Skip to main content
 
ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว
การรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการยึดอำนาจท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูงสุด จึงคาดหมายได้ว่าแรงต้านจากประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะต้องสูงสุดเช่นกัน ดังนั้น คณะรัฐประหารจึงต้องพัฒนารูปแบบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งแรงต่อต้านให้ได้
 
การควบคุมสื่อสารมวลชน การใช้อำนาจเด็ดขาดตามกฎอัยการศึก การออกกฎหมายให้การต่อต้านเป็นความผิด เป็นเพียงเครื่องมือเก่าๆ ที่เคยชินกันแล้วเท่านั้น การใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามมีแต่จะทำให้สถานการณ์บานปลายและนำมาซึ่งการขาดความชอบธรรมในเวลาอันรวดเร็ว 
 
กลยุทธ์ที่คณะรัฐประหารในปี 2557 ใช้ คือ การขู่ให้แรง แสดงอำนาจให้เห็น แล้วเอาจริงบ้างไม่จริงบ้าง จังหวะจะเอาจริงขึ้นมาก็ไม่ต้องขู่ก่อน ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าเมื่อไรจะทำอะไร แม้กลุ่มต่อต้านจะเล่นเกมส์ “แมวจับหนู” ผลุบๆ โผล่ๆ เป็นบางจุดบางเวลา คณะรัฐประหารก็เล่นเกมส์เป็น “แมวฉลาด” ไล่บ้างไม่ไล่บ้าง จับบ้างไม่จับบ้าง ปล่อยบ้างไม่ปล่อยบ้าง เพื่อหลอกให้หนูกลัว
 
ฝ่ายต่อต้านแยกย้ายกระจัดกระจาย
ในวันเดียวกับการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารประกาศเรียกคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการ 18 คนเข้ารายงานตัวทันที ต่อด้วยเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยอีก 23 คน ต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนที่เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวแค่ 2 คนเท่านั้น วันต่อมาก็เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มอีกกว่าร้อยคน
 
เช้าวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 5/2557 เรียกทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 คำสั่งฉบับนี้ทำให้การเรียกบุคคลไปรายงานตัวไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองเท่านั้น แต่เป้าหมายกลายเป็นนักเคลื่อนไหวสายประชาธิปไตยไม่เว้นว่ามีเบื้องหลังอย่างไร 
 
ขณะที่มีรายงานเป็นระยะว่าทหารเข้าบุกค้นบ้านของนักการเมืองสายเสื้อแดงหลายคน และเมื่อทหารเข้าบุกค้นบ้านของสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษมาตรา 112 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 และควบคุมตัวสุกัญญา พร้อมลูกชายและลูกสาวไปจากบ้าน ทั้งที่ทั้งสามคนไม่มีประวัติการทำผิดกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดมาก่อน นอกจากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้เป็นสามีและพ่อเท่านั้น การบุกครั้งนี้สร้างผลกระทบทางจิตใจให้นักเคลื่อนไหวสายประชาธิปไตยอย่างมาก พวกเขาไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า ทหารจะมาเคาะประตูบ้านของเขาในวันไหน
 
ซ้ำเติมด้วยข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารไปที่บ้านของนายมหวรรณ แต่ไม่พบตัวจึงพยายามจะควบคุมตัวลูกชายไว้เพื่อต่อรอง แต่สุดท้ายควบคุมตัวพี่เขยของมหวรรณไว้แทน และเมื่อ 25 พฤษภาคม 2557 ทหารไปที่บ้านของนายเชาว์ ควบคุมตัวภรรยาและลูกสาวไปไว้ที่ค่ายทหาร เพื่อให้นายเชาว์ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารแลกกับการปล่อยภรรยาและถูกสาว ข่าวเหล่านี้ทำให้บ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัยของนักเคลื่อนไหวและครอบครัวอีกต่อไป
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่สื่อมวลชนไม่อาจนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ มีกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และมีประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่ 22.00 – 05.00 น. นักเคลื่อนไหวทั้งหลายจึงอาจถูกเอาตัวไปจากบ้านในยามวิกาลโดยที่ไม่มีใครรู้เห็นได้ง่ายๆ
 
ในภาวะเช่นนี้คนบางส่วนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยชิงเดินทางออกนอกประเทศไปตั้งหลัก หลายคนต้องย้ายที่นอนไปอาศัยตามบ้านของเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือโรงแรม เพื่อรอประเมินสถานการณ์ ทั้งที่บ้านของเพื่อนฝูงที่แน่ใจได้ว่าทหารจะไม่แวะมายามค่ำคืนก็เหลือน้อยลงทุกที
 
เฝ้าจอโทรทัศน์ รอลุ้นชื่อตัวเอง
หลังคำสั่งฉบับที่ 5/2557 นักเคลื่อนไหวสายประชาธิปไตยหลายคนรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตตัวเอง ครั้งต่อๆ ไปที่โทรทัศน์ถ่ายทอดคำสั่งของคณะรัฐประหาร หลายคนหยุดนิ่งเพื่อฟังเสียงประกาศว่าจะมีชื่อของตนเองหรือไม่ 
 
บรรยากาศความกลัวเช่นนี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การที่ไม่ทราบมาตรฐานว่าฝ่ายทหารตัดสินใจเรียกบุคคลจากหลักเกณฑ์อะไรบ้าง เพราะรายชื่อหลายคนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หรือ การที่ไม่ทราบวิธีการเก็บข้อมูลของฝ่ายทหาร เพราะคำสั่งบางฉบับ เช่น ฉบับที่ 44/2557 มีรายชื่อหลายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาหลายปีแล้ว คำสั่งหลายฉบับเรียกบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยอยู่ในฉบับเดียวกัน
 
ประกอบกับ การที่คนที่ผ่านการรายงานตัวออกมาแล้วต่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การที่วิธีการสอบสวนต้องอัดวีดีโอไว้ตลอด และการที่หลายคนเดินเข้าไปรายงานตัวแต่กลับออกมาด้วยข้อหาติดตัว เช่น กรณีนายเฉลียว ช่างตัดเสื้อ ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย หรือกรณีนายมาลัยรักษ์ ที่ถูกตั้งข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม ล้วนเป็นเหตุผลให้ประชาชนต่างรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตและเสรีภาพ
 
แม้นับถึงวันนี้นักเคลื่อนไหวสายประชาธิปไตยหลายคนยังไม่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัว แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่ใครจะถูกเรียกเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องมีเหตุผลประกอบ และการไปรายงานตัวอาจนำมาซึ่งการตั้งข้อกล่าวหา มีผลให้การขยับขับเคลื่อนงานต่างๆ ติดขัดไม่เป็นชิ้นเป็นอันได้เหมือนกัน
 
การชุมนุม และการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองหดหาย
วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หนึ่งวันหลังรัฐประหาร ประชาชนราวพันคนก็ออกมาชุมนุมกันหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จากที่เตรียมการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่จำนวนคนที่มากและอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดทำให้การชุมนุมบานปลาย ผู้เข้าร่วมตะโกนโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ จนสุดท้ายทหารต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ และจับกุมตัวบุคคลไปอย่างน้อย 4 คน
 
กรณีที่น่าสนใจคือ นายอภิชาติ ผู้ชุมนุมที่ยื่นป้ายกระดาษใส่หน้าทหารแล้วถูกรวบตัวทันที ถือเป็นคนแรกที่ถูกจับกุมจาการชุมนุมทางการเมืองหลังการรัฐประหาร แม้พฤติการณ์ดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่หลังการสอบสวน ทหารตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของอภิชาติพบว่าเคยโพสข้อความในเฟซบุ๊คเข้าข่ายผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อภิชาติจึงถูกตั้งข้อหาเพิ่ม และฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
การจับกุมในที่ชุมนุมและสอบสวนหาพฤติการณ์ย้อนหลัง ตรวจค้นโทรศัพท์มือถือ เป็นข่าวที่น่าตกใจมากในช่วงสัปดาห์แรกของการรัฐประหาร ความหวาดกลัวว่ามาตรา 112 จะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อปิดปากคนที่มีแนวคิดต่อต้านการรัฐประหาร กำลังเผยตัวว่าจะเป็นจริง
 
แม้ต่อมายังมีการนัดหมายเพื่อชุมนุมต่อต้านรัฐประหารกันอีกหลายครั้ง เช่น ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันที่ 24-28 ที่เมเจอร์รัชโยธิน ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ที่สี่แยกราชประสงค์ วันที่ 25 และ 31 พฤษภาคม 2557 เป็นต้น แต่กิจกรรมทุกครั้งก็มีผู้ถูกจับกุมเสมอ และด้วยการพัฒนากลยุทธ์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ประกอบกับการที่นักเคลื่อนไหวระดับแกนนำหลายคนถูกเรียกให้ไปรานงานตัวหรือไม่ก็แยกย้ายกระจัดกระจายกัน กิจกรรมการต่อต้านรัฐประหารจึงขาดการจัดการที่ดีพอและค่อยๆ ลดระดับลง
 
ทหาร+ตำรวจ เปลี่ยนกลยุทธ์จัดการผู้ชุมนุม
บทเรียนจากการชุมนุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ชุมนุมก่อน โดยการปล่อยให้จัดกิจกรรมไปจนเสร็จและเน้นการเจรจาให้อยู่ในความเรียบร้อย หลังผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัวเจ้าหน้าทหารจึงเข้าคุมพื้นที่ ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะเข้าควบคุมพื้นที่ไว้ได้หมดและมีปฏิกริยาต่อต้านไม่ใช่น้อย 
 
วิธีการนี้เคยใช้ไม่ได้ผลในการชุมนุมที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ที่ผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่อยู่ก่อนร่วมกันตะโกนขับไล่ทหาร และมีการขว้างปาสิ่งของจนทหารต้องถอยออกจากบริเวณนั้น และผู้ชุมนุมบางส่วนเข้ายึดรถทหาร พ่นสีสเปรย์ลงบนรถของทหาร เป็นภาพข่าวปรากฏทั่วไป 
 
รุ่งขึ้น ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจจึงเปลี่ยนวิธีการควบคุมการชุมนุม โดยการเข้ายึดพื้นที่ที่มีการประกาศว่าจะมีการชุมนุมก่อนล่วงหน้าหลายชั่วโมง และปิดการจราจรโดยรอบ ปิดสถานีรถไฟฟ้าใกล้เคียง ทำให้คนที่ตั้งใจจะมาชุมนุมไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่นัดหมายได้ และกระจัดกระจายกันไป
วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ซึ่งมีการนัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก็ใช้วิธีการเดียวกัน แม้ผู้ชุมนุมจะพยายามจะสื่อสารกันเพื่อย้ายที่ชุมนุมไปยังสี่แยกอโศก แต่คนที่ทราบข่าวได้ทันและไปรวมตัวกันก็มีไม่มาก หลังการรวมตัวแสดงสัญลักษณ์ได้ไม่นานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก็เข้ายึดพื้นที่ ปิดห้างสรรพสินค้า และสถานีรถไฟฟ้าใกล้เคียง ทำให้ผู้ชุมนุมต้องแยกย้ายกันไป
 
ปรากฎการณ์เช่นนี้มีให้เห็นอีกครั้งในวันที่ 8 และ 15 มิถุนายน 2557 ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งมีผลให้ปริมาณผู้ชุมนุมและความเข้มข้นของกิจกรรมลดลงตามลำดับ
 
ทหาร+ตำรวจ เปลี่ยนกลยุทธ์การจับกุมผู้ชุมนุม
บทเรียนจากการชุมนุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุมต่อหน้าคนจำนวนมากและสื่อมวลชน ซึ่งให้ภาพที่ดูโหดร้ายและอุกอาจ มีการยื้อยุดเพื่อเอาคนที่ถูกจับคืน แต่เหตุการณ์ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบใช้วิธีถ่ายภาพคนที่มาร่วมชุมนุมไว้ และไปขอออกหมายจับภายหลัง
 
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้ภาพข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์เป็นข้อมูลในการออกหมายจับ ซึ่งนำมาสู่การจับกุมนางสาวพรรณมณี หญิงที่มีรูปพ่นสีเสปรย์ใส่รถทหาร และการตามไปจับกุมนายสมบัติ ซึ่งมีรูปขณะปล่อยลมยางรถทหารถึงที่ทำงานอีก 5 วันให้หลัง วิธีการเช่นนี้ทำให้คนที่จะออกมาชุมนุมเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองถูกจับกุมในวันนั้นได้ก็ไม่อาจแน่ใจว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตามไปจับกุมต่อในวันหลังหรือไม่
 
เหตุการณ์วันที่ 1 มิถุนายน 2557 มีการแสดงออกที่แยกอโศก ไม่มีการจับกุมต่อหน้าผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชนในทันที แต่ตำรวจนอกเครื่องแบบใช้วิธีซุ่มดูว่าผู้ชุมนุมคนใดมีพฤติกรรมโดดเด่น ก็จะรอให้คนนั้นแยกตัวออกจากฝูงชนและตามไปจับกุมเงียบๆ เช่น กรณีนางสาวจีราพร ที่ถูกจับกุมบนรถเมล์ขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน กรณีนายมงคลที่ถูกจับกุมขณะกำลังจะขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบริเวณนั้น กรณีนายสุเมธที่ถูกตามไปจับกุมที่ห้างสรรพสินค้าฟอร์จูน ทาวน์ ขณะเดินอยู่คนเดียว และกรณีนางสาวสุนันทา ที่ถูกอุ้มขึ้นรถแท็กซี่ก็ถูกจับขณะกำลังแยกตัวกลับบ้านเช่นกัน
 
วิธีการเช่นนี้ทำให้ผู้ที่จะไปร่วมชุมนุมต้องระมัดระวังตัวและคิดให้หนักขึ้นก่อนเดินทางออกไปร่วมชุมนุม และเมื่ออยู่ในสถานที่ชุมนุมก็จะเกิดความหวาดระแวงมากขึ้นเพราะไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จับตาดูอยู่หรือไม่ และไม่รู้ว่าแสดงออกได้แค่ไหนถึงจะปลอดภัย
 
บรรยากาศความกลัวต่อการแสดงออกในที่สาธารณะ ปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อ วันที่ 8 มิถุนายน 2557 ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อทหารเข้ายึดพื้นที่ไว้ก่อนแล้ว ผู้ชุมนุมที่ไปถึงตามเวลานัดหมายก็กระจายตัวกันไม่กล้าแสดงออก เมื่อมีคน 7 คนชูสามนิ้วให้นักข่าวถ่ายภาพ เสร็จแล้วก็เดินทางกลับบ้าน ทุกคนถูกตามไปจับกุมทั้งหมด ที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม และสะพานควาย ต่อมาการนัดหมายกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2557 ไม่มีรายงานผู้มาแสดงออกในที่สาธารณะและผู้ถูกจับกุม
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานกรณีนายชัยนรินทร์ ที่ทำกิจกรรมแสดงออกทางสัญลักษณ์แบบคิดเองทำเอง โดยการถือป้ายกระดาษบริเวณลานน้ำพุ ห้างสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 และโพสรูปกิจกรรมลงในสื่อออนไลน์ ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ทหารตามไปจับกุมที่บ้านพักและตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และเป็นแกนนำในการชุมนุม
 
กรณีตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงออกในที่สาธารณะอย่างมาก และกระทบต่อบรรยากาศการสื่อสารในโลกออนไลน์ด้วย
 
บรรยากาศ Facebook เปลี่ยนแปลงอย่างมาก
หลังการรัฐประหาร และกรณีนายอภิชาติ บรรยากาศบนสื่อออนไลน์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คนมีชื่อเสียงบางคน เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งมีชื่อถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งฉบับที่ 5/2557 ปิดเฟซบุ๊คของตัวเองและเงียบหายไป บางคนใช้วิธีการเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊ค เปลี่ยนรูปโพรไฟล์ เพจเฟซบุ๊คหลายแห่งที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งปิดตัวเองไป เช่น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย วิวาทะ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เพื่อรักษาข้อมูลในเพจและจำนวนแฟนเพจไว้ เพราะกลัวว่าจะถูกฝ่ายทหารใช้อำนาจปิดกั้นหรือถูกเจาะระบบ
 
ส่วนเฟซบุ๊คเพจและบุคคลที่ยังเปิดอยู่ก็มีท่าทีที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด การโพสข้อความต่อต้านหรือคัดค้านการรัฐประหารอย่างรุนแรงมีมากในวันแรกๆ และค่อยๆ น้อยลง การโพสข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็แทบไม่เหลือ บทเรียนกรณีของนายอนุรักษ์ที่โพสเฟซบุ๊คชวนคนไปทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร แล้วถูกทหารบุกมาจับที่บ้านพร้อมข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ทำให้การโพสภาพกิจกรรม หรือโพสนัดหมายเชิญชวนเหลือน้อยลงไปอีก
 
นอกจากนี้ การที่ Facebook ไม่สามารถเข้าถึงได้พร้อมกันทั่วประเทศไทยในวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ก็เป็นเหมือนการโยนหินถามทาง แม้ คสช. จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ยังมีข่าวว่าทางกระทรวงไอซีทีกำลังประสานงานกับผู้ให้บริการ LINE และ Facebook เพื่อขอเข้าตรวจสอบการสนทนาของประชาชน ซึ่งทำให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของประชาชนลดน้อยลงอีก
 
บรรยากาศการใช้โทรศัพท์เปลี่ยนแปลงไป
หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของนักเคลื่อนไหวสายประชาธิปไตยเริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น การไม่บันทึกชื่อและเบอร์โทรศัพท์ หรือบันทึกเป็นชื่ออื่น การคุยกันโดยไม่ระบุตำแหน่งว่าอยู่ตรงไหน การเปลี่ยนเครื่องและหมายเลขโทรศัพท์บ่อยๆ หรือการใช้โทรศัพท์พร้อมกันหลายๆ เครื่อง
 
ทั้งนี้เพราะกฎอัยการศึกให้อำนาจในการดังฟังโทรศัพท์ได้ แม้ในการสนทนาเรื่องราวชีวิตประจำวันก็ยังมีความกลัวอยู่ในนั้น ทั้งยัวกลัวว่าจะถูกฝ่ายทหารเรียกตัวโดยการโทรศัพท์ และกลัวการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับตัวเองและคนรอบข้าง หากโทรศัพท์ถูกยึดเหมือนกรณีนายอภิชาติ
 
นอกจากนี้ พฤติกรรมการ Check In บนโลกออนไลน์เพื่อบอกว่าตัวเองอยู่ตรงไหน และไปไหน ก็แทบจะหายไป
 
งดเว้นการถกเถียงเรื่องการเมืองกับคนรอบตัว
บรรยากาศอีกอย่างหนึ่งที่หายไป ในช่วงเวลาที่การเมืองวุ่นวายคือการถกเถียงแลกเปลี่ยนกับคนใกล้ตัว คนที่มีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตยล้วนรู้สึกไม่มั่นคงในการแสดงออกของตัวเองทางสื่อออนไลน์ เพราะไม่มั่นใจว่าการสื่อสารจะถูกจับตาดูอยู่หรือไม่ ประกอบกับมีการเคลื่อนไหวของ “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” โดยกลุ่มประชาชนที่มีแนวคิดนิยมกษัตริย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างดีและยิ่งออกโรงแข็งขันขึ้นภายหลังการรัฐประหาร
 
เรื่องราวของคนขับแท็กซี่ที่พูดคุยกับผู้โดยสารแล้วถูกแอบอัดเสียง ไปเป็นหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 แม้จะเกิดขึ้นนานแล้ว แต่เพิ่งจับกุมหลังการรัฐประหาร บวกด้วยการดำเนินคดีมาตรา 112 อีกหลายคดีที่ตามมาติดๆ กัน ซึ่งผู้ต้องหาทุกคนไม่ได้ประกันตัว ทำให้การถกเถียงเรื่องการรัฐประหารและมาตรา 112 เงียบลงได้บ้าง
 
กระบวนการยุติธรรมแทนที่จะเป็นความหวัง
ในยามที่คณะรัฐประหารใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงออกของฝ่ายตรงข้าม สถาบันที่ควรจะเป็นความหวังในการถ่วงดุลการใช้อำนาจ คือ สถาบันยุติธรรม หากผู้ต้องหาถูกกลั่นแกล้งด้วยอำนาจทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมก็ควรจะให้โอกาสพิสูจน์ตนเองและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
 
แต่การที่ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 กำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และประกาศฉบับที่ 41/2557 กำหนดให้การไม่มารายงานตัวเป็นความผิด ตามทฤษฎีของโรงเรียนกฎหมายรุ่นเก่า ย่อมยอมรับประกาศของคณะรัฐประหารเช่นนี้ให้มีค่าเป็นกฎหมาย เจ้าหน้าที่และศาลต้องบังคับตามประกาศนี้ ตอกย้ำด้วยประกาศฉบับที่ 37/2554 กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งตุลาการแต่งตั้งมาจากนายทหาร และประชาชนไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา ทำให้ความหวังในการต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมแทบไม่หลงเหลือ
 
ไม่มีคำว่า “เสรีภาพการแสดงออก” หลงเหลือในสถานการณ์นี้
ทันทีที่ยึดอำนาจ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกช่องถูกปิดทันที วันต่อมามีการบังคับใช้ถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีเดียวซึ่งรายงานข่าวว่าสถานการณ์ทุกอย่างปกติ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ที่รายงานทางเว็บไซต์ถูกปิดในเวลาต่อมา วิทยุชุมชนหลายแห่งถูกทหารบุกเข้าปิดและยึดเครื่องส่ง โดยอ้างกฎหมายเก่าที่เคยผ่อนผันการบังคับใช้มาตลอด เว็บไซต์เสื้อแดงและเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นหลายแห่งถูกปิดกั้น กระทั่งเว็บไซต์ดูหนังออนไลน์ และเว็บไซต์ข่าวกีฬาก็ถูกปิด
 
คณะรัฐประหารออกประกาศห้ามสื่อสัมภาษณ์นักวิชาการที่มีแนวคิดต่อต้านการรัฐประหาร พร้อมมีการโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนักวิชาการและนักกิจกรรมสายประชาธิปไตยในทุกพื้นที่เพื่อขอให้หยุดการเคลื่อนไหว บุคคลสาธารณะที่แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารถูกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัว
 
การชุมนุมทางการเมืองเป็นความผิดตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าปิดกั้นพื้นที่การชุมนุมและใช้กลวิธีตามจับกุมตัวผู้แสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สื่อสังคมออนไลน์ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวอีกต่อไปเมื่อฝ่ายทหารตรวจค้นมือถือ และบังคับขอรหัสผ่านจากคนที่เคยถูกจับกุม 
 
การเรียกร้อง “เสรีภาพการแสดงออก” แบบที่เคยทำมา เหมือนกับว่าไม่หลงเหลือคุณค่าอะไร
 
 
การปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกในพ.ศ.2557 ไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่การกระทำทุกอย่างจากทุกฝ่ายได้ถูกใช้ไปแล้วเพื่อปิดกั้นการแสดงออกของความเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่ง เพื่อรักษาความเชื่อทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง ผ่านการ “เหวี่ยงแหเชือดไก่ให้ลิงกลัว” และน่าเสียใจที่มันได้ผล
 
ในยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่อาจมีหน้าตาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป แต่การสร้างความหวาดกลัวนั้นเป็นได้อย่างมากก็เพื่อการชลอความจริงให้ทำงานได้ช้าลงเท่านั้น ไม่อาจเปลี่ยนความคิดของผู้คนในระยะยาวได้ 
 
และอำนาจที่มีความกลัวเป็นฐานรองรับนั้นอยู่ตรงข้ามกับความชอบธรรมเสมอ 
 
 
 
 
*หมายเหตุ* เขียนไว้เฉยๆ เพื่อบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาตร์ บันทึกความรู้สึก เรื่องราว และความทรงจำ 
เขียนเสร็จกลางดึกคืนวันที่ 21 มิถุนายน 2557

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่