Skip to main content

วันที่ 14 กรกฎาคม ของปีนี้ เป็นวันครบรอบ 225 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เช่นเดียวกับการปฏิวัติหลายแห่งในโลก เมื่อมองย้อนกลับไปจากมุมมองปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายอย่างยังคงไม่เข้ารูปเข้ารอย ในฝรั่งเศสเองยังถกเถียงกันว่า อุดมการณ์ของการปฏิวัติคืออะไรและการปฏิวัติสิ้นสุดลงหรือยัง? การปฏิวัติได้เปลี่ยนแปลงชาติฝรั่งเศสมากมายแต่ภารกิจของการปฏิวัตินั้นได้สิ้นสุดลงหรือยังในปัจจุบัน? วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 นั้นเป็นวันที่ชาวปารีสลุกฮือบุกทำลายคุกบาสตีย์ และหมายถึงงานฉลองสหพันธรัฐในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1790 อันเป็นวันที่กล่าวปฏิญาณต่อ “ชาติ” แบบใหม่ ซึ่งกษัตริย์ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่สิ่งเหล่านี้เป็น “รากฐาน” ของระบอบสาธารณรัฐที่เราเห็นทุกวันนี้แค่ไหนกัน ทำไมถึงยกสองเหตุการณ์นี้เป็นวันชาติ? ยังมีข้อถกเถียงสำคัญอีกหลายข้อที่ยังไม่ได้ข้อสรุปและอาจจะไม่มีวันได้ข้อสรุป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองส่วนตัวด้วย เช่น จริง ๆ แล้วจำเป็นต้องประหารชีวิตกษัตริย์หรือไม่? บุคคลสำคัญของการปฏิวัติอย่างโรแบสปิแอร์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นที่มาของความชั่วร้ายในยุค “สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว” นั้น ควรจะได้รับการสรรเสริญหรือไม่? เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม  เป็นที่แน่ชัดว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่เรียกได้ว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบเก่า” (Ancien Regime) อย่างถอนรากถอนโคน แม้การเมืองฝรั่งเศสจะพลิกผัน มีการฟื้นคืนระบอบราชวงศ์หรือเปลี่ยนเป็นระบอบจักรวรรดิหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็มาลงเอยที่ระบอบสาธารณรัฐ ในปัจจุบัน ฝรั่งเศสถือเป็นสาธารณรัฐที่ 5 แล้ว เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ผ่านการถกเถียงทางทฤษฎีและผ่านการทดลองในเชิงปฏิบัติในเรื่องรูปแบบการปกครองในอุดมคติอย่างโชกโชน

มรดกตกทอดที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน และที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือเรื่อง “สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์” ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 เหล่านักคิดนักปรัชญาต่างพยายามแสวงคำอธิบายใหม่ให้แก่ต้นตอของความทุกข์ยากทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น จอห์น ล็อค (John Locke) เขียนไว้ใน “บทความเกี่ยวกับรัฐบาลพลเรือน” ว่ามนุษย์นั้นสร้างสังคมขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิทางธรรมชาติของตนเอง อันได้แก่เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย ฯลฯ ดังนั้นหากรัฐบาลไม่สามารถปกป้องสิทธิเหล่านี้ได้ ประชาชนก็มีสิทธิล้มรัฐบาลโดยชอบธรรม ต่อมามงเตสกิเออร์ (Montesquieu) เขียน “จิตวิญญาณของกฎหมาย” โดยมีประเด็นหลักประเด็นหนึ่งคือ การแสวงหารูปแบบการปกครองที่ลิดรอนสิทธิทางธรรมชาติของมนุษย์ให้น้อยที่สุด สุดท้ายเขาพบว่า มันคือระบบที่มีการแบ่งแยกอำนาจ เพราะอำนาจที่ไร้ขีดจำกัดและกระจุกตัวนั้น นำมาซึ่งเผด็จการอย่างแน่นอน สำหรับรุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นั้น เขาเขียนไว้ใน “สัญญาประชาคม” ว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี และทุกหนแห่งเขาอยู่ใต้โซ่ตรวน” สิ่งที่เขาพยายามชี้ให้เห็นในที่นี้ คือโซ่ตรวนหรือโครงสร้างทางสังคมนั้น เป็นต้นตอของความทุกข์ยากของประชาชนเนื่องจากว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติมนุษย์ซึ่งก็คือเสรีภาพ การไม่เคารพหลักธรรมชาติมนุษย์นี้ คือการทำลายความสงบสุขของประชาชน

 ที่ผ่านมาก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ไม่เคยมีสถาบันทางสังคมใด ๆ ที่รองรับธรรมชาติมนุษย์ที่กล่าวมานี้เลย ดังนั้นหนทางเดียวที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้ คือการรื้อระบอบเก่า ซึ่งมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นเพียงไพร่ทาสและอยู่ภายใต้ความแร้นแค้น แล้วสร้างระบอบใหม่ซึ่งประชาชนเป็น “มนุษย์” ที่มีสิทธิอย่างแท้จริงโดยมีกฎหมายและสถาบันทางการเมืองที่รองรับ นี่คือที่มาประการหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นสาเหตุที่รัฐบาลของระบอบใหม่นั้นรีบประกาศ “ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” โดยทันทีตั้งแต่ปี 1789 เห็นได้ว่าเนื้อหาของคำประกาศนั้นชัดเจนเรื่องสิทธิธรรมชาติ โดยระบุไว้ในข้อแรกว่า "มนุษย์เกิดมาและดำรงอยู่อย่างเสรีและเสมอภาคกันในสิทธิ การเลือกปฏิบัติทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม"

เมื่อธรรมชาติของมนุษย์ได้รับการเคารพ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของประชาชน คนธรรมดา ๆ คือเจ้าของประเทศอย่างเสมอหน้ากัน อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติในช่วงแรกนั้นยังค่อนข้างประนีประนอมกับระบอบเก่า ประชาชนยังถูกแบ่งเป็นกลุ่มที่มีจิตสำนึก (citoyen actif) และกลุ่มที่ไร้จิตสำนึก (citoyen passif) กลุ่มแรกนั้นคือผู้ถือครองทรัพย์สินและสามารถจ่ายภาษีได้ ซึ่งเป็นประชากรจำนวนประมาณ 60% ของประเทศ และคือกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ เหล่าทาสผิวดำก็ยังคงไร้สิทธิโดยสิ้นเชิง ลักษณะเช่นนี้ตรงกันข้ามกับอุดมคติของสังคมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คืออุดมคติเรื่องความเท่าเทียมและการพยายามทำลายระบอบอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ดังนั้นในปี 1792 เมื่อโรแบสปิแอร์ (Maximilien Robespierre) ผู้นำคนสำคัญของปีกก้าวหน้าเริ่มขึ้นมามีอำนาจ จึงมีการประกาศให้ผู้ชายทุกคน ทุกชนชั้น สามารถเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน  

จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งนั้น เชื่อมโยงกับเรื่อง “สิทธิธรรมชาติ” ในแง่ของเสรีภาพและความเสมอภาค อันเป็นรากฐานของอำนาจอธิปไตยของปวงชน การเลือกตั้งคือการแสดงถึงอำนาจของประชาชนในการปกครองตัวเอง รับประกันสิทธิของตัวเอง และได้มาซึ่งสังคมสงบสุขในที่สุด

จนถึงทุกวันนี้ รากฐานความคิดเช่นนี้ เป็นที่ยอมรับในทางสากล ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การพรากสิทธิธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่สามารถสร้างสังคมที่สงบสุขยั่งยืนได้ (ไม่ว่าจะพยายามคืนความสุขแค่ไหนก็ตาม) ทางเดียวที่จะคืนความสุขให้กับประชาชนและสร้างประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและสังคมอย่างยั่งยืนได้นั้น คือการเคารพสิทธิพื้นฐานและธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ อันได้แก่หลักการเสรีภาพและหลักการเสมอเสมอภาค อันแสดงออกผ่านการเลือกตั้งอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนทุกอาชีพทุกชนชั้น

ด้วยเหตุนี้ การที่กลุ่มคนเพียงบางกลุ่มได้เข้ายึดอำนาจบริหารประเทศโดยไม่ชอบธรรม ภายใต้ข้ออ้างการสร้างความสุขและความก้าวหน้าให้กับประเทศนั้น จึงเป็นการหลอกลวงโดยสิ้นเชิง สำหรับกรณีของสังคมไทยนั้น ในปัจจุบันยังคงเป็นต่อสู้ระหว่างประชาชนกับโครงสร้างอนุรักษ์นิยมที่ยังมีอิทธิพลอยู่ การต่อสู้นี้คงจะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ดังเช่นฝรั่งเศสที่สั่งสมรากฐานทางความคิดมานานนับศตวรรษกว่าจะมีการปฏิวัติ แต่อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น สังคมไทยจึงน่าจะเรียนรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ในโลก เช่นฝรั่งเศส เพื่อสั่งสมประสบการณ์และสร้างรากฐานทางความคิดประชาธิปไตยให้มั่นคงต่อไป

(ในภาพคือประติมากรรม "Le triomphe de la République" หรือ "ชัยชนะของสาธารณรัฐ" ตั้งอยู่ที่ลาน Place de la nation ที่ปารีส เป็นงานปั้นที่ได้รับรางวัลอันดับที่ 2 ในการแข่งขันประติมากรรมเฉลิมฉลองสาธารณรัฐฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1878)

บล็อกของ ดิน บัวแดง

ดิน บัวแดง
มิเชล ฟูโกต์, อิหร่าน, และพลังของจิตวิญญาณ: บทสัมภาษณ์ในปี 1979 ที่ไม่เคยเผลแพร่มาก่อน* เอกสารที่น่าทึ่งชิ้นนี้ถูกค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส เมื่อปีที่แล้ว เป็นบทสัมภาษณ์โดยหนังสือพิมพ์ Obs เมื่อปี 1979 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ในบทสัมภาณ์นี้ มิเชล ฟูโกต์อธิบายความสนใจของเขาในเรื่องการปฏิวัติอิหร่าน และเรื่อง “จิตวิญญาณ” ในฐานะพลังทางการเมือง
ดิน บัวแดง
ผมได้ยินชื่ออาจารย์ยิ้มครั้งแรก เมื่ออาจารย์ถูก “ศอฉ.” คุมตัว หลังการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะนั้นผมเป็นนิสิตปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษ แต่เริ่มรู้สึกว่าการเมืองเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นทุกที ตั้งแต่เสียงยิงกันและการชุมนุมปิดถนนใกล้มหาวิทยาลัย จนกระทั่งการคุมตัวอ
ดิน บัวแดง
ลาน Place de la République ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นที่จัดชุมนุมต่าง ๆ เพราะเป็นลานใหญ่ อยู่กลางกรุงปารีส ตรงกลางของลานมีอนุสาวรีย์ la République หรือ Marianne ถือคบเพลิง เป็นสัญลักษณ์ของระบอบสาธารณรัฐ อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.
ดิน บัวแดง
ผู้เขียนโชคดีมาก ๆ ที่ไปเล่นเกมส์ตอบคำถามออนไลน์ แล้วดันเป็นผู้โชคดี ได้รับบัตรดูหนังที่โรงหนัง Louxor ฟรีตลอดปี ไปกี่ครั้ง ดูกี่เรื่องก็ได้ พาเพื่อนไปได้ฟรีอีกคนนึงอีกต่างหาก แต่แล้วก็ไม่เคยได้ยินชื่อโรงหนังนี้มาก่อนเลย วันนี้เลยไปลองดูหนังมาซักเรื่อง พอกลับบ้านก็ลองมาค้นประวัติโรงหนังดู พบว่าน่
ดิน บัวแดง
ปารีสช่วงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่เลื่องลือเรื่องอากาศแปรปรวน เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายวันก่อนแดดออกทั้งวัน อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 19 องศา ถือว่าเป็นอุณหภูมิที่พบได้ปลายเดือนเมษายน ปรากฎว่ามาวันนี้อากาศกลับเย็น เมฆครึ้ม ลมพัดแรง
ดิน บัวแดง
หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารโหด Charlie Hebdo ก็มีปฏิกิริยาตอบโต้จากสถานศึกษาต่าง ๆ ในฝรั่งเศสแทบจะทันที ในแง่หนึ่ง ระบบการศึกษาของฝรั่งเศสก็กลายเป็น "แพะรับบาป" เพราะฆาตกรที่ก่อเหตุนั้น เป็นชาวฝรั่งเศสและเป็นผลผลิตของความล้มเหลวในการปลูกฝัง "คุณค่าของสาธารณรัฐ" ผ่านระบบการศึกษาในฝรั่งเศสเอง หนึ่งใ
ดิน บัวแดง
ฉากหลังเห็นควันบุหรี่จากทหารนายหนึ่ง ในขณะที่ทหารอีกนายหนึ่งคาบบุหรี่อยู่ ภาพจาก ECPAD
ดิน บัวแดง
Charb นักเขียนการ์ตูนแนวเสียดสีชื่อดังของ Charlie Hebdo เพิ่งเขียนการ์ตูนแซวเหล่าผู้ก่อการร้ายในหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุด มีข้อความว่า "ยังไม่มีการก่อการร้ายในฝรั่งเศส (?) เดี๋ยว ๆ, เรายังมีเวลาถึงปลายเดือนมกราคมเพื่อที่จะ 'ให้พร' เหล่านั้น" (ประเพณีฝรั่งเศส คือการอวยพรปีใหม่สามารถยืดไปได้ถึงปลายเดื
ดิน บัวแดง
ทหารสยามมาถึงฝรั่งเศสปลายเดือนกรกฎาคมปี 1918 และบางหน่วยออกไปแนวหน้าช่วงกลาง ๆ กันยายน แต่เล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ดูไม่ลงตัว คือเรื่องของอาหาร*
ดิน บัวแดง
วิชาปรัชญาเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมปลายในฝรั่งเศสมายาวนานตั้งแต่สมัยจักรวรรดิที่ 1 ในปี 1808 แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปขณะนี้ที่อาจจะไม่บังคับ หรือไม่มีเลย ถ้าบังคับก็จะมีบางประเทศ เช่น สเปน แต่ก็ไม่ใช่ปรัชญาโดยตรง แต่เป็นประวัติศาสตร์ปรัชญามากกว่า
ดิน บัวแดง
วันที่ 7 พฤษภาคม 2014 Google ฝรั่งเศสนำเสนอภาพหญิงยุโรปคนหนึ่ง แต่งกายแบบชนชั้นกลางสมัยศตวรรษที่ 18 กำลังอภิปรายอยู่บนแท่นปราศรัย
ดิน บัวแดง
"Violer le droit, supprimer l’Assemblée, abolir la constitution, étrangler la république, terrasser la nation, salir le drapeau, déshonorer l’armée, prostituer le clergé et la magistrature, réussir, triompher, gouverner, administrer, exiler, bannir, dé­porter, ruiner, assassiner, régner, avec des