Skip to main content

ยามปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนตุลาคม ต้นปีบขาว (กาสะลองเงิน) กำลังออกดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนให้คิดถึงการมาเยือนภาคเหนือเพื่อชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบสุขของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ และสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลสังคมเมือง เช่น อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะยิ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้โดยไม่ขาดสาย

คุณแมว – จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่อง “การสืบสานผ้าทอต่อจากแม่” มาฝากท่านผู้อ่าน เชิญติดตามค่ะ

เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ต้องการเป็นพื้นฐาน นอกเหนือจากอาหาร ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย คนในอดีตใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าในฐานะที่เป็นเครื่องปกปิดร่างกายไม่ให้ดูอุจาดตา เครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่มเมื่อครั้งกระนั้นจึงมีลักษณะเรียบง่าย

วิวัฒนาการแต่ละยุคที่ผ่านมา ทำให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่อย ๆ กลายเป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกถึงอารยธรรมของผู้คน และยังเป็นตัวชี้วัดฐานะความยากดีมีจน รวมทั้งสถานภาพทางสังคม ยิ่งอยู่ในระดับชนชั้นปกครอง เครื่องแต่งกายยิ่งต้องวิจิตรบรรจง

ปัจจุบันเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยังสามารถบอกรสนิยมของผู้สวมใส่และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลของอารยธรรมที่เจริญทางวัตถุไปสู่ทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ที่ผู้คนต้องรีบเร่งวิ่งตามแฟชั่นเพื่อไม่ให้ตกยุค ส่วนในสังคมชนบทรวมถึงสังคมของพี่น้องชนเผ่า แม้จะอยู่ห่างไกล แต่สื่อต่าง ๆ ที่ซอกซอนไปทุกหย่อมหญ้าก็ยังส่งผลกระทบไปถึงวัฒนธรรมการแต่งกายอยู่ไม่น้อย

เอกลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมโดดเด่นให้คนภายนอกรับรู้ได้ทันทีถึงความเป็นพี่น้องแต่ละชนเผ่า คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในประเทศไทยประกอบไปด้วยชนเผ่ามากมาย เฉพาะในภาคเหนือของประเทศมีผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ อาทิ กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่(มูเซอ) อาข่า(อีก้อ) ลีซู(ลีซอ) เมี่ยน(เย้า) ลัวะ มลาบรี ไทลื้อ ไทใหญ่ จีนฮ่อ เป็นต้น การจำแนกแยกแยะโดยสายตาในสมัยก่อน วิธีที่ง่ายที่สุดดูได้จากเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่

picture

สมัยนี้แทบทุกชนเผ่าในเวลาปกติ จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเหมือนคนพื้นราบทั่วไป โดยเฉพาะผู้ชายและเด็กวัยรุ่น ไม่ว่าหญิงหรือชายจะไม่ค่อยแต่งชุดชนเผ่าดั้งเดิมของตน หากไม่ใช่การต้องร่วมงานพิธีสำคัญ ผิดกับผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป ที่ยังคงใส่ชุดประจำเผ่ายามใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติ

พื้นที่ผืนป่าอุ้มผาง ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวปกาเกอญอ(กะเหรี่ยง) มีชนเผ่าม้งอาศัยอยู่เพียงหมู่บ้านเดียว คือ บ้านแม่กลองใหญ่ ตำบลโมโกร ชาวปกาเกอญอดั้งเดิมส่วนใหญ่ เป็นสะกอ หรือที่คนอุ้มผางเรียกว่า กะเหรี่ยงดอย มีบางส่วนที่อพยพเข้ามาภายหลังจากจังหวัดกาญจนบุรีและจากประเทศพม่า เป็น โปว์ หรือ กะเหรี่ยงน้ำ ซึ่งการแต่งกายของทั้งสองกลุ่มจะแตกต่างกัน

picture

ในส่วนของสะกอเอง ยังมีกลุ่มย่อยที่มีความเชื่อต่างออกไป คือ กลุ่มที่นับถือฤาษี โดยเฉพาะที่บ้านเลตองคุ และ บ้านซอแหมะ  ทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผิดแผกจากหมู่บ้านอื่น ๆ

การเก็บข้อมูลงานผ้าทอของโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง จึงสุ่มตัวอย่างสามหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทีจอชี หมู่ที่ 11 ตำบลแม่จัน ที่เป็นหมู่บ้านนำร่อง และเป็นชุมชนที่ผู้หญิงทั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ หญิงสาว แม่บ้านแม่เรือนหรือหญิงชรา ล้วนแล้วแต่แต่งกายด้วยชุดปกาเกอญออยู่ตลอดเวลา

บ้านยะแมะคี หมู่ที่ 7 ตำบลโมโกร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างจากถนนสายแม่สอด-อุ้มผางเพียง 6 กิโลเมตร จะเห็นว่า ผู้ชายและคนในวัยหนุ่มสาวจนถึงเด็ก ๆ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเหมือนคนพื้นราบโดยทั่วไปในการใช้ชีวิตปกติประจำวัน แต่ทุกคนก็ยังมีชุดปกาเกอญอสำหรับใส่ในพิธีการสำคัญ และเด็กสาวทุกคนยังสามารถทอผ้าอย่างง่าย ๆ ได้ เช่น ย่าม เสื้อที่ไม่มีลวดลายมากนัก

ขณะที่บ้านซอแหมะที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือฤาษี จะสวมเสื้อผ้าปกาเกอญอเหมือนทั่วไป มีพิเศษในส่วนของเสื้อคลุมฝ่ายหญิง เป็นเสื้อที่มีส่วนลำตัวสั้นแต่แขนยาว และมีผ้าโพกศรีษะของทั้งหญิงชายในตอนร่วมงานหรือพิธีการสำคัญ ผู้ชายที่นับถือฤาษีจะไว้ผมยาวและเกล้าจุกไว้ด้านหน้า

กระบวนการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกของงานผ้าทอจากหมู่บ้านทีจอชี ได้รับคำยืนยันว่า งานผ้าทอไม่มีวันสูญหายไปแน่นอน เพราะเป็นภาระหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของหญิงผู้เป็นแม่ที่ต้องถ่ายทอดการทอผ้าต่อไปยังบุตรสาว แม้กระทั่งเด็กสาวที่ออกจากหมู่บ้านไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านกล้อทอ ที่ห่างออกไป 12 กิโลเมตร จะกลับบ้านเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และช่วงปิดเทอม ก็ยังถูกสั่งสอนให้ต้องทอผ้าอย่างง่าย ๆ ให้เป็น

ผ้าทอของทีจอชี นอกเหนือจากเสื้อผ้าของหญิงสาว (ชุดเชวาสีขาวหรือสีอื่น ๆ ที่ทอยาวเป็นชุดกระโปรง) เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้ว (เชซู เสื้อแขนสั้นพื้นสีดำ ทอลวดลายด้านล่าง) ผ้าถุง ชุดยาวของผู้ชายสำหรับใส่ในพิธีกรรม เสื้อผู้ชายแขนสั้น เสื้อและชุดสำหรับเด็กชายหญิง ชาวปกาเกอญอบ้านทีจอชี ยังใช้ย่าม ผ้าโพกหัว ผ้าห่ม (สามารถใช้เป็นผ้าสำหรับแบกลูกน้อยได้ด้วย) ที่ทอกันเองภายในหมู่บ้าน

ลักษณะของเสื้อผ้าที่คนปกาเกอญอทุกกลุ่มสวมใส่ ไม่มีกระดุม ซิป หรือผ้าผูก ใช้เพียงผ้าทอหน้าแคบที่อาศัยเพียงอุปกรณ์การทออย่างง่าย ๆ สามารถทำได้เองในครัวเรือน โดยใช้ผ้าสองผืนมาเย็บติดกัน เวลาใส่ก็สวมผ่านศีรษะ เสื้อผ้าของเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหรือหญิงก็มีลักษณะเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะสีสันและลวดลายเท่านั้น

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเสื้อผ้าผู้ชายที่ใช้พิธีกรรม กล่าวคือ ชาวปกาเกอญอในอุ้มผาง จะใส่ชุดยาวสีชมพูสดหรือสีอื่น ๆ คล้ายชุดเชวาของหญิงสาว ขณะที่หากเป็นเวลาปกติ ผู้ชายจะสวมโสร่งแทนกางเกง ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า ซึ่งไม่เหมือนกับปกาเกอญอในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่จะใส่เสื้อสั้นสีแดงกับกางเกง

ลวดลายที่ใช้บนผืนผ้ามีทั้งลายดั้งเดิมที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต แม่เฒ่าคนหนึ่งเล่าว่า ส่วนใหญ่ลายของปกาเกอญอมาจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลายกระบุง ตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่ น่าเสียดายที่ประวัติความเป็นมา สัญลักษณ์และเรื่องราวจากลายผ้าถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา ลวดลายใหม่ ๆ ที่นำเสนอรูปธรรมตรง ๆ เช่น ลายนกคู่ รูปหัวใจ มักได้มาจากผ้าทอฝั่งพม่า  ซึ่งชาวบ้านหลายคนในทีจอชียังมีเครือญาติและการไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับสีของชุดเชวาที่แต่เดิมมีเพียงสีขาว ในยุคหลัง ๆ นี้เริ่มมีสีอื่น ๆ เช่น เขียว น้ำเงิน ดำ แต่ยังคงรูปแบบเป็นชุดกระโปรงยาว

picture

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นกับผ้าทอ นอกเหนือจากลวดลายใหม่ ๆ ที่นำเข้ามา คือ ด้ายที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทอ แต่ก่อนชาวบ้านจะปลูกต้นฝ้ายไว้ในไร่ข้าว แล้วนำมาตี ปั่นและกรอจนเป็นเส้นด้าย โดยเครื่องมือพื้นบ้านที่ผลิตกันเอง จากนั้นนำด้ายมาย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ จึงจะนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยเวลาและความพากเพียรของผู้ทอเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีทางเลือกที่สะดวกสบาย โดยการซื้อด้ายสำเร็จรูปที่ย้อมด้วยสีเคมีฉูดฉาด ราคาไม่สูงนัก เดิมทีต้องเดินทางออกมาซื้อถึงตัวอำเภออุ้มผางที่อยู่ไกลถึง 60 กิโลเมตร เดี๋ยวนี้ชาวบ้านสามารถเดินทางเพียง 10 กิโลเมตรเพื่อซื้อหาด้ายจากศูนย์อพยพนุโพที่มีตลาดค้าขายข้าวของแทบทุกชนิดเหมือนในตัวอำเภอ

picture

แกนนำอาวุโสของบ้านทีจอชี มีความเป็นห่วงว่า ภูมิปัญญาในการผลิตวัตถุดิบสำหรับทอผ้าจะสูญหายไป ทั้งการปลูกฝ้าย การย้อมด้วยสีธรรมชาติ ตลอดจนลายผ้าเก่า ๆ จึงตกลงร่วมกันรื้อฟื้นการปลูกฝ้ายในไร่ข้าวขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับตีฝ้าย เครื่องกรอฝ้ายเป็นเส้นด้ายโดยช่างฝีมือในหมู่บ้านที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คน

ส่วนการย้อมสีธรรมชาติพบว่า เหลือเพียงแม่เฒ่าคนเดียวซึ่งแก่มากแล้วที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนี้ บรรดาเยาวชนและแกนนำหมู่บ้านได้หารือว่าน่าจะมีการเรียนรู้เรื่องย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนที่ทำกันเป็นประจำมาเป็นพื้นฐานก่อน แล้วค่อยขอคำปรึกษาจากแม่เฒ่าเพิ่มเติม

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานผ้าทอ โดยเน้นเรื่องการย้อมสีธรรมชาติจากบ้านโป่ง  หมู่ที่ 12  ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเกิดขึ้น มีการพาตัวแทนแกนนำเยาวชนและผู้นำของหมู่บ้านไปศึกษาถึงวัตถุดิบในการย้อมผ้าจากป่าของแม่สะเรียง อุปกรณ์การย้อมผ้า ลวดลายต่าง ๆ การผลิตผ้าทอให้สวยงามหากจะนำมาจำหน่าย รวมทั้งได้ฝึกปฏิบัติจริงในเรื่องการย้อมสีธรรมชาติ     ซึ่งรายละเอียดกิจกรรมดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทความเรื่อง “เส้นใย ปกาเกอญอที่ทอถัก จากอุ้มผางสู่แม่สะเรียง”

ภายหลังกลับจากการเรียนรู้ แกนนำที่มีโอกาสออกไปศึกษาดูงาน ได้จัดให้มีการสาธิตย้อมสีธรรมชาติขึ้นในหมู่บ้านทีจอชี โดยเชิญแม่เฒ่าผู้รู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติมาร่วมให้คำแนะนำด้วย ซึ่งได้รับความสนใจ ความร่วมมือช่วยเหลือจากชาวบ้านทุกคนเป็นอย่างดี สิ่งที่พบจากการเสาะหาวัตถุดิบในการย้อมผ้า คือ ต้นไม้ที่ให้สีตามธรรมชาติในป่ารอบ ๆ หมู่บ้านทีจอชี มีความหลากหลายของชนิดและมีปริมาณมากกว่าที่พบในป่าของแม่สะเรียง เนื่องจากผืนป่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า แกนนำเยาวชนจึงขอร้องให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลผืนป่า เพื่อให้มีวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติต่อเนื่องไปตลอด

picture

นอกเหนือจากการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั้งหมู่บ้าน การจัดให้รื้อฟื้นงานผ้าทอ ยังช่วยชาวบ้านได้ฉุกคิดเรื่องราวของบทบาทหญิงชาย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชาย ที่ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการทอผ้า พวกเขาจะไม่สนใจและคิดว่าเป็นงานของผู้หญิง แต่หลังจากมีการร่วมกันปลูกฝ้ายในไร่ ช่วยกันเสาะหาวัตถุดิบสำหรับใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ รวมถึงการสร้างเครื่องมือทอผ้าอันเป็นบทบาทเฉพาะที่สำคัญของฝ่ายชาย จึงทำให้การพูดคุยเรื่องงานผ้าทอในช่วงหลัง มีผู้ชายเข้าร่วมมากขึ้นและมีส่วนในการแลกเปลี่ยนมากกว่าเดิม

สิ่งที่ยังคงเป็นความคาดหวังของแม่เฒ่าและแกนนำอาวุโสของบ้านทีจอชี คือ การให้เยาวชนรื้อฟื้นและสืบค้นเรื่องราวของลายผ้าปกาเกอญอโบราณที่อาจต้องเสาะหาจากชุมชนอื่น แล้วนำมาฝึกทอ ทั้งนี้อยากให้เน้นการทอผ้าจากฝ้ายที่ย้อมสีธรรมชาติ เพื่อใช้เองในวิถีชีวิตประจำวันแทนการซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป อันเป็นพึ่งพาตนเองเสียก่อน หากในอนาคตงานผ้าทอถูกพัฒนาจนมีคุณภาพ จึงค่อยคิดถึงการนำออกจำหน่าย

หากเสื้อผ้าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่บ่งบอกตัวตนและอุปนิสัยของผู้สวมใส่ การแต่งกายของคนปกาเกอญอ      แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายแต่ประณีตบรรจงจากลวดลายที่ถักทอ บ่งบอกถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ และเป็นความภาคภูมิใจของหญิงปกาเกอญอโดยเฉพาะผู้เป็นแม่   ที่มีโอกาสส่งผ่านวิถีอันงดงามต่อไปยังบุตรสาวของตนรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

บล็อกของ เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา

เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
“ไฟมาป่าเป่ง มดส้มเต้ง ผักหวานโป่ง” คือคำพังเพยที่พ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ได้เล่าให้ฟังในที่ประชุมคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ รางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 ที่บ้านธารแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ไฟคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งชาวเหนือและชาวอีสานผู้ใช้ชีวิตร่วมกับป่ามาช้านาน มีคำพังเพยว่า ช่วงฤดูแล้งต่อต้นฤดูฝนต้องเผาป่า เพื่อให้ไม้ผลิใบใหม่ มดแดงจะมีไข่เป้ง เม็ดใหญ่ เป็นอาหารโปรตีนชั้นดี แกงใส่ยอดผักหวาน ซึ่งจะแตกยอด(โป่ง) ในช่วงฤดูแล้งผักหวานไข่มดแดง(ภาษาเหนือเรียกมดส้ม)เห็ดเผาะ ภาพจาก www.siamensis.org
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
คุณแอ๊ะ ชุติมา  นุ่นมัน นักข่าวสาวร่างใหญ่ผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนงดงาม โทรศัพท์มาขอให้ครูแดงเขียนคำนิยมหนังสือของ สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งถ่ายทอดงาน 13 โครงการ อันก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม “แต่ละตอนอยากให้คนอ่าน อ่านแล้วมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิต ทั้งนี้หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขนั้นเป็นวิถีพอเพียงที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้”  นี่คือปณิธานของคุณแอ๊ะ ชุติมา   นุ่นมัน ผู้เป็นทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่ดำเนินงานโครงการ นำความสุข 13 เรื่อง ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ปลายเดือนตุลาเวียนมาหา               ฝนหายจากฟ้า อากาศเย็นใส เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสบายใจ               ข้าวไร่เหลืองอร่ามงามตา ทุ่งนาเชิงเขาพริ้วไสว พี่น้องปกาเกอญอร่วมแรงใจ               เกี่ยวข้าวไร่ พร้อมพรัก สามัคคี พืชพันธุ์หลากหลายปลูกไว้               ในไร่ข้าวมีถั่ว พืช ผัก ทุกสิ่งศรี งา พริก มะเขือ แตง ผัก เผือก มัน สุดแสนดี               เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
สัปดาห์นี้คุณเตือนใจติดภารกิจไม่สามารถเขียนเรื่องลงได้  จึงได้มอบหมายให้ดิฉันจันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง ถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับห้วงเวลาของเทศกาลเข้าพรรษา ความเรียบง่ายแต่งดงามของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล เชิญติดตามอ่านค่ะตั้งแต่ตอนที่ยังท้องอยู่ ดิฉันและพ่อของลูกมีความคิดเห็นตรงกันในการอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ดังนั้น ทุกวันพระเราจึงพากันเข้าวัด ตักบาตร ฟังเทศน์อย่างสม่ำเสมอ แต่พอคลอดน้องต้นหนาว ด้วยภาวะที่เพิ่งมีลูกคนแรก ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด กิจวัตรการตักบาตรทุกวันพระจึงเป็นอันงดไปโดยปริยายกระทั่งต้นหนาวเติบโตขึ้นตามลำดับ จนอายุครบ 10…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ด้วยความประทับใจจากการไปศึกษาดูงานต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อครั้งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ดิฉันจึงร้อยเรียงเล่าสู่ท่านผู้อ่านในคอลัมน์ “วิถีไทย” ในสยามรัฐรายวันเมื่อเริ่มแรก แล้วย้ายมาเป็นคอลัมน์ในสยามรัฐรายสัปดาห์ ด้วยความเมตตาของบรรณาธิการ และพี่ชัชวาล คงอุดมผู้อ่านหลายท่านกรุณาชี้แนะว่าน่าจะรวมเล่มสักครั้งซึ่ง คุณอาทร เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์น ยินดีเป็นเจ้าภาพพิมพ์และจัดจำหน่าย  น้องน้ำหวาน (ปิยวรรณ  แก้วศรี)  ก็เห็นดีเห็นงามว่าจะรับเป็นบรรณาธิการและจัดรูปเล่มให้ เพื่อสร้างผลงานหนังสือในโอกาสที่ดิฉันมีอายุ 55 ปี ซึ่งหนังสือได้ช่วยกันตั้งหลายชื่อ เช่น “อนุสติบนบาทวิถีโลก”…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ยามปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนตุลาคม ต้นปีบขาว (กาสะลองเงิน) กำลังออกดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนให้คิดถึงการมาเยือนภาคเหนือเพื่อชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบสุขของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ และสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลสังคมเมือง เช่น อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะยิ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้โดยไม่ขาดสายคุณแมว – จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่อง “การสืบสานผ้าทอต่อจากแม่” มาฝากท่านผู้อ่าน เชิญติดตามค่ะเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
เมื่อ พ.ศ.2520 ดิฉันได้ดูหนังเรื่อง "แผลเก่า" ที่สร้างและกำกับโดย เชิด ทรงศรี ดิฉันชื่นชมมาก จนดูซ้ำถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งก็ซาบซึ้ง สะเทือนใจ จนน้ำตาไหลพราก หลายฉาก หลายตอนต่อมาดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับพี่เชิด พี่จันทนา น้องไม้ไผ่ น้องผึ้ง และน้องแสงแดด โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ผู้มีคุณูปการต่อชีวิต คือ โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองผูกพันกันเหมือนญาติพี่เชิดกับคุณธนูชัย ดีเทศน์ เป็นเหมือนพี่น้องที่สื่อสารกันด้วยใจ พี่เชิดกับครอบครัวไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่บนดอยแม่สลอง และเมื่อดิฉันมากรุงเทพ ฯ ก็มาพักที่บ้านพี่เชิดเป็นประจำหนังที่พี่เชิดสร้าง…