Skip to main content

1.    คำนำ


เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม
  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้


ภายใต้สภาวะเช่นนี้ จึงเกิดคำถามแรกขึ้นมาว่า  สังคมไทยต้องการให้คนรุ่นใหม่มีลักษณะเป็นแบบไหน? และเมื่อได้ข้อสรุปของลักษณะคนรุ่นใหม่ในอนาคตว่าควรจะเป็นแบบใดแล้ว  คำถามที่สองก็คือว่า จะทำอย่างไรหรือจะใช้กระบวนการใด?


นักคิดหลายคนสรุปตรงกันว่าต้องใช้กระบวนการศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการศึกษาของเยาวชนทั้งในส่วนที่เป็นระบบการศึกษาโดยรัฐและการศึกษาทางเลือก


รัฐบาลอภิสิทธิ์เองก็ได้เสนอเป็นแนวนโยบายว่าจะต้องปฏิรูปการศึกษารอบสอง โดยขอใช้เวลานาน 10 ปี  ทั้ง ๆ ที่สังคมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเลยว่าการปฏิรูปรอบแรกนั้นล้มเหลวลงเพราะเหตุใด        


บทความนี้พยายามจะนำเสนอหรือตอบคำถามแรกเพียงข้อเดียวว่า ลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่สังคมไทยต้องการควรจะเป็นอย่างไร โดยนำเอาความคิดมาจาก 3 แหล่ง ทั้งในและต่างประเทศ


สองแหล่งแรกเป็นของพระสงฆ์ไทยซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วนดีนัก เพราะเป็นแค่คำพูดในเวทีสัมมนาที่มีเวลาจำกัด
  สำหรับแหล่งที่สามเป็นของกระทรวงศึกษาธิการของรัฐหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

 

2. ลักษณะของผลผลิตทางการศึกษาไทยในปัจจุบัน


พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้สะท้อนลักษณะของการศึกษาไทยในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่า การศึกษาไทยทำให้เด็กไทยสมองโต หัวใจลีบ คิดน้อย เห็นแก่ตัว ไม่สนใจส่วนรวม ทิ้งธรรม บูชาเงินมากกว่าความดีงาม เครียด ไม่มีความสุข ชอบเรื่องสะเดาะเคราะห์มากกว่าการคิดวิเคราะห์ ไม่ชอบเป็นผู้นำ ชอบตามคนอื่น การเรียนในโรงเรียนก็สอนท่องจำมากกว่าจะสอนเรื่องความเข้าใจ หลักสูตรอัดแน่นเกินความจำเป็น นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตไม่ได้ ถึงตอนนี้ถ้าอยากให้การศึกษาไทยเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน    เพราะทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการยังแก้ปัญหาต่าง ๆ ของตัวเองไม่ได้เลย  (มติชนรายวัน 12 มีนาคม 2553)


ผมมีความเห็นว่าคำพูดของท่าน ว. วชิรเมธี มีความสอดคล้องกับอีกสองความเห็นที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นอย่างมาก


3. แนวคิดและวิธีปฏิบัติของกลุ่มชาวอโศก


กลุ่มชาวอโศกได้เปิดโรงเรียนของตนเองที่ชื่อว่า
โรงเรียนสัมมาสิกขา เพื่อให้การศึกษากับนักเรียนในชุมชนของตนเองซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทประจำ


ผมเองไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับนักเรียนของโรงเรียนนี้มาก่อนเลย แต่จากการติดตามชมจาก
FMTV (ซึ่งเป็นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) มาหลายครั้งพบว่า โรงเรียนในเครือของสัมมาสิกขาได้ยึดคำขวัญหรือหลักการปฏิบัติว่า  ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา


พ่อท่านโพธิรักษ์  ได้กล่าวในวันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนชั้น ม. 6 ว่า  ท่านให้ความสำคัญในเรื่องศีลถึง 40%  ในเรื่องเป็นงาน 35% และในเรื่องชาญวิชา 25%  โดยที่วิชาการของโรงเรียนนี้ไม่น้อยกว่าของโรงเรียนอื่น


เพื่อความกระจ่างกว่านี้ ผมได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสารของกลุ่มอโศกพบว่า


ศีลเด่น ก็คือศีลห้า ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ที่เน้นคล้ายกัน เช่น ความรับผิดชอบ ความขยันหมั่นเพียรและความเสียสละ

เป็นงาน การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสัมมาสิกขา โดยอาศัยงานต่างๆ ภายในวัด และชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ จะส่งผลให้กิจกรรมการเรียนการสอนไม่มีความแปลกแยกจากวิถีชีวิตจริง ของผู้เรียน (ในฐานะเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชน)

เมื่อการศึกษากลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีชุมชนและกิจกรรมการเรียนรู้จากการงานดังกล่าวได้กลายเป็นพลังแรงงานที่มีส่วนสำคัญต่อการช่วยเหลือชุมชน ก็จะส่งผลให้ชุมชนเห็นคุณค่า ความสำคัญของการศึกษาจนพร้อมจะทุ่มเททรัพยากรต่างๆเพื่อเกื้อกูลพัฒนาการศึกษา(ที่เป็นประโยชน์คุณค่าต่อชุมชนอย่างเห็นเด่นชัด) นั้นๆ ให้เกิดความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปโดยไม่ต้อง รองบประมาณแผ่นดิน

ชาญวิชา ครูจะทำหน้าที่คอยกระตุ้นให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ เพื่อสร้างความคิดรวบยอด จากกิจกรรม การงานต่าง ๆ ในแต่ละวัน โดยใช้วิธีให้นักเรียนเขียนบันทึกหรือรายงาน ส่งให้ตรวจ การเขียนบันทึกหรือรายงาน จะทำให้นักเรียนได้หันกลับมาทบทวนตัวเอง ตามหลัก "โยนิโสมนสิการ"


จากที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นได้ว่า การสะท้อนปัญหาของท่าน ว. วชิรเมธี กับแนวคิดและวิธีการปฏิบัติของกลุ่มอโศกมีความสอดรับกันเป็นอย่างดี


อย่างไรก็ตาม  ความคิดและแนวปฏิบัติทั้งสองที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ อาจจะยังไม่ครอบคลุมหรือไม่ละเอียดพอในบางมิติ
  ผมจึงขอนำเสนอสิ่งที่ได้มีการขบคิดมาแล้วอย่างเป็นระบบโดยกระทรวงศึกษาธิการของรัฐ  MAINE  (อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ) ของสหรัฐอเมริกา

 

 

4. คุณสมบัติ  5 ประการของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากรัฐ  MAINE


เอกสารที่ผมอ้างถึงคือ 
The 2007 Maine Learning Results: Parameters for Essential Instruction  ซึ่งสามารถค้นได้จาก  google  


เอกสารฉบับนี้ได้ให้คำแนะนำว่า  นักศึกษาแต่ละคนของรัฐเมน จะต้องมีคุณสมบัติ 5 ประการต่อไปนี้ คือ

(1)  เป็นผู้ที่สื่อสารชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

(2)  เป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิตและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

(3)  เป็นผู้แก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และสามารถปฏิบัติได้

(4) เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วม

(5) เป็นผู้ที่คิดอย่างบูรณาการและมีข้อมูลพร้อม


โดยที่คุณสมบัติในแต่ละด้านยังมีตัวบ่งบอก (
parameter)  รายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

 

1.  เป็นผู้ที่สื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ   คือผู้ซึ่ง

1.1  แสดงให้เห็นถึงการสื่อสารที่มีระบบและมีเป้าหมายชัดเจนในภาษาอังกฤษและภาษาอื่นอย่างน้อยหนึ่งภาษา

1.2  แสดงหลักฐานและตรรกะมาสนับสนุนอย่างเหมาะสมในการสื่อสาร

1.3  ปรับการสื่อสารให้เหมาะกับผู้ฟัง   และ

1.4  ใช้วิธีการแสดงออกที่หลากหลาย (การพูด การเขียน การใช้ทัศนูปกรณ์ การแสดง รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร)

 

2.  เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตและเรียนรู้ด้วยตนเอง  คือผู้ซึ่ง 

2.1   ตระหนักถึงความจำเป็นของข้อมูลและข่าวสาร และรู้ถึงแหล่งข้อมูลและประเมินข้อมูลได้

2.2   ประยุกต์ใช้ความรู้ในการตั้งเป้าหมายและทำการตัดสินใจโดยมีข้อมูลครบถ้วน

2.3   ประยุกต์ใช้ความรู้ในบริบทใหม่ๆ

2.4   แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และเป็นอิสระ

2.5   แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีความยืดหยุ่น รวมทั้งความสามารถในการเรียนรู้  ปลดละความรู้เดิมและเรียนรู้สิ่งใหม่

2.6  แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้และคำนึงถึงคุณภาพ  และ

2.7 ใช้ทักษะของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในการเรียนรู้และทำงานร่วมกับผู้คนที่มาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน

 

 

3.  เป็นผู้แก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และสามารถปฏิบัติได้  คือผู้ซึ่ง

3.1   สังเกตการณ์และประเมินสถานการณ์เพื่อกำหนดปัญหา

3.2   ตั้งกรอบคำถาม  คาดการณ์ และออกแบบการเก็บข้อมูล และวิธีการวิเคราะห์

3.3   มองหารูปแบบ แนวโน้ม และความสัมพันธ์ที่ใช้ในการแก้ปัญหา

3.4   คิดทางแก้ปัญหาหลายๆ ทาง  สร้างสถานการณ์ที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุด และประเมินประสิทธิภาพของคำตอบอย่างมีวิจารณญาณ

3.5   มองเห็นโอกาส  หาแหล่งทรัพยากร และ แสวงหาผล

3.6  ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา  และ

3.7   มุ่งมั่นไม่ท้อถอยต่อสถานการณ์ที่ท้าทาย

 

4.  เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วม  คือผู้ซึ่ง

4.1  เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนด้วยความมั่นใจ และคิดออกแบบการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์

4.2   ยอมรับที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตน

4.3  แสดงถึงพฤติกรรมที่มีจริยธรรมและมีความกล้าหาญทางศีลธรรมที่จะผดุงไว้ซึ่งจริยธรรม

4.4  มีความเข้าใจอันดีและเคารพในความแตกต่าง

4.5  แสดงถึงความตระหนักเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกและมีความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง

4.6 แสดงถึงความตระหนักในสุขภาวะของทั้งส่วนตัวและชุมชน

 

5.  เป็นผู้ที่คิดอย่างบูรณาการและมีข้อมูลพร้อม คือผู้ซึ่ง:

5.1  รับเอาความรู้ข้ามสาขาและในบริบทการเรียนรู้ที่แตกต่างมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในชีวิตจริงโดยการใช้และไม่ใช้เทคโนโลยี

5.2  ประเมินและสังเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง

5.3  ประยุกต์ใช้ความคิดที่ได้จากข้ามสาขา  และ

5.4  ใช้ความคิดอย่างมีระบบในการทำความเข้าใจกับปฏิสัมพันธ์และอิทธิพลของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อผู้คนและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น


6. สรุป

จากแนวคิดและวิธีปฏิบัติทั้ง 3 แหล่ง เราพบว่ามีส่วนที่เป็นคุณสมบัติร่วมกันอยู่หลายประการ เช่นความรับผิดชอบต่อสังคม  เป็นต้น  แต่ในขณะเดียวกัน แนวคิดของฝรั่งจะให้ความสำคัญรวมมาถึง การสื่อสาร การพูด การเขียน การรู้จักใช้และไม่ใช้เทคโนโลยี 


จากประสบการณ์ตรงของผมพบว่า เด็กปัจจุบันของเรากำลังมีปัญหาการสื่อสารและการใช้เหตุผลอย่างรุนแรงมากครับ สิ่งที่พวกเขาส่วนมากเก่งกว่าคนรุ่นก่อนคือการแสดงเลียนแบบดาราครับ

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…