Skip to main content
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ


ได้เรียนฟรีกันไปแล้วล่ะเยาวชนไทยของเรา ฟรีตั้ง 4 รายการทีเดียวเชียว แต่เรียนฟรีก็ไม่ได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงคุณภาพของการศึกษา ได้แต่ภาวนาให้คุณครูทั้งหลายตั้งสติสัมปชัญญะในการสอนนักเรียนของครูด้วย อย่าให้คำว่า "ฟรี ๆ " เข้ามาชอนไชความตั้งมั่นของครูเลย และผู้ปกครองเองก็อย่าได้หลงระเริงว่า การศึกษาของเด็กไทยได้ไปโลดแล้ว เพราะรัฐบาลมองเห็นความสำคัญของการศึกษาจากนโยบายฟรี ๆ นี้ การศึกษาของลูกหลานเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำราเรียน เครื่องแบบ และอุปกรณ์การเรียน แต่ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนเป็นปัจจัยสำคัญด้วย

 

ได้ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ว่ามีการเสนอให้ปรับโครงการหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา เพื่อให้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นในทุกระดับชั้น ทั้งประถมและมัธยม เขาตั้งเป้าให้นักเรียนได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ใครมีลูกหลานกำลังเรียนแล้วเคยได้อ่านดูตำรับตำราเรียนของเด็ก ๆ คงแอบบ่นกันว่า จะให้เด็กเรียนอะไรนักหนา เนื้อหาเยอะขนาดนี้ ใครมันจะไปจำได้หมด โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (แค่ชื่อวิชาก็เขียนจนเมื่อยมือแล้ว) อีกหนึ่งวิชาที่ได้อ่านดูแล้วต้องบอกว่า "ยาก" คือ ภาษาไทย

 

มาดูก่อนว่าเขาปรับโครงสร้างหลักสูตรวิชาสังคมกันอย่างไร

กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ มี 5 สาระวิชา คือ

-ศีลธรรม

-หน้าที่พลเมือง

-ภูมิศาสตร์

-ประวัติศาสตร์

-เศรษฐศาสตร์


ตามหลักสูตรเดิมเรียนสังคมฯ ดังนี้

ประถม เดิมปีละ 80 ชั่วโมง เพิ่มเป็น 120 ชั่วโมง แยกเป็นวิชาประวัติศาสตร์ 40 ชั่วโมง ส่วน 4 สาระวิชาที่เหลือนั้น เป็นปีละ 80 ชั่วโมง เป็นอันว่าต้องเรียนประวัติศาสตร์คิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาเรียนวิชาสังคมศึกษาทั้งหมด

 

ม.ต้น ( 3 ปี ) เดิมเรียน 360 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 120 ชั่วโมง เพิ่มเป็น 480 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 160 ชั่วโมง

แยกเป็นวิชาประวัติศาสตร์ 3 ปี 120 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 40 ชั่วโมง สาระวิชาที่เหลือ 3 ปี 360 ชั่วโมง เฉลี่ยปีละ 120 ชั่วโมง เป็นอันว่าต้องเรียนประวัติศาสตร์คิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาเรียนวิชาสังคมศึกษาทั้งหมด

 

ม.ปลาย (3 ปี) เพิ่มเป็น 320 ชั่วโมง แยกเป็นวิชาประวัติศาสตร์ 3 ปี 80 ชั่วโมง เป็นอันว่าต้องเรียนประวัติศาสตร์คิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาเรียนวิชาสังคมศึกษาทั้งหมด

 

โครงการนี้จะนำไปใช้กับโรงเรียนนำร่อง จำนวน 555 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2552 นี้ และเริ่มใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553 งานนี้ใครเป็นไม้เบื่อไม้เมากับวิชาประวัติศาสตร์คงต้องกล้ำกลืนเรียนกัน ถ้าทำใจให้รักมันไม่ได้ ก็ต้องตกนรกไปจนกว่าจะจบม.6



หากมองในแง่ดีที่เยาวชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้นก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดี โดยเฉพาะเด็กประถมที่ต้องเรียนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย ฉันอ่านดูแล้ว เด็กประถมปลายได้เรียนเรื่องพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทย โดยเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ไม่เท่านั้น เนื้อหาที่ว่าด้วยแคว้นโบราณ เมืองโบราณในลุ่มน้ำต่าง ๆ ก็มีให้เรียนเยอะแยะมโหฬาร อาจถึงขั้นถ้าจะให้เด็กเรียนหมดมีหวังสมองปลิ้นแน่ เพราะนี่แค่สาระวิชาเดียว

 

เคยถามคุณครูว่าทำไมเนื้อหาในหนังสือจึงมหาศาลปานนี้ ครูทำหน้าเหมือนอยากตอบว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู จึงพยายามให้เหตุผลและอธิบายว่า การที่แบ่งระดับนักเรียนเป็นช่วงชั้น เช่น ประถม 1 - 3 เป็นช่วงชั้นที่ 1 ประถม 4 - 6 เป็นช่วงชั้นที่ 2 และตำราเรียนของเด็กป.4 กับ ป. 6 จะไม่เหลื่อมล้ำกันมากนัก เขาเน้นให้เด็กเรียนเยอะ และเน้นให้เรียนซ้ำ ๆ จะได้ผลการเรียนที่น่าพอใจกว่าเรียนจากเรื่องง่ายไปหาเรื่องยาก คือ เด็กป. 4 จะได้คล้ายป. 6 แต่จะเรียนซ้ำ ๆ ไปจนกว่าจะถึง ป. 6 พอถึงตอนนั้น ความรู้จะได้แน่นขึ้น ครูว่าอย่างงั้น... ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนชั่วโมงเรียนกับเนื้อหาในแต่ละสาระวิชานั้น จะได้เห็นว่าเนื้อหาออกจะมากเกินไป ทำให้ครูจำเป็นต้องสอนแบบย่นย่อ หรือยัดอัดเนื้อหาภายในเวลาเรียนจำกัด จนบางครั้งต้องตัดทอนเนื้อหาออกบ้าง ไม่อย่างนั้นจะสอนไม่ทัน อันนี้คิดแบบไม่นับเอาเวลาที่ครูต้องเสียไปกับการทำผลงานเสนอขอเลื่อนขั้นวิทยฐานะใดใดทั้งสิ้น ซึ่งครูทุกคนต้องหวานอมขมกลืนกันมาตลอด คนที่น่าเห็นใจไม่ใช่ครูอย่างเดียว แต่รวมถึงนักเรียนด้วย เรียนหนักกันขนาดนี้แล้ว บางคนต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมอีก และได้โปรดอย่าพูดถึงผลการทดสอบระดับนานาชาติที่เปิดเผยกันออกมาว่า เด็กไทยไม่ฉลาดอย่างที่หวังไว้ เพราะทำคะแนนแบบทดสอบได้ไม่ดี

 

ไม่ทราบว่าคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเคยเห็นปัญหาเหล่านี้หรือเปล่า ยิ่งเฉพาะจะเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ยังไม่ได้กล่าวถึงวิชาภาษาไทยด้วยซ้ำ ใครมีลูกมีหลานเรียนประถม ลองเปิดดูตำราเรียนวิชานี้ดูบ้างเถอะ วิชาเดียวมีตำรา 3 เล่ม ประกอบด้วย ภาษาพาที วรรณคดีลำนำ และแบบฝึกหัดทักษะภาษา บางโรงเรียนอยากให้นักเรียนฉลาดกว่านักเรียนโรงเรียนอื่น ก็สามารถจัดหนังสือเรียนเพิ่มได้ (กระทรวงไม่บังคับ) โดยให้เรียนอีก 2 เล่ม คือ วรรณกรรมปฏิสัมพันธ์ และแบบฝึกหัดทักษะปฏิสัมพันธ์ แต่ละเล่มอย่างงี้เนื้อหาแน่นเอี้ยด อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เองยังถือว่าหนักหนาเอาการ



ตำราเรียนภาษาไทยเหล่านี้ ชื่อชุดว่า ภาษาเพื่อชีวิต ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ เป็นประธานกรรมการจัดทำ ใครที่แปลกใจกับชื่อชุดตำราเรียน พอเห็นชื่อประธานจัดทำต้องร้องอ๋อ เพราะเขาคือ ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนซีไรต์ จากผลงานรวมเรื่องสั้น ก่อกองทราย วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เนื้อหาจะเน้นหนักด้านวรรณกรรม มีภาพประกอบสีสันสวยงาม ดู ๆ แล้วน่าหยิบจับมาอ่านจริง ๆ

 

ในเล่ม ภาษาพาที เนื้อหาเขียนขึ้นในรูปของเรื่องเล่าบ้าง เรื่องสั้นบ้าง มีตัวละครเด็ก ผู้ใหญ่ เป็นครอบครัวคนชั้นกลางที่อบอุ่น จะเรียกว่าเป็นครอบครัวในฝันก็ได้ ตำราเขียนเป็นร้อยแก้วก็จริง แต่มีแทรกด้วยบทร้อยกรองบ้าง และที่น่าชื่นชมคือ เนื้อหาไม่ใช่วิชาภาษาไทยล้วน ๆ แต่เป็นการรวบรวมเอาสาขาวิชาอื่นมาผสมผสานด้วย

 

เช่น บทที่ 1 ขนมไทยไร้เทียมทาน ตำราเรียนประถม 4 ที่ว่าด้วยขนมไทย มีการสอนแบบแฝงให้นักเรียนได้เรียนรู้ในหลักภาษาไทย การเขียน การอ่าน และสามารถจำแนะถึงที่มาที่ไปของขนมแต่ละชนิดว่าทำมาจากแป้งอะไร มีกรรมวิธีทำอย่างไรบทที่ 4 นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้เห็นคุณค่า "ของไทย ๆ " ไปในตัว บางคนอาจเห็นว่า เป็นตำราเรียนที่ไม่เข้าสมัย เพราะเด็กทุกวันนี้แทบจะไม่เหลียวหาขนมตาล ขนมเทียนอย่างไทย ๆ แต่อย่างใด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การได้เรียนรู้ในสิ่งที่หลงลืมไปแล้ว ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่รู้ได้โดยธรรมชาติ



หรืออย่างในบทอื่น ๆ เช่นบทธรรมชาตินี้มีคุณ ก็ช่วยปลูกฝังให้รักธรรมชาติ บทกระดาษนี้มีที่มา ก็เพิ่มเกร็ดของวิชาประวัติศาสตร์ โดยให้เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของกระดาษ และเป็นการเตือนให้รู้จักคุณค่าของกระดาษ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อดีที่ได้จากตำราเรียนที่เขียนขึ้นในรูปแบบวรรณกรรม ติอย่างเดียวคือปริมาณเนื้อหาไม่สอดคล้องกับจำนวนเวลาเรียนเท่านั้นเอง

 

ส่วนเล่ม วรรณคดีลำนำ นี่ เน้นหนักไปทางวรรณคดีตามชื่อเล่ม แน่นอนว่าต้องเขียนในแบบวรรณกรรมด้วย แต่พิเศษตรงที่ เป็นการนำเอารูปแบบร้อยแก้วกับร้อยกรองมาผสมผสานกันได้แนบเนียน นับว่าน่าอ่านมาก เพราะใครก็ตามที่ได้ยินคำว่า วรรณคดี ย่อมรู้สึกขั้นแรกว่า ต้องเชย หรืออ่านแล้วหลับ แต่เมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่างตัวละครในปัจจุบันกับตัวละครในวรรณคดี ย่อมมีแรงดึงดูดระหว่างผู้เรียนกับตำราในขณะอ่านหรือเรียน

 

ยกตัวอย่างบท การผจญภัยของสุดสาคร ที่ตัดเอาวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ ในตอนกำเนิดสุดสาคร มาบวกเข้ากับการใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของเด็กหญิงตังหวาย ซึ่งหนังสือนั้น ตังหวายได้รับรางวัลมาจากการแต่งคำกลอนประกวดในวันสุนทรภู่

 

นอกจากไม่ได้จำกัดสาระวิชาให้อยู่ในขอบข่ายภาษาไทยอย่างเดียวแล้ว ข้อดีของตำราเรียนชุด ภาษาเพื่อชีวิต นี้ ยังให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ ในทุกภาคส่วน ไม่ใช่มีภาคกลางเป็นศูนย์กลางเหมือนอย่างแต่ก่อน เช่นในบทที่ 4 เรื่องเล่าจากพัทลุง ที่นำเอาบทละครเรื่องเงาะอป่า ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ หรือในบทที่ 7 เที่ยวเมืองพระร่วง ที่แทรกเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์เข้ากับวรรณคดี มีตัวละครเอกของเรื่องเป็นมัคคุเทศก์น้อย ชื่อ โอยทาน นำเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสุโขทัย

 

ต้องยอมรับว่าตำราเรียนชุดนี้เขียนขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งเนื้อหาและรูปเล่ม เป็นตำราเรียนคุณภาพที่เหมาะสมกับเยาวชนไทยอย่างยิ่งก็ว่าได้ หากว่ามีเวลาเรียนที่เหมาะสมกับเนื้อหาที่ต้องย้ำอีกครั้งว่ามหาศาลเหลือเกิน

 

นอกจากปัญหาเรื่องเวลาเรียนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวครูผู้สอน เพราะตำราเรียนชุดนี้ ต้องการครูที่เข้าใจเนื้อหาสามารถถ่ายทอดอรรถประโยชน์แก่ผู้เรียน เพราะตำราไม่ได้เน้นให้ท่องจำ แต่เน้นให้ปฏิบัติและคิดวิเคราะห์ให้เป็นรูปแบบ ฝึกมองให้เห็นโครงสร้าง และกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ เพราะฉะนั้นการตอบคำถามจากแบบฝึกหัด จะไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว เด็กสามารถตอบคำถามได้อย่างหลากหลายตามทัศนคติของแต่ละคน บางทีทางออกของการศึกษาไทยวันนี้ จะไม่ใช่โนบายเรียนฟรีอย่างเดียว เพราะปัญญาเดิมที่แก้ไม่ตกคือ ตัวบุคลากร ครูผู้สอน

 

ถ้าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ อยากเห็นเยาวชนไทยได้ศึกษาอย่างมีคุณภาพก็อย่าละเลยปัญหาของครู อย่าได้ส่งเสริมหรือหลอกล่อให้ครูผลาญเวลาไปกับการทำผลงานทางการศึกษาที่จะกลายเป็นเศษกระดาษในอนาคตเมื่อได้เลื่อนขั้นเพิ่มเงินเดือนอีกเลย ไม่อย่างนั้น คงต้องถามกันละว่า เด็กไทยเรียนกับ "อะไร" อยู่.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…