Skip to main content
 
๑.  คำนำ

บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง
“โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย

๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร

ถ้าผลิตผลของระบบการศึกษาที่มีการจัดการกันอยู่ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า
“การศึกษากระแสหลัก (mainstream education)” ) สามารถสัมผัสได้ชัดเจนเหมือนผลิตผลของการก่อสร้างทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ชาวโลกเราคงจะได้เห็นภาพเหล่านี้ปรากฏอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง
 
 
สะพานลอยไม่เชื่อมต่อกัน                                       ระเบียงไม่มีประตูออก
 
 
เสาไฟฟ้ากับระเบียง                                         บันไดวนไม่มีที่พัก คนขึ้นไม่ได้ แต่มดขึ้นได้
 

การก่อสร้างเชิงวัตถุย่อมต้องมีการวางแผน การออกแบบ และการบริหารจัดการฉันท์ใด การศึกษาก็ย่อมต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ความผิดพลาดของระบบการศึกษากระแสหลักอยู่ตรงไหน เราเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก  ที่สำคัญมันยังเป็นสิ่งที่สามารถเห็นต่างกันได้อีก 

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนหนึ่งซึ่งได้แก่ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชนรวมทั้ง พ่อ แม่ และผู้ปกครอง ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความผิดพลาดเหล่านั้น จนกระทั่งถึงขั้นสิ้นหวังกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่

หากพิจารณาในภาพรวม จากรายงานสภาวะการศึกษาไทยปี 2551
/2552  ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง บทบาทการศึกษากับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังค[1] ได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า  
“การจัดการศึกษาของไทยเท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากพอที่จะไปแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้”

รายงานฉบับนี้ยังได้เพิ่มเติมอีกว่า
“แรงงานเกินครึ่งของแรงงานทั่วทั้งประเทศยังคงมีระดับการศึกษาแค่ประถมและต่ำกว่า ขณะที่ผู้ว่างงานมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นสัดส่วนสูงกว่าผู้มีการศึกษาต่ำกว่า”    นี่อาจทำให้เราคิดได้ว่า จริงๆ แล้วผู้ประกอบการเอง ก็ไม่ได้ต้องการคนที่มี “การศึกษา” มากนักหรอกนะ!

ถ้าเราครุ่นคิดอีกสักนิด เราก็จะพบข้อบกพร่องของผลิตผลทางการศึกษาของประเทศเรามากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น การใช้เหตุผล ความรู้สึกเป็นเจ้าร่วมของทรัพยากรสาธารณะ  การคอร์รัปชัน รวมไปถึงลายมือเขียนหนังสือของคนรุ่นใหม่

กล่าวเฉพาะเรื่องลายมือ มหาตมา คานธี ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วว่า 
“ลายมือที่เลวนั้นควรจะถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายของการศึกษาที่ยังไม่สมบูรณ์ ...ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการฝึกสอนวิชาวาดเขียน ก่อนที่จะลงมือเขียนหนังสือกันจริงๆ ...เมื่อกระทำเช่นนี้ได้เด็กจึงจะมีลายมืองาม

ผมเองเป็นผู้ตรวจข้อสอบของนักศึกษามานานเกือบ 40 ปี ได้เห็นลายมือที่
“เลวลง”  มาเป็นลำดับ
 
๓.  นิยามของ “การศึกษา” คืออะไร

พจนานุกรม ฉบับ 
Collins Cobuild  ได้ให้ความหมายของคำว่า Education   ไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า         “การศึกษาคือระบบการสอนคนซึ่งโดยปกติใช้กับระดับโรงเรียนหรือวิทยาลัย (Education is the system of  teaching people, usually at a school or college.)”

ด้วยเหตุที่นิยามของการศึกษามีเพียงเท่านี้ ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและการเมือง
, David W. Orr ได้วิพากษ์การศึกษาว่า
“มันไม่ใช่การศึกษาเพื่อรับใช้เรา รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นแบบตะวันตกซึ่งมีลักษณะ เน้นเมืองเป็นศูนย์กลาง และเป็นการศึกษาที่ใช้โรงเรียนเป็นหลัก จะส่งผลให้เด็ก ๆ กลายเป็นแค่หน่วยความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ   แทนที่จะให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้  มีจิตใจเปิดกว้าง การศึกษาแบบนี้มีแต่จะทำให้เราถลำลึกไปสู่หนทางที่ผิดพลาดมากยิ่งขึ้น”

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์  ได้ให้ความหมายที่ชัดเจนชนิดที่อุดรอยรั่วของนิยามการศึกษาที่ขาดเป้าหมายข้างต้นไว้อย่างเสร็จสรรพว่า
"การศึกษาคือขบวนการเรียนรู้ ให้แต่ละคนได้รู้จักศักยภาพที่แท้ของตน   เพื่อจะเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างมีสัมมาอาชีวะ พร้อมๆ กับเพื่อใช้ศักยภาพนั้นๆ รับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างสันติ และโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างบรรสานสอดคลองกัน"[2]

อาจารย์สุลักษณ์  ยังได้ให้ความเห็นในเชิงประวัติศาสตร์ว่า
“โดยนัยแห่งคํานิยามดังกล่าว ประชาชนชาวไทยได้จัดการศึกษากันเองมาแต่ไหนแต่ไรโดยเฉพาะก็ในชุมชนที่มีพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมหลัก บ้านและวัดเป็นปัจจัยสําคัญทางด้านการศึกษา เพื่อให้เยาวชนได้เติบโตขึ้นมาในสังคม ด้วยการเรียนรู้จากปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่นอง โดยมีพระและวัดเป็นตัวกํากับ ไม่แต่ในทางจริยศึกษาเท่านั้นหากรวมถึงวิชาการอื่นๆ   อันอาจรวมเรียกได้ว่าเป็น อาชีวศึกษาอีกด้วย
 
จุดเปลี่ยนของประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทางราชการจึงมาจัดการศึกษาขึ้นจนเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลโดยที่นี่คือการเดินตามกระแสหลักของจักรวรรดินิยมตะวันตก
วัตถุประสงค์หลักของการจัดการศึกษาในยุคนั้นก็เพื่อ

(๑)
รวบรวมการเมืองการปกครองให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่กรุงเทพฯ  ซึ่งต้องการสยบบ้านเล็กเมืองน้อยทั้งหมดให้อยู่ในอาณัติของรัฐบาลกลางยิ่งๆขึ้นทุกที หาไม่บ้านเล็กเมืองน้อยนั้นๆ ที่เคยมีความเป็นเอกเทศ ไม่ว่าจะในฐานะประเทศราช หรืออื่นใดในทางพึ่งตัวเอง (Autonomy) อาจถูกฝรั่งแย่งชิงเอาไป ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วกับลาว (ร. ๕) และเขมร (ร. ๔) รวมถึง ๔ รัฐในมลายู (ร. ๕)

(๒) ได้ใช้การศึกษาในการเกลี้ยกล่อมและล้างสมอง ให้ราษฎรและชนชั้นปกครองในท้องถิ่นต่างๆ หันมานับถือกรุงเทพฯ ยิ่งๆ ขึ้น โดยยอมลดความเป็นตัวของตัวเองลงไปเรื่อยๆ รวมถึงความภาคภูมิในวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย ถ้าไม่ได้ผลก็จําต้องใช้กําลังทหารปราบปราม อย่างกรณีกบฏผู้มีบุญที่อุบลราชธานี และกบฏเงี้ยวเมืองแพร่เป็นตัวอย่าง

(๓) ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนให้คนรุ่นใหม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และนิยมยินดีตามพระราชนิยม

Dr.Ron Miller นักเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาทางเลือกมานานกว่า 20 ปี และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Self-Organizing Revolution ได้ให้ความเห็นคล้ายกับอาจารย์สุลักษณ์ แต่ได้ชี้ให้เห็นโลกทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยว่า  

“ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ได้สร้างขึ้นจากกรอบความคิดที่มีลักษณะเป็นกลไก/เทคโนแครท ที่นำไปสู่ยุคของการขยายตัวการอุตสาหกรรม และจักรวรรดินิยมที่เริ่มต้นขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19   ซึ่งกำลังเสื่อมถอยไปแล้ว โลกทัศน์ใหม่กำลังเกิดขึ้น เป็นโลกทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ความเชื่อมโยงกัน และให้ความสำคัญกับความหลากหลายของมนุษย์ เป็นโลกทัศน์แบบองค์รวม ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับการศึกษา
 
๔.  การศึกษาทางเลือกคือะไร

การศึกษาทางเลือก (
Alternative Education) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้แตกต่างจากการศึกษากระแสหลัก   อย่างไรก็ตาม ทั้งชื่อและความหมายของการศึกษาทางเลือกก็ยังคงแตกต่างกันไปตามสำนักคิดต่าง ๆ แต่จากรายงาน  “โครงการศึกษาวิจัยการศึกษาทางเลือกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” ตอน การศึกษาทางเลือกในนานาประเทศ โดย รัชนี ธงไชย[3]   ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

“การศึกษาทางเลือกไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการ หรือ วิธีการ แต่เป็นทัศนะในการมองการจัดการศึกษาที่เห็นว่า สามารถกระทำได้หลากหลายหนทาง วิธีการ โครงสร้างการจัดการ ตลอดจนการจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษา รวมทั้งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และสังคมมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยจัดสรรให้ทุกคนได้รับการศึกษาด้วยการจัดสรร ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมต่อการเติบใหญ่พัฒนา”

Wikipedia ได้ให้ข้อสังเกตว่า “การศึกษาทางเลือกมักจะเน้นที่ 3 ประการต่อไปนี้คือ (๑) คุณค่าของชั้นเรียนที่มีขนาดเล็ก (๒) ให้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียน และ (๓) ให้ความสำคัญกับชุมชน”

Dr. Ron Miller  ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
“ความสนใจในการศึกษาทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เช่น แนวคิดการจัดการโรงเรียนแบบมองเตสซรี และวอลดอร์ฟ การศึกษาที่บ้าน (homeschooling) โรงเรียนประชาธิปไตย  โรงเรียนของกลุ่ม quaker (กลุ่มนิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์) และอีกหลายๆ แนวทาง แสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติจัดการกันเอง โดยไม่มีผู้นำ เป็นคลื่นลูกใหม่ในโลกทัศน์ใหม่นี้ ผู้เขียนคิดว่า เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดจะมาแทนระบบการศึกษาในปัจจุบันในรูปแบบที่แตกต่างไป   การศึกษาทางเลือกใหม่นี้ จะไม่เหมือนการศึกษาในยุคอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ คือ เด็ก ๆ จะมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ที่ใส่ใจกัน มีความหมายและมีความตื่นตัว และจะถูกกระตุ้นให้เข้าร่วมในการสร้างวัฒนธรรมที่ยั่งยืนและมีเมตตาธรรมต่อกัน

ผมทราบว่า ขณะนี้ สังคมเราได้มี
“สภาการศึกษาทางเลือก” เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องควรระวังก็คือ  สภาการศึกษาทางเลือกไม่ควรจะเป็น “ผู้นำ” ที่เต็มไปด้วยกฏระเบียบมากมาย แต่ควรจะเป็นองค์กรที่ “ส่งเสริมศักยภาพ” ของเครือข่ายมากกว่า
 
. หลักการพื้นฐาน 5 ประการของการศึกษาทางเลือก

แม้ว่ากระบวนการเคลื่อนไหวนี้มีแนวทางการศึกษาที่หลากหลาย แต่มีหลักการพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่  
5 ประการ (ตามข้อเสนอของ Dr. Ron Miller ซึ่งผมแปลมาจาก Five Principles of the Coming Education Revolution)  คือ
 
1. เคารพทุกคน
มาเรีย มองเตสซรีได้กล่าวไว้ว่า : เด็กคือผู้สร้างบุคลิกของมนุษย์ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเกิดจากแรงขับที่สร้างสรรค์จากภายในในการค้นหาโลกอย่างมีเป้าหมาย ธรรมชาติได้ให้ทั้งความสามารถและความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องสร้างอัตลักษณ์ (individuality) ในการดำเนินชีวิตและมีประสบการณ์ในโลกที่ไม่เหมือนใคร และเราจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระและความมั่นคงเพื่อบรรลุศักยภาพนี้ เราได้นำพาเมล็ดพันธ์ของความใผ่ฝันอันสูงสุดและศักยภาพในการปฏิวัตินี้ไว้หัวใจของเราทุกคน เป้าหมายของการศึกษาคือการฟูมฟักเมล็ดพันธ์เหล่านี้
 
2. ความสมดุล
การปฏิวัติทางการศึกษาได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดกว้างสู่ความซับซ้อนของชีวิต การดำเนินชีวิตอย่างมีดุลยภาพหมายถึงการมีความเชื่อในความอ่อนน้อมถ่อมตน เปิดใจกว้างต่อความจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อหรือสิ่งที่ไม่คาดฝัน ตระหนักว่าทุกสิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่อาจขึ้นต่อไปตามเหตุปัจจัยยังไม่สิ้นสุด หลักการนี้บังคับให้เราจัดการกับผู้เรียนแต่ละคนด้วยความละเอียดอ่อนและยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับระบบความเชื่อหรือวิธีการ

ระบบการศึกษาสาธารณะที่แสวงหาความสมดุล จะไม่ใช่เป็นวัฒนธรรมเดี่ยวอีกต่อไป มันจะต้องจัดให้มีการเลือกที่หลากหลายที่แสดงถึงปรัชญาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย
 
3. กระจายอำนาจ
ปัจจุบัน การตัดสินใจที่สำคัญที่กระทบต่อชีวิตของคนเป็นล้านๆ จะกระทำโดยนักการเมืองและกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่ใช่จากประชาชนที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็นทางสาธารณะ มาตรฐานการจัดการโรงเรียน การเขียนหลักสูตร ตำรา การสอบ ไม่ได้มาจากความคิดของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง หรือเด็กๆ แต่มาจากผู้บริหารและมูลนิธิที่มีอำนาจ และสื่อ “ไม่มีเด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” เป็นนโยบายของอาณาจักรนักวิชาการ การเคลื่อนไหวของการศึกษาทางเลือกจะเป็นการต่อสู้เพื่อกลุ่มรากหญ้า และการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม
 
4. ปราศจาการแทรกแซงกันระหว่างการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
นักปรัชญา รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (ผู้ก่อตั้งการศึกษาแบบ วอลดอร์ฟ) กล่าวว่า สังคมจะมีสุขภาวะดีที่สุดเมื่อสามหน้าที่หลักของสังคม คือ เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม สามารถรักษาความสมบูรณ์ของตนเองได้โดยปราศจาการแทรกแซงซึ่งกันและกัน เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในยุคปัจจุบัน การลงทุนด้านเศรษฐกิจได้ไหลล้นข้ามขอบเขตที่ควรเป็น จนทำให้ทุกแง่มุมของชีวิต รวมทั้งการศึกษา กลายเป็นตัวสินค้า เป็นสิ่งที่มีค่าทางตลาดมากกว่าจะมีคุณค่าภายใน การปฏิวัติการศึกษานี้ แสวงหาการนำการเรียนการสอนกลับสู่วัฒนธรรมของอิสรภาพและความเลือกที่เป็นอิสระ หรือการดำเนินการเรียนการสอนที่บ้านไม่เพียงแต่การออกมาเพื่อการจัดระบบการศึกษาส่วนตัว เพราะนี่ก็ยังเป็นการถือว่าการสอนเป็นสินค้าอย่างหนึ่งในตลาด ทว่า พวกเขากำลังสนองตอบต่อสำนึกที่ว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง คือการพบกับความหมายที่ลึกซึ้งที่เกิดขึ้นเองจากภายใน ซึ่งการที่จะเป็นเช่นนี้ได้จะต้องอาศัยความเป็นอิสระจากการเมืองและการเศรษฐกิจที่มีอำนาจเหนือการศึกษาสาธารณะมาตลอด
 
5. โลกทัศน์แบบองค์รวม
จากทัศนะแบบองค์รวม เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาไม่ใช่เพื่อการถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการช่วยให้นักเรียนเกิดความสงสัยและมีความกระตือรือล้นและสนใจโลกอย่างมาก และคุ้นเคยกับซักถามและมีวิจารณญาณ และด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ คนที่ได้รับการศึกษาแบบองค์รวมจะอยู่ในโลกได้อย่างมีเป้าหมาย สร้างสรรค์และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

หลักการพื้นฐานทั้ง 5 ประการของการปฏิวัติทางการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นควรจะได้รับการครุ่นคิดอย่างปรานีตในการจัดการศึกษาทางเลือกใหม่

๖. สรุป

ผมขอสรุปบทความนี้ด้วยนิทานเรื่อง โรงเรียนสัตว์
ซึ่งเขียนโดย George H. Reavis   ผมได้ถอดความและใส่ไข่บ้างแล้วนำมาต่อดังนี้

กาลครั้งหนึ่ง พวกเหล่าสัตว์ทั้งหลายได้ตัดสินใจร่วมกัน (มีส่วนร่วมแล้วนะ
!) ว่า "เพื่อที่จะให้พวกเราเหล่าสัตว์ทั้งหลายสามารถรู้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ เราควรจะต้องจัดการให้มีโรงเรียนขึ้นมา ถึงเวลาจะต้องพัฒนาแล้ว"

เพื่อความรวดเร็ว พวกเขาจึงได้ลอกหลักสูตรมาจากสำนักแห่งหนึ่งซึ่งประกอบด้วย 4 วิชา คือวิชา วิ่ง ว่ายน้ำ ปีนต้นไม้ และ บิน คณะกรรมการโรงเรียนก็อนุมัติในทันทีและเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารหลักสูตร พวกเขาจึงตั้งกติกาว่า "สัตว์ทุกตัวต้องลงทะเบียนเรียนทั้งสี่วิชานี้เหมือนกันหมด สัตว์ตัวใดต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษก็ค่อยไปศึกษาระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยก็แล้วกัน"

นักเรียนทั้งหมดมี
5 ท่าน คือ เป็ด กระต่าย กระรอก นกอินทรีย์ และปลาไหล แต่มีตัวละครเพิ่มอีก 1 ตัว คือหนู นักเรียนเป็ดซึ่งมีความสามารถสูงมากในด้านการว่ายน้ำ และจริงๆแล้วเขามีความสามารถมากกว่าครูผู้สอนเสียอีก แต่ด้วยความที่จ้าวเป็ดน้อยกลัวจะสอบตกในวิชาการวิ่ง เป็ดจึงต้องอยู่ตอนเย็นหลังเลิกเรียนเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติม เธอต้องฝึกวิ่งอย่างหนักจน "พายตีน" ฉีกขาด

ในที่สุดนักเรียนเป็ดผู้น่าสงสารก็สอบวิชาว่ายน้ำศาสตร์ได้ เกรดเพียงแค่ผ่าน หรือได้ระดับซีเท่านั้น ส่วนผลการเรียนวิชาอื่น ๆ ปรากฏว่า เป็ดได้เพียงเกรดซีในวิชาการบินและปีนต้นไม้ ส่วนวิชาการวิ่งเธอได้เกรดดีลบ เพราะว่าเท้าของเป็ดน้อยผู้น่าสงสารเต็มไปด้วยแผลเหวอะหวะ

กระต่ายซึ่งมีความสามารถในการวิ่งสูงกว่าเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน แต่กระต่ายก็ต้อง "ประสาทกิน" เพราะวิชาว่ายน้ำแย่งเวลาไปเกือบหมด

เจ้ากระรอกน้อยซึ่งเป็นเลิศในวิชาปีนต้นไม้ก็ต้องมาเซ็งอย่างสุดๆ กับเงื่อนไขของครูที่ว่า
"เธอจะต้องบินจากพื้นดินข้างล่างขึ้นสู่ข้างบนเท่นั้น" กระรอกน้อยก็ขอร้องว่า "ครูครับผมขอบินจากที่สูงคือจากยอดไม้ลงไปสู่พื้นดินซึ่งผมถนัด" แต่คุณครูบอกว่า "ทำไม่ได้ เพราะผิดระเบียบ"

ในที่สุดกระรอกก็ต้องออกแรงมากในการบินจนเกิดอาการปวดขา จึงได้เกรดซีในวิชาปีนต้นไม้และได้เกรดดีในวิชาวิ่งและวิชาการบิน

ส่วนนกอินทรีย์ซึ่งเป็นเด็กมีปัญหาและถูกกวดขันให้อยู่ในวินัยอย่างเข้มงวด ในวิชาปีนต้นไม้ครูบอกว่า
"เธอต้องปีนจากตำแหน่งนี้ไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่งที่ฉันกำหนดให้" เจ้านกอินทรีย์รู้สึกอึดอัดมากจึงดื้อแพ่งที่จะใช้วิธีการของตนเองพร้อมบอกกับคุณครูว่า "หนูสามารถออกจากจุดนี้ไปยังจุดที่คุณครูกำหนดได้อย่างรวดเร็วและเร็วกว่าใคร ๆ ในปฐพีนี้ แต่ขอให้หนูไปโดยวิธีการบิน ขอไม่ปีนได้ไหม" ในที่สุดครูก็ไม่ยอมและให้นกอินทรีย์สอบตก

เมื่อวันสิ้นสุดการศึกษามาถึง ทางโรงเรียนจัดพิธีคล้ายๆ กับเด็กอนุบาลรับปริญญาในเมืองไทย ปลาไหลพิการได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่น ประธานซึ่งสามารถสอบผ่านได้ทุกวิชา คือ ว่ายน้ำได้ดีกว่าใคร ๆ วิ่งก็ได้ ปีนต้นไม้และบินได้เล็กน้อยก็ได้เกรดเฉลี่ยสูงที่สุดในชั้น จนได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนนักเรียนเพื่อกล่าวขอบคุณในงานเลี้ยงอำลาโรงเรียน

ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ วันหนึ่งแม่หนู
(หนูจริง ๆ มีสี่ขามีหางด้วย-ไม่ใช่สาว ๆ ที่แทนตนเองว่าหนู) ได้มาติดต่อกับโรงเรียนเพื่อขอให้ทางโรงเรียนนี้เปิดสอนวิชาขุดดินและการหลบซ่อนตัวให้กับลูกของตน แต่ทางโรงเรียนไม่ยอมเปิดสอน ในที่สุดแม่หนูก็ต้องส่งลูก ๆของตนไปเรียนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในที่สุดลูกหนูตนนี้ก็สำเร็จการศึกษาและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานี้ในเวลา ต่อมา

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ระบบการศึกษามีความสามารถในการทำลายศักยภาพของนักเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม แทนที่การศึกษาจะช่วยค้นหาศักยภาพของผู้เรียนแล้วพัฒนาให้สูงขึ้น

ขอบคุณครับ


[1] ศึกษาโดย รศ.วิทยากร เชียงกูล ธันวาคม 2552
ส. ศิวรักษ์, เครื่องเตือนสติคนร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ: เสมสิกขาลัยและสถาบันสันติประชาธรรม, ๒๕๔๔) หน้า ๓๘.
[3]ได้รับทุนสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กุมภาพันธ์ 2553
 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org