Skip to main content

ทหารสยามมาถึงฝรั่งเศสปลายเดือนกรกฎาคมปี 1918 และบางหน่วยออกไปแนวหน้าช่วงกลาง ๆ กันยายน แต่เล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ดูไม่ลงตัว คือเรื่องของอาหาร*

เรื่องอาหารนั้น มีระบุไว้ตั้งแต่ต้นปี 1918 แล้วว่าให้เหมือนกับกองทัพฝรั่งเศส เพียงแต่ลดจำนวนขนมปังและเพิ่มข้าวเข้าไป "เหมือนพวกอินโดจีน" เรื่องค่าอาหารนี้รัฐบาลฝรั่งเศสออกให้ก่อน แล้วรัฐบาลสยามค่อยจ่ายคืนทีหลัง

แต่แล้วช่วงต้นเดือนตุลาคม มีจดหมายจากผู้บัญชาการทหารของฝรั่งเศสไปถึงกระทรวงกลาโหม บอกว่าผู้นำทหารของสยาม ไม่ต้องการให้มีไวน์อยู่ในเมนูอาหาร เพราะไม่อยากให้ทัพสยาม "ติดเป็นนิสัย" จึงขอให้เปลี่ยนเป็นชากับน้ำตาลแทน แม้แต่เรื่องข้าวเองก็ดูจะมีปัญหา เอกสารระบุไว้ไม่แน่ชัดโดยกล่าวว่ามีความยุ่งยากบางประการเกี่ยวกับการจ่ายอาหารตามอัตราส่วนนี้ โดยเฉพาะในช่วงเคลื่อนย้ายกำลังพล

สรุปว่าตั้งแต่ราว 21 ตุลาคม ทหารสยามต้องจิบชาแทนไวน์ และก็ไม่แน่ว่าจะได้กินข้าวทุกมื้อหรือเปล่า อาจจะต้องกินแต่ขนมปังแบบเดียวกับทหารฝรั่งเศส ตามที่ระบุไว้อาหารทั้งหมดประกอบด้วย ขนมปัง 600 กรัม, เนื้อ 350 กรัม, น้ำตาล 0.32 กรัม, กาแฟ 0.24 กรัม, ผักแห้ง 0.60 กรัม, ไขมัน (เบค่อน?) 0.30 กรัม, เกลือ 0.20 กรัม, ชา 0.005 กรัม, และน้ำตาล 0.10 กรัม

พอราวหนึ่งเดือนผ่านไป ผู้นำหน่วยยานยนต์ของสยามชื่อ หลวงรามา เขียนจดหมายลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 1918 บอกว่าทหารสยามล้มป่วยกันมากเพราะอากาศหนาว และก็อาจจะป่วยเพิ่มขึ้นอีกหากไม่มีการป้องกัน ทีนี้เขาได้ปรึกษากับนายพลชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง จึงได้รู้ว่าไวน์มีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้ด้วยปริมาณแอลกอฮอล์ที่พอเหมาะ แตกต่างจากชาที่ไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ เขาจึงเขียนจดหมายนี้เพื่อขอให้ยกเลิกนโยบายเรื่องชา แล้วให้มีไวน์กลับมาในเมนูอาหารดังเดิม มิเช่นนั้นกองกำลังของสยามจะต้องทนทุกข์กับความหนาวที่พวกเขาไม่คุ้นเคย

เห็นได้ว่าแม้จะเซ็นยุติสงครามแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน แต่การเบิกจ่ายอาหารก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ (แต่เราก็สันนิษฐานเอาได้ว่า พวกเขาคงมีทางเลือกส่วนตัวในการเลือกจับจ่ายบริโภคเองมากกว่าในสถานการณ์สงคราม) ในปีถัดมามีการเซ็นสนธิสัญญาแวร์ซายและมีการเดินขบวนของประเทศผู้ชนะสงคราม ทหารสยามก็ได้เข้าร่วมด้วยก่อนจะกลับสยามในที่สุด


ภาพกองทหารสยามเดินขบวนผ่านประตูชัย (l'Arc de Triomphe) ณ กรุงปาริสในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) เพื่อฉลองการชัยชนะภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (จาก http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Firstworldwar.jpg)

*ข้อมูลเรียบเรียงจากเอกสารหอจดหมายเหตุการทหาร ณ กรุงปารีส รวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทยเนื่องในวาระเฉลิมฉลองความร่วมมือทางการทหารไทย-ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 (เข้าถึงได้จาก http://www.ambafrance-th.org/IMG/pdf/DOSSIER_11_NOV.pdf?3163/21093bb52920e3ff868b5fe5d38115adbb2da93c)

บล็อกของ ดิน บัวแดง

ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม 1790 หลังจากเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์เป็นเวลา 1 ปี มีการเฉลิมฉลอง "สหพันธรัฐ" (Fête de la Fédération) คือการมารวมตัวกันของตัวแทนจากท้องถิ่น เทศบาลและภูมิภาคต่าง ๆ ที่ Champs-de-Mars (ลานหน้าหอไอเฟล) เพื่อประกาศความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความภักดีต่อ "ช
ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม ของปีนี้ เป็นวันครบรอบ 225 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เช่นเดียวกับการปฏิวัติหลายแห่งในโลก เมื่อมองย้อนกลับไปจากมุมมองปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายอย่างยังคงไม่เข้ารูปเข้ารอย ในฝรั่งเศสเองยังถกเถียงกันว่า อุดมการณ์ของการปฏิวัติคืออะไรและการปฏิวัติสิ้นสุดลงหรือยัง?