Skip to main content

เมื่อ พ.ศ.2520 ดิฉันได้ดูหนังเรื่อง "แผลเก่า" ที่สร้างและกำกับโดย เชิด ทรงศรี ดิฉันชื่นชมมาก จนดูซ้ำถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งก็ซาบซึ้ง สะเทือนใจ จนน้ำตาไหลพราก หลายฉาก หลายตอน

ต่อมาดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับพี่เชิด พี่จันทนา น้องไม้ไผ่ น้องผึ้ง และน้องแสงแดด โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ผู้มีคุณูปการต่อชีวิต คือ โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองผูกพันกันเหมือนญาติ

พี่เชิดกับคุณธนูชัย ดีเทศน์ เป็นเหมือนพี่น้องที่สื่อสารกันด้วยใจ พี่เชิดกับครอบครัวไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่บนดอยแม่สลอง และเมื่อดิฉันมากรุงเทพ ฯ ก็มาพักที่บ้านพี่เชิดเป็นประจำ

หนังที่พี่เชิดสร้าง ดิฉันจะคอยติดตามดู ตั้งแต่พลอยทะเล ทวิภพ อำแดงเหมือนกับนายริด เรือนมยุรา และข้างหลังภาพ ทุกเรื่องมีความงามของวัฒนธรรมไทย ธรรมชาติ และหลักธรรมะ ดูครั้งใดก็ติดตาตรึงใจไปแสนนาน

เสียดายที่พี่เชิดจากไปในวัยที่ควรทำประโยชน์ต่อโลกได้อีกมาก แฟนหนังของพี่เชิดจึงรู้สึกอาลัยอาวรณ์ พยายามจัดกิจกรรมรำลึกถึง โดยจัดนิทรรศการชีวิตและผลงานของพี่เชิดที่บ้านเกิด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2549 ถึง 24 กันยายน 2550 รวมทั้งทอดกฐินส่งผลบุญไปให้

picture1

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2550 พี่จันทนา ทรงศรี ได้กรุณาชวนดิฉันไปงานเปิดตัวสัปดาห์ภาพยนตร์เชิด ทรงศรี ที่โรงหนังแกรนด์ อีจีวี สยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 6 ซึ่งฉายภาพยนตร์เรื่องแผลเก่า เป็นประเดิม เวลา 19.00 น.

picture2

ดิฉันมาถึงก็พอดีได้เวลาฉายหนัง ไม่ทันได้ร่วมพิธีการเปิดตัวสัปดาห์หนังของพี่เชิด ทรงศรี ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กับไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ร่วมจัดโดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ สถานทูตฝรั่งเศส สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ชมรมวิจารณ์บันเทิงและสมาคมผู้กำกับ

สามสิบปีที่ผ่านไป เมื่อได้ดูหนัง “แผลเก่า” อีกครั้งหนึ่ง คำขวัญคู่กับหนังที่พี่เชิดอยากสร้างที่สุด คือ “เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก” ยิ่งประจักษ์ชัดในใจของดิฉัน

ฉากแรกที่ยิ่งใหญ่ คือ ฉากเพลงเหย่อย ในพิธีไหว้แม่โพสพที่บ้านกำนันเรือง พ่อของเรียม ทำให้เห็นวัฒนธรรมของชนบทไทย ที่มีความกตัญญูต่อแม่โพสพที่ให้ชีวิตทุกเมื่อเชื่อวัน
ฉากที่ขวัญกับเรียมขี่ควายพาไปเลี้ยงในท้องทุ่ง ผ่านทุ่งนาและลำคลองที่อุดมสมบูรณ์ ฉากเรียมใช้สุ่มจับปลา ฉากรักกลางธรรมชาติ แสดงให้เห็นชีวิตที่สงบสุข เรียบง่าย ผูกพัน กับธรรมชาติของเกษตรกรในชนบทที่ทุ่งบางกะปิ

เมื่อเรียมถูกพ่อตี แล้วจับเรียมผูกโซ่ขังไว้ในยุ้งข้าว โดยแม่พยายามปกป้องลูกสาวที่รักดังดวงใจ แต่แม่กำลังน้อย สู้พ่อไม่ได้ เป็นฉากที่แสดงถึงการกดขี่ผู้หญิงอย่างไม่มีทางสู้ แม่จึงตรอมใจที่ลูกสาวถูกนำไปขายให้คุณนายที่กรุงเทพ ฯ เพื่อไถ่ถอนที่นา

เรียมเริ่มปรับตัวกับวิถีชีวิตคนกรุง ตามที่คุณนายซึ่งรักเรียมเหมือนลูกฝึกฝนให้ โดยหลานชายของคุณนายที่กลับจากต่างประเทศมาหลงรัก

แต่เมื่อรู้ข่าวว่าแม่ป่วย เรียมก็กลับมาสู่ทุ่งบางกะปิอีกครั้ง ภาพที่เรียมซุกหน้าแนบฝ่าเท้าของแม่ ด้วยความรัก ความห่วงใย ทำให้ดิฉันน้ำตาพรั่งพรู ในยุคสมัยนี้มีลูกกี่คนที่กราบเท้าแม่และถวิลหาที่จะปรนนิบัติแม่พ่อด้วยความกตัญญู

ศรินทิพย์ ศิริวรรณ กับ นันทนา เงากระจ่าง เล่นบทแม่ลูก ได้ซึ้งใจจริง ๆก่อนสิ้นลม แม่สอนลูกว่า ขอให้ลูกเลือกชีวิตด้วยตนเอง เลือกความรักแท้ อย่ายอมให้ใครบังคับใจ เพราะจะทุกข์ตลอดชีวิต เหมือนที่แม่ประสบอยู่

ส.อาสนจินดา แสดงเป็นพ่อของขวัญ ผู้รักลูกโทนคนเดียวที่กำพร้าแม่ตั้งแต่เล็ก โดยยอมทำทุกอย่างเพื่อลูก สายตาที่ทอดมองลูกด้วยความรัก ความห่วงใย ตรึงใจผู้ดูทุกคน

สรพงศ์ ชาตรี แสดงเป็นขวัญอย่างได้อารมณ์ สมเป็นพระเอกตุ๊กตาทองเจ้าบทบาทจริง ๆ
ในงานวันนี้สรพงศ์มากับภรรยาคู่ใจ (คุณดวงเดือน จิไธสงค์) ด้วยวัยห้าสิบปีกว่า ๆ สรพงศ์ยังดูสุขภาพดี ไม่มีริ้วรอยของกาลเวลาที่ผ่านไปเลย

เมื่อหนังจบลง เสียงปรบมือดังก้อง แสงไฟส่องสว่างทั่วโรง มองเห็นสีหน้าฉ่ำน้ำตาของผู้ดูทั้งหลาย คงทั้งประทับใจหนังแผลเก่า และระลึกถึงความดีของพี่เชิด ทรงศรี ที่ได้ประกาศศักดาของหนังไทย คว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดภาพยนตร์ ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2524 และเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุด เมื่อเทียบกับหนังทุกเรื่องที่เคยฉายในประเทศไทย ณ พ.ศ.นั้น

หลังจากความสำเร็จของหนัง แผลเก่า ผลงานทุกเรื่องของพี่เชิด ทรงศรี มักได้รับเชิญไปฉายในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติ ทั้งในเอเชีย และประเทศตะวันตก

จึงถือได้ว่า เชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับชาวไทยที่สามารถนำธงไทยไปปักบนแผนที่ภาพยนตร์โลก ช่วงท้ายของสัปดาห์หนัง เชิด ทรงศรี วันที่ 28,29,30 กันยายน ยังมีฉายภาพยนตร์ดังนี้ ศุกร์ 28 กันยายน 19.00 น. พลอยทะเล เสาร์ 29 กันยายน 14.00 น. อำแดงเหมือนกับนายริด และอาทิตย์ 30 กันยายน 14.00 น. เพื่อนแพง

เชิญชื่นชมกับเรื่องย่อและโปสเตอร์หนังทั้งสามเรื่อง ได้ค่ะ

picture3

picture4

picture5

ดิฉันขอเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดให้นักเรียน นักศึกษา ได้มาดูหนังอมตะของพี่เชิด ทรงศรี ในช่วงต่อไป เพื่อปลุกให้เด็กไทยภูมิใจในรากเหง้าของตน ดังปณิธานที่พี่เชิด ทรงศรี ได้ตั้งไว้

ขอให้จิตวิญญาณของพี่เชิด ทรงศรี ผู้สร้างงานด้วยปัญญาและหัวใจ จงอยู่คู่กับวงการภาพยนตร์ไทยนิรันดร์กาล.

บล็อกของ เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา

เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
“ไฟมาป่าเป่ง มดส้มเต้ง ผักหวานโป่ง” คือคำพังเพยที่พ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ได้เล่าให้ฟังในที่ประชุมคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ รางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 ที่บ้านธารแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ไฟคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งชาวเหนือและชาวอีสานผู้ใช้ชีวิตร่วมกับป่ามาช้านาน มีคำพังเพยว่า ช่วงฤดูแล้งต่อต้นฤดูฝนต้องเผาป่า เพื่อให้ไม้ผลิใบใหม่ มดแดงจะมีไข่เป้ง เม็ดใหญ่ เป็นอาหารโปรตีนชั้นดี แกงใส่ยอดผักหวาน ซึ่งจะแตกยอด(โป่ง) ในช่วงฤดูแล้งผักหวานไข่มดแดง(ภาษาเหนือเรียกมดส้ม)เห็ดเผาะ ภาพจาก www.siamensis.org
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
คุณแอ๊ะ ชุติมา  นุ่นมัน นักข่าวสาวร่างใหญ่ผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนงดงาม โทรศัพท์มาขอให้ครูแดงเขียนคำนิยมหนังสือของ สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งถ่ายทอดงาน 13 โครงการ อันก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม “แต่ละตอนอยากให้คนอ่าน อ่านแล้วมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิต ทั้งนี้หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขนั้นเป็นวิถีพอเพียงที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้”  นี่คือปณิธานของคุณแอ๊ะ ชุติมา   นุ่นมัน ผู้เป็นทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่ดำเนินงานโครงการ นำความสุข 13 เรื่อง ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ปลายเดือนตุลาเวียนมาหา               ฝนหายจากฟ้า อากาศเย็นใส เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสบายใจ               ข้าวไร่เหลืองอร่ามงามตา ทุ่งนาเชิงเขาพริ้วไสว พี่น้องปกาเกอญอร่วมแรงใจ               เกี่ยวข้าวไร่ พร้อมพรัก สามัคคี พืชพันธุ์หลากหลายปลูกไว้               ในไร่ข้าวมีถั่ว พืช ผัก ทุกสิ่งศรี งา พริก มะเขือ แตง ผัก เผือก มัน สุดแสนดี               เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
สัปดาห์นี้คุณเตือนใจติดภารกิจไม่สามารถเขียนเรื่องลงได้  จึงได้มอบหมายให้ดิฉันจันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง ถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับห้วงเวลาของเทศกาลเข้าพรรษา ความเรียบง่ายแต่งดงามของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล เชิญติดตามอ่านค่ะตั้งแต่ตอนที่ยังท้องอยู่ ดิฉันและพ่อของลูกมีความคิดเห็นตรงกันในการอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ดังนั้น ทุกวันพระเราจึงพากันเข้าวัด ตักบาตร ฟังเทศน์อย่างสม่ำเสมอ แต่พอคลอดน้องต้นหนาว ด้วยภาวะที่เพิ่งมีลูกคนแรก ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด กิจวัตรการตักบาตรทุกวันพระจึงเป็นอันงดไปโดยปริยายกระทั่งต้นหนาวเติบโตขึ้นตามลำดับ จนอายุครบ 10…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ด้วยความประทับใจจากการไปศึกษาดูงานต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อครั้งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ดิฉันจึงร้อยเรียงเล่าสู่ท่านผู้อ่านในคอลัมน์ “วิถีไทย” ในสยามรัฐรายวันเมื่อเริ่มแรก แล้วย้ายมาเป็นคอลัมน์ในสยามรัฐรายสัปดาห์ ด้วยความเมตตาของบรรณาธิการ และพี่ชัชวาล คงอุดมผู้อ่านหลายท่านกรุณาชี้แนะว่าน่าจะรวมเล่มสักครั้งซึ่ง คุณอาทร เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์น ยินดีเป็นเจ้าภาพพิมพ์และจัดจำหน่าย  น้องน้ำหวาน (ปิยวรรณ  แก้วศรี)  ก็เห็นดีเห็นงามว่าจะรับเป็นบรรณาธิการและจัดรูปเล่มให้ เพื่อสร้างผลงานหนังสือในโอกาสที่ดิฉันมีอายุ 55 ปี ซึ่งหนังสือได้ช่วยกันตั้งหลายชื่อ เช่น “อนุสติบนบาทวิถีโลก”…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ยามปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนตุลาคม ต้นปีบขาว (กาสะลองเงิน) กำลังออกดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนให้คิดถึงการมาเยือนภาคเหนือเพื่อชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบสุขของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ และสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลสังคมเมือง เช่น อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะยิ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้โดยไม่ขาดสายคุณแมว – จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่อง “การสืบสานผ้าทอต่อจากแม่” มาฝากท่านผู้อ่าน เชิญติดตามค่ะเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
เมื่อ พ.ศ.2520 ดิฉันได้ดูหนังเรื่อง "แผลเก่า" ที่สร้างและกำกับโดย เชิด ทรงศรี ดิฉันชื่นชมมาก จนดูซ้ำถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งก็ซาบซึ้ง สะเทือนใจ จนน้ำตาไหลพราก หลายฉาก หลายตอนต่อมาดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับพี่เชิด พี่จันทนา น้องไม้ไผ่ น้องผึ้ง และน้องแสงแดด โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ผู้มีคุณูปการต่อชีวิต คือ โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองผูกพันกันเหมือนญาติพี่เชิดกับคุณธนูชัย ดีเทศน์ เป็นเหมือนพี่น้องที่สื่อสารกันด้วยใจ พี่เชิดกับครอบครัวไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่บนดอยแม่สลอง และเมื่อดิฉันมากรุงเทพ ฯ ก็มาพักที่บ้านพี่เชิดเป็นประจำหนังที่พี่เชิดสร้าง…