Skip to main content

ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงบทบาทและผลงานสำคัญในด้านต่างๆมากมายหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นในฐานะมันสมองของคณะราษฎร, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้นำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย  เป็นต้น

สำหรับ อีกบทบาทหนึ่งที่มักจะถูกกล่าวถึงไว้ด้วย นั่นคือ  ความสามารถและผลงานทางด้านการเขียน โดยงานเขียนของปรีดีนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเภทบทความที่นำเสนอเนื้อหาหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไทยอย่างเข้มข้น ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายชิ้นด้วยกัน ทั้งยังมีผลงานโดดเด่นอีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือ บทภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก"

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักจะรู้จักงานเขียนของปรีดี เพียงแต่ในส่วนของผลงานร้อยแก้วเท่านั้น ทว่ายังมีงานเขียนของปรีดีอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนัก นั่นคือ ผลงานร้อยกรองหรือบทกวี

แน่ล่ะ บทความนี้ จะนำคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับชั้นเชิงทางกวีของปรีดี พนมยงค์

ผู้เขียนคิดว่า ปรีดีเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความสนใจการเขียนบทกวีอยู่พอสมควร เมื่อพิจารณาจากสมุดบันทึก “หัวข้อสังคมของอัตโน” แล้ว จะพบว่า มีร่องรอยของการเขียนบทกวีอยู่ด้วย  ดังเช่น บทกวีที่ปรีดีเขียนลงท้ายบันทึกตอนหนึ่งว่า

อนิจจาเจนซื่อบุปผาลาโรงแล้ว

น้องแก้วจวักตักจ้วงน้ำไม่ถึงไหน

สรรพสิ่งแม้แต่น้อยคอยบุญมาให้

ภาระใหญ่ท่วมท้นจนเหลือแล

บทกวีชิ้นนี้ ยังปรากฏร่องรอยการแก้ไขในวรรคที่สามและวรรคที่สี่ โดยตอนแรก ปรีดีตั้งใจจะเขียนวรรคที่สามว่า "สรรพสิ่งวิ่งตรูสู่เทพไท" และวรรคที่สี่จะเขียนว่า "กว่าจะโปรยโรยให้..."  แต่แล้วก็ขีดฆ่าทิ้ง และเขียนใหม่กลายเป็นบทกวีสมบูรณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ปรีดีเป็นผู้มีความสามารถในการเขียนบทกวี นั่นคือ บทกวีที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2489 ชื่อ "สงครามและสันติภาพ" ซึ่งปรีดีได้ใช้กลอนสุภาพในการนำเสนอความคิดว่า

สงครามโลกครั้งก่อนรอนชีวิต

มนุษย์ปลิดสิบกว่าล้านประมาณหมาย

คนเข็ดขามสงครามกันมากมาย

จึ่งตั้งค่ายสันนิบาตชาติประเทือง

เพื่อระงับดับทุกข์สิ้นยุคเข็ญ

ให้ร่มเย็นสวัสดีไม่มีเรื่อง

อยู่ร่วมกันสันติสุขทุกบ้านเมือง

คอยปลดเปลื้องข้อพิพาทบาดทะลุง

สันนิบาตปรารถนาโดยนัยนี้

แต่ก็หนีไม่พ้นจากคนยุ่ง

พวกฟาสซิสต์ประดังขึ้นนังนุง

ต้องรบพุ่งกันอีกหลีกไม่พ้น

อันเคหะสถานต้องลานแหลก

ยิ่งกว่ารบครั้งแรกอย่างปี้ป่น

ทั้งเรือฟ้าเรือน้ำร่ำผจญ

ชีวิตคนเหมือนปลวกถูกลวกน้ำ

ซ้ำยังมีลูกระเบิดที่เลิศฤทธิ์

ปรมาณูแรงพิษโปรยกระหน่ำ

สงครามโลกลบหายคลายระกำ

สหชาติเริ่มนำเปนองค์การณ์

เพื่อระงับดับสงครามครั้งสามสี่

ปรารถนาอย่างดีมีแก่นสาร

ใช้ชาวชนพ้นทุกข์เรื่องรุกราน

แต่จะนานเพียงไหนก็ไม่รู้

ด้วยบัดนี้ยังมีการสู้รบ

ไม่รู้จบในอินโดนีเซียอยู่

ทั้งญวนลาวกราวเกรียวลองเหลียวดู

ใครจะกู้สุขสันต์ให้หันคืน

ไม่ว่าใครอยากได้อิสสรภาพ

มันซ่านซาบรื่นรมย์ไม่ขมขื่น

เปนเมืองออกของเขาเฝ้าแต่กลืน

น้ำตาตื้นเต็มอยู่ไม่รู้วาย

เมื่อมีแอกแบกบ่าระอาอก

ย่อมต้องเพียรเวียนยกให้ห่างหาย

เรืองรังแต่ชุลมุนเกิดวุ่นวาย

พอคาดหมายเปนชนวนชวนสงคราม

อันตราบใดยังมีเรื่องของเมืองขึ้น

ความขมขื่นจะไม่ก่อให้ท้อขาม

ปรมาณูแค่ไหนอะไรก็ตาม

กันสงครามเกิดได้ไฉนเอยฯ

นอกจากนี้ ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นปฏิภาณกวีของปรีดี พนมยงค์ นั่นคือ การโต้ตอบสักวากับบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง

ในช่วงปี พ.ศ. 2485-2487 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ก่อตั้ง "วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย" ขึ้นมา โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามเองดำรงตำแหน่งนายกวรรณคดีสมาคม มีนายยง อนุมาราชธนและหลวงวิจิตรวาทการเป็นอุปนายก ทั้งยังมีพระนางเธอลักษมีลาวัณย์ดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษา

พระนางเธอลักษมีลาวัณย์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงสนพระทัยในด้านวรรณกรรมอย่างยิ่ง ทั้งยังทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรอง รวมถึงนวนิยายไว้เป็นจำนวนมากอย่างเช่นเรื่อง ชีวิตหวาม และ เสื่อมเสียงสาป เป็นต้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณย์เป็นบุคคลที่ปรีดีเคยโต้ตอบสักวาด้วย โดยการโต้ตอบสักวาดังกล่าวเกิดขึ้นในงานพบปะสังสรรค์ของวรรณคดีสมาคมคราวหนึ่ง  ตอนนั้น  ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาร่วมในงานด้วย พระนางเธอลักษมีลาวัณย์ได้เขียนสักวาท้าทายเพื่อให้ปรีดีโต้ตอบ[1] มีใจความว่า

สักวาฉันขอเชิญผู้สำเร็จ

ทั้งสองเสด็จรับสั่งอย่ายั้งเฉย

ประทานเกียรติแก่กวีอภิเปรย

ท่านปรีดีเล่าก็เคยชำนาญกลอน

ประทานเกียรติให้แก่สมาคม

เพื่อผสมเก็บเข้าเอาไว้สอน

ขออย่าทรงปฏิเสธคำอ้อนวอน

โปรดอุปกรณ์การประพันธ์ช่วยฉันเอยฯ

เมื่อได้รับคำท้า ปรีดีจึงโต้ตอบกลับเป็นสักวาว่า

สักวาถูกท้าจากฝ่ายหญิง

ครั้นขืนนิ่งก็จะว่าสู้ไม่ได้

แต่ถ้าขืนเอ่ยตอบไม่ชอบใจ

ขออภัยอย่าพิโรธโกรธรังแก

อันการกวีชนิดที่ได้เขียนแต่ง

มีมากแห่งที่เป็นชายใช้แน่แน่

แต่ฝ่ายหญิงชนิดยิ่งกวีแท้

ส่งเสียงแหวนี่แหละท่านฉันแพ้เอยฯ

จากผลงานร้อยกรองหรือบทกวีเท่าที่ยกมาแสดงนี้ ทำให้พอจะเห็นได้ว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่มีความสนใจและมีความสามารถในการเขียนบทกวีอยู่พอสมควร  

การมองปรีดีผ่านผลงานทางด้านชั้นเชิงกวีของเขา จึงเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้บทบาทและผลงานในด้านอื่นๆของมันสมองแห่งคณะราษฎรผู้นี้

 

 



[1] ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์. บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และเพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529). หน้า 9-10

 

บล็อกของ อุชญาสิตาส แคราสสิเม่

อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ความยิ่งใหญ่ของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่มีนามว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์สำหรับนักอ่านชาวไทยมาจวบจนทุกวันนี้  
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงบทบาทและผลงานสำคัญในด้านต่างๆมากมายหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นในฐานะมันสมองของคณะราษฎร, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้นำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโ
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อวันอังคารของสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่าน"หนังสือปกขาว" ที่พิมพ์ออกมาในช่วงทศวรรษ 2510 เล่มหนึ่ง และแทบไม่น่าเชื่อว่า จะเจอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้นหนังสือปกขาว คือหนังสืออะไรกัน?
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อกล่าวถึงเรื่องบทเพลงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดูเหมือนว่า จะมีความเชื่อมโยงกับบทเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาและชีวิตชีวาภายในสถาบันการศึกษา  อย่างเช่น เพลงประจำมหาวิทยาลัย หรือเพลงแม่โดมทั้งหลายของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นต้น
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อเอ่ยถึงประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ดูเหมือนว่าชื่อของ ฆวน เปรอง (Juan Perón) จะเป็นชื่อสำคัญที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผู้คน โดยมักจะปรากฏขึ้นมาพร้อมกับชื่อของภรรยาสาวสวยนาม เอวา เปรอง (Eva Perón) หรือ เอวิต้า (Evita) รวมถึงสิ่งหนึ่งที่ราวกับว่าเป็นเงาของเขา นั่นคือ นโยบายประชานิยม
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
สิ่งหนึ่งที่ชวนสะดุดใจเมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude)[1] ผลงานเลื่องชื่อของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียนาม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)  คือ แผลที่รักแร้ของตัวละครพันเอกอ