Skip to main content

1. คำนำ


ก่อนจะเริ่มต้นเนื้อหา เรามาดูรูปการ์ตูนสนุก ๆ แต่บาดใจและอาจจะบาดตากันก่อนครับ



ความหมายในภาพนี้ ไม่มีอะไรมาก นอกจากบอกว่านี่ไงหลักฐานที่พิสูจน์ว่าโลกเราร้อนขึ้นจริง



สำหรับภาพนี้บอกว่า ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น นักวิชาการ (และนักการเมือง) กำลังระดมกันแก้ปัญหาอย่างขยันขันแข็ง ขอขอบคุณเจ้าของภาพทั้งสองด้วย


คราวนี้มาเข้าเรื่องกันครับ


ขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ 4 ด้านพร้อม ๆ กัน คือ (1) วิกฤติภาวะโลกร้อน (2) วิกฤติพลังงานที่ทั้งขาดแคลน ราคาแพง ผูกขาดและก่อวิกฤติด้านอื่น ๆ (3) วิกฤติการเงินที่เพิ่งจะเกิดขึ้นหยก ๆ และกำลังลามไปทั่วโลก และ (4) วิกฤติความอ่อนแอของชุมชนในชนบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก


ถ้าเปรียบวิกฤติแต่ละด้านเป็นรถยนต์ ขณะนี้รถยนต์เหล่านี้กำลังแล่นตรงมาถึงสี่แยกเดียวกันและในเวลาเดียวกัน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเราคงนึกภาพเองได้ ผมเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้กำลังท้าทายภูมิปัญญาของมนุษยชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน


สำหรับสาเหตุของวิกฤติทั้งสี่นี้มาจากการใช้พลังงานของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องขอกล่าวถึงประเภทของพลังงานเป็นความรู้พื้นฐานกันก่อน


2. พลังงานหมุนเวียนกับพลังงานฟอสซิล


การตั้งชื่อประเภทของพลังงานสำหรับประเทศไทยเรายังเป็นปัญหามาก เพราะทางราชการเองได้สร้างความสับสนให้กับผู้รับสื่ออยู่ไม่น้อย เช่น กล่าวว่า “ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาด” หรือ “ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานทดแทนน้ำมัน” “ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน” เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่างก็เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันซึ่งไม่สะอาดทั้งคู่ ขณะเดียวกันคำว่า “พลังงานทดแทน” ก็มีความหมายคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่แท้จริงที่สากลเขาใช้กันอยู่อยู่ระดับหนึ่ง


วงการวิชาการได้จำแนกพลังงานออกเป็น 2 ประเภทคือ พลังงานฟอสซิล (Fossil energy) ซึ่งได้แก่พลังงาน 3 ชนิดคือ น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน พลังงานประเภทนี้ต้องใช้เวลาเป็นล้าน ๆ ปีกว่าจะสร้างขึ้นมาได้ เมื่อใช้หมดแล้วก็หมดเลย จะสร้างใหม่ขึ้นมาก็ไม่ได้


พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy- ทางราชการแปลว่าเป็นพลังงานทดแทน) ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็เกิดขึ้นใหม่ได้เองตามธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียนแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิดสำคัญ คือ (1) พลังงานลม (2) แสงอาทิตย์ (3) ชีวมวล (ซึ่งมาจากต้นไม้ ของเสียจากครัวเรือนหรือโรงงาน ปศุสัตว์-ขี้หมู ขี้วัว เป็นต้น) (3) พลังงานความร้อนใต้พิภพ และ (5) พลังงานน้ำ (จากเขื่อน) ขนาดเล็ก


ความแตกต่างที่สำคัญของพลังงานทั้งสองประเภทนี้สามารถกล่าวได้โดยย่อ ๆ ได้ดังนี้ คือ

พลังงานฟอสซิลเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ใช้ทุนจำนวนมาก จึงกลายเป็นธุรกิจที่รวมศูนย์และผูกขาดโดยพ่อค้านายทุนระดับโลกจำนวนน้อยราย ในทางตรงกันข้ามพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป การผูกขาดจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก อย่างน้อยก็ยากกว่าพลังงานฟอสซิล


ในด้านผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าก๊าซเรือนกระจกที่มีผลทำให้โลกร้อนนั้นร้อยละ 72% มาจากก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ซึ่งก็มาจากการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิลที่มนุษย์เป็นผู้ลงมือกระทำขึ้นมานั่นเอง กระบวนการของธรรมชาติมีทั้งการสร้างและการดูดซับกลับไปใช้ใหม่จนเกือบจะสมดุล แต่มนุษย์เป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างก๊าซชนิดนี้ขึ้นมาอย่างเดียวโดยไม่มีการดูดกลับไปใช้ใหม่เลย


กล่าวเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานที่อ้างถึงแล้วในรูปนี้ระบุว่า เฉพาะการเผาไหม้ปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในปี 2549 ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 82% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ



การใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนรอบ ๆ โรงไฟฟ้า อีกด้วย เช่น กรณีเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจกว่า 300 ชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า กรณีบ่อนอก บ้านกรูด หรือ กรณีท่อส่งและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นต้น





สองภาพบน เป็นการประท้วงให้หยุดใช้ถ่านหิน ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อปี 2549 ชายในภาพขวามือเป็นผู้ป่วยจากมลพิษ(เสียชีวิต กรกฎาคม 2551) (้ผูกขาดได้) าวเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม (ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน) ภาพล่างเป็นข่าว “สถาบันพระปกเกล้าเปิดโปงความตายจากถ่านหิน” จากเว็บไซต์ http://www.newspnn.com


3. วิกฤติโลกในปัจจุบัน


Dr. Anil Kane
ประธานสมาคมพลังงานลมโลกได้กล่าวในเอกสารประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของสมาคมฯ (http://www.wwindea.org) เมื่อปลายเดือนตุลาคมนี้ (2551) ว่า พลังงานหมุนเวียนคือกุญแจสำคัญที่จะไขออกจาก 3 วิกฤติของโลกในปัจจุบัน วิกฤติทั้งสามอย่างนี้คือ


1.
วิกฤติพลังงาน ตามที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อที่ 2 ว่า พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่ถูกผูกขาดโดยพ่อค้าระดับโลกเพียงไม่กี่ราย แต่พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ชุมชนทั่วไปทุกหมู่บ้าน


2.
วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกซึ่งได้กล่าวถึงแล้วเช่นกัน วิกฤตินี้รุนแรงแค่ไหน มีผู้ศึกษาพบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามและการจราจรรวมกันถึงสี่เท่าตัว ทำเอาบริษัทประกันภัยแย่ไปตาม ๆ กัน


3.
วิกฤติการเงิน ขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบภัยชนิดนี้กันทั่วโลก คล้าย ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2540 ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้เริ่มต้น แต่คราวนี้เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทยมหาศาล

เนื่องจากการลงทุนด้านพลังงานเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งจำนวนเงินและระยะเวลาในการก่อสร้างที่นาน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าหลายปี ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าธรรมดาก็ประมาณ 7- 8 ปี ถ้าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็นานถึง 12 ปี เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้จึงเกิดความเสี่ยงต่อการลงทุน เพราะไม่มีความแน่นอนในเรื่องความต้องการใช้พลังงานในอนาคต


ประเทศไทยเองเคยมีบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้วคือ เมื่อปี 2545 ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมา ยอมรับว่า “ขณะนี้เราสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป คิดเป็นมูลค่าเฉพาะที่เกินความจำเป็นสูงถึง 4 แสนล้านบาท”

ในวันนี้เราก็ยังมีโรงไฟฟ้าสำรองถึง 30% ซึ่งสูงกว่าค่าที่ควรจะเป็นถึงสองเท่า (สากลยอมรับว่าควรมีโรงไฟฟ้าสำรองไม่เกิน 15%)


ในทางตรงกันข้าม โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นการลงทุนขนาดเล็ก ทันทีที่ตัดสินใจแล้วจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีก็สามารถใช้การได้แล้ว ทำให้การลงทุนสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง ไม่เสี่ยงกับการลงทุนเกินตัว


4.
วิกฤติความอ่อนแอของชุมชนในชนบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก


ประเด็นนี้เป็นความเห็นของผมเอง ไม่เกี่ยวกับประธานสมาคมโลก ผมมีข้อเท็จจริงพร้อมกับความเห็นดังนี้คือ

ชนบทไทยมีปัญหาการว่างงานทั่วทุกภาคของประเทศ สินค้าการเกษตรมีปัญหา ไม่แห้งแล้ง น้ำท่วม ก็เพราะราคาตกต่ำ แต่ถ้าชาวชนบทสามารถผลิตไฟฟ้าขายให้กับคนในเมืองได้จะเกิดอะไรขึ้น ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ไม่มีทางล้นตลาดเพราะผลิตตามความจำเป็นเท่านั้น ไม่มีเหลือ ไม่ต้องกลัวภัยแล้งหรือน้ำท่วม


แต่ทำไมนักการเมืองจึงไม่สนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตไฟฟ้าเพื่อขายบ้าง คำตอบส่วนหนึ่งก็เพราะนักการเมืองมักจะคิดถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการพลังงานฟอสซิลจะเป็นหนึ่งในนั้นซึ่งเอื้อต่อการคอร์รัปชันได้ง่าย พวกพ่อค้าพลังงานเองก็ชอบที่จะเข้าหานักการเมือง ตรงกันข้ามโครงการพลังงานหมุนเวียนเป็นโครงการขนาดเล็กที่ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากนัก ขณะเดียวกันชาวบ้านตลอดจนองค์กรปกครองท้องถิ่นก็สามารถเข้ามาลงทุนได้ง่าย เป็นการกระจายรายได้และสร้างงานในชุมชน


ถ้าชาวบ้านสามารถขายไฟฟ้าได้เอง แต่ละคนในบางหมู่บ้านที่มีลมแรงพอจะมีรายได้เดือนละประมาณ 3 พันบาท สามารถลดปัญหาความยากจนและปัญหาการว่างงานลงได้เยอะเลยครับ


5. ความคืบหน้าของการใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับโลก


เพื่อไม่ให้เนื้อหาซ้ำซ้อนกับบทความอื่นๆ ในที่นี้ผมขอกล่าวถึงเฉพาะกังหันลมผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

ขณะนี้ทั่วโลกมีการใช้กังหันลมในเชิงพาณิชย์กันแล้วถึง 74 ประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มนี้

เลขาธิการของสมาคมพลังงานลมโลก (Stefan Gsänger) กล่าวว่า “ตลอดสิบปีมานี้อุตสาหกรรมกังหันลมเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 30% ปัจจุบันมีการติดตั้งแล้วถึง 1.1 แสนเมกะวัตต์ มีการจ้างงานถึงกว่า 4 แสนคน กำลังเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันเสียอีก ร้อยละ 75 ของกังหันลมในปัจจุบันอยู่ใน 6 ประเทศเท่านั้นคือ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สเปน อินเดีย จีน และเดนมาร์ก”


ในต้นปีหน้า (26 มกราคม 2552) จะมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีชื่อย่อว่า “ไอรีนา (IRENA- International Renewable Energy Agency” (http://www.irena.org) ที่ประเทศเยอรมนี วัตถุประสงค์ขององค์กรนี้ก็เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศชั้นนำทั้ง 6 นี้ไปยังประเทศอื่นๆ


เราไม่อาจเลื่อนเวลาของการเริ่มต้นการพึ่งพลังงานหมุนเวียนออกไปได้อีกแล้ว” เลขาธิการคนเดิมกล่าวปิดท้าย

ข่าวว่า ในการนี้มีประเทศไทยเข้าร่วมด้วยในจำนวนสมาชิก 51 ประเทศ นับว่าเป็นข่าวดีที่นาน ๆ จะได้ยินสักครั้งในวงการพลังงานของไทย


6. สรุป


ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า วิกฤติทั้งสี่ของโลกมีต้นเหตุมาจากการใช้พลังงานฟอสซิล คำถามที่เราทั้งหลายสงสัยว่า เมื่อไหร่โลกจะหยุดใช้พลังงานฟอสซิลแล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน อดีตรัฐมนตรีน้ำมันของประเทศซาอุดิระเบีย Sheikh Zaki Yamani กล่าวว่า “ยุคหินได้สิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะหินหมด ดังนั้นยุคน้ำมันควรจะสิ้นสุดลงก่อนที่น้ำมันจะหมดไปจากโลก”


ในด้านพลังงานลม มีผู้สรุปไว้อย่างกระชับเกี่ยวกับอุปสรรคของกังหันลมว่า “ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนการผลิต ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือแรงลม แต่ขึ้นกับแนวนโยบายของรัฐบาล”


แนวนโยบายของรัฐบาล ที่ประชาธิปไตยใหม่ต้องร่วมกันกำหนด


บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เคยมีคนไปถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ว่า “ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างมากที่สุด” ผู้ถามคงจะคาดหวังว่าไอน์สไตน์น่าจะตอบว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่ไอน์สไตน์กลับตอบว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ “รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว
ประสาท มีแต้ม
  1. คำนำ       ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม ในตอนที่ 1 ผมได้นำข้อมูลที่มาจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นของประเทศไทย ทั้งระดับ ป.6 , ม.3 และมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา โดยวิชาที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ได้เพียงร้อยละ 29.6 เท่านั้น ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่ได้ตั้งไว้ในชื่อบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเราตกต่ำ นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอความคิดเห็นและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย
ประสาท มีแต้ม
๑. คำนำ ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง
ประสาท มีแต้ม
๑. ปัญหาในภาพเล็ก ที่ภาควิชาที่ผมทำงานอยู่คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังคิดทำโครงการที่จะพัฒนานักศึกษานอกเหนือจากรายวิชาและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามปกติแล้ว โครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดีนัก แต่ชื่อโครงการก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันคือ “โครงการรักเจ้าจึงปลูก” ที่มาจากเนื้อเพลง “อิ่มอุ่น” ของ ศุ บุญเลี้ยง
ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
ประสาท มีแต้ม
ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก
ประสาท มีแต้ม
ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52 คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น