Skip to main content

หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยได้หนึ่งสัปดาห์ เสียงโทรศัพท์ทางไกลจากที่ราบกลางหุบเขา แห่งเมืองมายโจว ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ก็ดังกรี๊งกร๊าง ขึ้นมา “...อาโล้ถุกเลิมอ่า...ขันบ่าวล้า” (ฮัลโหล...”ถุกเลิม” (ชื่อภาษาเวียดของผู้เขียน) เหรอ สบายดีมั้ย) แล้วตามมาด้วยเสียงแห่งความห่วงใย “...ฮ่อมแล้วบ่...เป็นกู้ม...” (หายรึยัง ที่เป็นไข้) “หง่ำว่าน้องเจ็บเตียว บ่าเห่ฮ่อม” (คิดว่าน้องเจ็บหนักยังไม่หาย) ปากเราก็ตอบกลับไปว่า “น้องยังบ่ตาย ฮ่อมโม้ม เหวินขันยองหย่ายหล่อก” (น้องยังไม่ตาย หายแล้ว ก็ยังสบายตามประสาดอก) “มาฟังแกนอยู่ไถลาน มันเหิ่บเถ่ยเตี๊ยด น้อยก็หายหล่อก” (มาพักฟื้นที่เมืองไทย ปรับตัวกับสภาพอากาศได้ เด๋วก็หายป่วย) ผู้เขียนตอบไป...

พี่ซ้วน หญิงชาวบ้านมายโจว เวียดนามโทรมาถามด้วยความเป็นห่วง เดาว่าลึกๆ คงนึกว่าผู้เขียนเจ็บหนักมว๊าก หรืออาจจะเด๊ดสะมอเร่ไปแล้ว เพราะตั้งแต่ผู้เขียนไปร่วมงาน “เซ่นเมืองมุน” (ปัจจุบันคืออำเภอมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม) เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ป่วยเป็นไข้ ไปโรงพยาบาล แล้วกลับมานอนทนทุกเวทนาในหมู่บ้านไทขาวมาตลอด สัปดาห์กว่าๆ ก่อนที่จะโงหัวกลับไปฮานอยและเมืองไทยในที่สุด

ชาวบ้านคงคิดว่าผู้เขียนคงจะตายไปแล้ว เพราะไปทำให้ผี “ก่ามเถ๋ยหล่ะ” (รู้สึกแปลกๆ) (“เกิ่นเล้อ...เกิ่นหล่ะ บ่าวแม่นไตเฮา” – ใครหว่า หน้าตาแปลกๆ ไม่ใช่ลูกหลานไทเรา) เลยขอแกล้ง-ลงโทษซะหน่อย การไปร่วมพิธีนั้น ผู้เขียนก็ลืมใส่กำไลทองเหลือง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเอาไว้ป้องกันผี (เพราะเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้เขียนก็ไปดูการซ้อมทำพิธีเซ่นเมือง ไม่ได้ใส่กำไลทองเหลือง แถมก่อนไป ดันไปชักดาบโบราณของเจ้าเมืองออกจากฝัก ก็เลย “ถูกผีเข้า” ....แต่ในเวลานั้น หลังจากผีออก ผู้เขียนไม่ป่วยและที่แน่ๆ ยังไม่ตาย อิอิ)

...ในวันเซ่นเมืองปีนี้ ผู้เขียนเข้าไปในตัวศาลเจ้า(เมือง) ในขณะที่หมอผีกำลังทำพิธีสวดเชิญดวงวิญญาณเจ้าเมือง ผีน้ำ ผีป่า และผีอื่นๆ มารับเครื่องเซ่น อยู่ในศาลนั้นคนเดียว พิธีนี้ ชาวบ้านไม่เข้าไปดูใกล้ๆ มีเฉพาะก็แต่เจ้าหน้าที่ของอำเภอ (ซึ่งวันนั้น ท่านเหล่านี้ถูกปู่ติ๋น ผู้อาวุโสของอำเภอและเป็นอาจารย์สอนภาษาไทขาวของผู้เขียนแนะนำว่า เป็น “เจ้าเมือง” และเป็น “กวาน” (ขุนนาง)) ที่ไปนั่งเฝ้าพิธีสวดข้างๆ ศาลเจ้าเมือง

ก็ไม่ได้เกิดทะลึ่งอะไรที่เข้าไปใน “ตัว” ศาลฯ ขณะหมอผีทำพิธีสวดหรอก แต่ปู่ติ๋นนั่นแหละบอกว่าให้เข้าไปถ่ายวีดีโอได้ อย่างนี้มีเหรอะ ที่ ethnographer อย่างเราจะไม่เข้าไป เมื่อเข้าไปข้างในจริงๆ หมอผีที่กำลังสวดอยู่ก็มองมา ทำหน้าเลิ่กลักๆ คงคิดในใจว่า “นังนี่ ทะลึ่งเข้ามาได้ไงวะ” ว่าแล้วก็ทำการสวดต่อไป พร้อมโบกพัด เป็นระยะๆ เหมือนซินแสจีนกำลังพูดจาภาษาผีกับผีอยู่ (ดังภาพ) 

กระซิบเบราๆ...เอาเข้าจริงๆ แล้ว เชื่อปู่ติ๋นเนี่ยเกือบทำเราเจ็บ/ป่วยมาแล้ว เพราะตอนฝึกอ่านภาษาไทขาวเมื่อ 3 ปีก่อน ปู่ก็ให้อ่านบทสวด เดือนนั้น เจอตะขาบต่างวัย ต่างไซด์ ใหญ่/น้อย ถึง 7 ครั้ง ในหมอนมั่ง ที่นอนมั่ง กองเสื้อผ้ามั่ง หรือนั่งอ่านหนังสืออยูใต้ถุนเรือนดีๆ ก็มีตะขาบตกมาใส่หนังสือ (เฉี่ยวอีกไม่กี่เซนต์ ก็ตกใส่หัวพอดี) ...เล่นเอาร้องว้าย...พร้อมอาการอกสั่นขวัญแขวน ประสาทจะกิน โดยเฉพาะเวลาจะนอน จะเปลี่ยนเสื้อผ้า อันนี้ยังไม่รวมความฝันแปลกๆ อีกหลายครั้งที่ชาวบ้านทำนายว่าผีจะมาเอาไปอยู่ด้วย จนต้องเลิกอ่านบทสวด แล้วฝึกอ่านนิยายเรื่อง “นางเจียวกวน” แทน ชาวบ้านบอกว่าไปสวดเรียกผีๆ เขาก็มา “หยอก” ...โอ้วมายก๊อดดดด)

จะว่าไปแล้ว มายโจว “ไม่ได้” ทำพิธีเซ่นเมืองมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ตั้งแต่เวียดนามเหนือเข้าสู่ยุคสังคมนิยมหลังจากชัยชนะกองทัพฝรั่งเศสที่ยุทธภูมิเดียนเบียนฟู เมื่อปี ค.ศ. 1954 รัฐบาลเวียดนามในเวลานั้น แม้จะมีนโยบายรักษาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ก็ให้กลุ่มชาติพันธุ์รักษาวัฒนธรรมของตัวเองได้เท่าที่ไม่ขัดกับอุดมการณ์และวิถีทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ปัญหาก็คือว่า ใครคือผู้ “ตีความ” ว่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ขัด หรือไม่ขัดกับอุดมการณ์และวิถีทางดังกล่าว

ขณะเดียวกัน รัฐชาติเวียดนามก็มีนโยบายชาตินิยม ที่ต้องการทำให้คนในชาติให้กลายเป็นเวียด หรือที่เรียกว่า Vietnamization นั่นคือการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยการยกย่องวัฒนธรรมของคนกิง(เวียด) ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดี พร้อมทั้งการเปลี่ยนวิถีชิวิตทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ ภายใต้แคมเปญ “เน๊ปสงเหม๋ย” (วิถีชีวิตใหม่) “วันฮว๋าเหม๋ย” (วัฒนธรรมใหม่)  ทั้งนี้เพื่อจะลบทิ้งความล้าหลัง ความเชื่อเรื่องผีและสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งของไทขาวที่มายโจวนี้ด้วย ภายใต้นโยบายนี้ มีเอกสารภาษาไทขาวหลายชิ้นถูกเผา ห้ามไม่ให้พวกเขาจัดพิธีกรรมเซ่นบ้าน เซ่นเมือง การจัดงานศพ และงานแต่ง ที่มีการเลี้ยงแขกเกินกว่า 2 วัน เป็นต้น

การควบคุมวิถีชีวิตดังกล่าวยังกระทำผ่านการศึกษาที่ทุกคนต้องเข้าโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาเวียด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเวียด ซึ่งก็ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ในกระบวนการของการสร้างรัฐชาติ แต่กระนั้นก็ดี ในเขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐก็ยังให้เรียนภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตน เท่าที่ไม่ขัดกับอุดมการณ์สังคมนิยม (ซึ่งคนตีความว่าขัดหรือไม่ คือ จนท.รัฐ ไม่ใช่ชาวบ้าน) ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ผู้คนมีอัตลักษณ์ร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ชาตินิยมและการควบคุมในทางอุดมการณ์ หรือการรวมผู้คน (integration) เข้าเป็นหนึ่งเดียวในชาติ

เมื่อเวียดนามเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นระบบการตลาดเสรี เวียดนามถูกบังคับกลายๆ จากนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศให้ต้องเปิดกว้างในการควบคุมการปฏิบัติการทางศาสนา/ลัทธิ ความเชื่อ และพิธีกรรมที่เกียวข้อง มากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังมีการควบคุมอยู่ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมาไม่ใช่แค่เฉพาะเปิดกว้าง แต่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการประกอบกิจกรรมทางศาสนา/ลัทธิตามความเชื่อในกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง ในทางปฏิบัติคือการให้ทางจังหวัดจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งงบฯ ในการบูรณะวัด ศาลเจ้า และสถานที่สำคัญทางศาสนาและลัทธิต่างๆ ก็เกิดขึ้นอย่าง

แต่จริงๆ แล้ว แม้ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ตน ไม่คุม ไม่ห้าม แบบ “เห็นจะจะ” อย่างในอดีตแล้ว รัฐชาติเวียดนามก็ยังคงมีการควบคุมทางอุดมการณ์ชาตินิยม ในกระบวนการ Vietnamization (การกลายไปเป็นเวียดนาม) แบบ “เนียนๆ” อยู่ นั่นก็คือว่า รัฐบาลส่งเสริมให้มีการบูชาบรรพบุรุษ วีรบุรุษชาวเวียด รวมทั้งการผนวกการบูชาวีรบุรุษเหล่านี้ไปในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา/ลัทธิของกลุ่มตน เพื่อการหา “รากร่วม” หรือ การ “กลับไปสู่จุดกำเนิด” บรรพบุรุษและวีรบุรุษที่ได้รับการส่งเสริม เช่น “วัวฮุ่ง” (ปฐมกษัริย์ของชนชาติเวียดรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ) “โฮจิมิงห์” (ประธานาธิบดีคนแรก และวีรบุรุษกู้ชาติจากมหาอำนาจตะวันตก) “วัวหลีไท้โต๋” (ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หลี ผู้สถาปนากรุงทังลอง หรือฮานอยในปัจจุบัน) 

นั่นคือ รัฐบาลเวียดนามต้องการให้ลัทธิบูชาบรรพบุรุษเหล่านี้เป็น “ศาสนาประจำชาติ” และการทำให้การประกอบกิจกรรมทางศาสนามีมาตรฐานอันเดียวกัน อันเป็นการควบคุมพลเมืองผ่านอุดมการณ์ “การเป็นคนในชาติเวียดนามเหมือนกัน มีบรรพบุรุษร่วมและร่วมสร้างชาติมาด้วยกัน” (การบูชาโฮจิมิงห์ ถือเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของการร่วมรบ/ต่อสู้กับตะวันตก การสร้างรัฐชาติเวียดนามด้วยกันระหว่างคนกิงกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ)

ทั้งปวงนี้ ก็เพื่อการสร้างอัตลักษณ์และศาสนาประจำชาติเวียดนามขึ้นมา (จากการไม่มีศาสนาในยุคสังคมนิยม) ควบคุมทาง “อุดมการณ์” ของพลเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ของการหลากหลายทางวัฒนธรรม และเครือข่ายทางเศรษฐกิจ-สังคมของการข้ามพรมแดน

วงเล็บซะหน่อยก็ได้ว่า ผู้เขียนได้รับการกระซิบ (ประเภท “ไม่รัก ไม่บอกนะเนี่ย”) จากนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาชื่อดังของเวียดนามว่า รัฐบาลเวียดนามกำลังใช้อุดมการณ์นี้ต่อสู้กับโลภาภิวัตน์ทางสังคม-วัฒนธรรม เช่น กับศาสนาคริสต์ ศาสนาของทางตะวันตก ซึ่งเป็นศาสนาที่ได้รับการเผยแพร่ในกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น ม้ง ในเครือข่ายทางศาสนา ทำให้ม้ง ในเวียดนามสามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองข้ามพรมแดนกับม้งในตะวันตกและทั่วโลกได้ คนที่ไม่ได้ถูก “กลืน” (disintegrate) ทั้งในทางอุดมการณ์ (ความภักดี) และปฏิบัติการ ต่อชาติเวียดนาม จะไม่ยึดโยง ฝังตรึงตัวเอง (disembedded และ unbounded) ไว้กับรัฐขาติ ทำให้รัฐควบคุมกิจกรรมของการข้ามพรมแดนของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ได้ยาก อีกทั้งการมีวิถีชีวิตที่ไป “ขึ้นอยู่” กับเครือข่ายนอกประเทศ ทำให้สูญรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเดียวไปได้ง่าย

เมื่อไทขาวเมืองมายโจว ได้รับงบฯ จากทางจังหวัดให้ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา พวกเขาเป็นคนไทเพียงแค่ 3 จาก 20 กว่าเมืองในเวียดนามที่ “รื้อฟื้น” พิธีกรรม “เซ่นเมือง” อย่างกระตือรือร้น (จนท.อำเภอกว่าร้อยละ 70 เป็นคนไทขาว) ไม่ใช่เพราะเพื่อการแปลงวัฒนธรรมนี้เป็นสินค้าการท่องเที่ยว เพื่อหาจุดขายเพิ่ม (เนื่องจากมายโจวเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเวียดนามอยู่แล้ว) เลยแม้แต่น้อย อย่างที่ผู้เขียนเข้าใจเมื่อ 3 ปีก่อน (ก่อนที่จะไปดูพิธีนี้จริงๆ 2 ครั้ง) พวกเขาไม่แคร์เรื่องการท่องเที่ยว แม้จะมีคนในและต่างอำเภอมาร่วมงานอย่างมัวดิน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ มองง่ายๆ หาก ประชาสัมพันธ์ไปยังนักท่องเที่ยว รับรองดึงดูดมาได้เยอะ เศรษฐกิจก็จะเฟื่องฟู  โฮมสเตย์ และของก็จะขายได้มาก ชื่อเสียงมายโจวก็จะขจรไกล แต่ที่น่าแปลกคือ เขาไม่สนใจการรื้อฟื้นการเซ่นเมืองท่องเที่ยวเลย ทั้งๆ ที่โอกาสทางเศรษฐกิจก็จ่ออยู่ตรงปากประตูแท้ๆ

ทาง “เจ้าเมืองและกวาน” ของมายโจวเขากำลังคิดและทำอะไรอยู่หว่า...เขาทำตามรัฐบาลเวียดนาม ฟื้นพิธีกรรมเพื่อพิธีกรรม ที่ศาสนา(ลัทธิ) บูชาบรรพบุรุษของชาติ ถูกนำมา “เนียน” ไปด้วยหรือไม่ หรือชีวิตที่เสี่ยง/ตกเป็นเบี้ยล่างในตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองโหยหาสิ่งพิธีกรรมศักดิ์สิทธิมาบรรเทาความทุกข์ หรือเขาตอบโต้ ต่อรอง กับเรื่องอื่น...เขาใช้การเซ่นเมืองเพื่ออะไรกันแน่

โปรดติดตามต่อใน ตอนที่ 2 : การเมืองของการเซ่นเมือง: ผี พิธีกรรม การต่อรองกับ Vietnamization ในกระบวนการ Thai-ization 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด