Skip to main content

คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้


เดี๋ยวนี้วัดชนะสงครามมีชื่อเสียงเป็นสองแรงบวก จากกิตติศัพท์ความเคร่งของพระมอญ และคำว่า “ชนะ” การประกอบกิจกรรมกิจการงานใด หากทำบุญถวายสังฆทานสะเดาะเคราะห์ที่วัดนี้จะมีโชคมีชัย แคล้วคลาด ขนาดหมอดูชื่อดังยังสร้างแนวคิดให้มาไหว้พระ ๙ วัด เมื่อปี ๒๕๔๘ มีวัดชนะสงครามเป็นหนึ่งในนั้น (เพื่อจะได้มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง – แต่หากไปไหว้พระที่วัดชัยชนะสงคราม คลองถม ขากลับจะสามารถเลือกซื้อหนังก๊อปได้ด้วย) เรียกว่าความนิยมของวัดชนะสงครามได้มาเพราะชื่อขายได้แท้ๆ กระทั่งททท.รับลูกเอาไปเล่นต่อ สร้างจุดขายการท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพฯชั้นในแต่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นบางวัด ทุกวันนี้เสาร์อาทิตย์จะผู้คนมาไหว้พระกันแน่นวัด มาอยู่กันคนละประมาณ ๕ นาที รีบไปต่อเพราะกลัวจะไม่ครบ ๙ วัด แรกเริ่มทางททท.ก็พิมพ์ประวัติวัดเล่มบางๆ มาแจก ทางวัดก็มีหนังสือธรรมะเล่มเล็กให้ญาติโยมติดไม้ติดมือกลับบ้าน ระยะหลังหนังสือหมด ทางททท.คงไม่มีงบทำต่อเพราะต้องเจียดงบไปเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ขยายพื้นที่จัดแสดงของบึงฉวาก ปรับภูมิทัศน์หอคอยบรรหาร ปรับปรุงและพัฒนาถนนสายต่างๆ และเกาะกลางถนน รวมทั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างให้ชาวนาที่พิพิธภัณฑ์ชาวนาไทยได้ดำนาในตอนกลางคืนอวดนักท่องเที่ยว เมื่องบประมาณการท่องเที่ยวจังหวัดอื่นๆ จึงถูกตัด ทุกวันนี้คนที่มาไหว้พระที่วัดชนะสงครามจึงกลับบ้านมือเปล่า ธรรมะก็คงไม่มีเวลาฟังเพราะต้องรีบไปวัดอื่นต่อ หากนั่งอยู่ใกล้ธรรมาสน์อาจได้หยาดน้ำมนต์จางๆ กระเซ็นไปต้องผิวหนังบ้าง แต่ที่แน่ๆ มีตู้บริจาควางไว้ให้รอบทิศเกือบ ๒๐ ใบ บริจาคทรัพย์ได้ตามอัธยาศัย
 


แผนที่การเดินทางไหว้พระ ๙ วัด


ไม่นานมานี้ที่วัดชนะสงครามเกิดประเพณีใหม่ เนื่องมาจากการบนบานกับพระบรมรูปวังหน้า (สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ได้ผลมากน้อยเพียงใดไม่มีใครรู้ แต่เห็นมีของแก้บนล้นหลามก็แสดงว่ามีผู้สมใจนึกจำนวนมาก พระเณรพากันแปลกใจ ถามไถ่ได้ความว่า มีคนเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวังหน้าใครขออะไรก็ได้ดังใจ และต้องมาแก้บนด้วยมะนาว เจ้าอาวาสได้ยินเข้าถึงกับออกปาก
อาตมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้มา ๔๐ กว่าปีแล้ว เพิ่งเคยได้ยิน”


ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน พระวัดชนะสงครามก็ได้งานเพิ่มมาอีกอย่างคือ การปราบผี เมื่อเจ้าอาวาสและพระมอญหลายรูปได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในงานทำบุญสถาปนากองปราบปรามครบรอบ ๖๑ ปี หลังฉันภัตตาหารเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้นิมนต์เจ้าคุณ
(พระเมธีวราลงกรณ์) ไปพรมน้ำมนต์ที่ห้องขังเพื่อไล่ผีอดีตผู้ต้องขังที่หลอกหลอนผู้ต้องขังด้วยกัน เจ้าคุณรู้แต่ว่าวันนั้นเขานิมนต์ไปสวดมนต์ฉันเพลจึงตั้งตัวไม่ทัน พรมน้ำมนต์เสร็จกลับถึงวัดจึงบ่นขึ้น

ถ้าเรื่องสงบ ผีก็คงจะโกรธที่เราไปทำร้ายเขา แต่ถ้าผียังไม่ยอมหยุด คนก็จะหาว่าน้ำมนต์เราไม่ศักสิทธิ์ โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง”

 


พระเมธีวราลงกรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส คณะ ๗ วัดชนะสงคราม พรมน้ำมนต์ห้องขังกองปราบไล่ผี


แล้วก็เป็นจริงตามคาด รุ่งขึ้นเป็นข่าวอีกว่า น้ำมนต์ไม่ขลัง เพราะช่างภาพโทรทัศน์รายหนึ่ง (แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อและช่อง) เจอจะๆ กับตาแต่ไม่กล้าบอกใคร กลัวคนจะแตกตื่น (แต่ก็มาเปิดเผยภายหลัง) ...สื่อมวลชนยังเป็นอย่างนี้ แล้วสังคมที่เสพข่าวสารจะเป็นอย่างไร


ที่จริงแล้ววัดชนะสงครามเกี่ยวข้องกับคนมอญมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมเป็นวัดขนาดเล็กสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ท่ามกลางท้องนาจึงได้ชื่อว่า “วัดกลางนา” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อตั้งบ้านแปงเมืองในระยะแรกนั้นพม่าพยายามยกทัพมาปราบปรามเพื่อไม่ให้ตั้งตัวได้ บ้านเมืองต้องรับศึกสงครามหลายครั้ง มีทหารมอญจำนวนมากที่อพยพเข้ามาสมัยธนบุรี ได้เข้าร่วมในกองทัพของวังหน้า สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
(พระอนุชาในรัชกาลที่ ๑) ภายหลังมีชัยจากสงครามแล้ว ระหว่างทรงพักกองทัพหลังกลับจากสงครามก่อนเข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๑ ในวังหลวงย่านวัดกลางนา สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯทรงนึกถึงคุณงามความดีของทหารมอญที่ร่วมรบในสงครามจนได้รับชัยชนะ จึงรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดกลางนา ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ และให้ครอบครัวของนายทหารมอญเหล่านั้นปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่รายรอบวัด วัดและชุมชนรอบๆ วัดชนะสงครามจึงเป็นชุมชนมอญตั้งแต่นั้นมา


ปัจจุบันชุมชนและวัดมอญชนะสงครามเหลือเพียงประวัติศาสตร์เท่านั้น ลูกหลานของมอญสมัยนั้นกลืนกลายเป็นไทยไปหมดแล้ว ไม่หลงเหลือเอกลักษณ์วัดมอญเช่นในอดีตอีกต่อไป มีเพียงหน้าที่ตามกฏมณเฑียรบาลเท่านั้นคือ ให้พระมอญที่จำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามเข้าไปสวดพระปริตรมอญที่หอศาสตราคม พระบรมมหาราชวังทุกวันพระ เพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมพระบรมมหาราชวังและสำหรับพระมหากษัตริย์โสรจสรง ซึ่งพระมอญนั้นเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเหลือเพียง ๗ รูป เท่านั้น

 


นายธีระ ทรงลักษณ์ (พาดผ้า) ผู้อาราธนาศีลมอญงานเทศน์มหาชาติภาษามอญ ปี ๒๕๕๑


เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ๒ รูปก่อนหน้ารูปปัจจุบันไม่ได้มีเชื้อสายมอญ และปกครองวัดได้ไม่นานนักก็มรณภาพ ทำให้เกิดข่าวลือว่า หากเจ้าอาวาสไม่มีเชื้อสายมอญจะอยู่ไม่ได้ เมื่อเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (สมเด็จพระมหาธีราจารย์) มาเป็นเจ้าอาวาส และคงได้ยินข่าวลือนี้ ท่านจึงกล่าวว่าท่านก็มีเชื้อมอญ ทั้งยังบวชมาจากวัดตองปุ วัดมอญที่อยุธยาเสียด้วย (เดิมวัดชนะสงครามก็มีชื่อเรียกในหมู่ชาวมอญว่าวัดตองปุ) ซึ่งท่านได้เป็นเจ้าอาวาสมาจนถึงทุกวันนี้ และท่านก็มักคุยให้คนมอญที่ไปหาท่านฟังเสมอว่าท่านมีเชื้อมอญ และมีอ่างกะปิของยายที่หอบหิ้วมาจากเมืองมอญ แม้ไม่เคยมีใครได้เห็นก็ตาม แต่เมื่อมีคนจีนเข้าไปพูดคุยท่านก็จะพูดเรื่องจีนและกล่าวว่าท่านก็มีเชื้อสายจีนด้วย แม้เรื่องนี้จะฟังดูคล้ายวิธีการของนักการเมือง แต่สำหรับเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามคงอยู่นอกเหนือจากนั้นเพราะท่านไม่ได้ต้องการขยายฐานเสียง เพียงแต่ท่านรู้ว่าควรจะคุยกับใครด้วยเรื่องอะไรจึงจะเหมาะควร


สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าอาวาสท่านยังคงคิดถึงและให้เกียรติบรรพชนมอญผู้สร้างวัดคือ ว่ากันว่าแม้ทุกวันนี้วัดชนะสงครามจะเหลือพระมอญน้อยมากแล้วก็ตาม ท่านยังคงแบ่งวัดออกเป็น ๒ ฟาก กำหนดให้ฟากซ้ายมือเป็นที่จำพรรษาของพระมอญ (ปัจจุบันจะเหลือแต่เจ้าคณะเท่านั้นที่เป็นมอญ) ส่วนฟากขวามือเป็นพระอาคันตุกะ คือพระที่มาจากทุกสารทิศโดยไม่แบ่งแยก และอีกประการหนึ่งคือ ท่านได้กำหนดให้รื้อฟื้นการเทศน์มหาชาติภาษามอญขึ้นทุกปี โดยก่อนหน้าที่ท่านจะมาปกครองวัดนั้นเทศน์เฉพาะภาษาไทย เลิกเทศน์ภาษามอญไปนานแล้ว ครั้งแรกที่ท่านมีดำริให้เทศน์มหาชาติภาษามอญ มีผู้ท้วงว่าไม่มีพระมอญในวัดที่เทศน์มอญได้ไพเราะแล้ว รูปที่เคยเทศน์ก็เพิ่งมรณภาพไป ซ้ำคนที่ฟังออกก็มีน้อย แต่ท่านก็ยืนยันให้มีการเทศน์มหาชาติภาษามอญ ๑ กัณฑ์ ทุกปี ด้วยเหตุผลที่ว่า


เอาพระในวัดเรานี่แหละ เทศน์ธรรมดา แหล่หรือเอื้อนแบบเก่าไม่ได้ก็ช่างมัน ใครฟังไม่ออกก็ช่างเขา เทศน์ให้ผีบรรพบุรุษมอญฟัง เพราะวัดนี้เป็นวัดมอญ”

 


พระครูสุนทรวิลาศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส คณะ ๕ วัดชนะสงคราม
เทศน์มหาชาติกัณฑ์วนประเวศน์ภาษามอญเป็นประจำทุกปี


 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์