Skip to main content
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ” ยังเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผ่านสำนึกทางชาติพันธุ์ให้ผู้คนกลุ่มอื่นได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนมอญ ถึงแม้จะ ”ไร้รัฐแต่ไม่ไร้ราก” แม้จะ “สิ้นแผ่นดินแต่ไม่สิ้นชาติ !!!ความเป็นมางานวันชาติมอญเริ่มจัดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา หลังจากที่พม่าเมืองได้รับเอกราชอังกฤษ และจากการที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงปางโหลง ทำให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ พยายามแยกตัวออกมาเป็นอิสระและจับอาวุธขึ้นต่อต้านกับพม่า ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มก็มีวันสำคัญนี้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นชนชาติและอิสระในการปกครองตนเอง วันชาติมอญถูกกำหนดให้ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ (หรือหลังวันมาฆะบูชา ๑ วัน) เนื่องจากมีความสำคัญเป็นวันแรกสร้างเมืองหงสาวดีของมอญ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๑๑๑๖ โดย กษัตริย์สองพี่น้องคือ พระเจ้าสมละ และ วิมละ  นานมาแล้วก่อนที่ยังไม่มีวันชาติมอญ ในช่วงนี้จะมีวันสำคัญทางศาสนาคือวันมาฆะบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ เมื่อทำบุญตักบาตรแล้วในวันรุ่งขึ้นคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ชาวมอญก็จะมีการทำบุญบรรพบุรุษที่ล่วงลับอยู่แล้วโดยจะนำข้าวปลาอาหารไปที่สุสาน ซึ่งชาวมอญในเมืองมอญจะยึดถือปฏิบัติแบบนี้จนกระทั่งมากำหนดให้มี งานวันชาติ ความหมายของงานก็ยังเหลือเค้าเดิมคือการระลึกถึงบรรพบุรุษมอญผู้ล่วงลับ ระลึกถึงบุญคุณของพระเจ้าสมละและวิมละที่สร้างเมืองหงสาวดี ระลึกถึงอดีตกษัตริย์และทหารผู้ซึ่งเสียสละเลือดเนื้อให้กับชนชาติมอญคนมอญนั้นเรียกงานวันชาติว่า “ตะงัวแกะกาวโม่น” แปลตรงๆ ว่า วันชนชาติมอญ หรือเรียกว่า “มาก์จมั่วจะเวี่ยก” แปลว่า แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ วันชาติมอญครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่เมืองเกาะฮะมาง (ซองซอน) จังหวัดมะละแหม่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และจัดต่อเนื่องมาทุกปี  เมื่อถึงวันสำคัญนี้คนมอญในทุกพื้นที่จะพร้อมใจกันจัดงาน ใหญ่บ้างเล็กบ้างขึ้นอยู่กับสถานที่  ถ้าจัดในเขตรัฐมอญเช่นจังหวัดมะละแหม่ง จังหวัดสะเทิม หรือพื้นที่ควบคุมของพรรคมอญใหม่ เช่นชายแดนไทย-พม่า ณ บ้านเจดีย์สามองค์ก็จะจัดใหญ่ได้และสามารถแสดงออกด้านสัญลักษณ์ คำพูดหรือแสดงเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างเต็มที่ โดยมีองค์ประกอบดังนี้  ๑) การจัดริ้วขบวนแห่ของประชาชน ๒) การร้องเพลงชาติมอญ ๓) การเชิญธงชาติมอญขึ้นสู่ยอดเสา ๓) การกล่าวสดุดีบรรพบุรุษมอญ ๔) การสวนสนามของกองทหาร ๕) การกล่าวปราศรัยของพระและผู้นำ ๖) การอ่านแถลงการณ์ ๗) การละเล่น ศิลปการแสดง เพื่อการเฉลิมฉลองแต่การจัดงานวันชาตินอกเขตรัฐมอญ เช่น พะโค ทวาย ตะนาวศรี มัณฑะเลย์  และเมืองย่างกุ้งทางการพม่าก็จะคุมเข้ม ไม่สามารถทำกิจกรรมในวันชาติอย่างครบถ้วนได้ เช่น ไม่สามารถนำเหล่าทหารมาสวนสนาม และ ห้ามการแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น รูปธงชาติมอญที่มีรูปหงส์กำลังบินนั้นก็จะถูกทางการพม่าจับทันที (๑) จึงเน้นแสดงออกก็จะเน้นไปการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ   สำหรับหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีการจัดงานเมื่อถึงวันนี้ในแต่ละบ้านก็จะมีการทำพิธีบูชา “เสาผี” ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ ในเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าก็มีการจัดงานวันชาติมอญโดยกลุ่มนักศึกษามอญ เพราะเมืองย่างกุ้งมีคนมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุที่เมืองย่างกุ้งสามารถจัดงานวันชาติมอญได้นั้นเพราะเป็นการลดความกดดัน ทางการพม่าจึงอนุญาตให้ทำได้แต่ก็ต้องคุมเข้ม“..อย่างที่ย่างกุ้งบางปีถ้าจัดงานพม่าก็ก่อกวน รู้ว่ามอญมากันเยอะก็พยายามจะกลั่นแกล้ง บางปีคนมอญเตรียมไว้พร้อมแล้ว เตรียมไว้อย่างใหญ่ก็ห้ามจัด ก็ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะเสียค่าใช้จ่ายอะไรไปเรียบร้อยแล้ว...” (๒)ในประเทศไทยมีการจัดงานวันชาติครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญที่รวมตัวกันในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ (๓) ที่เคยเดินทางไปร่วมงานวันชาติมอญที่บ้านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า วันชาติมอญครั้งแรกจัดในกรุงเทพมหานคร ใช้โรงแรมเป็นสถานที่จัดงาน ลักษณะของงานเป็นการเลี้ยงพบปะสังสรรค์ และพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องมอญ และต่อมาเปลี่ยนมามีการจัดนอกสถานที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัด เริ่มแรกที่วัดชนะสงคราม บางลำพู ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่ยังไม่มีการใช้ชื่อ “งานวันชาติมอญ” เป็นการทำบุญบำเพ็ญกุศลให้บรรพชนมอญ และมีแสดงศิลปวัฒนธรรมมอญ จากนั้นก็มีการจัดต่อมาทุกปีตามวัดมอญ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด (๔)“....ครั้งแรกนั้นจัดที่โรงแรมอินทราประตูน้ำ และก็จัดต่อกันมาทุกปี ย้ายไปจัดโรงแรมเวียงใต้ โรงแรมรัตนโกสินทร์บ้าง ตอนแรกๆก็อยู่ตามโรงแรม ก่อนที่จะย้ายไปต่างจังหวัด บางปีไปจัดที่บ้านโป่ง ราชบุรี จัดเป็นงานวัฒนธรรมไปด้วย...ในงานที่จัดก็จะเชิญคนไทยเชื้อสายมอญออกมาพูด เที่ยงก็กินข้าว แล้วก็มีมอญรำมาขัดตาทับและตอนบ่ายก็พูดกันอีก ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์...” (๕)หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่าวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๑ หรือ เหตุการณ์ ๘๘๘๘  ทำให้กลุ่มนักศึกษาต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากพม่าเป็นจำนวนมาก  ในจำนวนนี้มีกลุ่มนักศึกษามอญอพยพเข้ามาและพำนักอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเล (Overseas Mon National Student Organization) ได้ริเริ่มจัดงานวันชาติมอญในมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และในนำรูปแบบการจัดงานวันชาติมอญแบบมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ที่เน้นเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยม จากนั้นได้ขยายออกไปจัดตามวัดเช่น วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี และวัดบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งช่วงเวลานี้สอดคล้องกับการเข้ามาของแรงงานมอญย้ายถิ่นในจังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงแรกๆ นั้นงานวันชาติมอญที่จัดขึ้นในประเทศไทยจะแยกกันจัดระหว่างกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเล และกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญซึ่งจัดในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ รูปแบบการจัดงานมีความแตกต่างกันคือกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเลจะเน้นเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยม ส่วนชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯเน้นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ การแสดงศิลปวัฒนธรรม  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ  ได้ดึงกลุ่มแกนนำนักศึกษามอญเข้าร่วมกิจกรรมในงานวันชาติ และมีการปรับรูปแบบของงานให้เป็นทั้งอุดมการณ์ชาตินิยมมอญและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน“...ทำงานร่วมกันทั้งสองเมือง เขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นเขาก็เริ่มเห็นแบบอย่างพยายามปรับซึ่งของมอญเมืองไทยอาจจะดูจืดสำหรับเขา เพื่อให้มีรสชาติขึ้น เช่นมีการอ่านแถลงการณ์เพิ่มสีสัน กล่าวเป็นภาษามอญมากขึ้น การแสดงดนตรี การรำ ก็พยายามดึงทางเมืองโน้น อย่างน้อยก็อย่างละครึ่งๆ เพราะดูแล้วจะเป็นการร่วมกันระหว่างมอญสองเมือง  .. (๖)ต่อมาชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้ร่วมกับชุมชนมอญต่างๆ ทั่วประเทศ จัดงานวันชาติมอญโดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี เช่นวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๖ พ.ศ. ๒๕๔๖ วัดสามัคคิยาราม จังหวัดปทุมธานี วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๔๗ วัดทองบ่อ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๔๘ วัดศรัทธาธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๙ พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดบึงลาดสวาย จังหวัดนครปฐม วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ วัดอัมพวัน จังหวัดลพบุรี และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ จะมีการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครสำหรับในต่างประเทศที่มีนักศึกษามอญโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่มีการรวมตัวจัดงานวันชาติมอญ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย นอร์เว ศรีลังกา เป็นต้น วันรำลึกบรรพบุรุษมอญที่สมุทรสาครเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีแรงงานมอญย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในจังหวัดสมุทรสาครเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมตัวการจัดงานวันชาติขึ้น อาจกล่าวได้ว่างานวันชาติมอญที่สมุทรสาครนี้ มีคนมอญเข้ามาร่วมงานมากที่สุดในประเทศไทย ในกรณีของการจัดงานวันชาติของคนมอญซึ่งอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่า คำว่า ”งานวันชาติ” อาจจะฟังดูแข็ง และสื่อไปในทางการเมืองจนทำให้เกิดความวิตกว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ด้วยแรงงานเหล่านั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ พูดภาษามอญ และมีวัฒนธรรมประเพณีมอญ จึงได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญในเมืองไทยให้มีการจัดงานวันชาติขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนสำนึกทางพันธุ์ระหว่างคนมอญย้ายถิ่นและคนไทยเชื้อสายมอญต่อการมีบรรพบุรุษร่วมกัน  ดังนั้นงานวันชาติมอญในสมุทรสาครจึงมีชื่องานว่า “วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ณ วัดศิริมงคล ตำบลบ้านเกาะ และวัดบางหญ้าแพรก ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  ภายใต้บริบทของสังคมไทย การจัดงานวันชาติของแรงงานมอญย้ายถิ่น มีการลดทอนสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ชาตินิยมและการเมือง เช่น การปรับชื่องานจากวันชาติมอญ เป็นวันรำลึกบรรพบุรุษมอญ  ไม่มีการสวนสนามของทหารมอญ ไม่มีการเชิญธงชาติมอญ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ การแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณีมอญ เช่น การแสดงนาฏศิลป์ การแสดงดนตรีสากล การแข่งขันกีฬา ตะกร้อ ฟุตบอล มีการออกร้านจำหน่ายสินค้า เช่น เสื้อยืดสกรีนลายสัญลักษณ์ของงานวันชาติ ชุดประจำชาติ  สร้อยไข่มุก เข็มกลัดรูปหงส์ สายรัดข้อมือ หนังสือและสิ่งพิมพ์ภาษามอญ ซีดีเพลงคาราโอเกะศิลปินเพลงมอญ เป็นต้นสิ่งที่พบเห็นได้ในงานวันชาติมอญเสมอคือ แรงงานมอญย้ายถิ่นที่มาร่วมงานจะพร้อมใจกันแต่งชุดประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้มีความแตกต่างจากพม่า ซึ่งในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า มอญกับพม่าเป็นชนชาติเดียวกัน เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ชนชาติพม่าได้ทำสงครามและมีชัยเหนือชนชาติมอญก็ได้รับเอาอารยธรรมมอญในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรมประเพณีมาหลอมรวมกลายเป็นวัฒนธรรมพม่ามาจวบจนปัจจุบัน ประกอบกับพม่าก็ดำเนินนโยบายกลืนชาติมอญมาโดยตลอด พยายามแสดงออกว่าพม่ากับมอญเป็นชนชาติเดียวกัน จนมอญแทบจะไม่เหลือความเป็นเอกลักษณ์ของตนอีกต่อไป โดยเฉพาะการแต่งกาย ศิลปะ การแสดง พม่ากับมอญนั้นคล้ายคลึงกันมากยากที่คนทั่วไปจะแยกแยะได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนมอญได้ตระหนักว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเอกลักษณ์ของมอญก็คงจะสูญสิ้นจากการรับรู้ของคนทั่วไปดังนั้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ คนมอญจึงคิดค้น “ชุดประจำชาติ” โดย ชมรมนิสิตนักศึกษามอญในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งนำโดยนายอองมาน (๗) นักศึกษาแพทย์ขณะนั้นได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ค้นหาเอกลักษณ์ของเครื่องแต่งกายมอญขึ้นมาใหม่ ในการนี้ตัวแทนนักศึกษาได้กระจายกันลงพื้นที่สำรวจลวดลายผ้ามอญพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นลายที่เลิกทอกันไปแล้วบ้าง ไม่ค่อยได้รับความนิยมบ้าง รวมทั้งผ้าในหีบห่อผ้าผี ซึ่งสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพชนไม่เปลี่ยนแปลง  เมื่อได้ข้อมูลและตัวอย่างผ้ามอญโบราณมาแล้ว กลุ่มนักศึกษาได้ประมวลเอาลายและสีที่ใช้กันมากที่สุด นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยให้เป็นชุดมอญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (๘) คือ ผู้ชายต้องใส่ “โสร่งแดง” เป็นโสร่งพื้นแดงลายตารางคล้ายคันนา มีแถบขาวคาดที่กลางผืน เดิมแถบสีเกิดจากการนำผ้าสองชิ้นเย็บริมต่อกัน เนื่องจาก “กี่” ทอผ้าของมอญจะมีขนาดเล็กทำให้ได้ผ้าทอมีลักษณะเป็นผ้าหน้าแคบ แต่ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการทอด้วยเครื่องจักรให้ได้ขนาดความกว้างของผืนผ้าโสร่งก็ตามแต่ก็ยังคงแถบสีขาวไว้เหมือนเดิม ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ทำให้โสร่งมอญแตกต่างจากโสร่งของพม่า ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นสีขาวพื้น หรืออาจจะมีลายตารางสีแดงบนพื้นขาว คอกลมแขนยาวผ่าหน้าผูกเชือก  สำหรับผู้หญิงต้องนุ่ง “ผ้าถุงแดง” ลายดอกบนพื้นแดงมีเชิง ผ้าถุงนั้นจะมีลักษณะการตัดเย็บแบบพิเศษต่างกับผ้าถุงของหญิงไทย คือจะมีการเย็บตีเกร็ดหลังคล้ายกับตีเกร็ดกระโปรงหรือผ้าถุงสำเร็จ และใช้แถบผ้าฝ้ายสีดำมีความกว้างประมาณ ๓ นิ้ว เย็บต่อที่ขอบเอวผ้าถุง เพราะเมื่อเวลาสวมใส่ผ้าถุงจะเข้ารูปสะโพกพอดี ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นเสื้อสีขาว หรือ สีชมพูอ่อนแขนยาว คอกลมผ่าหน้าผูกเชือก ชายเสื้อค่อนข้างยาวปิดสะโพกเพื่อให้แตกต่างจากเสื้อผู้หญิงพม่าที่มีลักษณะชายเสื้อสั้นแบบเอวลอย นอกจากนี้ยังมี “เสื้อลายมอญ” มีข้อความเขียนด้วยภาษามอญ และลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวตำนาน ประวัติศาสตร์ และสัญลักษณ์รูปหงส์ เสื้อลักษณะนี้ใช้สัญลักษณ์ประจำกลุ่ม และเสื้อวันชาติ ชุดประจำชาติยังสามารถใช้ในโอกาสอื่นๆอีกเช่น เทศกาลงานบุญ วันสำคัญทางศาสนา งานแต่งงาน สวมใส่ไปทำงานและอยู่ในที่พัก นายอองซอนโม่น อายุ ๒๕ ปีคนมอญจากหมู่บ้านกวักเต่ เมืองมุเดิง จังหวัดมะละแหม่ง เช่าห้องอยู่แถบมหาชัยนิเวศน์ และเข้ามาเป็นแรงงานในสมุทรสาครประมาณ ๙ ปีกล่าวถึงชุดประจำชาติมอญและเสื้อลายมอญให้ฟังว่า“....เรารู้จักมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เขาก็ทำกันอยู่ เราก็รับรู้ โสร่งแดง เสื้อขาว ชุดประจำชาติเราก็รู้...ความหมายโสร่งคือ สีแดงหมายถึง สีเลือด แสดงว่ารักชาติ ส่วนสีขาวหมายถึงศาสนาและ จิตใจที่ใสสะอาด ส่วนที่พม่าไม่มีเสื้อที่สกรีนลายหรอกเป็นเสื้อขาวเฉยๆ ตราแบบนี้ไม่มีหรอก ทำไม่ได้หรอกเขาไม่ให้ทำ เขาไม่ให้โอกาส ประเทศไทยนั้นทำได้...” (๙)คนมอญเชื่อว่าการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติมอญนั้นเป็นการแสดงถึงความรักชาติ และแยกตัวออกจากความเป็นพม่า มิอู อายุ ๒๕ ปี คนมอญหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า ทำงานที่สมุทรสาครประมาณ ๑๒ ปี กล่าวว่า  “....ถ้ามอญแต่งชุดมอญแสดงว่ารักชาติ ถ้าไม่แต่งชุดแบบนี้เขาก็ดูไม่ออก อันไหนมอญอันไหนพม่า....” (๑๐)นอกจากชุดประจำชาติแล้ว ยังสามารถพบเห็นสัญลักษณ์อื่นในงานวันชาติอีกด้วยเช่น  หงส์ จะปรากฏอยู่ตาม เสื้อยืด เข็มกลัด ภาพโปสเตอร์ติดตามห้องเช่า ตราสัญลักษณ์ของกลุ่มทำบุญทำทาน กลุ่มหมู่บ้าน ตราชมรมฯและสมาคมของคนมอญทั้งในเมืองไทยและเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ศูนย์การเรียนรู้มอญ หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของคนมอญ และการแสดงนาฏศิลป์ (ระบำหงส์ทอง)  ส่วนธงชาติมอญ มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการเคารพธงในงานวันชาติ  แต่ด้วยข้อจำกัดของการอยู่ในสังคมไทย การนำธงชาติมาแสดงในที่สาธารณะอาจจะขัดต่อความรู้สึกของคนไทย ดังนั้น ธงชาติมอญจึงไปปรากฏอยู่ตามเอกสาร สิ่งพิมพ์ เสื้อยืด หรือติดไว้ภายในห้องพักและไม่เคยนำมาแสดงในที่สาธารณะเลย บรรยากาศของงานวันชาติมอญเป็นที่ครึกครื้นและสนุกสนานอย่างมาก เป็นช่วงเวลาและโอกาสที่แรงงานมอญจะได้พบปะสังสรรค์กัน เช่น พบปะคนในหมู่บ้าน รู้จักเพื่อนใหม่  ผู้ที่มาร่วมงานส่วนหนึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มมีลักษณะเป็น “กลุ่มทำบุญทำทาน” เป็นการรวมกลุ่มของคนหนุ่มสาวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆในงานบุญประเพณี การร่วมกลุ่มลักษณะนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทำอยู่แล้วในสังคมมอญที่ประเทศพม่า ความสำคัญของงานวันชาติมอญมีความสำคัญต่อคนมอญในประเทศพม่าเป็นอย่างมาก รวมทั้งแรงงานมอญในประเทศไทยก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การมาร่วมงานวันชาติของคนมอญเป็นการแสดงออกถึงการรักชาติ ซึ่งความรักชาติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ถึงแม้ว่าอุดมการณ์รักชาติของคนมอญรุ่นใหม่ จะถูกผลิตขึ้นจากอิทธิพลปัญหาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยเมื่อหกสิบปีก่อนซึ่งเริ่มต้นด้วยการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อกู้ชาติมอญ จนกระทั่งมีการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า การเรียกร้องสิทธิ์ในการปกครองตนเองของมอญก็ยังคงอยู่เรื่อยมา คนมอญในประเทศพม่าทุกคนถูกปลูกฝังเรื่องการรักชาติ และในปัจจุบันอุดมการณ์รักชาติได้ถูกอธิบายใหม่ว่าการรักชาติคือการรักษาไว้ซึ่งภาษาและวัฒนธรรมมอญ หากสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ชาติก็จะคงอยู่ด้วย งานวันชาติจึงเป็นโอกาสที่คนมอญทั้งหลายได้แสดงออกถึงการรักชาติ รำลึกถึงผู้ที่เสียสละทำงานเกี่ยวกับชนชาติ ผ่านการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณีและศิลปการแสดง แต่ในทุกวันนี้การจัดงานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญในจังหวัดสมุทรสาคร กลับถูกบิดเบือนความหมายไปในเชิงลบ ว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อระดมทุนต่อต้านรัฐบาลพม่า ซึ่งจะเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่าต่อไปพม่ากับไทยจะโกรธกันเพราะไทยให้แรงงานมอญจัดงานวันชาติมอญในเมืองไทย หรือ การนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์ความสงบในพม่าที่ผ่านมาเช่นการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลพม่าของเหล่าพระสงฆ์และประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากความคิดจาก “คนนอก” ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดมาตลอด ในขณะที่ “คนใน” ซึ่งหมายถึงคนไทยเชื้อสายมอญกลับไม่ได้รู้สึกอะไร ทั้งวัดและชุมชนมอญก็ยินดีให้มีการจัดงานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ เพราะทราบดีว่าวันชาติมอญนั้นคือวันที่คนมอญทั้งหลายรำลึกถึงรากเหง้า บรรพบุรุษ วัฒนธรรมประเพณีของตนเองทั้งสิ้น และตระหนักดีว่าเจตนารมณ์ของงานวันชาติมอญนั้นก็เพียงต้องการให้คนมอญไม่ลืมตัว ไม่ลืมความเป็นมอญ ซึ่งไม่ได้รวมตัวเพื่อต่อต้านพม่าอย่างที่เข้าใจคนไทยเชื้อสายมอญเอง ก็มีสิทธิที่จะแสดงวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กล่าวไว้ในหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๑๒ สิทธิชุมชน  มาตราที่ ๖๖  “บุคคลซึ่งร่วมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” จึงไม่แปลกอะไรว่า งานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแรงงานมอญจากประเทศพม่ากับคนไทยเชื้อสายมอญให้รำลึกถึงความเป็นมอญที่มีร่วมกัน...แม้ว่าจะต่างสัญชาติแต่ชาติพันธุ์นั้นไม่แตกต่าง... รายการอ้างอิง(๑) พิสัณห์ ปลัดสิงห์,  มอญ ชนชาติไร้แผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่จตุจักรการพิมพ์, ๒๕๒๕), หน้า  ๘๔.(๒) สัมภาษณ์  นายสุนทร ศรีปานเงิน,  รองประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและประธานพรรคสันนิบาตชนชาติมอญ ( Mon Unity League : MUL ),  ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.(๓) ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ (Mon Youth Communty : MYC) ก่อตั้งโดยคนไทยเชื้อสายมอญในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๙ ปัจจุบันตั้งอยู่ ๗๗/๒ ถนนจักรพงษ์ บางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีจิตสำนึกว่าชนชาติมอญอาจจะต้องสูญเผ่าพันธุ์ไปจากโลกนี้ ทั้งภาษา หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ดังนั้นบุคคลเชื้อสายมอญควรจะต้องรักษาและสืบทอดต่อไป(๔) สัมภาษณ์  นายพิศาล บุญผูก,  คนไทยเชื้อสายมอญ เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อดีตประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯคนที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๑), ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐.(๕) สัมภาษณ์  นายพิสัณห์ ปลัดสิงห์,  คนไทยเชื้อสายมอญ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี,  ๑๕ มกราคม ๒๕๔๙.(๖) สัมภาษณ์  นายองค์ บรรจุน, คนไทยเชื้อสายมอญ จังหวัดสมุทรสาคร และ ประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ,  ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.(๗) สัมภาษณ์  นายสุนทร ศรีปานเงิน,  รองประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ และประธานพรรคสันนิบาติชนชาติมอญ ( Mon Unity League : MUL ),  ๘  พฤศจิกายน ๒๕๔๙.(๘) องค์ บรรจุน,  ต้นทางจากมะละแหม่ง, (กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ป, ๒๕๔๙), หน้า ๒๒๕.(๙) สัมภาษณ์  นายอองซอนโม่น,  คนมอญจากเมืองมอญ ประเทศพม่า,  ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙.(๑๐) สัมภาษณ์  มิอู,  คนมอญจากหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง เมืองมอญ ประเทศพม่า,  ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙. 
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก การเดินทางเข้าบ้านห้วยเสือเฒ่าก็เพื่อดูแลแม่ของสามีที่ต้องการใกล้ชิดกับลูกหลานโดยเฉพาะหลานที่แกได้เลี้ยงดูแลมาตั้งแต่เกิดส่วนหมู่บ้านใหม่นั้นฉันต้องเข้าไปให้กำลังใจชาวบ้าน ดูแลทุกข์สุข แม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มากมายนักแต่ก็คอยประสานงานกับทางอำเภออยู่ข้างนอก  รวมๆ แล้วเป็นความวุ่นวายทั้งกาย-ใจ ที่เกินพอดีจนไม่อาจจะจับปากกานิ่งๆ เพื่อเขียนอะไรสักอย่างได้เป็นชิ้นเป็นอัน ดูเหมือนหมู่บ้านใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หน่วยงานราชการสนใจเข้ามาเยี่ยมงานสม่ำเสมอ ผักไม้ที่ปลูกหว่านไว้ได้เก็บเกี่ยวเป็นกับข้าวแล้วหลายมื้อ  ลูกไก่ที่ได้รับแจกมาจากทางจังหวัดเติบโตขึ้นตามวันเวลา ชาวบ้านปรึกษาหารือกันบ่อยขึ้นแม้ว่าฉันจะไม่ได้เข้าไปจัดวงประชุมเหมือนที่ผ่านมา  ทางอำเภอเข้ามาปรับปรุงถนนเชื่อมต่อระหว่างบ้านเก่ากับบ้านใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านเก่าสามารถเดินเข้ามาเที่ยวที่บ้านใหม่ได้สะดวกขึ้น พวกเราได้เห็นความจริงใจของข้าราชการหลายคน ที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาหมู่บ้าน และชาวบ้านสองหมู่บ้านได้เชื่อมโยงน้ำใจซึ่งกันและกันจากการทำงานร่วมกันนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านมากขึ้น แต่ก็มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าไปถึงหมู่บ้านใหม่ ชาวบ้านบ้านเก่าจึงแบ่งที่ทางร้านขายของให้คนบ้านใหม่ได้วางขายของที่ระลึกช่วยให้คนบ้านใหม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางกลับมาที่บ้านห้วยเสือเฒ่า หมู่บ้านที่เคยมีถนนสองสายตั้งแต่สะพานจนถึงท้ายหมู่บ้าน บัดนี้ถูกยุบรวมให้เหลือสายเดียว อีกสายถูกปล่อยร้างเพราะกระยอต้องย้ายบ้านลงมาสร้างรวมกับกระยันเพื่อทดแทนบ้านหลังก่อนที่ถูกรื้อย้ายไป แม้บ้านที่สร้างขึ้นใหม่จะดูกลมกลืนจนนักท่องเที่ยวที่เคยมาหนแรกไม่เอะใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านเองต่างก็รู้ว่าต้องใช้เวลาในการปรับตัวสำหรับที่ทางบ้านใหม่ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่เช้าตรู่ กว่าที่กลุ่มสุดท้ายจะออกจากหมู่บ้านก็มืดค่ำ บางวันชาวบ้านต้องจุดเทียนไขให้ความสว่างอยู่หน้าร้านขายของ  รายได้จากการขายของที่ระลึกของชาวบ้านห้วยเสือเฒ่าดูเหมือนจะได้เป็นกอบเป็นกำ มากกว่าอีกสองหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ไกลเมืองมากกว่า แต่ฉันก็ได้ยินชาวบ้านหลายคนบ่นว่ารายได้จากการขายของปีนี้ลดลงมากกว่าปีก่อนๆ ฉันนึกถึงความเป็นอยู่ของคนที่ย้ายไปซึ่งหากนับจำนวนรายได้ที่เคยได้รับในทุกๆ ปี พวกเขาย่อมรู้สึกอัตคัดกว่าเดิมเป็นหลายเท่าตัว แต่ในความอัตคัดนั้นฉันก็หวังว่าพวกเขาจะคิดถึงในส่วนที่พวกเขาได้ร่ำรวยมากกว่าคนที่นี่ ความร่ำรวยนั้นก็คืออิสรเสรีภาพแห่งการดำเนินชีวิต หากไม่ถือคติเสียว่า “เงิน” ซื้อได้ในทุกสิ่งเสียแล้ว การพออยู่พอกินด้วยการทำการเกษตรแม้จะเป็นการยากที่จะละความเคยชินจากการแค่ยืนอยู่หน้าร้านขายของและมีคนมายื่นเงินให้ถึงบ้านแล้วละก็ หยาดเหงื่อนั้นแหละที่จะมีกลิ่นหอมเสียยิ่งกว่าข้าวของเงินทองที่ได้มาโดยง่ายแต่การที่พวกเธอถูกนายทุนทำให้เป็นสินค้า ห่วงทองเหลืองมีค่าดุจทองคำ ซึ่งต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทำมาหากินจากหยาดเหงื่อแรงงาน พวกเธอที่สวมห่วงทองคำเหล่านั้นจึงดูเหมือนฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยว มากกว่าการทำการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่ต่างออกไปจากเดิมฉันไม่แปลกใจที่ทุกครั้งที่เข้าไปในหมู่บ้านคำถามที่จะได้ยินทุกครั้งคือเรื่อง “ถนน” ในมุมมองของชาวบ้านจึงหวังพึ่งเพียงให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อจะได้มีรายได้เหมือนเช่นเคยด้วยความเคยชิน สิ่งที่จะเปลี่ยนความเคยชินของชาวบ้านได้จึงต้องมีการคิดหาลู่ทางในการหารายได้รูปแบบอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานราชการต้องมาสนับสนุนในด้านความรู้ เช่นการปลูกผักเพื่อขาย หรือส่งเสริมในเรื่องการทำหัตกรรม เป็นต้นแม้ว่าการปลูกผักสวนครัวทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทางเกษตรอำเภอมาสนับสนุนจะพอแบ่งเบาค่ากับข้าวของชาวบ้านไปได้ในบางส่วน แต่รายจ่ายในส่วนอื่นๆ เช่นค่าข้าวสาร ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ จำต้องจ่ายเป็นตัวเงินแทบทั้งสิ้น หากฉันเป็นชาวบ้านเองก็คงมองไม่เห็นหนทางหารายได้ที่รวดเร็ว ลงทุนน้อย และได้กำไรงามไปกว่าการหารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแน่ สิ่งที่ยากไปกว่านั้นก็คือ ความคิดเรื่องความพอเพียงในตรรกะของราชการที่มีต่อชาวบ้านนั้น สำหรับชาวบ้านแล้วเป็นความพอเพียงหรืออัตคัต?เพราะถ้าการปลูกผักไม้กินเป็นอาหารได้แล้วราชการมองว่า เป็นความพอเพียง ไม่ต้องมีรายได้จากการท่องเที่ยวก็ได้ ชาวบ้านก็จะสะท้อนความจริงว่า พวกเขายังมีรายจ่ายอะไรอีกบ้างในชีวิต ในวันที่ห่วงทองคำสีซีดจางลง ท้องของพวกเขาก็หิวโหยมากขึ้น อะไรจะอยู่ตรงกลางเป็นความพอเพียงที่แท้จริง เป็นคำถามที่ใครต้องเป็นผู้ขบคิด. 
ชิ สุวิชาน
หลังจากดูสารคดีด้วยกันจบ “ผมอยากฉายสารคดีชุดนี้สู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่คนทั่วไปในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมอยากให้คุณมาร่วมเล่นดนตรีด้วย คุณ โอ เค มั้ย” เขาถามผมผมนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง เพราะผมไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร  ผมรู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ  ผมบอกกับตัวเองว่า เพียงแค่เห็นใจและเข้าใจอาจไม่เพียงพอ   หากสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสื่อสารเรื่องราวของผู้ทุกข์ยาก โดยเฉพาะคนชนเผ่าเดียวกันได้  มันก็ควรทำไม่ใช่หรือหลังจากผมตอบตกลงเขา เราทั้งสองได้พูดคุยประสานงานกันเกี่ยวกับงานอยู่เรื่อย ๆ จนเวลาลงตัวในวันที่ 21 ธันวาคม ศกนี้ ณ สมาคม AUA เชียงใหม่ ในหัวข้อ “ดนตรีและหนังสารคดีเพื่องานบรรเทาทุกข์”  ผมอยากเชิญชวนประชาชน  ผู้รักประชาชนด้วยกัน  ประชาชน ผู้เข้าใจประชาชนด้วยกัน ประชาชน ผู้ทนทุกข์ภัยใต้อำนาจของชนชั้นปกครองด้วยกัน เผื่อเกิดแรงกระตุ้นที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อประชาชนด้วยกันผมขออนุญาตนำเสนอรายละเอียดของงาน ทั้งเวลาและสถานที่ตามโปสเตอร์ข้างล่างนี้แล้วเจอกันในงานนะครับ มาดูสารคดีและ ฟังดนตรีเพื่องานบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนร่วมกันต่าบลื๊อ ครับ
เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ในวันนั้นเราได้มีโอกาสพบปะกับข้าราชการชั้นสูงของจังหวัดหลายคน และฉันก็ได้มีโอกาสมอบหนังสือที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นมาไว้ให้กับนายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน หนังสือฉบับนั้นเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าสภาพหมู่บ้านและปัญหาหลังการย้าย พวกเราได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านหนังสือฉบับนี้เพื่อเร่งให้หน่วยงานราชการต่างๆเข้ามาแก้ไข  ไม่นานผลของความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ต้อนรับคณะหน่วยงานราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้ามาที่หมู่บ้านของเราอย่างคึกคัก ท่านผู้ว่าฯ เข้ามาในนามนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการมาครั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาสาธารณะภัยของชาวบ้าน หรือเรียกง่ายๆว่ามาแจกของช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บ่ายกว่าๆ เจ้าหน้าที่อส.จ. ก็ส่งข่าวเข้ามาทางวิทยุสื่อสาร ว่าให้เตรียมตัวเข้าแถวต้อนรับคณะหน่วยงานราชการที่กำลังขึ้นเรือจากท่าของหมู่บ้านห้วยปูแกงเก่า  และกำลังเดินเท้าเข้าตรอกเล็กๆ จากห้วยปูแกงเก่าเข้าหมู่บ้านใหม่ซึ่งถูกปรับปรุงไม่ให้ชื้นแฉะเป็นหลุมบ่อเหมือนอย่างเคย เพื่อให้แขกที่เข้ามาเยือนสามารถย่ำเท้าเข้ามาได้อย่างสบาย มะลิ หญิงสาวกระยันคนเดิม ต้องทำหน้าที่ในการกล่าวรายงานต่อท่านผู้ว่าฯ อีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องขึ้นไปยืนบนเวที มีมะหล่อเพื่อนสาวกระยันคอยถือโทรโข่งอยู่ข้างๆ ฉันสังเกตว่าเธอประหม่ากว่าครั้งก่อนมาก จนสังเกตเห็นกระดาษที่ถือสั่นไหว แม้แต่เสียงที่พูดในท่อนแรกๆก็สั่นตามไปด้วย  เพราะคนที่มาในวันนี้ล้วนเป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด แต่งตัวทะมึงขึงขัง ถือกระเป๋าใบใหญ่ เสียงพูดจาสอบถามชาวบ้านเฉ่งฉางจากทุกมุมของลานเวที หลังจากจบการกล่าวรายงานของชาวบ้าน และพิธีการในส่วนเวที ซึ่งมีทั้งการกล่าวรายงานของส่วนราชการ การรำวงต้อนรับของชาวบ้าน ท่านผู้ว่าก็ขึ้นกล่าวปราศรัยอีกเล็กน้อย เมื่อถึงเวลาแจกสิ่งของให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านก็เข้าแถวเพื่อรับของที่สมาชิกเหล่ากาชาดหอบหิ้วกันมาด้วยสีหน้ายินดี แม้จะดูเป็นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของส่วนราชการ เป็นความหวังเดียวของชาวบ้านที่จะได้พึ่งพาอาศัยวันนั้นแดดจ้า และเหงื่อของพวกเราหยดไหลเป็นทางขณะพาท่านผู้ว่าฯและคณะเดินชมบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน คำขอของชาวบ้านพรั่งพรูออกมาจากตัวแทน ส่งผ่านไปถึงข้าราชการต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ให้ช่วยตัดถนนเส้นใหม่ที่ใกล้เมือง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ช่วยสร้างโรงเรียน สร้างสถานที่รักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณมหาศาล หลังจากที่รอยเท้าและฝุ่นควันจางหายไปคืนความสงบเงียบให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง ฉันที่เป็นเสมือนล่ามได้ทำหน้าที่ส่งผ่านความในใจของชาวบ้านสู่เจ้าหน้าที่ นึกหวังในใจว่าคำขอของชาวบ้านจะสามารถเป็นจริงในเร็ววัน แม้ว่าคำขอเหล่านั้นจะดูมากมายหากใช้สายตาคำนวณด้วยงบประมาณ แต่ว่าถ้าหากหน่วยราชการจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าคำขอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นคำขอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆที่ควรมีควรได้ การขอเรื่อง “ถนน” หรือ “สะพาน” ก็คือตัวเชื่อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่หมู่บ้านเพื่อให้เกิดรายได้ และรายได้ก็จะออกไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับ “ถนน” หรือ “สะพาน” นั้นๆ  เพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย เป็นค่าอาหารหรือแม้แต่เครื่องนุ่งห่มซึ่งนับเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องการ  ไม่นับความจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียนและอนามัย ไฟฟ้าหรือประปา ทุกคนบนโลกนี้ก็ล้วนมีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต ฉันนึกถึงเมื่อตอนที่ยังอยู่หมู่บ้านเดิม หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าตั้งห่างจากเมืองเพียง 7 กิโลเมตร ถนนที่ตัดผ่านป่าขึ้นเขาลงห้วยได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอยู่ทุกปี และแน่นอนว่าบ้านทุกหลังที่อยู่ใกล้ถนนเส้นนี้มีไฟฟ้ากระแสหลักใช้ แต่แล้วเสาไฟฟ้ากับหยุดกึกห่างจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวเพียงไม่กี่ก้าว “หากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นหรือมีไฟฟ้าใช้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาเที่ยว เพราะหมู่บ้านไม่เป็นธรรมชาติ” ฉันนึกขำในนโยบายเช่นนี้ เพราะนักท่องเที่ยวคงแปลกใจว่าเหตุไฉนชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เสาไฟฟ้าก็ยืนต้นเคียงเสาทวนสัญญาณโทรศัพท์บริษัทหนึ่งอยู่หน้าหมู่บ้านแท้ๆทั้งที่ความเป็นจริงชาวบ้านต้องจ่ายค่าชาร์ตแบตเตอร์รี่คิดเป็นเงินแล้วมากกว่าจ่ายค่าไฟฟ้ากระแสหลักเสียอีก แม้ว่าไฟที่ใช้จะเป็นเพียงค่าดูทีวีสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ค่าหลอดไฟสักดวง หรือบางบ้านอาจจะเปิดวีซีดีได้สักแผ่น เจ้าของความคิดที่เป็นนายทุนผู้ดูแลชาวบ้านและททท. จึงไม่สามารถหยุดความเจริญที่จะเข้ามาถึงพวกเขาได้ ที่ทำอยู่จึงเป็นเพียงการหลบซ่อนความจริงจากสายตานักท่องเที่ยวเท่านั้น ในวันที่มะลิขึ้นกล่าวรายงานต่อคณะหน่วยราชการ ทุกคนจึงตกตะลึงในวิวัฒนาการของชนเผ่าโบราญที่เรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว นักข่าวจึงเข้ามาสัมภาษณ์มะลิ ทุกคนจับจ้องไปที่เธอ หลายหน่วยงานเข้ามาถ่ายวีดีโอกระดาษเขียนรายงานที่เป็นรายมือของเธอความประหม่าของเธอเกิดจากโอกาสที่เธอจะยืนอยู่บนเวที และพูดในความจริงนั้นมีน้อยครั้งเหลือเกิน ครั้งนี้จึงเป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกที่เธอยังไม่เคยชิน จึงทำให้มือไม้สั่นด้วยความประหม่าแต่ก็ทำให้หน่วยงานราชการหลายส่วนที่มาวันนั้นตื่นขึ้นยอมรับกับความจริง หลายข้อ เช่นยอมรับว่าพวกเขาสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ไม่ต่างจากคนไทยที่มีบัตร พวกเขารู้จักคิดและวางแผนจัดการต่ออนาคตของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจูงจมูก และพวกเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวไปพร้อมๆกับโลกข้างนอกที่กำลังทะลักเข้ามาสู่หมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาแห่งนี้
ชิ สุวิชาน
ต่า หมื่อ แฮ ธ่อ เลอ โข่ โกละ         ตา ข่า แฮ ธ่อ เลอ โข่ โกละอะ เคอ กิ ดิ เค่อ มี โบ            มา ซี ปกา ซู โข่ อะ เจอผีร้ายโผล่มาทางริมฝั่งสาละวิน        แมงร้ายโผล่มาทางลำน้สาละวินเสื้อผ้าลายเหมือนดั่งต้นบุก        มาเข่นฆ่าทำลายล้างชีวิตคน(ธา บทกวีคนปกาเกอะญอ)“คุณเคยติดตามสถานการณ์ทางรัฐกะเหรี่ยงประเทศพม่าบ้างไหม” เสียงผู้ชายโทรศัพท์มาถามผมด้วยภาษาไทยสำเนียงฝรั่ง“ผมทำงานในองค์กรชื่อFree Burma Rangers ครับ” เขาแนะนำตัวจากนั้นผมกับเขาก็ได้สนทนากันในเรื่องสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่า  โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง คนชนเผ่าเดียวกับผม เขาบอกผมว่าเขาได้เข้าไปทำงานในเขตการสู้รบโดยการไปช่วยเหลือทางการแพทย์ต่อชาวบ้านผู้ทนทุกข์จากการกวาดล้างของรัฐบาลทหารเขาเล่าถึงสถานการณ์ชาวบ้านที่ต้องอพยพหนีการสู้รบ จนต้องมาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากสงครามในฝั่งไทยตลอดแนวเขตตะเข็บชายแดนไทย-พม่าปัจจุบันทางการไทยไม่อนุญาตให้ผู้อพยพรายใหม่เข้ามาอาศัยเพิ่มอยู่ในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากสงครามได้อีกแล้ว  ในขณะที่การสู้รบ การใช้กำลังเข่นฆ่าชาวบ้านและบังคับไปเป็นลูกหาบยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ  ผู้นำชาวบ้านที่หนีภัยจากการสู้รบกลุ่มที่ไม่สามารถเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากสงครามในฝั่งไทยได้ จึงได้มีการหาพื้นที่ริมฝั่งสาละวินในเขตฝั่งรัฐกะเหรี่ยงที่คิดว่าน่าจะปลอดภัยให้ชาวบ้านมาอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อให้ชาวบ้านสามารถหลบซ่อนความตายจากน้ำมือของรัฐบาลทหารได้อย่างน้อยได้ต่อชีวิตให้ยืนยาวออกไปได้ชั่วขณะหนึ่ง  แล้วค่อยมาคิดกันต่อว่าจะไปต่ออย่างไรอิ๊ตุถ่า หรือสบห้วยอิ๊ตุ ริมฝั่งสาละวินทางตะวันตก  แม้ว่าในความรู้สึกของชาวบ้านธรรมดาทั่วไปคือที่ปลอดภัยและอุ่นใจได้ว่าอยู่ไกลจากเงื้อมปืนของทหารพม่า  แต่สำหรับผู้นำชาวบ้านและผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงรู้ดีว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยจากแม่สามแลบขึ้นไปโดยเรือประมาณ 1ชั่วโมงครึ่ง ถึง อิ๊ตุถ่า ตรงข้ามแม่สามแลบทางฝั่งพม่าคือฐานของทหารพม่าซึ่งมีทหารประจำการไม่ตำกว่า 100 นาย  เหนือแม่สามแลบขึ้นไปทางเหนือฐานของทหารพม่าอีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากบ้านท่าตาฝั่งเล็กน้อยเดินทางโดยเรือประมาณ45 นาที ถึง อิ๊ตุถ่า และเหนืออิ๊ตุถ่าหากเดินด้วยเท้าประมาณ 2 ชั่วโมงก็มีฐานทหารพม่าตั้งอยู่ ณ อูดาถ่า แต่ละฐานมีขนาดและจำนวนทหารประจำการที่ใกล้เคียงกันแต่ ณ วันนี้ไม่มีเวลาและโอกาสจะหาที่ที่ดีกว่าและเหมาะสมกว่านี้ได้ “รัฐบาลทหารพม่า ไม่เพียงแต่ต้องการทำลายกองทัพของชนกลุ่มน้อยต่างๆเท่านั้น แต่ยังต้องการทำลายชุมชนของชนกลุ่มน้อยด้วย โดยการเข้ามาปล้น ฆ่าและเผาบ้านของชาวบ้านที่ไร้อาวุธ นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้คนต้องหนีออกมา” เขาพูดกับผม แล้วเขาก็เปิดสารคดีที่เขาไปถ่ายทำในพื้นที่การสู้รบ มีทีมแพทย์อาสาปฏิบัติหน้าที่อยู่ท่ามกลางการหนีภัยสงคราม สภาพการอพยพหนีของชาวบ้าน  ผู้ที่บาดเจ็บและเจ็บป่วย รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของชาวบ้าน“รัฐบาลทหารพม่า ไม่ต้องการเพียงแค่ครอบครองหรือมีอำนาจเหนือชนเผ่าต่างๆเท่านั้น แต่ต้องการทำลายล้างประชากรของชนเผ่าต่างๆให้หมดไปจากประเทศโยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าการเข่นฆ่า การขับไล่ออกจากพื้นที่ การกลืนทางวัฒนธรรมรวมทั้งการกลืนทางสายเลือดโดยการแต่งงานกับคนชนเผ่าต่างแล้วให้มาเป็นคนพม่า เพราะฉะนั้นหากเราหนีออกไป  ก็ยิ่งเป็นการยอมแพ้  เราอยู่เราก็ตาย แต่ผมแก่แล้วหนีก็ตายอยู่ก็ตายจะขออยู่ตรงนี้เป็นจนถึงที่สุด ไม่ไปไหนแล้ว” ผู้เฒ่าคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในสารคดี“สำหรับเราชาวบ้านหรือประชาชนไม่ใช่ศัตรู ชาวบ้านที่เป็นชาวพม่าก็ไม่ใช่ศัตรู ศัตรูที่แท้จริงคือรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ประชาชนพม่าเองก็ทนทุกข์ทรมานจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเช่นกัน หากประเทศนี้มีการปกครองโดยระบบประชาธิปไตย รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมแก่ประชาชนในการทำมาหากิน ก็คงไม่มีการลุกขึ้นมาต่อต้านรบราฆ่าฟันกันขนาดนี้” ทหารคนหนึ่งให้สัมภาษณ์“อย่าว่าแต่ประชาชนพม่าด้วยกันเลย ขนาดพระสงฆ์ที่เขา (ทหารพม่า) กราบไหว้นับถือ ยังฆ่าและทำลายได้เลย” ผู้ทำสารคดีพูดกับผมพร้อมกับส่ายหัวไม่ว่าใครจะมีอำนาจปกครองประเทศไหน  ไม่ว่าใครจะปกครองประเทศแบบใด  เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย แต่สำหรับเราประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชะตากรรมของประชาชนผู้ไร้อำนาจจะเป็นอย่างไร เพียงแค่ความเห็นใจความเข้าใจ อาจเป็นกำลังใจที่มีค่าสำหรับประชาชนด้วยกัน  หรือคุณอาจทำได้มากกว่านั้น ???
ชิ สุวิชาน
เขานั่งอยู่แถวหน้า และเขาโบกไม้โบกมือขณะที่ผมกำลังบรรเลงเพลงอยู่บนเวที  ในมหกรรมคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งจัดโดยสำนักประชาสัมพันธ์ร่วมกับองค์กรยูเนสโก้  ในงานได้มีการเชิญศิลปินชนเผ่าหลักทั้ง 7 เผ่า ได้แก่ ม้ง อาข่า ลีซู ลาหู่ เมี่ยน ไทยใหญ่และกะเหรี่ยง รวมทั้งยังมีศิลปินล้านนา อาทิ ครูแอ๊ด  ภานุทัต  คำหล้า ธัญาภรณ์ น้อง ปฏิญญา และไม้เมืองนอกจากนี้มีทายาทของสุนทรี  เวชชานนท์ ราชินีเพลงล้านนา คือน้องลานนา มาร่วมร้องเพลง ธีบีโกบีกับทอดด์ ทองดี ศิลปินจากรัฐเพนโซเวเนีย พิธีกรรายการคุณพระช่วยในงานนี้ด้วยเช่นกันในการเล่นเพลงสุดท้ายของผม ผมได้เชิญคุณทอดด์ มาช่วยตีโกละหรือฆ้องกบเพื่อบรรเลงร่วมกับเตหน่ากู   “ชิครับ! ผมขอคุกเข่าตีนะ เพราะผมยืนตีแล้วไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่” คุณทอดด์ บอกกับผมก่อนขึ้นเวที ผมตอบตกลงตามนั้น ซึ่งทอดด์ ทองดี ก็ทำหน้าที่บนเวทีได้อย่างที่ควรเป็นเขาคนนั้นจ้องมองผมเล่นกับคุณทอดด์อย่างไม่กะพริบตาหลังจากจบงานคืนนั้น เขาได้เงียบหายไป เขาไม่เข้ามาหาผมหลังเวทีอย่างเคย  แต่หลังจากนั้นสองวันเสียงโทรศัพท์ของผมก็ดังขึ้น“โอะ มึ โช เปอ” เขาทักทายผมเป็นภาษาปกาเกอะญอซึ่งเป็นภาษาของเราทั้งสอง จากนั้นเขาก็ได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาประทับใจและไม่ประทับใจในการจัดงานที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของตัวศิลปินแต่ละคนและฝ่ายจัดการจัดงานด้วย“เรามีอะไรที่สงสัยบางอย่างที่อยากถาม” เขาบอกกับผม ซึ่งผมก็ไม่อาจปฏิเสธสิ่งที่เขาอยากถามได้“อยากรู้ว่า โกละนั้นเป็นของชนเผ่าปกาเกอะญอ แล้วชิคิดอย่างไรถึงให้ฝรั่งเป็นคนช่วยตีให้ ทำไมไม่ให้คนปกาเกอะญอตี” มันเป็นคำถามที่ทำให้ผมต้องใช้เวลาในการตอบยาวหน่อย แต่เขาก็พร้อมที่จะเสียเวลาฟังผมอธิบายที่ผ่านมาเราตามเขามาโดยตลอด เราต้องพูดภาษาตามเขา เราต้องแต่งตัวตามเขา เราต้องกินอาหารตามเขา เราต้องเล่นเครื่องดนตรีตามเขา ซึ่งมันผิดไหม มันก็ไม่ผิด เพียงแต่เราต้องตามความคิดคนอื่น ตามการกระทำของเขาตลอด ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็น และเรามักถูกครอบงำจากคนที่เราตามนั้นเสมอแต่สิ่งที่ผมทำ ผมอยากให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องตามเขาเสมอไป เราก็มีดีพอที่จะให้คนอื่นตามเราได้เช่นกัน  โดยเฉพาะฝรั่งจากตะวันตกซึ่งเราพยายามตามและเลียนแบบเขามาโดยตลอด ซึ่งงานนี้ผมอยากให้ฝรั่งตามผมบ้าง มาเล่นเครื่องดนตรีของผม ของชนเผ่าผมบ้าง โดยวิธีการเล่นทั้งหมดผมเป็นกำหนดว่าควรเล่นแบบไหน  มันถูกไหม  มันอาจไม่ถูก  แต่มันมีศักดิ์ศรีกว่า  สิ่งเหล่านี้มันเป็นของเราเอง เราเล่น เราร้อง เราเป็นโดยไม่เขิน ไม่อายใคร เล่นผิดก็ไม่มีใครรู้ ฮ่า ฮ่า!!ซึ่งบางทีคนทางตะวันตกเขาเคารพและศรัทธาในสิ่งที่เราเป็น  แต่บางครั้งเราเองกลับไม่มั่นใจในองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพชนเรา  บางทีคนตะวันตกก็เอามาจากคนอื่นเช่นกัน  ต้นกำเนิดของกีตาร์นั้นพัฒนามาจากเครื่องดนตรีจากประเทศอิรัก  ฝรั่งเอาไปประยุกต์อีกที  องค์ความรู้ของเรานั้นหากเราหยิบใช้มันพัฒนาและต่อยอด มันจะเป็นการยกระดับองค์ความรู้ให้ขยับไปอีกในระดับที่ดีขึ้นหลังจากเสร็จงาน คุณทอดด์ นัดผมไปทานข้าวผม ขณะที่กำลังทานข้าวนั้น เขาบอกว่า“เฮ้!! ชิ แก๊ง ยูเนสโก ชอบโชว์ของเรานะ เขา(ยูเนสโก้)บอกว่า ไม่เคยเห็นการเล่นดนตรีที่มีศิลปินฝรั่งที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงบ้างเล่นดนตรีร่วมกับคนชนเผ่า  โดยที่ศิลปินฝรั่งคุกเข่าเล่นและคนชนเผ่ายืนเล่นอยู่เหนือกว่า  มันเหมือนคนฝรั่งเองคารวะในศักดิ์ศรีและภูมิปัญญาของคนชนเผ่า  เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนชนเผ่า” คุณทอดด์ กล่าวอย่างตื่นเต้น “แต่ผมบอกเขาไปว่า เปล่าหรอกครับ ผมยืนตีแล้วไม่ถนัด ก็เลยคุกเข่าตี” คุณทอดด์ พูดจบพร้อมกับอ้าปากหัวเราะจนเห็นฟันครบทุกซี่แต่ประเด็นที่สำคัญคือทำอย่างไร เราถึงจะไปด้วยกันได้  โดยไม่รู้สึกว่าใครนำ ใครตาม หรือใครครอบงำใคร  ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือปิดตัวจากโลกภายนอกได้  เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ในการปฏิสัมพันธ์นั้นทำอย่างจึงจะมีความสมดุลระหว่างการรับของคนอื่นและการใช้ของตนเอง  โดยที่เราสามารถยังสามารถยืนอยู่บนรากทางวัฒนธรรมของตนเองได้“เออ จริงหว่า!!” เขาพูดออกมาหลังจากที่ฟังผมพร่ำยาวเหยียด แต่ผมไม่ทราบว่าเขาคิดและเข้าใจอย่างไรบ้าง?? “แล้ว ได้ชื่ออัลบั้มใหม่หรือยัง และเปิดอัลบั้มเมื่อไหร่” เขาถามผมต่อ ผมไม่แน่ใจว่าเขาถามเพื่อที่จะซื้อหรือว่าเพื่อที่จะขอฟรี“ได้แล้ว ชื่ออัลบั้ม เตหน่าแลมิตร คาดว่าจะเปิดตัวที่เชียงใหม่ราวเดือนธันวาคมศกนี้ หากคืบหน้าอย่างไรเดี่ยวจะส่งข่าวอีกที”“ ต่าบลื๊อ ต่าบล๊อ” เขาขอบคุณบอกลาแล้วเขาก็วางสายโทรศัพท์
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้ ฉันเพิ่งแจ้งข่าวดีๆ ร้ายๆ ที่พึ่งรับรู้มาให้ทราบในที่ชุมนุมว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่สั่งให้เราย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดอื่นแล้วและเราก็จะได้ต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งในวันที่ 29 กันยาที่จะถึงนี้กัน” ทั้งสองข่าวสร้างความหวั่นไหวจนเกิดเสียงอื้ออึง เพราะผู้ว่าฯ คนเก่าเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่มาให้ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านย้ายมาอยู่รวมกันนั้นได้ย้ายไปแล้ว ชาวบ้านจึงไม่แน่ใจว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะมาสานต่อโครงการเดิมหรือไม่ สิ่งที่ผู้ว่าฯ คนเก่าเคยให้สัญญาไว้คือ จะให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลในเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ปัญหาปากท้อง หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ Human Zoosเหมือนเมื่อก่อน เหล่านี้ล้วนจำเป็นสำหรับก้าวแรกในวันที่ชาวบ้านเพิ่งปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการจากนายทุนและยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ฉันรู้ว่าชาวบ้านยังไม่คุ้นชินกับการโยกย้ายแบบปุบปับของข้าราชการไทย แต่ก็รู้ว่า ผู้ว่าฯ นี่แหละที่มีอำนาจมากที่สุดในการปกครองพลเมืองในจังหวัดนี้ หากพวกเขาอยู่ได้อย่างมีตัวตน-หมายถึงทางจังหวัดเห็นความสำคัญไม่ทิ้งขว้าง ความมุ่งหมายของพวกเขาที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเสมือนประชากรของจังหวัดคนหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็เป็นเสมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่า ก็จะเข้าใกล้ความจริงไปอีกก้าว“ฉันว่าพวกเราน่าจะไปต้อนรับผู้ว่าฯคนใหม่ ที่สนามบินกันนะ ท่านจะได้เห็นใจเราเข้ามาช่วยดูแลสานต่อโครงการของผู้ว่าคนเก่า ”มะเลาะหญิงกระยันที่เคยไปเรียนหนังสือกับครูเอ็นจีโอฝรั่ง ชักชวนให้ทุกคนกระตือรือร้นอย่างมีความหวัง “การไปต้อนรับครั้งนี้เราไม่ได้ไปแค่โชว์ตัวหรือฟ้อนรำให้เขาถ่ายรูปกับของแปลกแม่ฮ่องสอนเหมือนเมื่อก่อน แต่เราจะไปฝากตัวให้ผู้ว่าฯ เข้ามาดูแลเราเหมือนเป็นพลเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนหนึ่ง เพราะเราไปด้วยความคิดของเรา ไม่ได้ไปเพราะมีใครสั่งให้เราไป ตอนนี้เราอยู่ในความดูแลของทางจังหวัด ไม่ใช่นายทุนเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว”  ฉันเสริมความคิดของมะเลาะ คืนนั้นเราจึงเตรียมการณ์ไว้ว่าวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้ พวกเราจะไปต้อนรับผู้ว่าฯ กันที่สนามบิน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยข้าราชการสนใจเข้ามาดูแลเรา เพราะนับวันเวลาผ่านไป ข้าวสารอาหารแห้งหรือแม้แต่เงินที่เคยเก็บสะสมไว้ก็ถูกนำมาใช้จ่ายจนลดน้อยลงไปทุกที ในขณะที่ยังไม่เห็นหนทางหารายได้ในวันที่ข้าราชการสับเท้ากันขึ้นรับตำแหน่ง โครงการต่างๆ มากมายถูกปล่อยร้างเมื่อคนเก่าไปคนใหม่มา แต่ก็มีหลายโครงการดีๆ ที่ถูกสานต่อจนเป็นผลสำเร็จ โดยไม่ได้คิดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มไม่มานั่งเถียงกันว่าเป็นผลงานของใคร ฉันก็ได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันสามัคคีและให้ความร่วมมือพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่งอมืองอเท้าให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวจะถูกสานต่อให้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน แม้ว่าชาวบ้านที่นี่ทั้ง 89 คนจาก 31 ครอบครัว จะไม่มีใครที่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากถามนักท่องเที่ยวว่าแม่ฮ่องสอนมีอะไรที่น่าเที่ยวชมบ้าง ฉันก็เชื่อว่าหนึ่งในนั้นก็คือพวกเขารวมอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าปัจจุบันกะเหรี่ยงคอยาวจะมีอยู่แพร่หลายทั้งเชียงใหม่, เชียงราย แต่แม่ฮ่องสอนก็เป็นบ้านหลังแรกๆ ของพวกเขา ก่อนที่กลุ่มทุนจะนำพาไปจัดตั้งหมู่บ้านเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกระจัดกระจายไปอีกหลายแห่ง บางคนที่เป็นพี่เป็นน้องกันต้องพลัดพรากจากกัน แม้ว่าอยู่ห่างจากกันไปไม่กี่จังหวัดแต่ก็ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ เพราะโอกาสที่ชาวบ้านเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัดนั้นต้องเป็นกรณีสำคัญ เช่น เจ็บป่วยและต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น เป็นต้นฉันเชื่อว่าหากสร้างบ้านที่มีความมั่นคงทั้งทางจิตใจ (ว่าจะไม่ต้องอพยพไปไหนอีกแล้ว) และมั่นคงทางร่างกายคือได้กินอิ่มนอนอุ่น มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ถูกกักถูกขังอยู่เฉพาะบริเวณนักท่องเที่ยวเข้าไปดูได้เท่านั้น เหมือนที่นายทุนกระทำอยู่ในหลายๆ แห่ง พวกเขาก็จะเต็มใจอยู่บ้านของเขาเอง โดยที่ทางการเองก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะลักลอบนำพาพวกเขา ไปอยู่บ้านสวนสัตว์ที่ไหนอีก หมู่บ้านที่เขาเลือกอยู่อย่างมีความสุข ก็จะเป็นหมู่บ้านจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อวิญญาณ มีกลิ่นอายวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์และท่วงทำนองวิถีชีวิตที่ชวนเคลิบเคลิ้มไปว่าเราเคยมาเยือนเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งจะแตกต่างกับความรู้สึกหดหู่หลังจากเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านสวนสัตว์คอยาวที่ไหนสักแห่ง
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที  เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาจากปากของสามีและคนอื่นๆ ที่เดินเท้าลัดผ่านป่าไปมาระหว่างหมู่บ้านเดิมกับหมู่บ้านใหม่อยู่เสมอ  ความจริงระหว่างบ้านเดิมกับบ้านใหม่อยู่ห่างกันเพียงเดินเท้าทางท้ายหมู่บ้าน ขึ้นลงยอดเขายาวๆหนึ่งยอดสักสามสิบกว่านาทีก็ถึง แต่พอเดินทางด้วยถนนที่ตัดจากเมืองเข้าทางหมู่บ้านห้วยเดื่อ ผ่านหมู่บ้านห้วยปูแกงเป้าหมายการเดินทาง ก่อนจะมุ่งสู่ชายแดนทางทิศตะวันตก ต้องใช้เวลาเกือบสอชั่วโมง หากเป็นช่วงหลังฝนตกติดต่อกันทางจะยิ่งลำบากอาจต้องใช้เวลามากกว่าเดิมเจ้าเขียวสะอื้นที่ต้องแบกบรรทุกสิ่งของสัมภาระ ทั้งตะกร้าหน้าตะกร้าหลังและผู้โดยสารอีกสามคนดูจะน่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าสามีที่ต้องคอยควบคุมรถไม่ให้ลื่นไหลลงข้างทาง เพราะทางเป็นหลุมเป็นโคลน บางครั้งต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นนักกายกรรมไต่ล้อไปบนเส้นถนนที่เหลือไว้เพียงหน้ายางรถยนต์ ลูกน้อยยังนอนอยู่ในอ้อมแขน แนบใบหน้ากับอกมีผ้าห่มคลุมพันมิดทั้งหัวทั้งหาง (ขา) ส่วนสายตาของผู้ซ้อนท้ายเช่นฉัน เหม่อไปยังท้องฟ้าสีครามระบายเมฆใสที่ยังดีไม่มีวี่แววของฝน ป่าข้างทางเขียวชอุ่มตัดสีสันกับสายน้ำที่ข้นคลักดังสีน้ำชาใส่นมไหลบ่ามาอย่างรุนแรง น้ำปายยามนี้เหมือนสาวเจ้าอารมณ์ฉุนเฉียวเชี่ยวกราก ต่างจากเมื่อปลายหนาวสองปีก่อนเมื่อครั้งที่ฉันและเพื่อนๆ มาลอยตัวเล่นจับปูจับปลา น้ำปายสายเดียวกันกลับใสเย็นมองเห็นตัวปลา ทว่าใต้สายน้ำก็ไม่วายไหลรี่แรงดุจจิตใจสตรีที่ยากแท้หยั่งถึง แล้วอารมณ์กวีที่เพ้อไปไกลก็ต้องหวนกลับคืนสู่ปัจจุบันเมื่อปลายทางใกล้เข้ามาถึง สามีกระซิบบอกว่าพอถึงถนนราดยางที่ขาดห้วงจนเราลืมไปแล้วอีกครั้งก็จะถึงทางแยกเล็กๆ ข้างหน้า ที่เป็นทางเท้าพอให้มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะเข้าไปได้ เราจะต้องจอดรถไว้ริมฝั่งตลิ่งด้านนี้เพื่อรอให้เรืออีกฝั่งหนึ่งมารับเราข้ามฟาก แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีวี่แววว่า เรือที่บรรทุกนักท่องเที่ยวลำไหนจะเสียเวลาแวะจอดรับฉันกับสามีจึงตัดสินใจอุ้มลูกเดินลัดเลาะพงหญ้าที่มีรอยทางเดินเท้าเข้าใกล้หมู่บ้านไปอีกนิดเพื่อจะให้คนฝั่งตรงกันข้ามเห็นตัวเราและแล่นเรือมารับ  ทางเดินที่ว่านี้ต้องใช้เวลาอีกสิบกว่านาทีเล่นเอาเหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆกันเมื่อลงเรือเป็นที่เรียบร้อย เราก็คิดว่าทุกอย่างคงจะผ่านไปด้วยดี แต่แล้วจู่ๆเรือที่กำลังกลับลำอยู่กลางน้ำเชี่ยวก็เกิดอาการเครื่องดับกระทันหัน แม้ว่าฉันจะทำใจเชื่อมั่นคนขับเรือแต่ดูอาการของคนขับเรือที่พยายามสตาร์ทเครื่องด้วยอาการขวัญเสียไม่น้อยไปกว่าสามี ทำให้รู้ว่าการข้ามเรือแต่ละครั้งก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะในฤดูกาลน้ำหลากเช่นนี้ “ไม่ค่อยอยากรับก็แบบนี้แหละครับมันอันตราย น้ำมันเชี่ยว” เมื่อถึงที่หมายคนขับเรือก็ชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมต้องคอยอยู่ริมฝั่งนานๆ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงเราค่อยๆ ปลอบขวัญกันไปโดยเฉพาะลูกน้อยที่กอดแม่เอาไว้แน่นในยามที่อยู่กลางสายน้ำเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาเมื่อถึงบ้านห้วยปูแกงแล้วเราต้องเดินไปตามตรอกเล็กอีกประมาณสิบกว่านาที ทางที่แฉะไปด้วยโคลนตมและขี้วัว ทำให้ฉันเกือบเสียหลักลื่นล้มอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเรามองเห็นควันไฟหลายสายลอยคว้างเหนือหมู่บ้านที่เรียงซ้อนเป็นสองแถว ซึ่งแต่ละหลังรูปทรงและขนาดกระทัดรัดคล้ายๆ กันลานหน้าบ้านของแต่ละคนโล่งเตียนไม่มีใบไม้ใบหญ้ารกรุงรังเว้นเสียแต่บางหลังที่ยังไม่มีใครเข้าอยู่ก็จะเห็นหญ้าสาบเสือขึ้นอยู่รำไร หมู่บ้านกลางหุบเขาสวยกว่าที่จินจตนาการเอาไว้ สายน้ำห้วยสายเล็กไหลเอื่อยอยู่ริมด้านขวาก่อนจะเลี้ยวตัดขวางเป็นเสมือนด่านแรกเข้าหมู่บ้าน เราเดินบนหินก้อนเล็กเรียงกันเป็นสะพานเข้าหมู้บ้าน เมื่อสบสายตาเข้ากับผู้คนก็พบเห็นแววตาและสีหน้าที่ชื่นมื่นมีความสุขแม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อล้าจากการทำงานปรับปรุงบ้านช่องห้องหอของตนเอง“เจ้าตัวเล็กกินข้าวอร่อยขึ้นนะ” เป็นคำบอกเล่าของพี่สะใภ้เมื่อฉันถามถึงความเป็นอยู่หลับนอนในที่แปลกใหม่“เหนื่อยนะทำบ้านทุกวันแต่ก็สนุกดีได้ทำนุ่นทำนี่ ไม่ได้อยู่เฉยเหมือนเมื่อก่อน”พี่ชายคนที่สองของสามีที่ย้ายมาอยู่คนเดียวในบ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองบอกเล่า ด้วยท่าทางกระปรี้กระเปร่า  คนหนุ่มคนสาวที่นี่ก็มีไม่น้อยที่ยังไม่ได้แต่งงาน การทำงานร่วมกันด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้ฉันสังเกตเห็นสีหน้าที่แช่มชื่นขึ้นกว่าเดิมของเขา เพราะหญิงชายต่างมีหน้าที่ของตนเองซึ่งต้องพึ่งพากัน ผิดกับเมื่อก่อนที่หญิงจะเป็นหลักของครอบครัวเพราะมีรายได้จากการขายของและโชว์ตัวให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเพื่อจะรับเงินเดือนที่นายทุนจ่ายเป็นค่าตอบแทน เมื่อเท้าเหยียบย่างขึ้นบนเรือนไม้ไผ่บ้านของตัวเอง ฉันก็พบกับความชื่นเย็นจากสายลมที่พัดเอากลิ่นต้นหญ้าแห้งโชยอ่อนแตะจมูก ควันไฟจางๆ ลู่เอนอยู่เกือบทุกมุมที่มองออกไปทางนอกเรือน เสียงกระดึงวัวขานรับเสียงร้องมอๆ อยู่แนวชายเขาเราสามคนจึงเผลองีบหลับยามบ่ายไปด้วยกายที่เหนื่อยล้าแต่ด้วยใจที่เป็นสุข.
ชิ สุวิชาน
เมื่อเข็มนาฬิกาเข็มที่สั้นที่สุด เลื่อนไปยังหมายเลขเก้า ทุกคนจึงขึ้นรถตู้ เคลื่อนขบวนไปยังศูนย์ศิลปและวัฒนธรรมแสงอรุณ  เมื่อถึงมีทีมงานเตรียมข้าวกล่องไว้รอให้ทาน พอทานข้าวเสร็จพี่อ้อย ชุมชนคนรักป่า ก็มาบอกผมว่า  งานจะเริ่มบ่ายโมง  พร้อมกับยื่นใบกำหนดการให้ผมดู  ผมตื่นเต้นนิดหน่อยพอบ่ายโมง งานก็เริ่มขึ้น โดยการฉายสไลด์เกี่ยวกับป่าชุมชนที่หมู่บ้านสบลาน อำเภอสะเมิงเชียงใหม่   "ถ้าถึงคิวแล้วจะมาเรียกนะ” ทีมงานบอกกับผมในระหว่างที่ผมรออยู่หน้างานนั้น ผมก็ได้เจอกับนักเขียน นักดนตรี นักกวี ที่ทยอยมา ได้มีโอกาสคุยกับคนที่ผมรู้จัก และกำลังรู้จัก และที่ไม่รู้จักด้วย  ส่วนมากจะไต่ถามเรื่องของเตหน่ากู วิธีเล่น วิธีจับต่าง ๆ   ผมก็แนะนำตามที่ผมรู้  นับว่าเตหน่ากูเป็นเครื่องดนตรี แปลกใหม่สำหรับคนกรุงเทพฯและคนอื่นๆที่พบเห็น แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า  ที่เตหน่ากู กลายเป็นเครื่องดนตรีแปลกใหม่สำหรับลูกหลานปวาเก่อญอแท้ๆ  ทั้งที่เป็นต้นตำรับของเครื่องดนตรีชนิดนี้  มันเป็นไปได้อย่างเหลือเชื่อ การรอคอยผ่านไปเรื่อย ๆ  ตอนนี้ผมเห็นอ้ายไพฑูรย์  พรหมวิจิตร เริ่มแต่งองค์ทรงเครื่องแล้ว ผมก็เลยไปหยิบกางเกงสะดอของผมมาใส่พร้อมกับเสื้อปวาเก่อญอ แล้วเอาผ้าโพกหัวคล้องคอตามฉบับของผม  ผมสังเกตเห็นศิลปินรับเชิญหลายท่าน เริ่มเรียกอารมณ์กันแล้ว ผมนึกในใจว่า “พวกนี้กินน้ำชา หรือว่ากินเหล้ากันแน่?? กินได้ไม่หยุดหย่อน ไม่เมา ยากที่ผมจะลอกเลียนแบบ”สักครู่ผู้จัดก็มาเชิญพี่อัคนี  มูลเมฆ  อ้ายไพฑูรย์ กับอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ขึ้นเวที พี่ภูเชียงดาว มาเรียกผมกับพี่นก โถ่เรบอ บอกว่า "เตียมตั่วเน้อ เฮาจะขึ้นเวทีต่อจากอ้ายแสงดาว”“ขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำแป๊บนึ่งนะครับ” ผมบอกพี่ภู เชียงดาว“โวยๆๆ หน้อยเน้อ” พี่ภู บอกผม ผมจึงรีบไปด้วยความเร่งรีบเมื่อเจอห้องน้ำผมรีบเข้าไปทันที จนผมทำธุระส่วนตัวเกือบเสร็จแล้วนั้น มีผู้หญิงกลุ่มใหญ่มาเข้าห้องน้ำ พร้อมทั้งคุยกันเสียงดัง โดยไม่เกรงใจคนอยู่ในห้องน้ำอย่างผม จนผมชักไม่แน่ใจว่า “นี่ เราเข้าห้องน้ำผู้หญิงหรือเปล่าวะ?”   ผมพยายามสำรวจห้องน้ำ เพื่อให้เห็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของห้องน้ำหญิงหรือชาย ผมมองไปที่ประตูห้องน้ำ มีป้ายเขียนว่า "ห้ามทิ้งผ้าอนามัยลงในโถส้วม" ซวยละกู ! ผมต้องรอจนกว่าผู้หญิงกลุ่มนั้นออกจากห้องน้ำจนหมด แล้วค่อยย่องออกไป โดยก่อนออกไปพ้นปากประตูห้องน้ำ  ผมดูป้ายห้องน้ำอีกทีหนึ่งเพื่อความแน่ใจ  คราวนี้ผมแน่ใจแล้วว่าเข้าห้องน้ำผิดจริง ๆ  เพราะป้ายห้องน้ำเขียนคำสั้น ๆ เอาไว้ว่า "หญิง” ผมจึงรีบเผ่นทันทีเลย พอไปถึงหน้างาน พี่นกกับพี่ภูตามหาผมกันใหญ่เลย พี่นกชวนเข้าไปรอด้านในงาน  เมื่อเข้าไปในงานก็เห็น อ้ายไพฑูรย์ กำลังอยู่บนเวที  พร้อมกับเสียงปะทัด  ต่อจากอ้ายไพฑูรย์ก็เป็นอ้ายแสงดาว กับบทกวี  “ห่อโข่เลอเหย่อโอะแผล่" ต่อด้วย "The World is My Country" ก็เริ่มขึ้น และสุดท้ายก็จบลงด้วย "เราจะอยู่ที่นี่เพราะ ห่อโข่เหม่เป่อต่าลอ" พอพิธีกรประกาศให้พี่ภู เชียงดาวขึ้นไป พี่ภูก็ชวนพี่นก โถ่เรบอ พร้อมผมขึ้นไปด้วย โดยพี่ภู เป็นคนอ่านบทกวี พี่นก โถ่เรบอเป็นคนเป่าปี่เขาควาย ผมเป็นคนคลอเสียงเตหน่ากู ไปตามบทกวี เมื่อขึ้นไปถึงบนเวที มีการทักทายผู้ชมนิดหน่อย ตามสไตล์ พี่ภู ผมเริ่มคลอเสียงเตหน่ากู เสียงปี่เขาควายของพี่นก โถ่เรบอก็ดังขึ้น พร้อมกับบทกวีของพี่ภู  เชียงดาวเริ่มขับขานช่วงขณะจิตนั้น ทำให้ผมย้อนกลับมานึกทบทวนวัตถุประสงค์ของการมากรุงเทพฯ อีกครั้ง  คำบอกเล่า ของผู้เฒ่าได้แล่นเข้ามาในสมองของผม ทำให้คิดขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับฟังบทกวีของพี่ภูไป เมื่อบทกวีจบลง เสียงปี่เขาควาย และเตหน่ากู ก็สงบลงเช่นกัน พี่นก โถ่เรบอและพี่ภูลงเวทีไป  พี่นก โถ่เรบอหันมาบอกผมว่า  "มา เก แน เต่อ กา อ่อ"   พร้อมส่งยิ้มมา ซึ่งแปลว่า คุณต้องลุยเดี่ยวแล้วนะผมจับไมค์ขึ้นมา คำบอกเล่าของผู้เฒ่ายังไม่ได้แล่นออกจากสมองของผม ทำให้ผมเห็นภาพของพี่น้องชนเผ่า ผู้หญิงแก่ เด็กๆ ผู้เฒ่า คนหนุ่ม คนสาว ที่รอฟังข่าว อยู่ที่บ้านป่าบ้านดอย พร้อมลุ้นทุกเวลาว่า หน่วยงานรัฐจะมีมติออกมายังไงเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน นั่นหมายถึงการชี้อนาคตของพวกเขารวมถึงผม ว่าจะอยู่หรือจะไป หรือหากอยู่ก็มีสิทธิ์แค่อยู่โดยไม่มีสิทธ์ในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่หรือ?                                                                    เพลงแรก ที่ผมจะขับร้องและบรรเลงคือเพลงหน่อฉ่าตู  เพลงนิทานปวาเก่อญอ ที่เคยขับร้องกันมาเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้ว ที่บอกว่า "งูใหญ่จะกลืนเอาลูกหลานปวาเก่อญอลงไปในท้องงู”ซึ่งในท้องงูนั้น น่ากลัว เหมือนหุบเหว หน้าผาสูงชัน  มีแต่เสียงโหวกแหวกจนหูอื้อไปหมด จนทำให้ลูกหลานชนเผ่าปวาเก่อญอลืมความเป็นคนปวาเก่อญอ  ลืมแม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน  ผู้เฒ่าเล่าขันเอาไว้เป็นตำนาน แต่มาวันนี้มันกลายเป็นความจริงหรือ?ผมเห็นกับตา! มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าปวาเก่อญอ โดยที่คนปวาเก่อญอไม่ทันตั้งตัว โดยที่คนปวาเก่อญอไม่อาจต้านทานไหว  มันเป็นความจริงที่ผมเห็นมากับตา งูใหญ่ตัวนี้มันใหญ่มันยาว จากเหนือจดใต้  ลำตัวมันคดเคี้ยวลดเลี้ยวจนเวียนหัว มันกลืนแล้ว มันกลืนลูกหลานคนปวาเก่อญอลงสู่ท้องของมันแล้ว ท้องของมันที่เป็นหน้าผาสูงสามสิบสี่สิบชั้น มีเสียงโหวกแหวกจนหูอื้อไม่เพียงเท่านั้นยังมีควันดำควันขาวตามเสียงนั้นด้วย งูใหญ่ไม่เพียงแต่กลืนลูกหลานของคนปวาเก่อญอเท่านั้น แต่มันจะกลืนทั้งหมู่บ้าน ทั้งผืนป่า วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเราไปหมดเลย  มันเป็นไปแล้ว ไก่ป่าขันเรียกไก่บ้าน แผ่นดินจะไม่เหมือนเดิม  ยิ่งไก่ป่ารุกรานไก่บ้าน แผ่นดินยิ่งไม่เหมือนเดิม ผมพยายามจะสื่อสารไปยังผู้ฟังในวันนั้น  แต่ผมมิอาจห้ามความรู้สึกหดหู่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าของผมได้  เราต่อสู้มาเป็นเวลาเกือบสิบปี แทบทุกวิถีทาง เพื่อป่าซึ่งเป็นเหมือนชีวิต ทั้งร่างกายและวิญญาณของพวกเรา แล้วเราจะทำร้ายชีวิตของเราเองได้อย่างไร  เราได้พิสูจน์มาแล้วพอสมควร ต้นไม้ ป่าไม้ก็เป็นพยานเป็นอย่างดี แต่เขายังไม่ไว้ใจเราอยู่ดี  เหมือนเราเกิดมาภายใต้คำแช่งสาปบางอย่างที่ไม่มีวันแก้มันได้  เราเกิดมาผิดที่หรือผิดที่เราเกิดมา   ช่วงที่ผมกำลังพูดอยู่บนเวทีนั้นความคิดเหล่านี้ได้มาโจมตีสมาธิของผม จนเสียงพูดของผมเริ่มสั่นกลายเป็นคลอนสะอื้ ผมพยายามหยุดพูดเพื่อให้สถานการณ์ บรรยากาศและอารมณ์ของผมจะได้กลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมควบคุมมันไม่ได้จริงๆ จนหยดน้ำจากมุมตาเอ่อล้น เต็มเป้าตา แล้วค่อยๆ ร่วงไหลเป็นน้ำตาออกมา โดยไม่ได้เจตนา ผมต้องฝืนร้องเพลงหน่อฉ่าตู ทั้งที่อารมณ์และความรู้สึกไม่อยู่ในภาวะปกติ เพลงจบไปอย่างสะอึกสะอื้น ผมไม่ทราบว่าคนที่ได้ฟังในวันนั้นจะรู้สึกอย่างไร เพราะผมเองก็งงเหมือนกัน ว่ามันเกิดขึ้นบนเวทีอย่างนี้ได้อย่างไร ทั้งที่ผมไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนผมต้องกราบขอโทษคนที่มาฟังในวันนั้น  ที่ผมได้ทำให้เสียบรรยากาศ และเสียอารมณ์ในการฟังเพลง แต่ผมอยากบอกว่า นั่นแหละคือความรู้สึกที่แท้จริงที่ออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจของลูกหลานชนเผ่าปวาเก่อญอ ที่ตกเป็นเหยื่อของสังคมตลอดมา แต่เมื่อชะตาลิขิตมาให้เป็นแบบนี้ เราก็จะต้องเคลื่อนไหวกันต่อไป ต้องเป่าร้องกันต่อไป ต้องขับขานบรรเลงกันต่อไป ต้องขีดเขียนกันต่อไป ต้องพูดคุยสื่อสารกันต่อไป โดยหวังว่าสักวันหนึ่งผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ  จะได้รับรู้และเข้าใจพวกเรา    แล้วอะไรต่าง ๆ ก็คงจะดีขึ้นบ้าง  โดยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด???แม้จะเกิดในที่ที่ต่างกัน  ระบบการปกครองที่ดูเหมือนจะต่างกัน แต่เราคนรากหญ้า คนด้อยโอกาส คนจน และประชาชนไม่เคยห่างเหินและปราศจากจากน้ำตาแห่งความทุกข์ยากจากผลแห่งนโยบายการบริหารปกครองบ้านเมืองได้เลย  “มันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด???”