Skip to main content

 

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

 

ราวปี พ.ศ.2506
พอย่างเข้าเดือนสิงหาคมกลางฤดูฝน ฝนเริ่มตกหนัก 3-4 วันติดต่อกัน ย่าบอกว่าวิทยุข้างบ้านประกาศ มีไต้ฝุ่นเข้าเมืองไทย ฝนจึงตกมากกว่าปรกติ ฝนยามนั้นจะตกปรอยๆซึมไปเกือบตลอดวัน ฟ้ามืดมัวด้วยเมฆฝน ไม่มีการเห็นแสงเดือนแสงตะวันกันเลย แล้วจะมีฝนตกหนักนานเกินครึ่งชั่วโมงเข้ามาสลับเป็นพักๆ เท่าที่จำได้นานเป็นวันก็เคยมี ใครซักผ้าก็ชื้นอับอยู่อย่างนั้น พื้นดินบริเวณบ้านผมเปียกแฉะไปหมด ต้นไม้ใบหญ้าเปียกโชกชุ่มอิ่มน้ำ น้ำฝนที่ตกลงมาส่งผลให้ระดับน้ำในน้ำแม่ปิงสูงขึ้นรวดเร็ว ชาวเชียงใหม่สัญจรไปมาต่างกวาดตาดูน้ำแม่ปิง สายน้ำสายหลักที่ผูกพันชาวนครพิงค์เนิ่นนาน ตอนเช้าและตอนเย็นจะมีคนเมืองเชียงใหม่ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ แวะไปดูน้ำแม่ปิงกำลังสูงขึ้น บ้างตกจ๋ำ(ยกยอ)ตามข้างหลักรอ 2-3 ราย เห็นรถราผู้คนกระจายตามฝั่ง นับแต่หน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ ผ่านกงสุลอเมริกัน ไปจนถึงร้านวิศาลบรรณาคาร(ปัจจุบัน พ.ศ.2556 อยู่ติดกับร้านเซเวนอีละเวน) ซึ่งอยู่ใกล้ตลาดต้นลำไย

ริมฝั่งน้ำแม่ปิงนี้
ใช้ไม้ซุงเป็นต้นปักไว้ เว้นระยะห่างเล็กน้อย ตีไม้ยึดระหว่างต้นซุง เรียกไม้ซุงที่ถูกตียึดไว้ว่าหลักรอ เพื่อป้องกันดินริมฝั่งพังทลาย เมื่อฝนตกหนักทำให้ระดับน้ำแม่ปิงสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นน้ำขุ่นเป็นสีอิฐ มีฟองฟอดเหลืองลอยบนผิวน้ำ ยังมีเศษไม้และอื่นๆลอยมา เกิดคลื่นที่ผิวน้ำเป็นน้ำวนกระจายทั่ว ตรงเจดีย์งาม(เจดีย์กิ๋วหรือเจดีย์ขาว)นั้นจะตั้งอยู่ริมน้ำแม่ปิงและอยู่ตรงทางโค้งที่กระแสน้ำไหลปะทะพอดิบพอดี กระแสน้ำแม่ปิงจึงไหลเซาะตลิ่งรุนแรง ส่งผลให้เจดีย์งามทรุดเอียง ชาวนครพิงค์โจษจันกัน ต่างใจหายใจคว่ำเกรงเจดีย์เก่าแก่คู่เมืองจะทรุดลงจมน้ำ เสียงวิจารณ์เชิงวิตกกังวลดังทั่วเมือง จะป้องกันอย่างไร ระดับน้ำแม่ปิงก็สูงขึ้นทุกวันและทำท่าจะล้นฝั่ง ทุกฝ่ายพุ่งไปที่เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยคณะเทศมนตรีต้องเร่งแก้ไขเพราะรับผิดชอบโดยตรง

เหตุการณ์ค่อยคลี่คลายด้วยตัวมันเอง
น้ำแม่ปิงค่อยลดระดับลงจนผ่านพ้นฤดูฝน เจดีย์งามผ่านการพังจมลงในน้ำแม่ปิงไปได้หวุดหวิด หลายฝ่ายหายใจโล่งออก โดยเฉพาะชาวเมืองนครพิงค์ทุกบ้านทุกคน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เช่น ชาวเหนือ คนเมือง และกระแสเสียงชาวเมืองต่างเร่งให้ทุกฝ่ายของบ้านเมือง ต้องรีบป้องกันรักษาเจดีย์งามจากน้ำท่วม โดยวิธีการถมตลิ่งริมฝั่ง ซ่อมแซมองค์เจดีย์งามให้ตั้งตรง แข็งแรงปลอดภัย แน่นอนเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพใหญ่


ราวปี พ.ศ.2507
มีการสร้างถนนคอนกรีตและถมดินริมฝั่งน้ำแม่ปิง ให้มีระดับสูงกว่าถนน ตั้งแต่หน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ล่องใต้จนถึงร้านวิศาลบรรณาคาร กลายเป็นทางเท้าคอนกรีต มีราวเหล็กระดับหน้าอก ท่าน้ำปรับเป็นบันไดคอนกรีต สร้างเสร็จนึกว่าจบ มีปัญหาตามมา ดินที่ใช้ถมทางเท้าริมแม่น้ำยุบตัวลง หากเรายืนอยู่ ณ ที่นั้น ทดลองกระทืบเท้า หรือเคาะพื้นดูจะมีเสียงก้องดังโปกๆ แสดงว่าใต้เท้าเรามันกลวง ผมและใครๆบอกต่อกันและทดลองดู มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ สาเหตุคงมาจากน้ำเซาะ ดินถมไม่มากและแน่นพอ คณะเทศมนตรีนครเชียงใหม่ต้องเหงื่อตก ใช้เวลาพักหนึ่งถมดิน หิน ทราย จนอยู่ตัว จึงมั่นคงแข็งแรงดังปัจจุบัน


ถนนและทางเท้าริมตลิ่ง
ที่มีระดับสูงกว่าเดิม ได้ช่วยป้องกันน้ำแม่ปิงล้นฝั่งแล้วข้ามถนน ตั้งแต่หน้าเทศบาลยาวถึงร้านวิศาลบรรณาคาร ร้านนี้อยู่ใกล้ตลาดต้นลำไย  น้ำแม่ปิงที่ล้นฝั่งยามฤดูฝน ไม่สามารถข้ามถนนสู่ทิศตะวันตก ไหลเข้าซอกซอยทะลุถึงถนนราชวงค์ แล้วไหลไปพบกับน้ำแม่ข่าที่ขึ้นสูงรอรับ คล้ายดังสาวน้อยบอบบางผู้มั่นคงและอดทน เฝ้ารอชายคนรักร่างใหญ่จะกลับมาหาตามสัญญา...เหตุนี้จึงทำให้หมู่บ้านผมในซอยซิ้นเชียงหลีย่านถนนราชวงค์ ไม่มีน้ำท่วมใหญ่อีกต่อไป จะท่วมก็เพียงน้ำแม่ข่าที่มีปริมาณไม่มากนัก.

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
                                                            
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง