Skip to main content

 

 

bobdylan.jpg
 

 

จำได้ว่าเทปเพลงที่ผมได้ฟังเป็นม้วนสุดท้ายคือเทปรวมเพลงของ Bob Dylan ซึ่งผมไปอัดเอามาจากคนอื่นอีกที

 

ผมฟังมันจากเครื่องเล่นเทปพกพา (Walkman-ของปลอมเท่านั้น) แบบเปิดลำโพงได้ รถที่ผมใช้นั้นเครื่องเล่นเทปมันพังไปตั้งแต่ช่วงที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ช่วงหนึ่งผมจึกมักจะเอา Walkman ตัวนี้มาวางเปิดไว้ในรถแทน และเวลาเดินทางด้วยรถทัวร์หรือรถไฟก็มักจะติดเจ้าเครื่องเล่นนี้เสียบหูฟัง ฟังเทปที่ว่านี้ไปขณะเดินทางทุกครั้ง จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น เทป Cassette คู่การเดินทางของผมไม่ว่าจะในระยะใกล้หรือระยะไกลเลยก็ว่าได้

คุณภาพเสียงจากเครื่องเล่นของผมในตอนนั้น เรียกได้ว่าเอาไปเทียบกับการฟังจาก CD หรือแม้แต่การฟังจากไฟล์เสียงไม่ได้เลยทีเดียว (ในกรณีที่เทียบกับไฟล์เสียงที่คุณภาพ สัก 128 KB/s ขึ้นไป) แต่ผมไม่ได้เป็นคนที่จริงจังกับคุณภาพเสียงขนาดพวก Audiophile เสียงร้องของ Bob Dylan เองก็สาก ๆ เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว  ดนตรีเขาก็ไม่ซับซ้อนมากขนาดต้องหาความต่างจากคุณภาพเสียง

ที่สำคัญคือ ความรู้สึกตอนที่ได้ฟังเสียงคุณภาพต่ำ สลับกับเสียงเครื่องยนต์รอบข้างขณะขับรถกลับบ้านนั้น มันเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่อธิบายออกมาเป็นคำพูดยากได้มาก จนกระทั่งว่าถ้าคุณภาพเสียงมันดีกว่านี้ คงไม่ได้อารมณ์ในแบบเดียวกัน

เรื่องของการอัดเพลงลง Cassette นี้ชวนให้ผมนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า Mixtape

Mixtape คือการนำเอาบทเพลงจากศิลปินคนเดียวหรือต่างศิลปินก็ได้ มารวบรวมเป็นอัลบั้ม อัดลงเทปคาสเซทท์ โดยเรียงลำดับ Track ต่าง ๆ ตามใจตนเอง มีบางส่วนที่อาจจะมีลักษณะเอาดนตรีประเภทเดียวกันมาใส่ไว้ด้วยกัน บ้างก็เอาดนตรีเนื้อหาใกล้กันหรือสอดคล้องกันมารวมเป็นคอนเซปต์อัลบั้มในแบบของตัวเอง ใครที่มีความสามารถในด้านเครื่องมือเครื่องไม้ก็อาจจะดัดแปลงซาวน์เสริมเข้าไปในขั้นตอนต่าง ๆ ตามแต่เห็นเหมาะสม

กับเรื่องนี้คนที่จริงจังกับเรื่อง Mixtape บางคน จะถือว่าการเรียบเรียง Track ลงอัลบั้มเป็นเรื่องเชิงสุนทรียรสเลยทีเดียว ว่าแล้วก็นึกถึง ร็อบ ตัวเอกในนิยายและภาพยนตร์เรื่อง High Fidelity ที่มักจะชอบจัด 5 อันดับเพลงให้กับอะไรต่าง ๆ ในชีวิต

ถ้าพูดให้ใกล้ตัวเข้ามามากกว่านี้หน่อย สำหรับบางคนที่เกิดในยุคเทปอัดเฟื่องฟู คงต้องได้พบเจอ Mixtape ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการอัดเทปรวมเพลงรัก ส่งให้กันนั่นเอง (อันนี้จะกลายเป็นความทรงจำที่ดีหรือความทรงจำที่อยากจะลืมก็ไม่อาจทราบได้ :P)

นอกจากนี้ เทปอัดยังทำให้เกิดวัฒนธรรม Bootleg และ Tape Trading ตามมา เรื่องของ Tape Trading นั้นผมเกิดไม่ทัน และไม่มักคุ้นมันสักเท่าไหร่ แต่ได้ยินว่ามันมีคุณูปการต่อดนตรีใต้ดินมาก ๆ

(ไม่นับเทปพีค็อก ที่คงตรึงตราอยู่ในความทรงจำของหลาย ๆ คนอยู่แล้ว)

ขณะที่ Bootleg นั้นมันคือการบันทึกเสียงจากการแสดงสดอย่างไม่เป็นทางการ (ซึ่งต่างจาก Live album ซึ่งออกมาจากต้นสังกัดอย่างเป็นทางการ) รวมถึง "เพลงหายาก" (Rarity) ซึ่งหมายถึงพวก Demo งานที่ยังไม่สมบูรณ์ (แต่รั่วไหลออกมาก่อน) , งานที่ศิลปินไม่ได้วางแผนจะปล่อยออกมา

อะไรพวกนี้เป็นต้นซึ่งดูเหมือนว่าวัฒนธรรมการบันทึกเสียงนี้เสี่ยงต่อกฏหมายลิขสิทธิ์เอาการ แต่ในขณะเดียวกันบางศิลปินก็กลับอนุญาตให้ผู้เข้าชมอัดเสียงกันได้ตามสบาย เช่นวง The Grateful Dead , Nickel Creek , The Decemberists , John Mayer , Jack Johnson ฯลฯ

ขณะที่บางคนมองเป็นวิกฤต แต่ตันสังกัดหัวธุรกิจก็มองมันเป็นโอกาส แทนที่จะปล่อยให้ผู้ฟังทำแจกทำขายกันเอง ทางต้นสังกัดก็ทำการเลยออก Bootleg ของตัวเองอย่างเป็นทางการ (Official Bootleg) ให้กับศิลปินที่พอมีหน้ามีตามาขายเองเสียเลย

ตัวผมเติบโตผ่านยุคที่ CD เข้ามาแทนเทปคาสเสทท์ และในปัจจุบันนี้เอง Digital media กำลังปันพื้นที่กับ CD อย่างสนุกสนาน (ในความรู้สึกผมนะ คนอื่นอาจจะไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะส่วนตัวผมเสพย์ดนตรีทั้งทาง CD และไฟล์เพลง นอกจากนี้ก็คิดว่า CD จะยังไม่ตายง่าย ๆ) วัฒนธรรมการ Mixtape อาจจะกลายเป็นการ WriteCD ซึ่งทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการอัดเทปแบบเป็นเพลง ๆ ไป โปรแกรมเล่นเพลงในคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะโปรแกรมไหนก็มีระบบจัด Playlist ได้อิสระง่ายดาย อารมณ์ไหนก็เลือกเอาได้

cassettes.jpg

แต่ถ้าหากลองได้สำรวจความรู้สึกอันละเอียดอ่อนมนุษย์ดูแล้วล่ะก็ ความรู้สึกของการได้ WriteCD ให้ใครบางคน (อย่าเพิ่ง ! อย่าเพิ่งเอาเรื่องลิขสิทธิมาขัดอารมณ์โรแมนติกสิ เดี๋ยวค่อยไปเถียงกันทีหลัง) หรือการได้ส่งไฟล์เพลงให้ใครบางคน มันก็ต่างกับ ความรู้สึกตอนที่เราได้อัดเทปอยู่ลึก ๆ

ยังไงก็น่าลองหยุดทำความเข้าใจตัวเองกันสักนิดก็ดีว่า ความรู้สึกเก่า ๆ ตอนที่เรากดไอ่ปุ่มที่มีจุดแดง ๆ บนเครื่องอัดเทป แล้วนั่งดูรีลมันหมุนไปนั้น เป็นความรู้สึกที่ดีกว่าตอนที่เรานั่งฟังเสียงวี้ ๆ จากการเบิร์นซีดี จริงน่ะหรือ หรือมันเป็นแค่อุปาทานของเราเอง

เป็นธรรมดาที่เวลาเราเกิดความรู้สึกแบบหวนรำลึกหาอดีต (Nostalgia) แล้ว ภาพความเลวร้ายของ "อดีต" จะดูเลือน ๆ ไป สิ่งที่เด่นชัดกว่าคือด้านดี ๆ ของมัน ทำให้ยึดติดไปเองว่าอดีตมันดีกว่าปัจจุบัน ดีกว่าอนาคตการฝันถึงอดีตชั่วยามมันดีที่ช่วยปลุกปลอบหัวใจให้คลายความหมองหม่นไปบ้าง แต่สิ่งที่น่ากลัวคือการยึดมั่นถือมั่นจนอยากที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม แล้วปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง

ยังไม่รู้ว่าโลกจะหมุนไปไกลถึงแค่ไหนอีก เวลาเราก้าวไปข้างหน้า มันจะต้องมีอะไรหล่นหายไปรายทางเสมอ ความรู้สึกเก่า ๆ พวกนั้นเราอาจไม่ได้กลับคืนมา แต่มันก็ดีไม่ใช่หรือเวลาที่เราได้แค่คิดถึงมัน

ผมเคยยึดติดอดีตและอะไรเก่า ๆ อยู่เหมือนกัน แต่เวลาที่ผันผ่านไปจะทำให้เราเรียนรู้ว่า สิ่งที่มันหล่นหายไป สิ่งเราคิดถึงมันอาจจะเป็นแค่ภาพมายาฉุดเราไว้ สำหรับสิ่งที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าขอเพียงแค่เรามีส่วนร่วมกำหนดมัน เราอาจจะได้พบเจอสิ่งที่ดีกว่าก็ได้

บางคนอาจจะเกิดทันยุคของแผ่นเสียง Vinyl ที่มันเคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีอย่างแยกไม่ออก ก่อนที่จะห่างหายไปตามยุคสมัย แล้วในตอนนี้มันก็กลับมาอีกครั้ง ต่างกันตรงที่กลับมาด้วยความเป็น Rarity และเป็นสินค้าสำหรับนักสะสมทุกวันนี้

Cassette เองก็ยังคงมีใช้กัน เพียงแต่ไม่แพร่หลาย และวัฒนธรรมที่มากับมันคงถูกโอนถ่ายไปสู่ CD ไปสู่ Digital media โดยเปลี่ยนคุณลักษณะให้เข้ากับความสะดวกรวดเร็วของตัวมันเองแล้ว สักวันหนึ่งแม้แต่ CD เองก็อาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อย (Subculture) ที่มีกลุ่มคนอีกหยิบมือหนึ่ง รักษาและสะสมมันไว้ด้วยใจรักเช่นเดียวกับ Vinyl และ เทปคาสเสทท์ ก็ได้

มันคงไม่ได้ตายไปร้อยเปอร์เซนต์ มันเพียงแค่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น และน่าสนุกหากได้คิดว่า วัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่มากับการเผยแพร่ดนตรีรูปแบบใหม่ในยุคต่อไปจะมีลักษณะเป็นเช่นไร

แม้ผมจะไม่มีเครื่องเล่นคาสเสทท์นั้นแล้ว แต่เสียงร้องแหบ ๆ ของ Bob Dylan จากเทปอัดม้วนนั้นยังคงตรึงอยู่ในใจผมเสมอ มีเพลงโปรดผมเพลงนึงที่ผมมักเปิดฟังเวลาเสียกำลังใจ เนื้อหาของมันที่เปล่งมาจากลำโพง Lo-fi เสียงแตก ๆ นั้น ยังคงย้ำเตือนอยู่เสมอว่า "The Time They are A-Changin' "

.
.
.

"เวลานั้นหรือคือการเปลี่ยนแปลง"

 

"The line it is drawn
The curse it is cast
The slow one now
Will later be fast
As the present now
Will later be past
The order is
Rapidly fadin'.
And the first one now
Will later be last
For the times they are a-changin'"

- The Time They are A-changin' 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…