Skip to main content

๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว

picture1

ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐  

ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า

“เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ในเมื่อผลประโยชน์ของเขาขึ้นอยู่กับความไม่เข้าใจในสิ่งนั้นของเขาเอง”

ในปี ๒๕๔๙  มูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศไทยสูงถึง ๑.๔๘๘ ล้านล้านบาท [2] เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง ๑๗ %  คิดเป็นประมาณ ๑๙ % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (จีดีพี)

นั่นคือ ทุกๆ ๑๐๐ บาทของรายได้ เราจ่ายเป็นค่าเชื้อเพลิงถึง ๑๙ บาท ซึ่งถือว่าเป็นหมวดค่าใช้จ่ายที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในหมวดอื่น ๆ อีกหลายหมวด เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา ยารักษาโรค เป็นต้น

และสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ปัญหาพลังงานไม่ได้อยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่สูงมากเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม (ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในรูปถ่ายที่นำเสนอมาแล้ว) ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งทั้งในระดับชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้า จนถึงการก่อสงครามระหว่างประเทศและภูมิภาคอีกด้วย

นี่ก็เป็นความจริงหนึ่งที่ประเทศผู้ก่อสงครามแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ เหมือนกับที่ท่านนักประพันธ์ดังกล่าวถึง

เรื่องนโยบายสาธารณะ [3] ด้านพลังงานของประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก  ไม่เพียงแต่เป็น “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก” เท่านั้น   แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลประโยชน์จากนโยบายสาธารณะด้านพลังงานคอยกีดกัน ด้วยวิธีการต่างๆนานาไม่ให้สาธารณะชนได้รับทราบความจริงอีกต่างหาก

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์  ได้วิจารณ์นโยบายพลังงานของรัฐบาลต่างๆ ว่า
“. . . ทำให้พลังงานเป็นเรื่องเทคนิคที่คนทั่วไปถูกรอนความสามารถที่จะเข้าไปได้   แม้แต่นักการเมืองซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศ ก็เห็นเรื่องพลังงานเป็นเพียงประเด็นง่ายๆ เพียงขอให้มีพอสำหรับป้อนความต้องการของประชาชนก็เพียงพอแล้ว  ไม่ใช่เรื่องที่ตัวแทนของประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบ และวางนโยบายทางเลือกที่มีประโยชน์ในระยะยาวแก่ส่วนรวม . . .” [4]

ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของผมในการศึกษาเรื่องนี้จึงมี ๒ อย่างครับ คือ

หนึ่ง การค้นหาความจริงเหล่านี้ ทั้งจากเอกสาร ตัวบุคคลและองค์กร ที่ผมได้มีโอกาสสัมพันธ์ด้วย ทั้งระดับประเทศและระดับโลก แล้วนำมาทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้อ่านทั่วไปที่มีระดับความสนใจแตกต่างกัน อย่าลืมนะครับว่า “ความไม่เข้าใจเรื่องนโยบายพลังงาน” ของเราเป็นที่มาของผลประโยชน์อันมหาศาลของนักการเมือง

สอง ผมจะพยายามนำเสนอ “กระบวนการ” หรือขั้นตอนในการสร้างนโยบายสาธารณะของประเทศต่างๆ มาให้คนทำงานภาคประชาชนได้รับทราบแล้วร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันให้ขึ้นสู่ระดับนโยบาย เพราะผมมีความเชื่อว่า ไม่ว่านโยบายใดก็ตามย่อมมีขั้นตอน มีเหตุมีปัจจัยในการเกิดขึ้นเสมอ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะ “เสก” ขึ้นมาเองได้   ดังนั้นถ้าผมสามารถสืบค้นหากระบวนการได้ ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้   ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับกลุ่มประชาสังคม กลุ่มพลเมือง ตลอดจนองค์กรต่างๆ

สิ่งที่ผมอยากจะเรียนในที่นี้ก็คือว่า ไม่ว่าเราในฐานะปัจเจกหรือในฐานะองค์กรใดก็ตาม ต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะด้านพลังงานเสมอ และขนาดของผลกระทบมีมากกว่าที่เราเคยรับรู้มาแล้ว

การทำงานภาคประชาสังคมไม่อำนาจในการสั่งการ  งบประมาณก็มีไม่มากนัก  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้หลักการทำงานมีประสิทธิภาพเพื่อให้สาธารณะเกิดความรู้ความเข้าใจในความจริงใหม่โดยเร็ว

นักสังคมศาสตร์ท่านหนึ่งได้แนะนำไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า “The Tipping Point” [5] ซึ่งขยายความว่า “สิ่งเล็กๆ สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ ๆ ได้อย่างไร”  

ท่านแนะว่าการเผยแพร่ความรู้ให้มีประสิทธิภาพจะต้องประกอบด้วยคนสามฝ่าย คือ

ส่วนที่หนึ่ง ต้องมีผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เราเรียกคนพวกนี้ว่า “Maven” หรือเป็นนายธนาคารข้อมูล ส่วนที่สอง ต้องมีผู้ประสานงาน (connector) ทำหน้าที่เป็น “กาวทางสังคม” และส่วนที่สาม ต้องมีนักขาย (salesman) ที่มีทักษะในการโน้มน้าวให้คนเข้าใจ ให้คนเชื่อ   ความสัมพันธ์ของคนสามฝ่ายนี้แสดงได้ดังแผนผังข้างล่างนี้

picture2

๒. ศึกษาไปเผยแพร่ไป

การศึกษาชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “นโยบายสาธารณะการจัดการความรู้ด้านพลังงาน”   โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข ภาคใต้ ม.อ. โดยมีระยะเวลาศึกษาประมาณหนึ่งปี

ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ ความคิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร  ผมจึงใช้วิธี “ศึกษาไป เผยแพร่ไป” ทั้งในรูปบทความลงหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์และในรูปแบบการบรรยายตามเวทีวิชาการต่างๆ การไฮปาร์ค “ยิกทักษิณ” ออกรายการวิทยุ  รวมถึงการใช้สอนนักศึกษาในวิชา “วิทยาเขตสีเขียว” ตามหลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สถาบันที่ผมสังกัดด้วย   เนื่องจากการเผยแพร่ในลักษณะดังกล่าวต้องมีเนื้อหาที่สามารถเข้าใจได้ในตอนเดียว   ดังนั้น เมื่อนำมารวมเป็นผลงานจึงมีบางเนื้อหาที่อาจจะซ้ำหรือคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของผู้อ่าน ผมจะพยายามตัดส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งออกไปเท่าที่จะทำได้ 

๓. องค์ประกอบเนื้อหา

เนื้อหาประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นนโยบายและกระบวนการผลักดันเคลื่อนไหวโดยมี “นโยบายสาธารณะ” เป็นเข็มมุ่ง และส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระเรื่องพลังงานโดยตรง   ในแต่ละบทมักจะมีเนื้อหาทั้งสองส่วนปนกันไป (ถ้าทำได้)

ในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระของพลังงานโดยตรง ผมจะเริ่มต้นจาก กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลก เชื่อมโยงให้เห็นการผลักดัน “นโยบายพลังงาน” ที่เริ่มต้นจากกลุ่มพ่อค้าน้ำมันระดับโลก ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับน้ำมัน รวมทั้งกลไกราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพยายามก่อสงครามของประเทศมหาอำนาจ

ด้วยเหตุผลที่ว่า การศึกษาชิ้นนี้มีลักษณะ “ศึกษาไป เผยแพร่ไป” ผมจึงขออนุญาตทำความเข้าใจกับชนิดของพลังงานสักนิดก่อน

น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์นับเป็นล้านล้านปี เราเรียกรวมๆ ว่า เป็นพลังงานฟอสซิล

ลักษณะสำคัญของพลังงานฟอสซิล คือ ใช้แล้วหมดไป หมดแล้วหมดเลย เกิดใหม่ไม่ได้ ขณะเดียวกันราคาก็เพิ่มสูงขึ้นทุกวันและถูกกำหนดโดยกลุ่มพ่อค้าผูกขาด  พลังงานพวกนี้แหละที่ก่อมลพิษทั้งต่อชุมชนใกล้ๆและต่อระดับโลก ที่หนังสารคดี “An Inconvenient Truth” กำลังรณรงค์กันอยู่

พลังงานอีกประเภทหนึ่ง  เรียกรวมๆ ว่า “พลังงานหมุนเวียน (renewable energy)” ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์  ลม  พืชน้ำมันบางชนิด ไม้ฟืนผลิตไฟฟ้า  ของเสียจากครัวเรือนโรงงาน และการเกษตร เป็นต้น

พลังงานหมุนเวียนมีลักษณะตรงกันข้ามกับพลังงานฟอสซิล  ที่สำคัญ คือนอกจากไม่มีวันหมดและไม่ก่อมลพิษแล้ว  ยังผูกขาดได้ยาก  ตรงนี้แหละที่กลุ่มพ่อค้าพลังงานและนักการเมืองพยายามกีดกันไม่ให้ใช้  ไม่ให้ประชาชนรู้จักตลอดมา

สำหรับประเด็นอื่นๆ จะครอบคลุมเนื้อหาครบถ้วนตามที่ได้เกริ่นนำมาแล้ว ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักพัฒนาเอกชนระดับโลก ระดับประเทศไทย ประเด็นอิทธิพลของนายธนาคารระดับโลก 

การผลักดันเสนอกฎหมายที่ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นหลักประกันให้ “นโยบายสาธารณะ” ที่เราร่วมกันผลักดันจนได้มาแล้ว (สมมุตินะครับสมมุติ) มีความมั่นคงขึ้น

สำหรับภาพรวมของปัญหาพลังงานในประเทศไทยนอกจากจะมีเนื้อหาตามปกติทั่วไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องการแปรรูป ปตท. และ กฟผ. รวมอยู่ด้วย

ในการศึกษาครั้งนี้  ผมได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข ภาคใต้  ม.อ. (สวรส.)  นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลจากกลุ่มประชาสังคมต่างๆ อีกจำนวนมาก ที่ได้ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอบคุณมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ที่ได้ให้การสนับสนุนในการไปร่วมประชุมและสนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ “พลังยกกำลังสาม” เมื่อต้นปี ๒๕๔๙

----------

[1] ชื่อ  Upton Sinclair (1878-1968)  ข้อมูลเพิ่มเติมที่ค้นได้บอกว่า นอกจากเป็นกวีแล้วยังเป็นนักการเมืองสังคมนิยม(socialist politician)ด้วย
[2] สถานการณ์พลังงานในปี 2549 และแนวโน้มปี 2550  กระทรวงพลังงาน
[3] นโยบายสาธารณะ (public policy) หมายถึง แนวทางกิจกรรม/การกระทำ/การเลือกตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้ทำการตัดสินใจและกำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้นำให้มีกิจกรรม/การกระทำต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ โดยมรการวางแผน การจัดทำโครงการ วิธีการบริหารหรือกระบวนการดำเนินงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยวิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และความต้องการของประชาชน/ผู้ใช้บริการในแต่ละเรื่อง (ที่มา ค้นจากวิกีพีเดีย)
[4] คำนำ ในหนังสือ “พลังยกกำลังสาม”: พลังใจ พลังพลเมือง สร้างนโยบายพลังงาน โดย ประสาท มีแต้ม, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2549
[5] http://en.wikipedia.org/wiki/The_Tipping_Point_(book) เขียนโดย Malcolm Gladwell

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เคยมีคนไปถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ว่า “ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างมากที่สุด” ผู้ถามคงจะคาดหวังว่าไอน์สไตน์น่าจะตอบว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่ไอน์สไตน์กลับตอบว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ “รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว
ประสาท มีแต้ม
  1. คำนำ       ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม ในตอนที่ 1 ผมได้นำข้อมูลที่มาจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นของประเทศไทย ทั้งระดับ ป.6 , ม.3 และมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา โดยวิชาที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ได้เพียงร้อยละ 29.6 เท่านั้น ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่ได้ตั้งไว้ในชื่อบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเราตกต่ำ นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอความคิดเห็นและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย
ประสาท มีแต้ม
๑. คำนำ ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง
ประสาท มีแต้ม
๑. ปัญหาในภาพเล็ก ที่ภาควิชาที่ผมทำงานอยู่คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังคิดทำโครงการที่จะพัฒนานักศึกษานอกเหนือจากรายวิชาและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามปกติแล้ว โครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดีนัก แต่ชื่อโครงการก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันคือ “โครงการรักเจ้าจึงปลูก” ที่มาจากเนื้อเพลง “อิ่มอุ่น” ของ ศุ บุญเลี้ยง
ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
ประสาท มีแต้ม
ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก
ประสาท มีแต้ม
ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52 คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น