Skip to main content

. คำนำ


ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง


แต่ในที่สุดก็มาลงตัว (คิดเอาเองครับ) หลังจากที่ผมได้ไปบรรยายในวงสัมมนาเรื่อง ร่วมกำหนดอนาคตคนสงขลา “บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน” ในประเด็น นโยบายพลังงาน กับ ทางเลือกการพัฒนาของคนสงขลา


ความจริงแล้วไม่เพียงแต่คนสงขลาเท่านั้นที่กำลังโดน “แผนพัฒนา”กระหน่ำ ขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ฯ การนิคมอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ กำลังจะเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็นอุตสาหกรรม


ในการนี้จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (2 โรง) ท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเทียบเรือของบริษัทเชฟรอน โรงงานถลุงเหล็ก เป็นต้น


ในฐานะที่จับประเด็นพลังงานมานานร่วมสิบปี ผมจึงได้รับมอบหมายให้พูดเรื่องนี้ ในที่สุดผมได้สรุปให้ที่ประชุมฟังว่า นโยบายพลังงานไทย เป็นอาชญากรรมเชิงนโยบาย! ซึ่งจะเล่าให้ดังต่อไปนี้ครับ

 

. ดอกผลของการพัฒนาในอดีต


ผมเริ่มต้นจากข้อมูลที่ค้นได้จากเว็บไซต์ www.nationmaster.com ว่า จากการสำรวจคุณภาพของแหล่งน้ำจืดจำนวน 141 ประเทศ พบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) เฉลี่ยของประเทศไทยต่ำที่สุดในโลก ต่ำกว่าประเทศมาเลเซียและประเทศคาเมรูด้วย


นั่นแปลว่า กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เป็นอาหารโปรตีนสำคัญของผู้คนก็ต้องรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องและลดจำนวนน้อยลง นอกจากชาวประมงพื้นบ้านจะมีรายได้ลดลงแล้ว ต้นทุนในการหาปลาก็เพิ่มขึ้นด้วย พี่สาวผมผู้ซื้อปลากินในชนบทก็บ่นให้ฟังว่า “ปลาทุกวันนี้ก็แพงจังหู”


แผนภาพข้างล่างนี้คือหลักฐานเรื่องค่าออกซิเจนครับ

 


พูดถึงค่าออกซิเจนในน้ำ ผมขอเสริมเพิ่มเติมครับ จากข้อมูลที่หน่วยราชการไทยไปจัดเก็บมาเอง พบว่าในบางคลองของลุ่มน้ำปากพนัง(บ้านเกิดผมเอง) ค่าออกซิเจนในน้ำเป็นศูนย์ครับ คราวนี้ไม่ต้องบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแหล่งอาหารของชาวบ้านในแถบนั้น


อีกเรื่องหนึ่งครับที่ผมนำเสนอ คือข้อมูลเรื่องโรคเอดส์ พบว่า ในขณะที่จำนวนประชากรของประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก แต่จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม (จนถึงปี 2546) ของประเทศเราอยู่ในอันดับ 13 ของโลก มากกว่าประเทศจีนที่มีประชากรถึงกว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านคนเสียอีก


ที่น่าแปลกใจคือ คนฟิลิปปินส์ที่มีประชากรมากเกือบร้อยล้านคน (อันดับ 13 ของโลก) แต่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์น้อยมาก (อันดับที่ 77 ของโลก) มันเกิดอะไรขึ้นกับทิศทางการพัฒนาของประเทศเรา


เราเคยได้ยินคำถามแบบนี้หรือได้ยินนักการเมืองครุ่นคิด-พูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้บ้างไหมครับ


กลับมาที่ปัญหาพลังงานครับ จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ในปี 2536 คนไทยเราจ่ายค่าพลังงานไปเพียง 10% ของรายได้ที่อุตส่าห์หามาได้ แต่พอมาถึงปี 2551 กลับพบว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเราเพิ่มขึ้นเป็น 20%


นี่แปลว่าอะไรครับ ผมสรุปเองว่า “ยิ่งพัฒนา ยิ่งยากจน ยิ่งเป็นคนในชนบทยิ่งจนมากขึ้น เพราะค่ารถโดยสารรถตุ๊ก ๆ รถสองแถว แพงกว่ากรุงเทพฯมากเลย รวมทั้งราคาน้ำมันด้วย คนสงขลาจ่ายแพงกว่าคนกรุงเทพ 30 สตางค์ต่อลิตร ทั้ง ๆที่แหล่งน้ำมันอยู่ห่างจากสงขลานิดเดียวเอง”


ปัญหาที่สำคัญกว่าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ คือการจ้างงาน หรือการไม่มีงานทำของคนที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ พบว่าในภาคส่วนพลังงานที่มีสัดส่วนถึง 20% ของรายได้นั้นมีการจ้างงานเพียงร้อยละ 1% ของแรงงานทั้งประเทศเท่านั้น


ผมนำภาพโฆษณาของท่านนายกฯอภิสิทธิ์ (จากมติชนรายวัน-พร้อมคำบรรยายว่า มือบอน) ที่เขียนด้วยคำโฆษณาตัวโต ๆ ว่า “ผมสัญญา ...คนไทยต้องมีงานทำ”


 

 

ผมตั้งคำถามว่า “ท่านนายกฯจะเอางานที่ไหนมาให้คนไทยทำครับ” ในเมื่อรายได้ 20% อยู่ในมือของคนเพียง 1% เท่านั้น


แรงงานขั้นต่ำ เช่น ร้านอาหารในหาดใหญ่ ก็เต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าว (ทางราชการคาดว่าทั่วประเทศมีแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน) ส่วนแรงงานระดับสูง ระดับผู้บริหารกิจการชั้นสำคัญ ๆ การเงิน การโรงแรม ก็อยู่ในมือของคนต่างชาติ


คำบรรยายใต้ภาพเขียนว่า “มือบอน” ที่มีคนมาเติมหนวดให้ท่าน แต่ผมคิดว่าคำมั่นสัญญาของท่านน่าจะเข้าข่าย “ปากพร่อย” หรือไม่?

 

. ถ้าจะสร้างงานควรจะทำอย่างไร (ในเรื่องนโยบายพลังงาน)


เนื่องจากเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่กว้างมาก ประกอบกับผมทราบล่วงหน้าว่าจะมีวิศวกรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาร่วมฟังด้วย (เขาต้องการจะมาฟังผมเป็นการเฉพาะ-จริงๆ) ผมจึงพูดเรื่องไฟฟ้ามากหน่อย พูดเรื่องน้ำมันนิดเดียว แต่ในเชิงแนวคิด ผมพูดครบทั้งระบบ


ผมเริ่มต้นจากการแบ่งแหล่งเชื้อเพลิงเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ประเภทที่สอง ได้แก่ พลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล (ของเสีย-ของเหลือจากการเกษตร)


ประเภทแรก กำเนิดเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ใช้หมดแล้วหมดเลย อยู่ใต้ดินหลายพันเมตรและถูกผูกขาดโดยพ่อค้าพลังงานจำนวนน้อยราย ส่วนประเภทที่สองเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ไม่มีวันหมด และกระจายอยู่ทั่วไป การผูกขาดจะทำได้ยาก


ทั้งสองต่างก็เป็น “ลูกพระอาทิตย์” แต่ต่างกันดังที่กล่าวมาแล้ว พ่อค้าพลังงานที่เขาผูกขาดทั้งแหล่งพลังและผูกขาดทั้งการสื่อสาร เขาจะโฆษณาล้างสมองคนว่า “เป็นพลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพ พลังไทย เพื่อไทย” ส่วนพลังงานหมุนเวียนนั้น “ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นไปไม่ได้ ลมบ้านเราไม่แรงพอ” เป็นต้น


ขณะที่ทั่วทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากันระหว่างคนสองกลุ่ม คือทุนสามานย์กับชุมชน พลเมืองที่ได้รับผลกระทบของการพัฒนา


ผมอ้างคำพูดของนักคิดชาวฮังการีที่ชื่อ เออร์วิน ลาสซโล (Irvin Laszio- เผยแพร่โดย ดร.ไสว บุญมา) ว่า ขณะนี้ชาวโลกกำลังยืนอยู่บนทางสามแพร่ง ยังมีเวลาอีกสามปี ที่จะตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ระหว่างความล่มสลายหายนะและความยั่งยืน”


ผมตอบท่านนายกฯอภิสิทธิ์ว่า ถ้าจะสร้างงาน สร้างรายได้กันแล้ว ต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมียุทธศาสตร์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งเรื่องการกระจายรายได้ การจ้างงาน และการเพิ่มออกวิเจนให้กับกุ้ง หอย ปู ปลา


ผมยกตัวอย่างจริงให้ดูจากกรณีของโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำเสียจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน น้ำเสียจากโรงงานที่เคยส่งกลิ่นเหม็นให้กับชาวบ้าน ทำให้ปลาหายใจได้ไม่ทั่วท้องนั้น สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ แถมมลพิษก็ลดลง


นอกจากนี้ไฟฟ้าที่ผลิตได้แล้ว ไม่มีการเน่า ราคาไม่ขึ้นลงตามฤดูกาลเหมือนผลไม้ เช่น ลองกอง มะนาว ผมฉายภาพต้นทุนการผลิตและรายได้จากการขายไฟฟ้า สรุปว่าจากการลงทุน 40 ล้านบาทขนาดประมาณครึ่งเมกกะวัตต์ สามารถคุ้มทุนได้ภายใน 6 ปี ครึ่งเท่านั้น ต่างจากโรงไฟฟ้าทั่วไปที่ไม่เคยประเมินจุดคุ้มทุนกันเลย ตัวเลขดังกล่าว เป็นของบริษัทเอเชียน ปาล์ม ออย ที่จังหวัดกระบี่


ผมค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ทุก ๆ หนึ่งตันของผลปาล์ม จะสามารถนำน้ำเสียมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่าถึง 100 บาท แต่ละปี ผลผลิตปาล์มอย่างเดียวในภาคใต้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 670 ล้านบาท นี่ยังไม่นับทะลายปาล์ม ไม่นับตอของต้นยางพาราที่ถูกเผาทิ้งปีละ 4-5 แสนไร่ (เพื่อปลูกใหม่) ซึ่งสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย นี่ยังไม่นับนาร้างจำนวนอีก 5 แสนไร่ในภาคใต้ ถ้าคิดจะปลูกไม้โตเร็วมาผลิตไฟฟ้าก็ได้อีกเยอะ


ผมได้นำข้อมูลจากคำสัมภาษณ์รัฐมนตรีพลังงาน (มติชน 21 กันยายน 52) มายืนยันเพิ่มเติมว่า

คนกระบี่ทั้งจังหวัดใช้ไฟฟ้าขนาด 60 เมกกะวัตต์ แต่มีการผลิตไฟฟ้าจากของเหลือจากปาล์มได้ 30 เมกกะวัตต์ ในขณะที่มีศักยภาพที่จะทำได้ถึง 120 เมกกะวัตต์”


นี่แปลว่า ศักยภาพของไฟฟ้าที่ผลิตจากของเหลือจากปาล์มในจังหวัดกระบี่สามารถใช้เลี้ยงคนได้ถึง 2- 3 จังหวัด


เพื่อให้เห็นภาพรวม ผมได้นำเสนอข้อมูลที่มาจากกระทรวงพลังงานเองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (Biomass) ได้ถึง 7,000 เมกกะวัตต์ (ประมาณ 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในประเทศไทยในปัจจุบัน)


เท่านี้ยังไม่พอ ผมยังรุกต่อด้วยข้อมูลของรัฐบาลประเทศเยอรมนีจากรายงานเรื่อง Renewable Energies: Innovation for a Sustainable Energy Future (ค้นได้จาก google- เหมาะสำหรับผู้สนใจ และผู้ที่ไม่เชื่อ)

 

 

พบว่า ในปี 2007 ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (ผลิตจากการเกษตร) ได้ถึง 1.3% ของไฟฟ้าทั้งประเทศ ไฟฟ้าดังกล่าวถ้านำมาใช้ในบ้านเราจะได้ประมาณ 5-6% ของทั้งประเทศไทย พอ ๆ กับที่ผลิตได้จากเขื่อนทั้งหมดทั่วประเทศรวมกัน


ผมโยนคำถามต่อไปว่า “โรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเยอรมนีขนาดเพียง 0.5 ถึง 1 เมกกะวัตต์ กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศหลายพันโรง ทำไมเขาจึงทำได้ แต่พี่ไทยเราไม่ยอมทำ”

เพราะผลิตผลการเกษตรของเราน้อยกว่าของเยอรมนีที่เป็นประเทศหนาวหรือ?”

ไม่ใช่” เสียงตอบมาจากผู้ฟัง ซึ่งหาไม่ค่อยได้ในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ผมสอน

เพราะใช้เทคโนโลยีสูงเกินไปสำหรับคนไทยหรือ?”

ไม่ใช่” ผู้ฟังตอบอย่างมีอารมณ์

เพราะนักการเมืองไทยขาดวิสัยทัศน์หรือ เพราะการเมืองภาคพลเมืองเยอรมนีเข้มแข็งหรือ”

ผู้ฟังตอบไม่ทันครับ ผมรุกต่อเพราะเวลาน้อยว่า การเมืองภาคพลเมืองของเยอรมนีเข้มแข็งมาก พรรคการเมืองกรีนเกิดขึ้นครั้งแรกที่นั่น


ผมเรียนเพิ่มเติมว่า กิจการไฟฟ้าจากไบโอก๊าซในประเทศเยอรมนีอย่างเดียว สามารถสร้างงานได้ถึง 3 แสนคน กิจการกังหันลมอีกประมาณ 1 แสนคน


มันช่างต่างกันอย่างลิบลับกับการจ้างงานในภาคไฟฟ้า ภาคพลังงานของพี่ไทยเรา


ความจริงผมพูดมากกว่านี้ครับ แต่เนื้อที่มีจำกัด ผมปิดท้ายท่ามกลางกระแสโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สองโรง 2 พันเมกกะวัตต์ด้วยภาพข่าวและภาพการ์ตูนข้างล่างนี้


ซ้ายมือเป็นข่าวจากสำนักบีบีซี ที่รายงานเกี่ยวกับการนำไบโอก๊าซไปใช้กับรถไฟในประเทศสวีเดนเมื่อ 4 ปีก่อน (ในขณะที่ปัญหารถไฟไทยกำลังล้าหลังสุดๆ) ในประเทศยุโรปหลายประเทศเขานำไบโอก๊าซจากขี้วัวมาใช้กับรถเมล์ รวมทั้งการต่อท่อก๊าซเข้าไปใช้ในบ้านเรือนด้วย


แต่บ้านเรากำลังจะเช่ารถเมล์เอ็นจีวีที่มีปัญหาทั้งการหลักการและเชื้อเพลิง


ท่านที่สนใจเรื่องนี้ลองค้นคำว่า “ Biomethane + youtube” ก็จะได้เห็นอะไรดี ๆ มากมาย รวมทั้งภาพภาพวับ ๆ แวม ๆ อีกด้วย (ฮา)


ส่วนภาพขวามือเป็นการ์ตูนที่ประกอบด้วยสัตว์ประหลาดท่าทางน่ากลัวที่เขียนว่า “ภาวะโลกร้อน” ทำให้ผู้คนขาดสติวิ่งเข้าไปสู้อ้อมกอดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


ท่านที่สนใจโปรดศึกษาค้นคว้าดูซิครับว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นคำตอบเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ

 

 

. สรุป


ในที่สุด ผมเรียนต่อชาวสงขลากว่าหนึ่งร้อยคนที่ยังไม่ได้ทานข้าวกลางวัน(แต่ไม่กรุณาฟังอย่างตั้งใจ) ว่า จากนโยบายพลังงานของไทยที่ผูกขาดความคิด ผูกขาดแหล่งพลังงานแล้วปล่อยมลพิษไปทำลายแหล่งอาหาร ทำให้คนตกงานนับล้านคน แล้วใช้สื่อที่ตนยึดครองได้ (รวมทั้งสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานด้วย-ผมลืมพูดไป) เพื่อล้างสมองคนทั้งประเทศว่าพลังงานอีกประเภทหนึ่งใช้ไม่ได้นั้น ผมไม่มีคำพูดอื่นครับ นอกจากคำว่า เป็นอาชญากรรมเชิงนโยบาย


จบก่อนนะครับ

 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…