Skip to main content

ในขณะที่ผู้คนที่มาดูต้นไม้ ต่างตื่นเต้นกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ใหญ่ที่สุดที่นี่คือต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปูที่สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา เป็นสนามกอล์ฟเก่า เขาเล่ากันว่าต้นไม้นี้มีอายุมากกว่าร้อยปี ส่วนสูง 15 เมตร ผ่านการประกวดต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับรางวัลของเทศบาลมาแล้ว

บางคนบอกว่า น้ำตาแทบไหลเมื่อเห็นต้นไม้ต้นนี้ บางคนยกมือไหว้                    

วันนี้มีนักวิชาการเดินทางมาด้วย เขาบอกว่า"อย่าตื่นเต้นยินดีกับไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว เพราะเป็นเพียงเศษเสี้ยวร่องรอยที่ฝรั่งทิ้งไว้"

บางคนยิ้มบางคนหัวเราะขำ
ฉันเป็นคนที่อื่นที่เดินทางมาอยู่ที่นี่ แต่เคยได้ยินใครต่อใครพูดหลายครั้งว่า ไม้ที่เมืองเหนือหมดไปเพราะฝรั่ง บริษัทฝรั่งเข้ามาทำไม้
ได้ยินได้ฟังมาอย่างนั้นจริง ๆ แต่ก็มีบางคนบอกว่า ไม่ได้หมดไปเพราะฝรั่งเพราะถ้าเจ้าของบ้านรักบ้านรักเมืองจริง ๆ ใครก็มาทำลายไม่ได้

เช้านี้ฉันได้ยินการพูดคุยทำนองนี้อีกครั้ง เพราะได้รับการเชิญชวนจากพวกน้อง ๆ ที่จัดงานทัวร์ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ การเดินทางครั้งนี้มากับทีมจักรยาน

ฉันบอกเพื่อนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ว่า  "คิดดูก็น่าตลก ใครจะคิดว่ายุคหนึ่งลูกหลานของคนในประเทศที่มีป่าไม้หนาแน่นที่สุดจะต้องเที่ยวตามดูต้นไม้ใหญ่  และเทศบาลนครเชียงใหม่จัดประกวดต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงการมีต้นไม้ใหญ่ การมีพื้นที่สีเขียวเพื่อเมืองเชียงใหม่  แล้วต่อไปรุ่นหลังจากเราอาจจะต้องตามดูสายน้ำ ไปดูว่ามีสายน้ำที่ไหนบ้าง เพราะสายน้ำที่สวย ๆ และสะอาดหายไปแล้ว น่าตลกไหม"

เพื่อนที่มาจากเมืองหลวงเพื่อทำข่าวเรื่องนี้บอกว่า
"ใช่ ไม่น่าเชื่อว่า เราจะมาตามดูต้นไม้เพราะต้นไม้กลายเป็นของหายาก แต่ไม่ตลกหรอก น่าเศร้ามากกว่า แต่ก็น่ายินดีอยู่บ้างที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งตระหนักถึงเรื่องนี้ แม้ว่าจะดูสวนทางกับนโยบายการพัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยว

มีผู้ถามว่าทำอย่างไรกับกิ่งไม้ที่จะหักลงมา ผู้ชายคนหนึ่งตอบว่า "ต้องคอยดูแลตัดแต่งกิ่ง อย่างกิ่งไม้ใหญ่เราต้องตัดกิ่งข้างในออกไปบ้าง เพราะกิ่งข้างในไมได้รับแสงมันจะผุ" (แต่คนตอบไม่ได้มีหน้าที่นั่นเขาเพียงแต่เสนอแนวคิดเท่านั้น)

ดูต้นไม้ใหญ่แล้ว เราเดินทางตามเส้นทางถนนสายต้นยางไปลำพูนกับจักรยานโดยชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม่

ฝนตกปรอย ๆ ไปตลอดทางแวะดูต้นยางไปเรื่อย ๆ สังเกตเห็นว่า ต้นยางในช่วงเมืองเชียงใหม่ ไม่ค่อยจะมีใบ มีแต่ต้นสูงชะลูด

เหตุที่ต้นยางไม่สมบูรณ์เพราะว่า ต้นยางไม่เป็นที่ต้องการของหลาย ๆ คน จึงมีความพยายามที่จะทำต้นยางให้ตาย และต้นยางก็ตายไปหลายต้นแล้วด้วย วิธีทำให้ต้นยางตายก็คือ การเอาปูนไปถมบริเวณโคนไม่ไห้น้ำซึมเข้าไป และการตัดใบให้เกรียน แล้วมันก็จะค่อย ๆ ตายไปเอง

ท่านหนึ่งกล่าวว่า "เพราะเราไปรังแกต้นยาง เราไปทำร้ายต้นไม้ เมื่อต้นอ่อนแอกิ่งก็หักร่วงลงมา"

มีผู้เสนอวิธีการดูแลต้นยางอยู่หลายอย่าง เช่นการทำตะแกรงด้านบนเพื่อให้ไม้ที่หักลงมาติดอยู่ในตะแกรง และมีการจัดงบพิเศษสำหรับดูแลต้นยาง มีการปลูกเพิ่มเมื่อต้นยางตายไป ซึ่งก็มีการปลูกเพิ่มอยู่บ้างเหมือนกันในบางแห่ง เช่นปลูกต้นสักและต้นยางเพิ่ม

ต้องยอมรับว่าพื้นที่ในเมืองทุกแห่ง กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำมาค้าขายแม้แต่ทางเท้า พื้นที่สำหรับต้นไม้นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แม้ว่าในทุกครั้งเราจะวิ่งเข้าไปหาต้นไม้เพื่อหลบร้อนหลบแดดก็ตาม

มีชาวบ้านที่อยู่ใกล้ต้นยางใหญ่บนถนนพูดคุยกับเราว่า ปัญหาคือไม่มีผู้มาดูแลจริง บางต้นที่กำลังจะตายหรือที่กำลังจะล้มก็ต้องจัดการไปอย่างถูกวิธี  ถ้าคนอยู่ใกล้ ๆ ไม่เดือดร้อนใครก็คงไม่รังเกียจต้นยาง คนที่ได้อยู่ใกล้ ๆ ไมได้สัญจรไปมาทุกวันนาน ๆ มาทีก็จะเห็นว่าสวย แต่คนที่อยู่ทุกวันก็จะเห็นต่างออกไป มันมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้วย

นี้เป็นเรื่องของต้นยางบนถนนสายสารภีลำพูน ถนนสายประวัติศาสตร์ที่มีต้นไม้ใหญ่ อย่างไรก็ตามในการทัวร์ไม้ใหญ่ครั้งนี้ พบว่าในเมืองเชียงใหม่ยังมีต้นไม้ใหญ่อยู่จำนวนมากที่รอการดูแลอยู่

ฉันได้ยินนักอนุรักษ์ท่านหนึ่งเสนอว่า น่าจะมีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ เพราะต้นไม้ถูกตัดไปหนึ่งต้นนั้นไม่ได้ส่งผลต่อผู้ตัดหรือเจ้าของพื้นที่ที่ต้นไม้อยู่เท่านั้นแต่ส่งผลถึงคนอื่น ๆ โดยทั่วไปด้วย เพราะเราใช้ประโยชน์จากต้นไม้ร่วมกัน เช่นได้อากาศหายใจไปด้วยกัน  เพราะเราใช้ต้นไม้ช่วยต้านหมอกควันช่วยให้เราตายช้าลงด้วยกัน

บทความนี้ เขียนจากการไปร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานทัวร์ไม้ใหญ่ เป็นงานหนึ่งในงาน โฮะโซะ หรือโครงการศิลปวัฒนธรรมในความร่วมมือเพื่อเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5-7 มิถุนายน  2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่หลายอย่าง สนับสนุนการจัดกิจกรรมโดย เทศบาลนครเชียงใหม่ สสส. และบริติช เคานซิล  (โฮะโซะ เป็นภาษาเหนือหมายความว่าเอามารวมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน)

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
  แล้วฉันก็คิดว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิน ฉันเดินทางไปหาเพื่อนที่กรุงเทพฯ  และบอกเธอว่า ฉันอยากจะไปเยี่ยมนักเขียนผู้ใหญ่รุ่นพี่คนหนึ่ง  เพื่อนบอกว่า ไม่ได้ไปนานแล้ว ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยมีใครไปหาใครกัน  เมื่อถามว่าทำไม
แพร จารุ
ป่าสนวัดจันทร์   หลังจากที่เขียนเรื่องป่าสนวัดจันทร์ถูกโฆษณาว่าเป็นผืนป่าสนแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีชนเผ่าใช้วิถีชีวิตแบบเดิม ๆ
แพร จารุ
เมื่อเขียนเรื่อง “ป่าสนวัดจันทร์ถูกโฆษณาว่าเป็นที่สุด”  ฉันก็ได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง เขียนถึงเรื่องอำเภอใหม่ส่งเข้ามา วันนี้จึงนำจดหมายฉบับนี้มาให้อ่านกันค่ะ  เธอเขียนมาว่า ลองเขียนเรื่องอำเภอใหม่มาให้อ่าน
แพร จารุ
ป่าสนผืนเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มองขึ้นบนต้นสนเหมือนหนึ่งว่ามีนกเกาะอยู่บนนั้นเต็มไปหมด จนใครบางคนเผลอถามว่า นั่นนกอะไรเกาะอยู่เต็มไปหมด หลายคนหัวเราะ ไม่ใช่นกหรอกมันคือลูกสน ที่นี่มีชื่อว่า ป่าสนวัดจันทร์ เป็นครั้งที่สองที่ฉันเดินทางมาที่นี้ห่างจากครั้งแรกเกือบยี่สิบปี ฉันไม่กล้าเดินทางไปที่นั่นเพราะรู้สึกว่ามันลำบากยากเย็นเหลือเกิน เป็นการเดินทางที่โหด ๆ ในช่วงวัยเยาว์ เพราะต้องนั่งรถไฟชั้นสามมาจากกรุงเทพฯ นานกว่าสิบสองชั่วโมง ก็รู้กันอยู่ว่ารถไฟไทยเสียเวลาเสมอ ๆ ลงจากรถไฟมีนักเขียนจากเมืองเหนือรอรับอยู่
แพร จารุ
มุสโต๊ะ (มุส-สะ-โต๊ะ) อาหารมื้อไหน ๆ ก็ต้องมีมุสโต๊ะ มุสโต๊ะก็คือน้ำพริกนั่นเอง ฉันรู้จักมุสโต๊ะครั้งแรกเมื่อเที่ยวบ้านปกาเกอญอ และนับจากวันนั้นก็ชอบมุสโต๊ะแบบปกาเกอญอทันที่
แพร จารุ
คุณทำอะไรเมื่อเช้านี้  ส่วนฉันตื่นขึ้นมาพร้อมกับหยิบหนังสือเล่มเล็ก ๆ จากโต๊ะกินข้าวติดมือไปนอนอ่านในเปลใต้ต้นมะขามเล็ก  หนังสือชื่อ ไม่รักไม่บอก 5 เป็นของกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่  ฉันเป็นอาสาสมัครในกลุ่มนี้กับเขาด้วย แต่ฉันไม่ได้ทำหนังสือเล่มนี้ ดังนั้นฉันจึงเพิ่งได้อ่านจริง ๆ ครูโรงเรียนอนุบาลเพิ่งให้มาสิบเอ็ดเล่ม วันนั้นมีน้อง ๆ หนุ่ม ๆ จากไหนก็ไม่รู้มาช่วยกันขนหนังสือหลายกล่องที่นำมาขายในงานอำลา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์  ฉันไม่มีของอะไรตอบแทนน้องจึงแจกพวกเขาไปคนละเล่มเหลือเก็บไว้เล่มหนึ่ง ภาพปกเป็นแม่มดหน้าตาน่ารักถือไม้เท้าวิเศษ มีข้อเขียนว่า จงสุภาพกับโลกใบนี้ (คำจากสาร…
แพร จารุ
  เล่าเรื่องงาน อำลา ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เปิดงานไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม ยามแดดร่มลมตก หน้าที่ของฉันในงานนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลงานขายหนังสือ ฉันรับปากไปว่า “ได้ค่ะ” ทั้งที่ไม่มีความชำนาญเรื่องการขาย หรือเรียกว่าไม่มีทักษะสักนิดเดียว และมักจะคิดตัวเลขผิด วิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่บวกลบคูณหารไม่เก่งเลย ยิ่งวิชาเลขคณิตคิดในใจนี้ไม่ได้เลย แต่ เพราะว่าในช่วงที่เขาประชุมเรื่องการดำเนินการจัดงานฉันไมได้เข้าร่วมประชุม…
แพร จารุ
ฤดูร้อนในเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างน่าสยองค่ะ เพราะนอกจากความแห้งแล้งที่เริ่มขึ้นในปลายฤดูหนาวนี้แล้ว เมื่อฤดูร้อนมาถึงเราก็จะพบกับกลุ่มหมอกควันที่มีทั่วเมือง สำหรับประชาชนในชนชั้นเรา ๆ นั้น เตรียมอะไรได้บ้างคะ
แพร จารุ
สวัสดีนักท่องเที่ยว ระหว่างทางนักท่องเที่ยวเจออะไรมาบ้าง ฉันมาอยู่เชียงใหม่สิบกว่าปี แต่บ่อยครั้งที่รู้สึกว่า ตัวเองเหมือนนักท่องเที่ยว
แพร จารุ
  หญิงสาวมักจะกลัวอ้วนเพราะอยากสวย เราถูกทำให้เชื่อกันว่าคนอ้วนจะไม่สวย เป็นสาวเป็นนางต้องผอมเข้าไว้ ใครไม่ผอมเหมือนนางแบบ หรือนักแสดงหน้าจอโทรทัศน์ก็จะไมได้มาตรฐาน ซึ่งความจริงแล้วบางคนผอมจนเกินไป เรียกว่าแห้งแรงน้อยไม่แข็งแรง ขาแขนมีแต่กระดูก คอโปน ไหปลาร้าลึกขนาดน้ำขังยามเมื่ออาบน้ำ
แพร จารุ
ชวนมากินกันต่อค่ะ เพื่อนนักเขียนรุ่นน้องที่เชียงดาว เล่าว่าเธอปลูกข้าวไร่ที่บ้านของเธอ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ฉันคิดว่าแค่เธอเริ่มต้นปลูกข้าวความมั่นคงทางอาหารก็เริ่มมีแล้ว ต่อมาน้องนักเขียนที่เพิ่งรู้จักยังไม่ได้เห็นหน้ากันเลย เขียนมาบอกว่า เธอปลูกข้าวได้เจ็ดกระสอบ ฉันชื่นชมยินดีกับเธออย่างจริงจังและจริงใจยิ่ง เพราะฉันมีความฝันที่จะปลูกข้าวปลูกผักไว้กินเอง แต่ไม่ได้ทำ และคิดว่าคงไม่ได้ทำ เพราะอายุปูนนี้แล้ว กล้ามเนื้อเป็นไขมัน เรี่ยวแรงหมดไปแล้ว ที่ทำได้ก็คือปลูกกล้วย ซึ่งก็เหมาะสมอยู่เพราะกล้วยเป็นอาหารนิ่ม ๆ กินง่าย…
แพร จารุ
ชวนมากินกันต่อดีกว่า   คราวนี้กินถั่วงอกผัดเห็ดสามอย่างค่ะ ดูเป็นอาหารธรรมดา ๆ นะคะ แต่พิเศษก็ตรงที่ เป็นอาหารที่ประกอบด้วยเห็ดสามอย่างนะคะ ความจริงแล้วอาหารเห็ดสามอย่างที่กินเป็นยานี้ เขาว่าหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันเป็นดีค่ะ แต่ไม่เป็นไรใช้น้อย ๆ เราเน้นความอร่อยด้วยค่ะ