Skip to main content
ชิ สุวิชาน
พ่อได้ดื่มชาในกระบอกไม้ไผ่จนหมดไปกว่าครึ่งหนึ่ง แล้วจึงวางลง“เดิมทีนั้น เตหน่ากูมีจำนวนสายเพียง 5-7สาย แต่ต่อมาได้มีการเพิ่มเติมสายในการเล่นเป็น 8-9สายหรือ 10-12หรือมากกว่านั้นก็ได้” พ่อหยิบเตหน่ากูและเล่าให้ลูกชายฟัง“ทำไมจำนวนสายไม่เท่ากันล่ะ?” ลูกชายถามผู้เป็นพ่อ“มันขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของผู้เล่นแต่ละคน ชอบและถนัด 7 สายก็เล่น7 สายชอบน้อยกว่านั้นก็เล่นน้อยกว่าก็ได้ หรือชอบมากกว่านั้นก็เล่นมากกว่านั้นก็ได้” พ่อตอบสิ่งที่ลูกชายสงสัยในการตั้งสายเตหน่ากูแบบไมเนอร์สเกล (Minor scale) นั้นเริ่มจาก 5-7 สายโดยมีตัวโน๊ตหลักตามไมเนอร์สเกลอยู่ 5 โน้ต ได้แก่ โด (D) เร (R)  มี (M) โซ (S) ลา (L)  โดยในที่นี้จะอธิบายการตั้งสายตั้งแต่ 6, 7และ8 สายหากเป็นการตั้งสายเตหน่ากูแบบไมเนอร์สเกลจำนวน 6 สายลักษณะการตั้งสายโดยทั่วไปจะเป็นดังนี้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนวงดนตรีพื้นเมืองของแต่ละชาติย่อมมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่กระนั้นวงดนตรีที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกัน ไม่ว่าพม่า มอญ ไทย ลาว เขมร ย่อมมีความคล้ายคลึงกันเพราะต่างได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะดนตรีมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งเครื่องดนตรีและทางดนตรี เหตุเพราะไทยรับเอาอิทธิพลของดนตรีมอญมาไม่น้อย ในเมืองไทยจึงมีเพลงมอญเก่าแก่หลงเหลืออยู่มากมาย เช่น แประมังพลูทะแย กชาสี่บท ดอมทอ ขะวัวตอฮ์ เมี่ยงปล่ายหะเลี่ย เป็นต้น [1] รวมทั้งครูเพลงมอญในเมืองไทยยังได้มีการแต่งเพลงไทยสำเนียงมอญขึ้นมาอีกมากมาย เช่น มอญรำดาบ มอญดูดาว (เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มอญอ้อยอิ่ง มอญแปลง มอญนกขมิ้น กราวมอญรำ เป็นต้น และสิ่งที่โดดเด่นของดนตรีมอญ คือ วงปี่พาทย์มอญ อันเป็นที่นิยมมาทุกยุคทุกสมัยปี่พาทย์มอญ "ดนตรีเสนาะ ศิษย์ครูเจิ้น" จังหวัดปทุมธานี
Music
รูป Ad จาก http://www.electthedead.co.uk/วง System of a Down เป็นวงดนตรีอเมริกันที่สมาชิกทั้ง 4 คนล้วนเป็นชาวอาร์เมเนียน ดนตรีของพวกเขา บางคนก็เรียกว่าเป็นอัลเตอร์เนทีฟ บ้างก็ว่าเป็นนูเมทัล บ้างก็พยายามจำกัดความง่ายๆ ว่าเป็นฮาร์ดร็อค แต่ถ้าให้เรียกแบบกินความหมายครอบคลุมที่สุดล่ะก็ คงต้องบอกว่าพวกเขาเป็นวงร็อคที่แพรวพราว สอดผสานดนตรีในพรมแดนอื่นๆ เข้ากับซาวน์พื้นฐานแบบยุค 90's และขณะเดียวกันก็มีพลังขับเคลื่อนแบบพังค์นอกจากจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะของวงร็อคหลากกลิ่นแล้ว แฟนเพลงหลายคนยังชอบเนื้อหาวิจารณ์สังคมและการเมืองของพวกเขาที่เข้าใจทำให้ถูกจริตคนบางกลุ่มได้ บวกกับดนตรีหนักๆ จากหลายๆ เพลงแล้ว มันใช้เป็นยาแก้เครียดได้ดีทีเดียวแต่หลังจากที่วง System of a Down หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า SOAD ทำงานกันมาได้ราวสิบปี ก็ประกาศแยกย้ายกันไปชั่วคราว เปิดโอกาสให้แต่ละคนไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไซด์โปรเจกท์นาม Scars on Broadway ของมือกีต้าร์ Daron Malakian หรืองานเดียวของนักร้องนำ Serj Tankian ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้แน่นอนว่าใน Elect the Dead งานเดี่ยวของ Serj Tankian ในชุดนี้ เรายังคงได้ยินเสียงร้องในสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Serj อยู่เช่นเคย ขณะเดียวกันก็ยังมีดนตรีหลากกลิ่นและรสเคยคุ้นในแบบ SOAD เพียงแต่มันก็ยังไม่เต็มพลัง ไม่ถึงใจเท่ากับ System of a Down ยกขบวนมาเองอยู่ดี อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอัลบั้มนี้กลับเปิดพื้นที่ทางอารมณ์ให้เต็มมากกว่าตอนที่ Serj ร่วมงานกับวงเพลงเปิดอัลบั้มอย่าง Empty Wall ก็เป็นร็อคที่ใส่มาเต็มสูบ บรรเลงความโกรธและผิดหวังได้ถึงใจ เนื้อเพลงพูดถึงการที่รัฐบาลปิดข่าวการเสียชีวิตของทหารอเมริกันที่ออกปฏิบัติหน้าที่ เปรียบเสมือนกักขังเราไว้ในกำแพงที่แสนว่างเปล่า ปิดกั้นไม่ให้เรามองเห็นความจริงTankian ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่ต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมอเมริกามาแต่ไหนแต่ไร เขาได้เคยเขียนบทความที่ชื่อ Understanding Oil ออกมาเพียงสองวันหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งมันไม่ใช่บทความที่น่ามองข้ามเลยในช่วงนั้น เพราะบทความมีเพียงแค่การเรียกร้องสันติภาพแบบตื้นๆ แต่มีความเห็นทางการเมืองที่ตรงไปตรงมา ทั้งยังมีการออกมาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้นำสหรัฐฯ กับ ผู้นำในโลกตะวันออกกลาง ว่ามี Power installment (การสร้างความสัมพันธ์ลับด้วยการเกื้อหนุนทางอำนาจ) ที่สหรัฐฯ จะนำพวกเขามาใช้ประโยชน์ในภายหลังบทความนี้ ทำให้ Serj ถูกมองอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นพวกหาความชอบธรรมให้กับการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามขณะที่ Serj ตอบโต้วิธีการของอเมริกา แต่เขาก็ยังต่อต้านกลุ่มศาสนนิยมสุดโต่ง รวมถึงผู้นำที่เขาบอกว่ามาจาก Power Installment ของสหรัฐฯ เองด้วย ใครที่มีแนวคิดแบ่งขั้วแบบล้าหลังอาจจะบอกว่าไอ่หมอนี่แค่สองไม่เอา แต่ไม่ได้คิดเอาเสียเลยว่าเขาก็แค่มีจุดยืนทางการเมืองอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่สามารถไปเหมารวมเข้ากับฝ่ายไหนได้เท่านั้นเองอย่างไรก็ตาม Understanding Oil ก็มีจุดด้อยสุด ๆ อยู่ที่วิธีการแก้ปัญหาที่เขาเสนอยังดูห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่ดีโยงใยมาสู่อัลบั้ม Elect the Dead เพลงหนึ่งที่ Serj ตั้งคำถามกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือคือ Praise the Lord and Pass the Ammunation ที่ออกเป็นนูเมทัลมีท่าทีประชดประชัน ขณะที่ Feed us พูดถึงการปฏิบัติการทางการทหารว่า แทนที่จะช่วยปลดปล่อยและทำให้ประชาชนกลับมาเลี้ยงชีพตัวเองได้ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาถูกทำให้พ้นจากการครอบงำเก่า เพื่อไปสู่การครอบงำอย่างใหม่เท่านั้น ดนตรีในเพลงนี้แอบสอดผสมโฟล์กเศร้าๆ เข้ามาก่อนจะโยงไปสู่ท่อนร็อคหนักๆ"You lead us,When you need to feed us,You comfortable delete us,When you need your fetus..."- Feed Usเพลงที่ผมชอบมากในอัลบั้มนี้ คือเพลงธรรมดาๆ ที่ Serj ทำออกมาได้อย่างเต็มอารมณ์คือ Saving Us กับ Sky is Overเพลง Sky is Over เป็นร็อคหมองๆ ที่แอบใส่ลูกเล่นแบบ SOAD ในท่อนแยก เนื้อเพลงเหมือนจะพูดถึงโลกร้าย แต่ก็แอบเล่นคำในประโยคสุดท้าย ส่วนเพลง Saving Us นั้นสวยทั้งทำนองและภาษาในเนื้อเพลง ขณะที่หากดูเนื้อผ่านๆ จะสามารถตีความเป็นเพลงรักธรรมดา แต่เสียงประสานที่เป็นแบกกราวน์ในเพลงนี้กลับชวนให้รู้สึกว่ามันพูดถึงอะไรที่ใหญ่กว่านั้น และเมื่อได้ดูมิวสิควิดีโอของเพลงนี้แล้วก็ชวนให้เจ็บจี๊ดขึ้นมาทันทีMV เพลง Saving Us ฉายภาพคนไร้บ้านคนหนึ่ง เดินเข็นรถไปตามที่ต่างๆ ในเมือง ทุกคนเมียงมองในใจก็คิดอะไรต่างกันไป และดูเหมือนแต่ละคนต่างก็สนใจแต่ในประเด็นของตัวเอง จนไม่มีใครมีที่ทางเผื่อเหลือให้กับเขาเลย ส่วนตัวผมชอบ MV นี้มาก แม้ว่าช่วงกลางเพลงมันจะมีฉากเว่อร์แดกและตอนจบอาจจะน้ำเน่าสำหรับบางคนก็ตามความสนุกอีกอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้คือ การที่มันมีมิวสิควิดีโอสำหรับทุกเพลงและในแต่ละเพลงก็มีผู้กำกับต่างกันไป ทำให้เราได้เห็นการตีความเพลงต่างในมุมต่าง ๆ หลากหลาย โดยที่เราอาจจะยังไม่เคยนึกถึงก็ได้อย่างเพลง Sky is Over ก็มีมิวสิควิดีโอถึงสองเวอร์ชั่น หรือเพลง Honking Antelope ที่เนื้อเพลงมันพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมถิ่นที่หายไป (ของอินเดียแดง?) แต่มิวสิควิด๊โอมันกลับทำออกมาเป็น CG กับเรื่องราวล้ำยุค ดูแล้วขัดแย้งกันดีอย่างไรก็ตามกับบางเพลงคงต้องดูบริบทด้วยว่ามันพูดจากมุมมองวิพากษ์อเมริกัน ที่เป็นเสรีนิยมใหม่มาจนพรุนแล้ว เพลงอย่าง The Unthinking Majority จึงอาจจะใช้วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอเมริกาได้ แต่กับประเทศที่ยังไม่แม้แต่จะหลุดพ้นจาก "ยุคมืด" ยังไม่มีเสรีในเรื่องสำคัญ ๆ คงไม่ได้อยู่ในบริบทที่จะเอามาวิจารณ์กันได้ อย่างไรดีการใช้จังหวะขัด ลูกเล่น กับอารมณ์หนักหน่วงในเพลงนี้คงถูกใจขา SOAD ไม่น้อย (ขอโทษด้วยผมชอบแยก "เนื้อหา" กับ "รูปแบบ" ออกจากกันน่ะ)ขณะที่เพลง Money ที่ดนตรีจากเปียโน สลับกับท่อนร้องและการเปลี่ยนจังหวะกระทันหันทำให้มีสีสันดี แต่เนื้อเพลงก็ไม่มีมุมมองอะไรใหม่ หรือลึกไปกว่าการโทษเงินอย่างเดียว (ทั้งที่ยังไงคนเราก็ยังต้องใช้เงิน)Serj Tankian อาจจะเป็นศิลปินที่เข้าใจในสังคม เข้าใจในการเมืองระดับหนึ่ง แต่ยังมีอะไรบางอย่างทางความคิดที่เขายังก้าวไม่พ้น เลยอาจกลับกลายเป็นการพูดถึงเรื่องเดิม ๆ ที่ไม่ได้มีแง่มุมก้าวหน้าไปกว่าเดิมอย่าง Money หรือเพลง Honking Antelope ที่ออกแนวอนุรักษ์แบบโรแมนติกไปหน่อย (ทั้งที่ดนตรีมันไม่โรแมนติกเลย ดูเหมือนมันกำลังแอบวิพากษ์อะไรที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดเชิงอนุรักษ์อยู่ด้วยซ้ำ) ผมเข้าใจว่าการเขียนเนื้อเพลงที่พูดเรื่องซับซ้อนมันยาก ยิ่งต้องให้ Sync กับดนตรีด้วยมันยิ่งยากไปใหญ่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าคนเรากระตือรือร้นละเรียนรู้มากพอ และซึมซับอะไรไว้ได้ จะสามารถปลดปล่อยมันออกมาจากใจจริงได้เองทั้งนี้ทั้งนั้น ใครบางคนอาจรู้จัก Axis of Justice ซึ่งเป็นกลุ่มที่ Serj ร่วมตั้งกับ Tom Morello (จากวง Rage against the Machine ที่มีทิศทางแนวคิดคล้ายๆ System of a Down) รวบรวมพลพรรคนักดนตรีหลากหลายวงในการรณรงค์ทางสังคมในประเด็นต่าง ๆ เริ่มจากประเด็นการเหยียดเชื้อชาติที่แกดูจริงจังดี คลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีการรณรงค์เรื่องคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงที่ผ่านมาด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการรวมกลุ่มกันก็ได้แต่หวังว่าทั้ง Serj และ Tom ที่ต่างก็มีต้นทุนทางสังคม (และทางสินทรัพย์เพราะคงได้ส่วนแบ่งจากการออกทัวร์อยู่ไม่น้อย ;P) คงจะไม่ทำให้ Axis of Justice กลายเป็นเพียงกลุ่มรณรงค์ทางฉากหน้าที่ไร้พลัง แล้วกลายเป็นช่องทางใหม่ในการโปรโมทตัวเองเท่านั้น อย่าได้ทำให้คนที่ชื่นชมการเขียนเนื้อร้องและความสามารถทางดนตรีของคุณต้องผิดหวัง เพราะถึงตอนนั้น......ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครมาทำเพลงวิจารณ์พวกคุณ แบบที่พวกคุณทำเพลงวิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ดูคลิป Saving Us ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=9Wk38bW8whc  
ชิ สุวิชาน
ความมืดกลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง เช่นเดียวกับไม้เกี๊ยะที่มาจากแกนไม้สนสองใบต้องถูกเผาเพื่อผลิตแสงสว่างในครัวบ้านปวาเก่อญออีกครั้ง กาต้มน้ำที่ดำสนิทด้วยคราบเขม่าควันไฟถูกตั้งบนเหล่อฉอโข่อีกครั้ง กลิ่นชาป่าขั้วหอมทำให้โสตประสาทกระปรี่กระเปร่าขึ้นมาพร้อมเข้าสู่บรรยากาศการเรียนรู้ภายในบ้านไม้ไผ่หลังเดิมเตหน่ากู คืออุปกรณ์การเรียนรู้ถูกเตรียมไว้เพื่อใช้ในการเรียนรู้ ของพ่อซึ่งเป็นผู้สอนหนึ่งตัว ของลูกซึ่งเป็นผู้เรียนหนึ่งตัว รูปร่างลักษณะเตหน่ากูแม้ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็มีรูปทรงที่คล้ายๆกัน  มีตัวท่อนไม้ใหญ่ และมีกิ่งไม้ที่โค้งงอเมื่อพ่อเห็นว่าลูกชายพร้อมที่จะเริ่มการรับความรู้แล้ว  พ่อเริ่มขับขานบทเพลงและดีดเตหน่ากูไปพร้อมๆกัน  นิ้วมือ ข้อมือและเสียงร้องทำงานประสานกันอย่างกลมกลืน  ลูกชายมองที่มือของพ่อและฟังเสียงพ่ออย่างตั้งอกตั้งใจ พ่อร้องจนจบเพลง
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัยสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพรื่นเริงบันเทิงใจและปลาบปลื้มชื่นชม...เคยมีคนบอกกับฉันว่า ฉันไม่ควรไปร่วมงานวันชาติมอญในเมืองมอญเพราะฉันต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมและความเป็นชนชาติของชาวมอญ จึงทำให้ฉันไม่แน่ใจว่าการใช้คำ “รื่นเริงบันเทิงใจ” หรือ “ปลาบปลื้มชื่นชม” จะเป็นการสมควรหรือไม่ แต่นั่นก็คือความรู้สึกที่ฉันได้รับจากการไปงานวันชาติมอญครั้งที่ 61 ที่จัดขึ้น ณ หมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น (ปะลางเจปาน) ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านมอญที่อยู่นอกพรมแดนประเทศไทย งานวันชาติมอญนี้จัดกันหลายที่ทั่วโลกที่มีชุมชนมอญอยู่ ทั้งในไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สวีเดน ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ ฯลฯ แม้แต่ในเมืองมอญเองก็ไม่ได้มีงานวันชาติเพียงแค่ในหมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น ทุกหมู่บ้านต่างก็จัดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยมอญทั่วโลกยึดเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันชาติมอญ  เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวันก่อตั้งเมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญนั่นเอง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ สำหรับในประเทศไทยปีนี้ถือฤกษ์สะดวก จัดงาน“รำลึกบรรพชนมอญ” ในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล และก็เป็นเพียงการทำบุญให้บรรพชนและมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์และธำรงค์วัฒนธรรม ไม่ได้มีการเปิดไฮด์ปาร์คด่าประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีจุดมุ่งหมายแฝงทางการเมืองแต่อย่างใด เพียงแค่นี้ก็ยังทำให้หน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดสมุทรสาครก็แทบจะนั่งไม่ติดเลยทีเดียว  ฉันได้รับคำเชิญให้ไปร่วมงานวันชาติจากผู้ใหญ่ชาวมอญที่เคยติดต่องานกับฉัน ในเมื่อผู้ใหญ่บอกว่าจะส่งบัตร “เชิญ” มาให้ ฉันเป็นเด็กจะไม่ไปได้อย่างไร ในที่สุดฉันก็เข้าไปในหมู่บ้านบ่อญี่ปุ่นตั้งแต่คืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยการดูแลของทหารหน่วยประสานมอญ และน้องๆ เยาวชนมอญที่มาจากเมืองมอญ พวกเราต้องเบียดกันไปบนรถปิ๊กอัพคันเดียวถึง 24 คน  แต่น้องๆ ทุกคนก็ไม่บ่นถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหน้าปะทะลมและฝุ่นแดง ในทางตรงกันข้าม กลับร้องเพลงภาษามอญกันอย่างสนุกสนาน แม้ฉันจะไม่เข้าใจเนื้อเพลง แต่สีหน้าและแววตาของคนร้องก็ทำให้ฉันรู้สึกได้ถึงความเบิกบานใจและความมุ่งมั่นของน้องๆ ฉันจึงรู้สึกเบิกบานใจและสนุกสนานไปด้วย สมาชิกคนหนึ่งบอกฉันว่าเพลงนี้เป็นเพลงปลุกใจ เนื้อหาเกี่ยวกับการไม่ลืมถึงเป้าหมายสูงสุดคือ การได้ปกครองตนเอง และการได้ชาติมอญกลับคืนมา พวกเราไปถึงบ้านบ่อญี่ปุ่นเวลาเกือบสองทุ่ม งานมหรสพเริ่มแล้ว จริงๆ แล้วคืนก่อนนั้นก็มีงานเช่นกันแต่เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรม ส่วนคืนวันที่ 21 ที่ฉันไปถึงนั้นนี้มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ เหมือนตลาดนัดทั่วไปที่ฉันเคยเห็นในเมืองไทย ฉันแวะร้านขายหมาก ซึ่งมีทั้งหมากป้ายปูนที่ชายชาวมอญชอบเคี้ยว และหมากที่ใส่มะพร้าวย้อมสีที่เพื่อนฉันบอกว่าผู้หญิงจะเลือกเคี้ยวหมากชนิดนี้มากกว่า และก็มีหมากฝรั่ง ลูกอม นับว่าเป็นร้านขายของแก้เหงาปากจริงๆ ฉันอยากจะลองซื้อหมากป้ายปูนมาเคี้ยวสักคำจะได้เป็นประสบการณ์ชีวิต แต่ก็กลัว “ยันหมาก” เลยได้แต่หยิบหมากฝรั่งที่ฉันนำติดตัวมาขึ้นมาเคี้ยวเล่นแทน แต่ฉันก็ได้อุดหนุนแม่ค้าไปนิดหนึ่ง ในตอนแรกฉันไม่รู้ว่าจะใช้เงินสกุลไหนซื้อของในหมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น แต่ในเมื่อเขาบอกราคามาเป็นบาท ฉันจึงจ่ายเงินบาทไปปกติ ซึ่งก็เหมือนกับเมืองที่อยู่ติดชายแดนไทยทั่วไปที่เราใช้เงินบาทซื้อของได้เลย  เดินไปอีกนิดก็เห็นซุ้มรณรงค์เรื่องป้องกันโรคเอดส์และการสอนวิธีคุมกำเนิด จัดโดยองค์กรเอกชนที่มาจากฝั่งไทย มีคำอธิบายทั้งภาษามอญและภาษาไทย น้องๆไปตอบคำถามได้ของรางวัลเป็นผงซักฟอก สมุด ดินสอ (และถุงยางอนามัย?) มากันหลายคน นอกจากนี้ยังมีหนังกลางแปลงและมีนักร้องนักดนตรีที่ไปจากฝั่งไทย เล่นเพลงไทย  เล่นเพลงไทยจริงๆ ไม่ได้พิมพ์ผิดเยาวชนมอญในมือแม่ และธงชาติมอญในมือเยาวชน
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร“วันรำลึกชนชาติมอญ” ที่จัดขึ้นทุกปีนั้น ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความร่วมมือของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ วัดบ้านไร่เจริญผล และพี่น้องชาวมอญจากหลายๆ พื้นที่ก่อนงานจะเริ่ม พวกเรา-คณะเตรียมงาน ประมาณ ๑๐ คน ได้เดินทางไปยังสถานที่จัดงานตั้งแต่วันที่ ๑ เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ตั้งแต่การตกแต่งบริเวณงานด้วยธงราวรูปหงส์ที่พวกเราทำขึ้น, การผูกผ้าและจัดดอกไม้, การตกแต่งเวที, การติดตั้งนิทรรศการเคลื่อนที่, การเตรียมสถานที่สำหรับทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนมอญ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากวัดบ้านไร่เจริญผลคณะกรรมการจัดงานกำลังซิลสกรีนกระดาษทำธงราวรูปหงส์สัญลักษณ์ของชาวมอญ ธงราวที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงขึงตกแต่งอาคารสถานที่เช้าวันที่ ๒ เราตื่นขึ้นมาพบกับเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาบางอย่าง นั่นก็คือ ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.) ได้เข้ามาสอดส่องบริเวณงาน และตั้งด่านรอบวัดเพื่อตรวจสอบคนที่จะมาร่วมงาน ทำให้พี่น้องบางคนที่ตั้งใจมากต้องกลับไป (เรื่องนี้แฟนๆ “ประชาไท” คงได้รับรู้ผ่านข่าวและบทความต่างๆแล้วว่า “เกิดอะไรขึ้น”) แต่ในที่สุดเรื่องราวก็คลี่คลายได้เมื่อบรรดาพระแห่งวัดบ้านไร่เจริญผล กรรมการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ และตัวแทนจากสภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เจรจากับตำรวจและฝ่ายความมั่นคง และในช่วงค่ำของวันนั้นเราก็มีการแสดงจากนักเรียนในพื้นที่ รวมทั้งวงดนตรีลูกทุ่งมอญจากกระทุ่มมืดก็ได้มาสร้างความครึกครื้นให้กับคนที่มาร่วมงานที่แม้จะบางตาไปบ้างเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ (เพราะอะไรก็คงทราบกันดี) แต่ถึงคนร่วมงานจะบางตา หลายๆคนก็ยังคงลุกขึ้นมารำหน้าเวทีดนตรีเหมือนเช่นเคยหนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาซักถามความเป็นไปเป็นมาภายในงานตลอดเวลาก่อนรุ่งเช้าวันที่ ๓ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้บริเวณวัดที่เราใช้จัดงานเจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน พวกเราต่างกังวลว่าฝนจะเป็นอุปสรรคในเวลาที่เรามีกิจกรรมหรือไม่ แต่โชคดีที่ฝนไม่ตกลงมาอีกในวันรุ่งขึ้น แม้จะมีเมฆครึ้มสลับกับแสงแดดให้พอตื่นเต้นบ้าง และพอถึงเวลาประมาณ ๘ นาฬิกาเศษ พี่น้องชาวมอญจากจังหวัดต่างๆ ก็ทยอยเดินทางมาถึง และเมื่อเสียงกลองยาวจากพี่น้องอยุธยาดังขึ้น ทุกคนก็ร่วมกันรำและจัดขบวนแห่หงส์และธงตะขาบเข้ามาบริเวณหน้าเวทีเพื่อรอการเปิดงาน โดยในปีนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ซึ่งทำงานเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์มากว่า ๓๐ ปี รวมทั้งยังมีเชื้อสายมอญทางราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงานนางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ประธานเปิดงาน กับผู้สูงอายุชาวมอญจากนั้นจึงเป็นพิธีสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนมอญ โดยในพิธี คุณสุณี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธาน รวมทั้งผู้มีบทบาททางสังคม เช่น ครูประทีป อึ้งทรงธรรม, สภาทนายความ และนักวิชาการอีกหลายท่าน ก็มาร่วมทำบุญกับพี่น้องชาวมอญ เมื่อทำบุญเสร็จ พี่น้องที่เตรียมการแสดงมา ไม่ว่าจะเป็นวงปี่พาทย์จากปทุมธานี, ซอมอญจากลพบุรี, สะบ้าหนุ่มสาวและทะแยมอญจากสมุทรสาคร ก็เริ่มเปิดเวทีของตน ทำให้บรรยากาศของงานเป็นไปด้วยความครึกครื้น ระหว่างนี้หากใครหิว ก็สามารถเดินไปยังโรงทานและซุ้มอาหารที่พี่น้องจากที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องละแวกวัดบ้านไร่เจริญผล เตรียมอาหารมาอย่างหลากหลาย (ซึ่งเราก็เชิญตำรวจมากินด้วย)นางสุนี ไชยรส ประธานในพิธีสงฆ์ ถวายเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์ การแสดงทางวัฒนธรรมกับผู้ชมชาวมอญที่เป็นกันเองแม้ผู้คนจะบางตา และงานของเราก็จบลงในช่วงบ่ายของวันนั้น ถึงแม้ว่าวันรำลึกชนชาติมอญในปีนี้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เราก็ยังคงดำเนินงานไปอย่างราบรื่นอย่างที่เคยเป็นมา และทุกคนก็คงรอคอยที่จะได้พบกันใหม่ในปีหน้า ซึ่งจริงๆแล้วก็อีกไม่นานเลย...
ชิ สุวิชาน
“พี่น้องครับ พี่ชายคนนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อ ณ ตรงนี้ครับ ขอมอบเวทีต่อให้พี่ครับ” ผมพูดจบผมกลับไปที่นั่งของผมเพื่อเป็นคนดูต่อแม่น้ำสายนี้ยังคงไหลไปตามกาลเวลาฯ....................................................ฉันผ่านมา  ผ่านมาทางนี้ ผ่านมาดูสายน้ำ.............ได้รู้ได้ยิน..............ฯบทเพลงแรกผ่านไปต่อด้วยสาละวิน สายน้ำตาเสียงปืนดังที่กิ่วดอยลูกชายไปสงครามเด็กน้อยผวาตื่น(ทุกคืนๆ)
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิดและแล้วสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจนได้....เมื่อเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ วันแรกของการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดย วัดและชุมชนมอญบ้านไร่เจริญผล ร่วมกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าตื่นขึ้นพร้อมกับเสียงตระหนกของเพื่อนคนหนึ่งที่วิ่งกระหืดกระหอบนำข่าวของเช้านี้มาบอก “....เร็วๆมาดู อะไรนี่ ...ยกโขยง มากันเป็นร้อยเลยว่ะ...เต็มวัดไปหมด .....”  ในทันทีนั้นข้าพเจ้าจึงชะโงกหน้ามองจากหน้าต่างชั้นบนของศาลาการเปรียญที่พวกเราอาศัยซุกหัวนอนกันตั้งแต่เมื่อคืนเพื่อมาเตรียมจัดงาน ภาพที่เห็นก็คือกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ อป.พร. (อาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน) สันติบาล กองปราบ   กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)กระจายตัวอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด  รวมทั้งเส้นทางที่ผ่านเข้าออกก็มีการตั้งด่านตรวจอย่างเต็มกำลังส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาประจำการที่วัดบ้านไร่เจริญผล“โอ้โฮ !!! ถึงขั้นนี้เชียวรึนี่”   ข้าพเจ้าพึมพำเบาๆกับตัวเองและคิดทบทวนในเรื่องราวทั้งหมด      งานรำลึกชนชาติมอญในปีนี้ทำไมสถานการณ์จึงตึงเครียดนัก   ด้วยสายตาของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มองมาด้วยความหวาดระแวง และไม่ไว้ใจ...ทำให้ข้าพเจ้ายังครุ่นคิดต่อไป“นี่เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชนมอญผู้ล่วงลับมิใช่หรือ  แล้วก็เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภาษาและวัฒนธรรมประเพณีของคนมอญ เป็นวันสำคัญที่คนมอญจากทั่วประเทศจะได้มีโอกาสพบหน้าคร่าตากัน พูดจาสอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน  และเหนือสิ่งอื่นใดในโอกาสนี้ ชาวมอญทั้งหลายจะได้ทำบุญถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์อีกด้วย”แท้จริงแล้วความตึงเครียดความวิตกกังวลของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ตั้งเค้ามาก่อนหน้านี้สักระยะหนึ่งแล้ว ต่อกรณีการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญในจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากบริบทในเชิงพื้นที่แห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าอยู่เป็นจำนวนมาก  และส่วนมากนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ หรือคนมอญจากเมืองมอญ (ประเทศพม่า) และด้วยกลุ่มคนมอญเหล่านี้มิใช่คนไทยทำให้เจ้าหน้าบ้านเมืองต้องควบคุมอย่างเข้มงวด  ตลอดจนขาดความรู้ความเข้าใจต่อความเป็นพม่า และความเป็นมอญอย่างลึกซึ้ง กลุ่มคนเหล่านี้จึงถูกตีกรอบให้อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง” และถูกตีตราด้วยอคติ ดังนั้นการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญจึงสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงไปด้วย ด่านตรวจหน้าปากซอยวัดบ้านไร่เจริญผล ส่วนสำคัญที่ทำให้การจราจรติดขัดบริเวณถนนพระราม 2“..ความมั่นคง... ความมั่นคง.... ความมั่นคง.... ความมั่นคง..... !!! ”   ข้าพเจ้าท่องคำๆนี้ ซ้ำไปซ้ำมา ทั้งที่ยังไม่เข้าใจเลยว่าการที่คนมอญจัดกิจกรรมเพื่อสำนึกถึงความเป็นตัวตน และรากเหง้า ผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณีจะเป็นภัยต่อความมั่นคงตรงไหน!!!งานรำลึกชนชาติมอญในครั้งนี้คงจะต้องเป็นที่จดจำของชาวมอญไปอีกยาวนาน  ทั้งพระสงฆ์ คนในชุมชน คนจัดงาน นอกจากจะต้องเหนื่อยแรงกับการเตรียมจัดงานแล้ว  ยังต้องเหนื่อยใจกับคำถามซ้ำๆ ที่ถูกป้อนมาจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองด้วยท่าทีและความรู้สึกไม่ไว้ใจ  แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วัฒนธรรมประเพณีมอญ และคนมอญ” กำลังถูกตั้งคำถามและมองด้วยสายตาที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม  ทั้งที่แต่ก่อนนั้นคนมอญและวัฒนธรรมประเพณีมอญถูกหล่อหลอมจนกลมกลืนกับสังคมไทยมาเนิ่นนาน  ข้าพเจ้าและคนอื่นๆยังคงช่วยกันตระเตรียมงานต่อไป เพราะในช่วงค่ำของวันนี้จะมีกิจกรรมหลายอย่างทั้งการออกร้านสินค้าพื้นบ้านมอญ นิทรรศการวิถีชีวิตมอญ การแสดงนาฏศิลป์มอญจากชุมชนและสถานศึกษาต่างๆจัดมาร่วมงาน  แต่ทว่าตลอดทั้งวันผู้คนยังคงบางตาผิดไปจากงานวันรำลึกชนชาติมอญเมื่อปีก่อนๆ  บรรยากาศที่เคยเป็นมานั้นไม่ว่าคนไทยเชื้อสายมอญ และคนมอญจากเมืองมอญที่ทำงานในเมืองไทยเมื่อทราบข่าวก็จะมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง เพราะวันรำลึกชนชาติมอญเป็นการธำรงความหมายและสำนึกร่วมของคนมอญที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทานปรัมปรา บรรพบุรุษ ภาษา และประเพณีวัฒนธรรมที่คนมอญทั้งสองเมืองมีร่วมกัน  ส่วนหนึ่งของรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาจอดภายในวัดบ้านไร่เจริญผลแต่วันนี้กลับมองไปไม่เห็นแรงงานมอญต่างด้าวมาร่วมงาน ทั้งที่ทราบมาว่าพวกเขาได้เตรียมจัดการแสดง และจัดกองผ้าป่ามาร่วมงานในครั้งนี้  และนั่นคงเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านสกัดกั้นไว้ทุกเส้นทางที่จะเข้ามาบริเวณวัดซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน  ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าต้องการตรวจจับผู้ที่ไม่มีบัตร (ทะเบียนราษฎรต่างด้าว ท.ร.๓๘/๑) หรือการข้ามเขตพื้นที่ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเจตนาที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่นั้นต้องการสกัดกั้นมิให้แรงงานมอญต่างด้าวเข้ามาร่วมงานวันรำลึกชนชาติมอญมากกว่า   ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ได้มีประกาศของทางจังหวัดไม่สนับสนุนให้แรงงานมอญต่างด้าวได้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณี  จึงทำให้ไม่มีใครกล้าเดินทางมาร่วมงานที่จัดขึ้น ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิด เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไทยมีต่อพม่า ซึ่งมากมายเหตุผลที่จะนำกล่าวอ้างด่านตรวจหน้าปากซอยวัดบ้านไร่เจริญผล พร้อมรถบรรทุกเจ้าหน้าที่ตระเวนตรวจการเมื่อวันรำลึกชนชาติมอญถูกตีความว่ามีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงยังส่งผลสะท้อนกลับมาที่คนไทยเชื้อสายมอญอีกระลอกใหญ่ ข้าพเจ้าจึงไม่แปลกใจนักที่จะได้ยินได้ฟังคนไทยเชื้อมอญหลายต่อหลายคนมีท่าทีและคำพูดเช่นนี้“....งานวันรำลึกชนชาติมอญจัดขึ้นสำหรับคนไทยเชื้อสายมอญเท่านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกมอญแรงงานต่างด้าวนั้นหรอก   เราเป็นคนไทยย่อมมีสิทธิ์ที่จัดงานได้...”  จากความคิดดังกล่าวได้ส่งผลในระดับสำนึกความเป็นมอญเปลี่ยนแปลงไปโดยมีกรอบของรัฐชาติเป็นเงื่อนไขกำหนด ผ่านการชี้นำจากเจ้าหน้าที่รัฐ  สร้างความเป็นอื่นต่อกลุ่มแรงงานมอญต่างด้าว ทำให้คนไทยเชื้อสายมอญต้องเลือกข้างเลือกฝั่ง หรือถ้าแย่กว่านั้นคนมอญอาจจะอับอายและซ่อนความเป็นมอญไม่กล้าแสดงออกอย่างที่เคยเป็น “..พวกท่านจะรู้หรือไม่ว่า...ท่านกำลังสร้างรอยร้าวให้กับกลุ่มชนชาวมอญของเรา...” ข้าพเจ้าอยากตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ไปแบบนั้น แล้วก็แจ้งแก่ใจว่าสังคมไทยยังขาดการเรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอีกมากมาย ทำให้การยอมรับการให้เกียรติต่อกันลดน้อยลงแล้ววันแรกของการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ก็ผ่านไปด้วยบรรยากาศแห่งความตึงเครียดระหว่างเจ้าหน้าที่ พระสงฆ์  ชาวชุมชน และคนจัดงาน...ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ข้าพเจ้านอนฟังเสียงฝนที่เทลงเหมือนฟ้ารั่วตอนค่อนสว่าง เมื่อฟ้าสางทั่วบริเวณวัดเจิ่งนองไปด้วยน้ำ...เมื่อวานเรายังต้องต่อสู้กับวิธีคิดของคน และวันนี้ฟ้าฝนก็ยังไม่เป็นใจ ทั้งคนและธรรมชาติต่างกระหน่ำซ้ำเติม เป็นอุปสรรคที่เราจะต้องฝ่าฟัน...วันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ซึ่งกำหนดให้เป็นวันพิธีการและพิธีกรรมที่สำคัญ  ทั้งการเปิดงานอย่างเป็นทางการ การกล่าวสดุดีบรรพชนมอญ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  ถวายกองฝ้าป่าและการแสดงวัฒนธรรมประเพณีมอญ ในวันนี้จะมีคนมอญจากชุมชนต่างๆทั่วประเทศเดินทางเข้ามาร่วมงาน จะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยประธานเปิดงานในครั้งนี้คือ คุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์  หรือ ครูแดงแห่งบ้านปางสา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ทำงานและคลุกคลีกับชาวเขามากว่า ๓๐ ปี  อดีต สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย  และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  เป็นผู้ที่มีความเข้าใจและให้เกียรติในวัฒนธรรมประเพณีมอญอย่างดียิ่ง  ต่างไปจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่ปฏิเสธคำเรียนเชิญในการเป็นประธานเปิดงานไปก่อนหน้านี้ ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดถึงการจัดงานเมื่อปีที่แล้วไม่ได้  ซึ่งเป็นวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๐ ณ วัดอัมพวัน ชุมชนมอญบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานตามคำเชิญของคณะผู้จัดงาน  แล้วท่านได้แต่งกายแบบมอญซึ่งสร้างความประทับใจให้กับชาวมอญไม่รู้ลืม เฉกเช่นเดียวกับคุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ที่ให้เกียรติแต่งกายแบบมอญในงานครั้งนี้ด้วยเช่นกันนางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ขณะกล่าวเปิดงานวันรำลึกชนชาติมอญ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงแม้ว่าแรงงานมอญต่างด้าวจะไม่กล้ามาร่วมงาน หลายๆคนก็มาไม่ถึงงานต้องเดินทางกลับไป เพราะตระหนกกับการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ข้าพเจ้าก็ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าแรงงานมอญต่างด้าวที่ตั้งใจมาทำบุญ นำกองผ้าป่ามาถวายวัด พร้อมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนมอญผู้ล่วงลับตลอดจนทำบุญถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางเธอ   เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา   กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จะมาไม่ถึงวัด เนื่องจากสาเหตุที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งด่านสกัดจับ ทั้งที่พวกเขาก็มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทย  ในฐานะที่พวกเขาได้มาอาศัยแผ่นดินไทยทำมาหากิน ไม่ต่างจากชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยามเมื่อหลายร้อยปีก่อนจนปัจจุบันก็คือคนไทย หรือ คนไทยเชื้อสายมอญ  ในงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งนี้ จึงมีแต่เฉพาะคนไทยเชื้อสายมอญมาร่วมงานเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่ ข้าพเจ้ามองเห็นและรับรู้ได้คือสัญลักษณ์ที่มีร่วมกันของมอญทั้งสองเมืองนั่นก็คือการสวมใส่ โสร่งแดง ผ้าถุงแดง เสื้อขาว ซึ่งหมายถึง “ชุดประจำชาติมอญ”   จึงทำให้มั่นใจว่าตราบใดที่ลมหายใจของคนมอญยังไม่สูญสิ้น เชื่อได้ว่างานวันรำลึกชนชาติมอญจะยังดำเนินต่อไป แต่บทเรียนที่ได้รับจากการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผลจังหวัดสมุทรสาคร มีสิ่งหนึ่งที่สูญเสียไปและไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้นั่นคือความรู้สึกดีๆการยอมรับที่สังคมไทยมีต่อคนมอญมันได้ถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกเคลือบแคลง ระแวงสงสัย และไม่ไว้วางใจจากรัฐไทย 
ชิ สุวิชาน
“ผมมีเพื่อนปกาเกอะญอมาด้วยคนหนึ่ง” ผมบอกกับคนดูผมได้ไปพบ และได้ไปฟัง เพลงที่เขาร้อง ณ ริมฝั่งสาละวิน ทำให้ผมเกิดความประทับใจในท่วงทำนองและความหมายของบทเพลงรวมทั้งตัวเขาด้วยผมทราบมาว่าตอนนี้เขาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่  ผมจึงไม่พลาดโอกาสทีจะชักชวนเขามาร่วม บอกเล่าเรื่องราวของชนเผ่า ผ่านบทเพลงที่ผมประทับใจ ซึ่งแรก ๆ นั้น เขาแบ่งรับ แบ่งสู้  ที่จะตอบรับการชักชวนชองผม แต่ผมก็ชักแม่น้ำทั้งห้า จนเขาหมดหนทางปฏิเสธ“ผมไม่คุ้นเคยกับการร้องเพลงต่อหน้าคนมาก ๆ นะ” เขาออกตัวกับผมก่อนวันงาน แต่เมื่อถึงวันงานเขาก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เขาเดินออกมาแบบเกร็งๆ และประหม่าอย่างเห็นได้ชัด เขาจะยืนตรงก็ไม่ใช่ จะยืนเท้าเอวก็ไม่เชิง “ตอนขึ้นต้นช่วยร้องนำให้หน่อยนะ ผมไม่มั่นใจ ผมกลัวขึ้นไม่ถูก” เขากระซิบข้างผมก่อนจะร้องเพลง ผมพยักหน้าตอบและยิ้ม ๆ เพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจขึ้น ผมบีบแขนเขา เพื่อให้เขาหายเกร็ง เขาหันกลับมายิ้มแบบเกร็ง ๆ อยู่เหมือนเดิม  เมื่อผมเริ่มบรรเลงเตหน่า เขาเริ่มทำหน้าเครียดทันที เขาพยายามฟังเตหน่าของผม และพยายามดูหน้าของผม เผื่อผมจะส่งสัญญาณให้ขึ้นต้นร้องเพลง  และแล้วเขาก็เริ่มต้นร้องพลาดจนได้ แต่ผมส่งสัญญาณให้เขาเดินหน้าร้องต่อไป  เขาไม่ลังเลอีกแล้ว เขาเปล่งเสียงร้องต่อแบบสั่น ๆ นิดหน่อย
ชิ สุวิชาน
ณ ห้องเล็กๆ แถวสี่แยกกลางเวียง เมืองเชียงใหม่ เก้าอี้ถูกเรียงเป็นแถวหน้ากระดานประมาณร้อยกว่าตัว  ข้างหน้าถูกปล่อยว่างเล็กน้อยสำหรับเป็นพื้นที่ตั้งเครื่องเล่นดีวีดีและโปรเจคเตอร์เพื่อฉายสารคดี ใกล้เวลานัดหมายผู้คนเริ่มทยอยกันเข้ามาทีละคน ทีละคู่ ทีละกลุ่ม“เค้าไม่อยากให้เราพูดถึงเรื่องการเมือง แต่เราอาจพูดได้นิดหน่อย” เจ้าหน้าที่ FBR กระซิบมาบอกผมเกี่ยวกับความกังวลของเจ้าของสถานที่ ผมยิ้มแทนการสนทนาตอบ เพียงแต่คิดในใจว่า หากการเมืองคือความทุกข์ยากของประชาชน ของชาวบ้านคนรากหญ้าก็ต้องพูดให้สาธารณะได้รับรู้ เพื่อจะหาช่องทางในการช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชน ชาวบ้านรากหญ้าด้วยกันในแนวทางที่อาจไม่ใช่การเมืองโดยตรงเมื่อเก้าอี้ที่เตรียมไว้ในห้องเริ่มถูกจับจองหมด จึงเริ่มกิจกรรมโดยการฉายสารคดี “สันติอธิษฐาน เพื่อบรรเทาทุกข์ในเขตการสู้รบในประเทศพม่า”ผ่านไปกว่าสี่สิบนาที หนังสารคดีได้จบลงท่ามกลางความเงียบที่หดหู่ต่อสิ่งที่พึ่งได้เห็นผ่านสารคดี ท่ามกลางความเงียบชายคนหนึ่งได้ลุกขึ้นยืน“ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาดูสารคดีครั้งนี้ ต่อจากนี้ผมขอมอบเวลาให้เพื่อนนักดนตรีปกาเกอะญอ แล้วแต่ว่าเขาจะมาทำอะไร ขอเชิญครับ” เขาเล่นโยนมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเลย หลังเขาพูดจบเขาไปเลื่อนเครื่องเล่นดีวีดีและโปรเจคเตอร์ไปแอบไว้ที่มุม เป็นการส่งสัญญาณให้ผมรู้ว่าพื้นที่ว่างนั้นถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็นเวทีดนตรีแล้วผมขยับตัวออกมาจากกลุ่มผู้ชมแล้วลุกขึ้นเดินไปยังพื้นที่ว่างข้างหน้า “ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง หลงทางมาจากทางใต้ของประเทศไทย พลัดหลงมาพบกับคนปกาเกอะญอบนภูหลายๆ เขา วันนี้ผมอยากให้เขามาเรื่องราวต่างๆ ที่เขาพบเจอระหว่างทางให้พวกเราฟัง ขอเชิญพบกับเมล็ดพันธุ์ป่าแห่งแผ่นดินครับ”  ผมพูดจบพร้อมกับส่งสายตาเป็นสัญญาณให้เขาขึ้นมาทำหน้าที่ ณ พื้นที่ว่างแห่งนี้เขาเดินเก้งก้างออกมา มือถือกีตาร์โปร่งที่ยืมมาจากคนอื่นอีกที เขาหยุดอยู่ตรงที่ว่างข้างหน้า มือสองข้างกอดกีตาร์แล้วมองมาที่คนดู“สิ่งที่เราดูผ่านไปเมื่อสักครู่ ทุกท่านคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติมั๊ยครับ? มันเป็นเรื่องปกติที่ควรจะเกิดมั๊ยครับ?หลังจากดูสารคดีเสร็จแล้วอยากให้ทุกท่านสำรวจดูหัวใจตนเองว่า หัวใจเรายังปกติดีอยู่หรือเปล่า? หากหัวใจเรายังปกติเราจะช่วยผู้ทุกข์เหล่านั้นได้อย่างไร?”เขาพูดจบเขาเริ่มเล่นกีตาร์และเริ่มร้องบทเพลง “หลงทาง”
องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย ที่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับแรงงานมอญย้ายถิ่นที่มาจากพม่าความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัยกับคนมอญย้ายถิ่นที่มาจากประเทศพม่าได้เกิดขึ้นมาเนิ่นนาน ดังคำพูดของ “พระครูปลัดโนรา อภิวโร” เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล แห่งตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญในพื้นที่ ที่ว่า“...วัดศิริมงคลนั้นห่างไกลจากตลาด ห่างไกลจากโรง งานไม่เท่าไหร่นัก คนมอญก็มาหลบลี้ ก็มาหลบก่อนที่จะเข้าโรง งาน หลบอยู่ที่วัดนี้ ประกอบกับหลวงพ่อเก่าท่านเมตตาต่อคน มอญ เพราะท่านรู้เรื่องคนมอญดี เพราะว่าหลวงพ่อก็เป็นคน มอญ แต่เป็นคนมอญไทยรามัญ ทีนี้พอคนมอญพม่าเข้ามาอยู่ แล้ว หลวงพ่อก็ให้ความอุปการะ หุงข้าวให้กินบ้าง พาไปหลบ ตำรวจบ้าง สมัยก่อนทางด้านหน้าวัดที่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ส่วน ทางด้านหลังเป็นสวนพุทรา หลวงพ่อก็ให้คนขับรถไปหลบ... เขา ไม่ลืมบุญคุณที่ได้กินข้าว ได้ที่อยู่อาศัย เขาก็เลยมาต่อๆ กันเรื่อย หมู่ทางบ้านเขาก็รู้กันแล้วบอกต่อๆ กันไป แล้วก็อีกอย่างหนึ่งที่นี่ ก็มีพระมอญพม่าด้วย...” *พระอาจารย์โนรา เจ้าอาวาสวัดศิริมงคลทุกวันนี้ พระครูปลัดโนราและวัดศิริมงคล ก็ยังมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับคนมอญย้ายถิ่น ดังเช่นการที่คนมอญย้ายถิ่นจะเข้ามาทำบุญที่วัดทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา และการที่มีพระมอญจากเมืองมอญจำพรรษาอยู่นั้น ก็ได้ทำให้คนมอญย้ายถิ่นได้เข้ามาขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ อาทิ การรักษาโรคตามแบบโบราณ การสะเดาะเคราะห์ ฯลฯ นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือของพระครูปลัดโนรา วัดศิริมงคลจึงถูกใช้เป็นสถานที่ที่คนมอญย้ายถิ่นจัดงาน “วันชาติมอญ” หรือ “วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ” มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยที่งานดังกล่าว ก็คือพื้นที่ของการธำรงความเป็นชาติพันธุ์มอญ ผ่านการสดุดีวีรชนมอญและการแสดงทางวัฒนธรรมพระอาจารย์มาลัย เจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรกนอกจากพระครูปลัดโนราแล้วนั้น ยังมี “หลวงพ่อมาลัย” เจ้าอาวาส “วัดบางหญ้าแพรก” ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร อีกท่านหนึ่ง ที่ช่วยเกื้อหนุนให้คนมอญย้ายถิ่นได้ธำรงความเป็นชาติพันธุ์ของตน หลวงพ่อมาลัยเป็นคนไทยเชื้อสายมอญบ้านบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ท่านได้รับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรกเมื่อหลายสิบปีก่อน ดังนั้นท่านจึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าใจความเป็นไปของคนมอญย้ายถิ่นที่มหาชัย บทบาทสำคัญของท่านที่มีต่อคนมอญย้ายถิ่นก็คือ การอนุญาตให้ใช้สถานที่วัดเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ” โดยที่แนวคิดของการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวก็คือ“...เพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมและรักษาภาษามอญให้มีอยู่ และเพื่อให้ชาวมอญไม่หมดไปในโลกนี้ เมื่อเราเกิดมาเป็นคนมอญ เราก็อยากให้เด็กมอญได้ภูมิใจในความเป็นชนชาติของเขา เพราะว่าคนเราเกิดเป็นมอญนี้มันก็มีความน้อยใจ ในเมื่อเขาไม่มีการศึกษา เขาก็จะไม่รู้ประวัติศาสตร์ของมอญ ไม่รู้ว่าเผ่าพันธุ์เป็นอย่างไร เขาจะน้อยใจ... คนไทยทำไมถึงไม่หมดไป ก็เพราะภาษาไทย ภาษานั้นสำคัญมาก... จะรักษาประเทศให้อยู่ได้ ภาษาและวัฒนธรรมต้องคงอยู่...” **นอกจากจะสอนภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมอญแล้ว ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ ยังสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้ลูกหลานมอญสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อีกด้วย และด้วยบทบาทของหลวงพ่อมาลัยในการเป็นผู้อุปถัมภ์ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญเช่นนี้เอง ที่ทำให้คนมอญย้ายถิ่นมีความเคารพศรัทธาต่อท่าน ดังจะเห็นได้ จากการที่ในห้องเช่าของคนมอญย้ายถิ่นจำนวนมาก มีรูปภาพของท่านอยู่บนหิ้งบูชาร่วมกับภาพของสถานที่และบุคคลที่คนมอญเคารพ ดังเช่น ภาพพระธาตุต่างๆ ภาพพระพุทธรูปที่สำคัญ ภาพกษัตริย์มอญในอดีต ภาพพระยาเจ่ง รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นต้นเด็กๆ ลูกหลานแรงงานมอญ ภายในศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ วัดบางหญ้าแพรกหากมองจากสายตาคนนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายตาของรัฐไทย บทบาทของหลวงพ่อมาลัยและพระครูปลัดโนราที่มีต่อคนมอญย้ายถิ่น ก็อาจทำให้เกิดคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดพระทั้งสองรูปจึงให้ความช่วยเหลือและดูแลคนที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่หากมองด้วยสายตาของมนุษย์ด้วยกันก็จะพบว่าแรงงานมอญที่เข้ามานั้น ล้วนถูกผลักจากชุมชนดั้งเดิมของตนด้วยความเดือดร้อนทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง การให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ที่เดือดร้อนเช่นนี้ ก็คือหน้าที่หนึ่งที่มนุษย์พึงมีต่อกันมิใช่หรือ  และเมื่อมองด้วยสายตาของความเป็นชาติพันธุ์ สิ่งที่พระครูปลัดโนรา และหลวงพ่อมาลัยกระทำต่อคนมอญย้ายถิ่นนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากสายใยของความเป็นชาติพันธุ์ “มอญ” ที่ยึดโยงกันอยู่ ซึ่งสายใยของชาติพันธุ์และความเป็นมนุษย์นั้น ล้วนอยู่เหนือเส้นแดนที่ถูกขีดขึ้นโดยรัฐเด็กก็คือเด็ก ไม่บอกใครจะรู้ว่าชาติพันธุ์ไหน ขาวหรือดำ ดีหรือชั่ว เชิงอรรถ* สัมภาษณ์ พระครูปลัดโนรา อภิวโร เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร, อ้างใน สุกัญญา เบาเนิด. การสร้างอัตลักษณ์ของคน มอญย้ายถิ่น: กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์มานุษย วิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙.** สัมภาษณ์ นายจอมอญ ครูประจำศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ วัดบางหญ้า แพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร, อ้างใน สุกัญญา เบาเนิด. การสร้างอัตลักษณ์ ของคนมอญย้ายถิ่น: กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์ มานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙. 
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “แล้วมีคนที่หมู่บ้านถูกเกณฑ์ให้ไปกับทหารพม่าบ้างหรือเปล่า” “มีลุงของแม่คนหนึ่งไปกับทหารพม่าไปแล้วไม่เห็นหน้ากันจนถึงวันนี้”แม่เฒ่าตอบพลางรินป่าเหล้าดีกรีแรงผ่านลำคอระหงที่ร้อยด้วยห่วงทองเหลืองแวววาว“พอแม่คลอดลูกคนที่เจ็ดได้ไม่นานก็มีคนที่มาเมืองไทยส่งข่าวว่าอยู่ที่เมืองไทยสุขสบายกว่าอยู่นี่เดิมมาก พอมีคนมารับแม่ก็เลยตัดสินใจหอบลูกสามคนมาที่นี่”“แม่มาเส้นทางไหน เพราะทหารพม่าอยู่กันให้ยุบยับตามชายแดน”“ไม่รู้มีคนจากเมืองไทยมานำทาง ตอนนั้นมาได้สองทางคือขึ้นเกวียนกับเดินเท้าแต่แม่ไม่มีเงินจึงเดินเท้าเจ็ดวันเจ็ดคืน ลูกคนเล็กอายุยังไม่ครบสองเดือนเลย” “แล้วพ่อเฒ่ากับลูกอีกสี่คนละแม่” ฉันถามต่อ“ตอนนั้นพ่อเฒ่ายังไม่แน่ใจเลยว่าจะมาเมืองไทยดีหรือเปล่า ก็เลยแบ่งลูกกัน ให้ลูกชายช่วยพ่อทำนา พอแม่มาอยู่ที่นี่ได้ 3-4 เดือนก็ส่งข่าวกลับไปให้พ่อหอบลูกอีกสี่คนตามมา”ไม่ได้มีเพียงพ่อเฒ่าและแม่เฒ่ากระยันครอบครัวนี้เท่านั้นที่หนีความยากจนและภัยสงครามมาอยู่ที่ใต้บรมโพธิสมภารในราชอาณาจักรไทย ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกมากมายที่อพยพลี้ภัยมาอยู่ตามศูนย์อพยพค่ายๆของไทย แต่แม่เฒ่าผู้มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์น่าสนใจต่อผู้พบเห็นจนดูเหมือนมีอภิสิทธิ์มากกว่าชนเผ่าอื่นในการได้ในการอาศัยอยู่นอกเขตศูนย์อพยพฉันนึกภาพความยากจนของครอบครัวของสามีออก เพราะก่อนนั้นฉันเคยถามชีวิตความเป็นอยู่พี่สาวสามีเมื่อครั้งยังอยู่พม่า เธอเล่าให้ฟังว่า ต้องตื่นไล่วัวแต่เช้า ต้อนวัวนับร้อยตัวไปเลี้ยงในทุ่งหญ้า พอพ้นหน้าเกี่ยวข้าวเจ้าของวัวก็จะให้ค่าจ้างเป็นข้าวเปลือก  แต่ถ้าทำวัวของเขาตายสักตัว บางปีก็จะอดได้ค่าจ้างซ้ำยังต้องชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มก็มี แม้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงจะมีอยู่ทุกสังคม แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า กับถูกรุกรานซ้ำเติมจากระบบการปกครอง นำไปสู่การปล้นชิงเอารัดเอาเปรียบเพียงเพราะมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ดวงเทียนถูกจุดเติมให้สว่างแท่งแล้วแท่งเล่า แม่เฒ่าเล่าเรื่องราวระลึกหนหลังเมื่อนานมาแล้ว เมื่อครอบครัวของแม่เฒ่าอยู่พร้อมหน้าได้ไม่นาน พ่อเฒ่าก็มาด่วนจากไปด้วยไข้มาเลเรียทิ้งให้แม่เฒ่าดูแลลูกที่ยังเล็กทั้งเจ็ดคนหลังจากพ่อเฒ่าตายได้ประมาณสี่ห้าปี แม่เฒ่าก็แต่งงานใหม่ แต่อยู่เป็นเสาหลักให้ครอบครัวไม่นานก็เกิดเรื่องสะเทือนใจขึ้น พ่อเฒ่าหายตัวไปหลังจากต้องไปเฝ้าไข้ลูกชายที่โรงพยาบาล มีคนไปพบร่างที่ไร้วิญญาณอยู่ที่ชายแดนไทยพม่า เมื่อแม่เฒ่าทราบข่าวก็โศกเศร้ากินไม่ได้นอนไม่หลับจนกระทั่งล้มป่วยลง ต้องไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลอยู่หลายวัน ฉันจึงไม่แปลกใจ ที่มักจะเห็นห้วงรำพึงถึงความหลังของแม่เฒ่านั่งจิบสุราเดียวดายยามค่ำคืน“ตอนนี้แม่ไม่คิดอะไรสักอย่าง  ดื่มวันละนิดละหน่อยเป็นยา”แม่เฒ่าจิบเหล้าบ่อยครั้งในแต่ละวัน แม้ลูกหลานจะคอยห้ามปรามแต่เหมือนไม้แก่ดัดยาก แม่เฒ่าดื่มเหล้าเป็นยา ยาแก้ช้ำใน ยาชูกำลังใจ ฉันรู้ซึ้งถึงความในใจของแม่เฒ่าที่แม่เฒ่าที่มีความหวังอยากจะไปเห็นทะเลสักครั้งในชีวิต แต่เป็นเรื่องยากที่ทางการจะอนุญาตให้ชนเผ่าที่มีค่าตัวแพงอย่างกระเหรี่ยงคอยาว ออกไปเดินเพ่นพ่านโชว์ตัวให้ผู้อื่นพบเห็น แม้ลูกหลานจะคอยบอกให้แม่เลิกคิดเลิกหวังแม่เฒ่าก็ยังมีความหวังอยู่เสมอเมื่อครั้งใดที่มีเพื่อนผู้มาเยือนแม่เฒ่าเป็นคนไทยพูดจาชักชวนให้ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ“แม่จะไปเจเปน (ญี่ปุ่น) เพื่อนญี่ปุ่นชวนแม่แล้ว ปีหน้าแม่จะไป เมืองไทยแม่ไม่ไปก็ได้ แต่เจเปนแม่คงจะไปได้” แม่เฒ่าเปรยถึงความหวังครั้งใหม่ให้ลูกสะใภ้อย่างฉันฟัง เหมือนก้อนกลมสักอย่างวิ่งมาชนที่อกให้หายใจติดขัด คำพูดก็ดูเหมือนตีบตันตามไปด้วย ฉันจะทำลายความหวังของแม่เฒ่าด้วยการพูดความจริงว่า ก่อนจะไปเจเปนก็ต้องออกจากเมืองแม่ฮ่องสอนให้ได้ก่อนจึงจะไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิอันโอ่อ่า เพื่อจะลัดฟ้าข้ามเขตอาณาจักรไทย ไปยังประเทศอื่นๆของบรรดานักท่องเที่ยวที่มาเยือนแม่เฒ่าถึงหัวกระไดบ้าน“แม่มีเงินค่าเครื่องบินแล้ว แต่ลูกๆจะปล่อยแม่ไปไหมก็ไม่รู้” แม่เฒ่ารำพึงถึงความฝัน หัวใจนั้นบินไปไกลแล้ว สวนทางความเข้าใจในพื้นที่ของแม่เฒ่าที่ยังไปไม่พ้นหัวกระไดบ้าน “แม่จะไปเจเปนได้อย่างไร ที่นั่นเขาไม่มีเหล้าแบบนี้นะ เขาไม่ให้เอาขึ้นเครื่องบินไปด้วยซี แม่ต้องอดเหล้านะ ” ฉันหาทางออก“โอ้ะ! จริงหรือแม่ไม่รู้เลย” แม่เฒ่าตกใจกับข่าวที่ฉันบอกก่อน“ งั้นแม่ไม่ไปแล้วเจปงเจเปน กินเหล้าเฉยๆ ขายของอยู่ที่บ้านดีกว่า” แม่เฒ่าเอื้อยเอ่ยช้าๆดังจะหาทางออกให้กับตัวเอง หลังจากเงียบครุ่นคิดด้วยสีหน้าผิดหวัง ฉันจึงรีบตัดบทว่า “ถ้าแม่อยากไปจริงๆ แม่เลิกเหล้าก่อนนะ ถ้าแม่เลิกได้ หนูจะพาไปเที่ยวบางกอกเอง”ฉันทิ้งความหวังใบสุดท้ายที่ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงในวันใด แต่คงไม่ไกลเกินไปถึงเจเปน หากวันหนึ่งรัฐไทยจะให้สิทธิ์ความเป็นพลเมืองสำหรับนกน้อยในกรงทองเลอค่าที่ยังคงทำคุณให้แผ่นดินเช่นชนกลุ่มนี้.