Skip to main content

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "9 คำถามคาใจ กรณี ปตท." ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจมาหลายปีนับตั้งแต่การแปรรูปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2544


เวทีเสวนาประกอบด้วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม  บมจ. ปตท. (คุณสรัญ รังคสิริเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (คุณสารี อ๋องสมหวัง) ดำเนินรายการโดยคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  บรรณาธิการนิตยสารสารคดี นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ภัทรด้วย


นักข่าวของ “ประชาไท” รายงานว่า “บรรยากาศในเวทีก็มีบางช่วงดุเด็ดเผ็ดร้อน บางส่วนตอบคำถามซึ่งกันและกัน บางส่วนไม่ บางส่วนขัดแย้ง” ในขณะที่ผู้สื่อข่าวของ “ผู้จัดการออนไลน์” รายงานว่า “การเสวนาเริ่มร้อนระอุตั้งแต่เปิดประเด็นแรกเรื่องกำไรของปตท.มาจากไหน ผู้บริหารของ ปตท. และหลักทรัพย์ภัทร ได้แสดงสีหน้าท่าทีดูแคลนและโต้แย้งข้อมูลของผู้แทนองค์กรผู้บริโภคว่า ไม่รู้เอาข้อมูลมาจากไหน”


ในบทความนี้ผมจะให้ความสนใจเพียงประเด็นเดียวคือ ประเด็นท่อก๊าซของ ปตท. ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาไปแล้ว พอจะสรุปสั้นๆ ได้ความว่า “ท่อก๊าซและระบบท่อก๊าซที่ทาง ปตท.(ซึ่งเคยเป็นของรัฐ 100%) ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” ไปจัดการเวนคืนที่ดินของเอกชนมา แต่เมื่อ ปตท.ถูกแปรรูปไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ให้จัดการคืนให้กับกระทรวงการคลังไปเสีย”


สิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจก็คือว่า มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่จะต้องคืนกลับให้กับกระทรวงการคลัง(หรือคืนให้รัฐ) แล้วในอนาคตจะจัดการกันอย่างไรต่อไปกับท่อก๊าซและทรัพย์สินเหล่านี้


ในบทความนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ยังห่างไกลจากข้อมูลสามารถเข้าใจได้ ผมจึงขออนุญาตตั้งคำถามเองดังต่อไปนี้ และหากส่วนใดที่สอดคล้องกับการเสวนา ผมจะนำมาเสนอพร้อมๆ กัน


คำถามที่หนึ่ง บรรดาท่อส่งก๊าซที่วางอยู่ริมทางหลวงแผ่นดิน ใต้ถนน ในป่าไม้ แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ทะเล ตลอดจนที่สาธารณะอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการ “ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” มาจัดการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ของสาธารณะใช่หรือไม่ ใครก็ตามที่ไม่มี “อำนาจมหาชนของรัฐ” ย่อมไม่สามารถกระทำได้ใช่หรือไม่


คำถามที่สอง ก่อนการแปรรูป คณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติให้แยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาจากธุรกิจของ ปตท. คณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบตามข้อเสนอ (25 กันยายน 2544) ในระหว่างการดำเนินการแปรรูป หนังสือชี้ชวนของ ปตท. ก็ได้สัญญาว่าจะแยกกิจการท่อก๊าซออกมาภายในหนึ่งปี แต่ทำไม บริษัท ปตท. จึงไม่ทำตามสัญญา


ผมเองยังไม่ชัดเจนกับวัตถุประสงค์การแยกกิจการดังกล่าว แต่เข้าใจว่านอกจาก ”การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” แล้ว น่าจะเพื่อลดการผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติได้ด้วย


เราลองคิดดูว่า ถ้ากิจการท่อส่งก๊าซเป็นของรัฐดังเดิม ผู้ใช้ก๊าซอาจจะมีอำนาจในการกำหนดค่าผ่านท่อได้บ้าง


คำถามที่สาม ท่อส่งก๊าซที่มีอยู่ในปัจจุบันเกือบทั้งหมดของประเทศ รวมทั้งท่อก๊าซไทย-พม่า,ไทย-มาเลเซีย นั้นได้สร้างก่อนการแปรรูป ปตท. (ตุลาคม 2544) ใช่หรือไม่ หลังการแปรรูปแล้ว ได้มีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซเพิ่มเติมซึ่งก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับท่อส่งก๊าซที่มีอยู่ก่อนการแปรรูป แม้กระนั้นก็ตามท่อที่สร้างขึ้นใหม่นี้ยังคงสร้างในทะเลซึ่งก็ต้องใช้ “ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” ตามคำพิพากษาของศาล(14 ธันวาคม 2550) ด้วยใช่หรือไม่


ขอความกรุณาให้ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจกแจงซิว่ามีท่อก๊าซใดบ้างที่ไม่ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” เข้าไปจัดการ


คำถามที่สี่ ก่อนการแปรรูป การลงทุนของ ปตท. มักจะควักกระเป๋ามาลงทุนเองประมาณ 30 % ของเงินลงทุนทั้งหมด และอีก 70% เป็นเงินกู้ที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกัน ในวันที่แปรรูป โครงการท่อก๊าซต่างๆ ยังคงมีหนี้สินเท่าใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าใด โปรดแจง


คำถามที่ห้า ขณะนี้ (16 พฤษภาคม 2551) ทางกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ และทางบริษัท ปตท. ได้ร่างสัญญาการใช้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของท่อส่งก๊าซบนสาธารณะสมบัติของชาติ ปตท.ต้องชำระค่าใช้ที่ราชพัสดุ สรุปได้ว่าปีละไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 550 ล้านบาท


การคิดค่าใช้ที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการอะไรบ้าง


คำถามที่หก ในการลงทุนโครงการท่อส่งก๊าซ ทาง ปตท. คิดผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ร้อยละ 18 ต่อปี ใช่หรือไม่


อนึ่ง การแจกแจงรายละเอียดให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ในบทความสั้นๆ นี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การบอกข้อมูลว่าในแต่ละปีที่ผ่านมา ทาง ปตท. (ก่อนแปรรูป)ได้ส่งเงินในโครงการท่อส่งก๊าซให้รัฐเท่าใด ก็สามารถทำให้ทราบได้ว่า ในอนาคตทาง บริษัท ปตท. ควรจะต้องจ่ายให้รัฐปีละเท่าใด


คำถามที่เจ็ด จากเอกสารแนบท้ายของ “คู่มือการคำนวณอัตราค่าผ่านท่อ” ซึ่งใช้ประกอบสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (7 พฤศจิกายน 2539) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทำให้เราสามารถทราบข้อมูลเรื่องรายได้-รายจ่ายรวมทั้งรายได้ที่นำส่งให้รัฐจากค่าผ่านท่อ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้


14_8_01

ก่อนจะกล่าวต่อไป ต้องขอหมายเหตุกับข้อมูลนี้ก่อน คือ (1) เป็นข้อมูลประมาณการในปี 2539 นั่นคือทำให้ข้อมูลในปี 2540 ไม่น่าจะห่างจากความจริงมากนัก แต่ข้อมูลในปี 2549 อาจน่าสงสงสัย แต่ก็สามารถตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลอื่นบางอย่างได้ (2) ในปี 2540 ท่อก๊าซไทย-พม่า ยังไม่มีก๊าซผ่านท่อ (3) ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียยังไม่ได้สร้าง


จากข้อมูลดังกล่าว เราพบว่า

(1) กำไรสุทธิหลังหักค่าดอกเบี้ยในปี 2540 และ 2549 อยู่ที่ 1, 688 และ 5,711 ล้านบาทบาท ตามลำดับ

สมมุติว่าเราต้องยึดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายคือระหว่างเจ้าของประเทศ(เจ้าของที่ดินสาธารณะ)กับผู้ถือหุ้น เราควรจะแบ่งเงินจำนวนนี้กันอย่างไร


ในความเห็นของผมคิดว่าควรจะแบ่งออกเป็นสามส่วนดังนี้คือ (1) ต้องแบ่งให้กับกระทรวงการคลังที่ควักกระเป๋าลงทุน 30% ตั้งแต่แรกก่อน (2) ต้องแบ่งให้เป็นค่าใช้ที่ราชพัสดุซึ่งขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าควรจะเป็นเท่าใด และ (3) แบ่งให้ผู้ถือหุ้นหลังการแปรรูป


ผมยังสงสัยว่า ทำไม กระทรวงการคลังกับ บริษัท ปตท. จำกัด จึงคิดจะให้ค่าใช้ที่อยู่ระหว่าง 180 ถึง 550 ล้านบาทเท่านั้น


(2)
กำไรสุทธิหลังหักดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ถึง 12.7 ของเงินลงทุน ตัวเลขนี้ย่อมเป็นการยืนยันว่า ทางบริษัท ปตท. คิดผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ประมาณ 18% จริง โดยมีดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 7%


(3)
รายได้ที่ส่งให้รัฐอยู่ระหว่าง 506 ถึง 1,713 ล้านบาท โดยที่ปริมาณก๊าซผ่านท่อเพียง 882.96 และ 1,044.76 ล้านบีทียู นั่นหมายถึงว่า ค่าผ่านท่อขึ้นกับปริมาณก๊าซที่ผ่านด้วย


ในปี 2550 ปริมาณก๊าซที่ผ่านท่อทั้งหมดประมาณ 1,248 ล้านบีทียู (ไม่นับรวมท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย) ดังนั้น เงินที่ส่งให้รัฐจึงน่าจะเป็นประมาณ 2,046 ล้านบาท ถ้านับด้วยก็จะสูงกว่านี้อีก


นี่ยังไม่ได้คิดตามราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นไปอีกมาก เมื่อราคาก๊าซเพิ่มขึ้น ค่าผ่านท่อก็เพิ่มตามไปด้วย

ที่กล่าวมาแล้ว เป็นคำถามเจ็ดข้อสำหรับประเด็นการจัดการกับท่อส่งก๊าซหลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ต่อไปนี้ผมขอนำบางตอนของการเสวนาที่ทาง “ประชาไท” นำเสนอ ซึ่งผมขอนำมาเรียงลำดับใหม่


ในขณะที่สังคมกำลังตั้งคำถามกับ ปตท. ว่า ที่ผ่านมาคุณคิดค่าผ่านต่อไปเท่าใดและในอนาคตคุณจะต้องจ่ายค่าเช่าเท่าใด ทางผู้บริหารของ ปตท. กลับตอบว่า

ถ้ากระทรวงการคลังจะคิดค่าผ่านท่อแพงๆ สุดท้ายก็ตกที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทำให้ค่าไฟแพงเปล่าๆ”


ผมคิดว่า นี่เป็นคำตอบที่ไม่ตรงประเด็น เพราะขณะที่ ปตท. คิดกำไรสุทธิหลังหักดอกเบี้ยเงินกู้แล้วที่อัตรา 12.7% (กำไรเบื้องต้นสูงถึง 18%) ถามว่าในประเทศไทยขณะนี้ มีธุรกิจใดบ้างที่มีกำไรสุทธิหลังหักค่าดอกเบี้ยแล้วสูงเท่ากับกับกิจการท่อส่งก๊าซซึ่งเป็นกิจการผูกขาดรายเดียวของประเทศไทย


เดิมทีเดียว รัฐบาลได้จัดตั้งการปิโตรเลียมขึ้นมาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อคานอำนาจกับบริษัทของเอกชนรายอื่น แต่แล้วก็เปลี่ยนเจตนารมณ์มาเป็นการแสวงหากำไรแบบผูกขาดรายเดียว

ค่าไฟฟ้าที่แพงอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากค่าผ่านท่อที่แพงเกินเหตุอันควร ประเด็นปัญหาอยู่ที่คุณคิดราคาเขาแพง แล้วคุณคิดจะจ่ายค่าเช่าถูกๆ ต่างหากละ


ในขณะที่นักลงทุนท่านหนึ่งกล่าวว่า “ในการแปรรูป ปตท.ได้มีการตีความกฎหมายหมดแล้ว แต่เมื่อมีการฟ้องร้อง เมื่อศาลตัดสินในกรณีท่อก๊าซก็ต้องเคารพ ในฐานะนักลงทุน ตอนซื้อหุ้นรู้อยู่แล้วว่ามีธุรกิจท่อก๊าซ จึงซื้อ แต่เมื่อศาลตัดสินให้โอนสิทธิกลับก็เคารพ แต่ทำไมต้องคิดค่าเช่าตั้ง 3,000 ล้าน นักลงทุนคิดว่าไม่ควรคิดค่าเช่าเลย”


ปัญหาเรื่องท่อก๊าซ ปตท. เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่านักลงทุน นักการเมือง ข้าราชการและทาง ปตท. จะคิดอย่างไร ตราบใดที่ความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้น คำถามและการเคลื่อนไหวจะต้องดำรงอยู่ตลอดไป

 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org