Skip to main content

"บวรศักดิ์" โต้ "บวรศักดิ์"

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

เมื่อผมได้อ่านคำอภิปรายของ 'บวรศักดิ์ อุวรรณโณ' ในโครงการสัมมนาทางวิชาการในวาระครบรอบ ๑๖ ปีศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง “การปฏิรูปการเมืองภายใต้หลักนิติธรรม” (ดู เดลินิวส์, ๒๔ เม.ย.๒๕๕๗ : http://goo.gl/NjBP92 ) แล้วผมพบว่า ณ วันนี้ ดร.บวรศักดิ์ เสมือนหนึ่งกำลังอภิปรายไม่ไว้วางใจข้อเขียนหรือตำราของตัวเขาเองอยู่ ผมจึงหยิบยกบทความเก่า ๆ ของบวรศักดิ์ ตำราที่บวรศักดิ์เขียนและใช้สอนนักศึกษา ตลอดจนบทสัมภาษณ์ในอดีต (ย้อนหลังไปเพียงไม่กี่ปี) มาเทียบเคียงกับคำอภิปรายล่าสุดของบวรศักดิ์นี้ ให้ท่านได้ชมกัน ดังนี้

๑. บวรศักดิ์ ณ วันนี้ กล่าวว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา ครม. และศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญปี ๔๐ และปี ๕๐ ได้บัญญัติไว้ แสดงให้เห็นว่าการยกสถานะศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพื่อพิทักษ์กฎหมาย ควบคุมกฎหมายเพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการป้องกันเผด็จการรัฐสภา เพื่อไม่ให้องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง…ฝ่ายบริหารต้องเคารพกฎหมาย ไม่หลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องเคารพคำวินิจฉัย เพราะถ้าฝ่ายบริหารไม่เคารพกฎหมาย หลักนิติธรรมจะล่มสลาย รัฐจะล้มเหลว ไม่อาจเป็นรัฐได้ ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้นกับสังคมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราคงไม่อยากเห็นคนไทยทุกคน ต้องตั้งกองกำลังของตนเอง ถ้ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ก็ไม่จำเป็นตั้งกองกำลัง ถ้ารัฐเป็นผู้พิทักษ์กฎหมายเสียเอง"”

บวรศักดิ์ ณ อดีต : บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (๒๕๔๒) โต้แย้งว่า "หากเกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองในทางกฎหมาย แต่ในเวลาเดียวกัน ในทางการเมือง องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีอำนาจและเอกสิทธิ์ที่จะพิจารณาการวินิจฉัยเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

หากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางขยายเขตอำนาจของตนจนทำลายเขตอำนาจของศาลอื่นหรือองค์กรอื่น องค์กรเหล่านั้นก็ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจมีการดุลคานกัน ศาลแต่ละศาลเป็นใหญ่ในเขตอำนาจของตนไม่ได้ขึ้นต่อกัน...

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้วนั้นจึงจะผูกพันศาลอื่น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยคดีซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ความผูกพันต่อศาลอื่นก็ไม่มี" (ดู บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. "เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๑ เล่มที่ ๑ (ม.ค.-เม.ย.๒๕๔๒), หน้า ๓๑-๓๒)

บวรศักดิ์ (๒๕๕๔) กล่าวต่อไปว่า "เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลายประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายอำนาจจนกระทั่งองค์กรอื่นในรัฐธรรมนูญไม่ยอม เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเฉพาะไม่มีเขตอำนาจทั่วไป เพราะฉะนั้น เรื่องการตีความรัฐธรรมนูญถ้าไม่ใช่ที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ก็อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งเท่าที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติให้ส่ง" (ดู บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, คำอธิบายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๔, หน้า ๒๓๐)

บวรศักดิ์ (๒๕๓๘) ยังกล่าวเสริมประเด็นนี้ไว้อีกว่า “การใช้และการตีความกฎหมายทางการเมืองระดับสูงที่สำคัญ เช่น รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่น องค์กรทางการเมืองระดับสูงกลับเป็นทั้งผู้ใช้ผู้ตีความกฎหมายและผู้ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายไปในเวลาเดียวกันเป็นส่วนใหญ่…ไม่มีองค์กรระดับสูงกว่ามาควบคุม แต่การควบคุมในแนวนอน (horizontal control) โดยความสัมพันธ์แห่งอำนาจระหว่างองค์กรทางการเมืองระดับสูงเหล่านั้นยังคงมีอยู่ เพราะการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ให้องค์กรระดับสูงเหล่านั้นมีอำนาจที่จะใช้ตอบโต้การกระทำกันและกันได้ เช่น …ในกรณีให้ศาลและตุลาการรัฐธรรมนูญควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญเอง ฝ่ายบริหารและรัฐสภาก็อาจเสนอและพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นตัดอำนาจ, กำหนดวิธีพิจารณาเรื่องเหล่านี้ได้ ฯลฯ นั้นเท่ากับกฎหมายได้กำหนดกลไกการควบคุมซึ่งกันและกันขององค์กรทางการเมืองในระดับเท่ากัน เข้าทำนองที่ว่า “คุมกันเอง”” (ดู บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๓ ที่มาและนิติวิธี, พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพฯ : นิติธรรม, ๒๕๓๘, หน้า ๑๙๐)

๒. บวรศักดิ์ ณ วันนี้ กล่าวว่า “ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาทุกครั้งโดยอัตโนมัติก่อนการลงประชามติของประชาชน ถึงแม้ในขณะนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ต้องมีผู้ยื่นเรื่องเข้ามาถึงจะตรวจสอบได้”

บวรศักดิ์ ณ อดีต : บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (๒๕๕๓) โต้แย้งว่า “ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นศาล ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง ในทางวิชาการเกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัยความเป็นศาลมีดังนี้ (๑)สิ่งที่จะเสนอไปยังศาลนั้น ต้องเป็นข้อโต้แย้ง ไม่ใช่การถามปัญหา ถ้าเป็นศาลต้องมีข้อพาทหรือมีข้อโต้แย้งก่อน (๒) แม้มีข้อพิพาทแล้ว ถ้าคู่ความไม่นำคดีมาสู่ศาล ศาลจะไปยกมาพิจารณาไม่ได้” (ดู บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, คำอธิบายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ ๑, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๓, หน้า ๑๘๒)

[พุฒิพงศ์ : หากกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ องค์กรตุลาการ มีบทบาทเชิงรับ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกระหว่าง “องค์กรตุลาการ” กับ “องค์กรฝ่ายปกครองหรือองค์กรทางการเมือง” นั่นเอง กล่าวคือ ศาลเป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมาย ศาลไม่อาจเป็นผู้เสนอคดี พิจารณาคดี และตัดสินคดีเองได้ จึงเกิดเป็นหลักว่า “ไม่มีคำฟ้อง ไม่มีผู้พิพากษา” ดังที่บวรศักดิ์ อธิบาย “เกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัยความเป็นศาล” ก็คือ ต้องมีข้อพิพาทนำเสนอสู่ศาล และถ้าไม่มีข้อพิพาทศาลจะริเริ่มบทบาทตนเองโดยอัตโนมัติดังที่บวรศักดิ์ เสนอเช่นนี้ องค์กรเช่นว่านั้น แม้จะเรียก “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็สูญเสียความเป็น “ศาล” ไปสิ้น และจะถูกสถาปนาให้กลายเป็นองค์กรที่อันตรายที่สุดในรัฐธรรมนูญเพราะผูกขาดอำนาจการตีความสูงสุดไว้ที่องค์กรเดียวนั่นเอง]

๓. บวรศักดิ์ ณ วันนี้ กล่าวว่า “ปี ๔๐ ยังมุ่งเน้นไม่ให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ครอบงำองค์กรต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน เพราะในสมัยนั้นเคยมีรัฐบาลแรกที่เป็นประวัติศาสตร์อยู่ครบ ๔ ปี เป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาได้  ทำให้หลักนิติธรรมถูกธรรมลาย และจบลงด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร วันที่ ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙”

บวรศักดิ์ ณ อดีต : เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๙ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี โต้แย้งว่า "เท่าที่ได้ทำงานร่วมกับรักษาการนายกรัฐมนตรีมา ได้เห็นความทุ่มเทของ รักษาการนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่งเปรียบเสมือนกับเทียนที่ต้องเผาตัวเองแล้วทำให้เกิดความสว่างในสังคม สุดท้ายเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ยกร้อยกรองขึ้นมาก่อนปิดการประชุมว่า

"พฤษก พกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา""
(ที่มา : สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี. "สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ๕ เมษายน ๒๕๔๙" : http://www.eppo.go.th/admin/cab/cab-2549-04-05.html )

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
เกร็ดความรู้ : เหตุใดคณะนิติราษฎร์เสนอให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ในรูป "รัฐธรรมนูญ" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พระยาพหลฯมิได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ในย่ำรุ่ง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ (เทียบเคียงบันทึกความทรงจำและบทความคุณปรามินทร์) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล (เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุค ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๕)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปกิณกะว่าด้วยการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ : ปัญหาจากการเดินตามศาลรัฐธรรมนูญงดโหวตวาระสาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 ธรรมชาติของการใช้อำนาจรัฐโดยกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕* พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ๑.มุมมองทางกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อความคิดเรื่องหลัก The King can do no wrong ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, รวบรวม หมายเหตุ : ท่านที่จะนำไปใช้กรุณาให้เครดิตการค้นคว้าฐานข้อมูลดิบของผมด้วย  ๑.ขุนหลวงพระไกรสี (เทียม)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ส.ส.จังหวัดพิบูลสงครามต้องพ้นจากสมาชิกภาพเพราะเหตุไทยคืนดินแดนส่วนนั้นแก่รัฐอื่นรึไม่ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
"พระราชหัตถเลขาแสดงพระปีติโสมนัสภายหลังการรัฐประหารสำเร็จ ถึงจอมพล ป.พิบูลสงคราม" (ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๐) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล [ค้นคว้าเอกสารและเรียบเรียง] "...นอกจากจะปรากฏไว้ใน ประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังเป็นตัวอย่างอันดี งามแก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไปอีก ด้วย...
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พัฒนาการผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน, ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ :ในระบบกฎหมายไทย [โดยสังเขป] พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ในบทความนี้จำแนกการเข้าสู่ตำแหน่ง "องค์ที่ทำหน้าที่ดำเนินพระราชภาระแทนพระองค์" ออกเป็น ๓ ประเภท ๑.สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ๒.สมัยเปลี่ยนระบอบการปกครอง ๓.สมัยนับแต่ปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ จะเผยข้อสังเกตในชั้นนี้เบื้องต้น เพื่อให้เห็นประเด็นในการอ่านของชั้นถัดไป
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์คำแนะนำของศาลปกครอง : ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องศาลปกครองเพื่อตรวจสอบ กสทช.? พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ตามข่าวที่ระบุว่า ศาลปกครอง ให้คำแนะนำผู้ฟ้องคดีไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมาฟ้องศาลปกครองได้นั้น๑ คำแนะนำดังกล่าวเป็นคำแนะนำที่ไม่ได้พิจารณาอำนาจการฟ้องคดีของผู้ตรวจการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ผมจะอธิบายโดยสังเขปดังนี้
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์หยุด แสงอุทัย เรื่อง "อำนาจที่เป็นกลาง" (Pouvoir neutre) ของกษัตริย์ในการยุบสภาฯ ได้ตามอำเภอใจ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 เกร็ดบางตอน - วิกฤติตุลาการ ๓๔ กับ การวิจารณ์กษัตริย์ในวงตุลาการ