจี๊ยบริมรั้ว ริมคลองหนองบึง สำรับกับข้าวเคยมีแกงกระเจี๊ยบไม่ขาด แต่ทุกวันนี้ "กระเจี๊ยบ" เริ่มเลือนหายไปจากชีวิต ชนิดที่ไม่มีใครอาลัยอาวรณ์นัก แม้แต่จะนึกถึงความหลังที่แกงกระเจี๊ยบเคยอยู่คู่ครัวมาแต่อ้อนแต่ออก
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า "ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."
องค์ บรรจุน
 องค์ บรรจุนธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น
องค์ บรรจุน
ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน เพราะการใช้ถุงผ้าตามกระแสโดยเข้าไม่ถึงหลักใหญ่ใจความ ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกยังคงเดิม คงไม่ต้องไปดูไหนไกลอื่น แค่เพียงเราสำรวจดูที่บ้านว่าเรามีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกี่ใบ แต่ละวันที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือเวลาที่ตั้งใจไปจ่ายตลาด มีใครสักกี่คนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วย และในบรรดาคนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วยนั้น จะมีใครบ้างไหมที่ปฏิเสธแม่ค้าว่าไม่เอาถุงพลาสติก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดสด "ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกชั่งน้ำหนักแล้วเทลงถุงผ้าเลย" อย่างน้อยการซื้อแกงถุงกลับบ้าน นอกจากถุงร้อนที่ใส่แกงแล้ว ยังมีถุงหูหิ้วสวมทับอีก ๑ ใบด้วยหรือไม่