Skip to main content

12 ตุลาคม 2550

ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียง

บางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

ในวันนั้นเราได้มีโอกาสพบปะกับข้าราชการชั้นสูงของจังหวัดหลายคน และฉันก็ได้มีโอกาสมอบหนังสือที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นมาไว้ให้กับนายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

หนังสือฉบับนั้นเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าสภาพหมู่บ้านและปัญหาหลังการย้าย พวกเราได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านหนังสือฉบับนี้เพื่อเร่งให้หน่วยงานราชการต่างๆเข้ามาแก้ไข  ไม่นานผลของความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ

วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ต้อนรับคณะหน่วยงานราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้ามาที่หมู่บ้านของเราอย่างคึกคัก

ท่านผู้ว่าฯ เข้ามาในนามนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการมาครั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาสาธารณะภัยของชาวบ้าน หรือเรียกง่ายๆว่ามาแจกของช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

บ่ายกว่าๆ เจ้าหน้าที่อส.จ. ก็ส่งข่าวเข้ามาทางวิทยุสื่อสาร ว่าให้เตรียมตัวเข้าแถวต้อนรับคณะหน่วยงานราชการที่กำลังขึ้นเรือจากท่าของหมู่บ้านห้วยปูแกงเก่า  และกำลังเดินเท้าเข้าตรอกเล็กๆ จากห้วยปูแกงเก่าเข้าหมู่บ้านใหม่ซึ่งถูกปรับปรุงไม่ให้ชื้นแฉะเป็นหลุมบ่อเหมือนอย่างเคย เพื่อให้แขกที่เข้ามาเยือนสามารถย่ำเท้าเข้ามาได้อย่างสบาย

มะลิ หญิงสาวกระยันคนเดิม ต้องทำหน้าที่ในการกล่าวรายงานต่อท่านผู้ว่าฯ อีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องขึ้นไปยืนบนเวที มีมะหล่อเพื่อนสาวกระยันคอยถือโทรโข่งอยู่ข้างๆ

ฉันสังเกตว่าเธอประหม่ากว่าครั้งก่อนมาก จนสังเกตเห็นกระดาษที่ถือสั่นไหว แม้แต่เสียงที่พูดในท่อนแรกๆก็สั่นตามไปด้วย  เพราะคนที่มาในวันนี้ล้วนเป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด แต่งตัวทะมึงขึงขัง ถือกระเป๋าใบใหญ่ เสียงพูดจาสอบถามชาวบ้านเฉ่งฉางจากทุกมุมของลานเวที

หลังจากจบการกล่าวรายงานของชาวบ้าน และพิธีการในส่วนเวที ซึ่งมีทั้งการกล่าวรายงานของส่วนราชการ การรำวงต้อนรับของชาวบ้าน ท่านผู้ว่าก็ขึ้นกล่าวปราศรัยอีกเล็กน้อย

เมื่อถึงเวลาแจกสิ่งของให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านก็เข้าแถวเพื่อรับของที่สมาชิกเหล่ากาชาดหอบหิ้วกันมาด้วยสีหน้ายินดี แม้จะดูเป็นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของส่วนราชการ เป็นความหวังเดียวของชาวบ้านที่จะได้พึ่งพาอาศัย

janejira1

วันนั้นแดดจ้า และเหงื่อของพวกเราหยดไหลเป็นทางขณะพาท่านผู้ว่าฯและคณะเดินชมบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน คำขอของชาวบ้านพรั่งพรูออกมาจากตัวแทน ส่งผ่านไปถึงข้าราชการต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ให้ช่วยตัดถนนเส้นใหม่ที่ใกล้เมือง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ช่วยสร้างโรงเรียน สร้างสถานที่รักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณมหาศาล

หลังจากที่รอยเท้าและฝุ่นควันจางหายไปคืนความสงบเงียบให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง ฉันที่เป็นเสมือนล่ามได้ทำหน้าที่ส่งผ่านความในใจของชาวบ้านสู่เจ้าหน้าที่ นึกหวังในใจว่าคำขอของชาวบ้านจะสามารถเป็นจริงในเร็ววัน

แม้ว่าคำขอเหล่านั้นจะดูมากมายหากใช้สายตาคำนวณด้วยงบประมาณ แต่ว่าถ้าหากหน่วยราชการจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าคำขอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นคำขอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆที่ควรมีควรได้

การขอเรื่อง “ถนน” หรือ “สะพาน” ก็คือตัวเชื่อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่หมู่บ้านเพื่อให้เกิดรายได้ และรายได้ก็จะออกไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับ “ถนน” หรือ “สะพาน” นั้นๆ  เพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย เป็นค่าอาหารหรือแม้แต่เครื่องนุ่งห่มซึ่งนับเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องการ  

ไม่นับความจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียนและอนามัย ไฟฟ้าหรือประปา ทุกคนบนโลกนี้ก็ล้วนมีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต

ฉันนึกถึงเมื่อตอนที่ยังอยู่หมู่บ้านเดิม หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าตั้งห่างจากเมืองเพียง 7 กิโลเมตร ถนนที่ตัดผ่านป่าขึ้นเขาลงห้วยได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอยู่ทุกปี และแน่นอนว่าบ้านทุกหลังที่อยู่ใกล้ถนนเส้นนี้มีไฟฟ้ากระแสหลักใช้ แต่แล้วเสาไฟฟ้ากับหยุดกึกห่างจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวเพียงไม่กี่ก้าว

“หากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นหรือมีไฟฟ้าใช้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาเที่ยว เพราะหมู่บ้านไม่เป็นธรรมชาติ” ฉันนึกขำในนโยบายเช่นนี้ เพราะนักท่องเที่ยวคงแปลกใจว่าเหตุไฉนชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เสาไฟฟ้าก็ยืนต้นเคียงเสาทวนสัญญาณโทรศัพท์บริษัทหนึ่งอยู่หน้าหมู่บ้านแท้ๆ

janejira2

ทั้งที่ความเป็นจริงชาวบ้านต้องจ่ายค่าชาร์ตแบตเตอร์รี่คิดเป็นเงินแล้วมากกว่าจ่ายค่าไฟฟ้ากระแสหลักเสียอีก แม้ว่าไฟที่ใช้จะเป็นเพียงค่าดูทีวีสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ค่าหลอดไฟสักดวง หรือบางบ้านอาจจะเปิดวีซีดีได้สักแผ่น

เจ้าของความคิดที่เป็นนายทุนผู้ดูแลชาวบ้านและททท. จึงไม่สามารถหยุดความเจริญที่จะเข้ามาถึงพวกเขาได้ ที่ทำอยู่จึงเป็นเพียงการหลบซ่อนความจริงจากสายตานักท่องเที่ยวเท่านั้น

ในวันที่มะลิขึ้นกล่าวรายงานต่อคณะหน่วยราชการ ทุกคนจึงตกตะลึงในวิวัฒนาการของชนเผ่าโบราญที่เรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว นักข่าวจึงเข้ามาสัมภาษณ์มะลิ ทุกคนจับจ้องไปที่เธอ หลายหน่วยงานเข้ามาถ่ายวีดีโอกระดาษเขียนรายงานที่เป็นรายมือของเธอ

ความประหม่าของเธอเกิดจากโอกาสที่เธอจะยืนอยู่บนเวที และพูดในความจริงนั้นมีน้อยครั้งเหลือเกิน ครั้งนี้จึงเป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกที่เธอยังไม่เคยชิน จึงทำให้มือไม้สั่นด้วยความประหม่า

แต่ก็ทำให้หน่วยงานราชการหลายส่วนที่มาวันนั้นตื่นขึ้นยอมรับกับความจริง หลายข้อ เช่นยอมรับว่าพวกเขาสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ไม่ต่างจากคนไทยที่มีบัตร พวกเขารู้จักคิดและวางแผนจัดการต่ออนาคตของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจูงจมูก

และพวกเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวไปพร้อมๆกับโลกข้างนอกที่กำลังทะลักเข้ามาสู่หมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาแห่งนี้

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว