Skip to main content
 

“...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”  

“ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”
 
1. คำนำ

ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 วันของปลายปี 2553 ภัยพิบัติจากธรรมชาติได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยกว่าครึ่งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมภาคอีสาน ภาคกลาง รวมทั้งพายุและดินถล่มในภาคใต้ และถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าในระหว่างที่คนไทยกำลังประสบภัยพิบัติอยู่ ในบางประเทศก็กำลังผจญกับภัยธรรมชาติอีกแบบหนึ่งคือภูเขาไฟระเบิด

บทความนี้จะไม่ขอพรรณนาถึงความเสียหายในภาพรวมที่เกิดขึ้น เพราะท่านผู้อ่านคงได้รับทราบจากสื่อต่างๆเรียบร้อยแล้ว แต่จะขอนำผลการวิจัยทั้งของนักวิทยาศาสตร์และบริษัทประกันภัย เพื่อที่จะอธิบายว่า (1) ทำไมภัยธรรมชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพายุขนาดใหญ่) จึงเกิดถี่และดุร้ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และ (2) บริษัทประกันภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกได้ศึกษาเรื่องค่าเสียหายจากการประกันภัยในอนาคตว่าอย่างไร
 
2. ประวัติพายุในประเทศไทย

ในช่วง 50 ปีมานี้ ประเทศไทยเราได้ประสบกับภัยจากพายุหรือวาตภัยครั้งใหญ่ ๆ จำนวน 4 ครั้ง นับตั้งแต่ (1) พายุโซนร้อน
“แฮเรียต” ที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี 2505  (2) อีก 27 ปีต่อมา พายุไต้ฝุ่น “เกย์” พัดเข้าสู่จังหวัดชุมพร ปี 2532 (3) อีก 8 ปีถัดมาอีกพายุไต้ฝุ่น “ลินดา”  พฤศจิกายน 2540 ใน 11 จังหวัดภาคใต้และภาคตะวันออก  และล่าสุด (4) พายุดีเปรสชัน เมื่อ วันที่ 1  พฤศจิกายน 2553 โดยเริ่มขึ้นฝั่งที่จังหวัดปัตตานีด้วยความเร็ว 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง และออกจากกระบี่เวลา 13.00 น. ของวันรุ่งขึ้นด้วยความเร็วลม  45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  

ผมเองมีประสบการณ์ตรงถึง 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกและสองครั้งหลัง โดยเฉพาะครั้งแรกผมอยู่ห่างจากแหลมตะลุมพุกที่มีคนเสียชีวิตและสูญหายประมาณหนึ่งพันคนเพียง 4 กิโลเมตร เกือบเอาชีวิตไม่รอดได้เห็นศพไม่น้อยกว่า 5 ศพและยังจำภาพติดตามาถึงทุกวันนี้

แม้ความเร็วลมในครั้งหลังสุดจะน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ได้สร้างความเสียหายในทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก อาจจะมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาหลายเท่าตัว
           
3. ผลการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ 

จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร
“Nature” (3 กันยายน 2008) พาดหัวว่า “พายุเกิดถี่ขึ้นเพราะปัญหาโลกร้อน” พร้อมเสริมว่า “ความเร็วสูงสุดของพายุโซนร้อนได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา”  

ข้อโต้เถียงกันว่า ความแรงของลมพายุ ความถี่ในการเกิด และระยะเวลาในการเกิดพายุมีความสัมพันธ์กับภูมิอากาศของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ จากความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์และการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า   น้ำในมหาสมุทร์ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจะมีพลังงานมากขึ้น แล้วพลังงานนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานลม

รายงานฉบับนี้ยังบอกอีกว่า
“อุณหภูมิของน้ำที่ผิวบนของทะเลที่สูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส จะทำให้ความถี่ในเกิดพายุ (ชนิดความเร็วระดับสูงสุดและรองสูงสุด) ถึง 31%  คือจะเพิ่มขึ้นจากปีละ 13 ครั้งเป็น 17 ครั้ง ผลการศึกษาพบว่า ในปี  ค.ศ. 2100  หรืออีก 90 ปี อุณหภูมิของน้ำทะเลจะเพิ่มเป็น 2 องศาเซียลเซียส”

ด้วยข้อมูลดังกล่าว เราคงคาดการณ์ได้เองว่า ความถี่จะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ประวัติของพายุในประเทศไทยที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อที่ 2 คงพอจะเป็นพยานได้ดีถึงแนวโน้วดังกล่าว
 
4. คำเตือนจากบริษัทประกันภัย

ปัจจุบัน ภัยธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ ๆ ได้เกิดขึ้นมากและบ่อยกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วถึง 3 เท่าตัว และถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้  บริษัทประกันภัยที่ชื่อย่อว่า
CGNU ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกและใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า “ความสูญเสียจากภัยธรรมชาติทั่วโลกในปี พ.ศ. 2608  จะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลกรวมกัน”

เฉพาะพายุเฮอริเคน
“Katrina” เพียงครั้งเดียวในปี 2548 ที่รัฐนิวออร์ลีน สหรัฐอเมริกา บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าเสียหายสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาทหรืองบประมาณของรัฐบาลไทยปี 2553) แต่ความเสียหายที่เจ้าของทรัพย์ต้องเสียไปจะมากกว่านี้ประมาณ 3- 4  เท่าตัว  

รายงานอีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า
“ในประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนา คนส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญญาจะทำประกันภัย มีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 10 ของทรัพย์สินส่วนบุคคลเท่านั้นที่ได้ทำประกันภัย”

เจ้าของร้านขายคอมพิวเตอร์ร้านหนึ่งในหาดใหญ่บอกผมว่า
“ปกติร้านเราจะทำประกันภัยรวมทั้งน้ำท่วมทุกปี แต่มาถึงตอนต่อสัญญาปีนี้ทางบริษัทประกันได้ตัดเงื่อนไขน้ำท่วมออกไป โดยไม่บอกให้ทางร้านรู้เลย ราวกับบริษัทเป็นนกรู้แฮะ เพื่อน ๆ ร้านอื่นก็โดนแบบนี้เหมือนกัน”
 
5. ทัศนะของนักการเมืองกับโลกร้อน

สำหรับสาเหตุของโลกร้อนที่ทำให้เกิดพายุบ่อยและแรงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกได้สรุปตรงกันว่า มาจากการใช้พลังงานหลัก 3 ชนิด คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติรวมกันถึง 70% ของสาเหตุทั้งหมดที่มนุษย์ก่อขึ้น แต่ผู้นำทั้งระดับโลกและระดับประเทศไม่สนใจจะแก้ไขอย่างจริงยัง ทั้ง ๆ ที่มีทางเลือกจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล เป็นต้น

ในเดือนมกราคม 2548 ประธานองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (
IPCC) ได้กล่าวในที่ประชุม 114 ประเทศว่า “ชาวโลกได้มาถึงระดับที่อันตรายเรียบร้อยแล้วเพราะระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันตราย” พร้อมกับเรียกร้องให้ทั่วโลกช่วยกันลด “ในทันที” แต่ไม่มีอะไรเป็นมรรคเป็นผล   แม้กระทั่งการประชุมระดับโลกที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อปลายปี 2552 ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า
 
6. สรุป

จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ภัยธรรมชาติเป็นผลมาจากปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นสาเหตุระดับโลกเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่นได้ร่วมกันก่อขึ้นมา  เช่น ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี โดยไม่คำนึงถึงสมดุลของระบบนิเวศน์  การสนใจแต่ภาคการส่งออกของกลุ่มทุนต่างชาติและนายทุนชาติส่วนน้อย ไม่สนใจปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นต้น

เมื่อสองภัยนี้มาประสาน คนส่วนใหญ่ก็เดือดร้อนอย่างที่ทราบกันแล้วและจะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม จนสักวันหนึ่งแม้รัฐบาลและระบบทุนเองก็จะประสบกับภัยพิบัติเช่นกัน

แต่คราวนี้อาจจะไม่ใช่ภัยธรรมชาติแล้วนะครับ แต่จะเป็น “ภัยสังคม” ในความหมายของจริงที่เราเริ่มเห็นลางๆ กันบ้างแล้วนั่นเอง. 

 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…