Skip to main content

การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบต่าง ๆ เช่น หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน (Guaranteed Basic Income - GBI) การจ่ายเงินรายได้ขั้นพื้นฐาน Universal Basic Income – UBI) เพื่อเป็นการประกันสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ของคนยุคดิจิทัลที่อยู่ในความเสี่ยงมีการจ้างงานไม่มั่นคง เกิดช่วงขาดแคลนเงินเป็นครั้งคราว รึอาจว่างงานและขาดรายได้เป็นการถาวร   หรือการป้องกันมิให้ภาครัฐเพิกเฉยละเลยไม่ใส่ใจต่อกลยุทธ์ของบรรษัทเอกชนที่พยายามผลักแรงงานออกจาระบบการจ้างงานเดิม ด้วยรูปแบบสัญญาจ้างเหมา หรือการจ้างงานยืดหยุ่นรูปแบบต่าง ๆ ดังปรากฏหลักการคัดกรองแบบเกณฑ์ ABC ของมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่นำมาพิจารณาว่า แรงงานเหมาช่วงนั้นยังอยู่ในความสัมพันธ์ลูกจ้าง-นายจ้างกับบรรษัทหลัก แม้ว่าตนจะถูกผลักออกไปอยู่ในบรรษัทเหมาช่วงอื่นแล้วก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายแรงงานของผู้ประกอบการที่ต้องมีต่อลูกจ้าง

การสร้างบทบัญญัติกฎหมายให้แรงงานรับจ้างอิสระย้อนกลับไปรับสิทธิแรงงานดุจเดียวกับลูกจ้างได้ หรือการได้รับการประกันสิทธิในรายได้ขั้นพื้นฐานผ่านสวัสดิการของรัฐ ย่อมต้องอาศัยพื้นฐานสิทธิตามกฎหมายอย่างแข็งแรงชัดแจ้ง เพื่อใช้อ้างต่อรัฐได้อย่างยั่งยืน ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขั้วต่าง ๆ เพราะสิทธิตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ผูกพันรัฐทุกรัฐ เว้นแต่จะยกเลิกกฎหมายทิ้งเสีย ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของเรื่องนี้ เป็นสิทธิตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic,  Social and Cultural Rights – ICESCRs) ที่รัฐไทยเป็นภาคีในระบบขององค์การสหประชาชาติ ที่ยากต่อการถอนตัวจากสนธิสัญญาเช่นว่าเพราะสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

 

ทั้งนี้นักสิทธิมนุษยชนที่ปฏิบัติงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ต้องระมัดระวังเรื่องมุมมองของบุคคลภายนอกไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไปจนถึงรัฐบาลว่า อาจเข้าใจผิดคิดว่าเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (HRBA) ที่เสนอไปนั้นเป็นกิจกรรมสังคมสงเคราะห์แบบให้ทานการกุศล (Charity or Arbitrary Given) หรือเป็นการให้แบบนโยบายประชานิยมทางการเมือง (Political Populism Policy) โดยวางอยู่บนอำนาจในการเลือกให้บางกลุ่มบางประเด็นตามอำนาจทางการเมือง ซึ่งแท้จริงมิใช่ แต่เรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (HRBA) เป็นการให้หลักประกันสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำสุดในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในยามตกทุกข์ได้ยากชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานต่างหาก โดยรัฐจำเป็นต้องรับรองสิทธิให้หลักประกันบนพื้นฐานของพันธกรณีทางกฎหมาย เลือกประติบัติต่อกลุ่มบุคคลใด หรือจะไม่ให้ตามอำเภอใจ เสียมิได้  เพราะสิทธิเหล่านี้สร้างข้ออ้างอิงทางกฎหมายให้ประชาชนเจ้าของสิทธิเรียกร้องได้ในชั้นศาล บังคับเอากับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเรื่อยไปจนถึงเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองลงไปทุกระดับได้

การสร้างหลักประกันสิทธิของคนทำงานรับจ้างอิสระที่อยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงนั้นต้องมุ่งแก้ปัญหาหลักใน 2 ประเด็น คือ 1.การสร้างหลักประกันสิทธิไม่ว่าจะนายจ้างจะปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างเช่นไรก็ตาม 2.ต้องเป็นหลักประกันทางกฎหมายที่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตทุกมิติของคนทำงาน   ดังนั้นหลักการที่สามารถนำมารองรับปัญหาเช่นว่าก็คือ การพัฒนาที่ครอบคลุมถึงกลุ่มเสี่ยง (Inclusive Development) ซึ่งเป็นหลักสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประชาคมโลกและรัฐไทยได้ให้พันธสัญญาว่าจะดำเนินการไปให้บรรลุวัตถุประสงค์

ทางเลือกเชิงรูปธรรมในการพัฒนามาตรการเพื่อประกันสิทธิให้กับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่การดึงให้แรงงานรับจ้างอิสระที่ถูกทำให้กลายเป็นผู้รับจ้างทำของ ย้อนกลับเข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์แบบลูกจ้างนายจ้างได้รับสิทธิแรงงานตามระบบกฎหมายแรงงานที่มีอยู่เดิม ไปจนถึงการสนับสนุนรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ได้มาตรฐาน หรือการสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า  ข้อเสนอเหล่านั้นได้แก่ 
1) การใช้ผู้จัดการนักกฎหมายอาชีพมาเป็นตัวแทนในการต่อรองเรียกร้องสิทธิ
2) การสร้างกลุ่ม สมาคม สหพันธ์ ที่มีตัวแทนเจรจาหรือนักกฎหมายองค์กรเจรจาให้
3) รัฐกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ดึงแรงงานรับจ้างอิสระกลับเข้าสู่ระบบกฎหมายแรงงาน
4) การหาเส้นกำหนดรายได้พื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี (Minimum Basic Income – MBI)
5) การเสริมรายได้ประชาชนให้ถึงมาตรฐานที่รัฐให้หลักประกันไว้ (Guaranteed Basic Income – GBI)
6) การสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า (Universal Basic Income – UBI)

บทความนี้จะเลือกแนวทางสุดท้ายมานำเสนอในรายละเอียด คือ การสร้างหลักประกันรายได้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า (Universal Basic Income – UBI)
ในการวิจัยเอกสารและการประชุมกลุ่มย่อยกลุ่มแรงงานอิสระได้พบข้อสังเกตสำคัญที่สอดคล้องกันประการหนึ่ง คือ แรงงานรับจ้างอิสระไม่ต้องการให้รัฐและบุคคลอื่นมายุ่งกับชีวิตส่วนตัว ยิ่งต้องไปเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลพิสูจน์ความยากจนต่อรัฐให้รู้สึกด้อยศักดิ์ศรีก็ยิ่งอยากหลีกเลี่ยง จึงมีความเห็นไปในทิศทางตอบรับกับข้อเสนอแบบ การสร้างหลักประกันรายได้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า (Universal Basic Income – UBI) ที่จ่ายเงินจำนวนหนึ่งเป็นการประกันรายได้พื้นฐานต่ำสุดไปเลยโดยไม่ต้องมาสำแดงรายได้ทุก ๆ เดือน

เงินจำนวนนี้จะช่วยในข่วงที่ขาดแคลนได้ดีมากเมื่อเทียบกับระบบกฎหมายสวัสดิการแรงงานที่มีอยู่ เพราะการเข้าประกันตนตามมาตรา 40 ของพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ผู้ประกันตนจะไม่ได้รับเงินทดแทนในกรณี "ว่างงาน" (แรงงานรับจ้างอิสระที่ไม่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ) ซึ่งแรงงานรับจ้างอิสระต่างเห็นตรงกันว่า หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดเป็นแรงจูงใจให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 เพราะสิ่งที่แรงงานรับจ้างอิสระต้องการมากที่สุด ก็คือ เงินทดแทนช่วงว่างงาน หรือก็คือ ช่วงขาดแคลนเงิน จากการว่างงานนั่นเองเพราะจะเกิดช่วงนี้แรงงานจะสภาวะยากจนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานได้เลย (Absolute Poverty) หากมีหลักประกันในลักษณะรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นเบาะรองรับอยู่ก็จะช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนได้มาก

หลักการพัฒนาที่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงได้คลี่คลายออกมาเป็นข้อเสนอเชิงหลักประกันสิทธิของคนทำงานรับจ้างอิสระ ในรูปแบบการสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน (Universal Basic Income – UBI) อันมีหลักการพื้นฐานดังต่อไปนี้ 
1) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นการจ่ายเงินให้กับผู้บรรลุนิติภาวะทุกคน (Universal)
2) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นการให้เพื่อสนองความจำเป็นพื้นฐานในชีวิต (Adequate)
3) เกณฑ์การให้มิได้มีการตั้งเงื่อนไขและการพิสูจน์ใดๆเกี่ยวกับการทำงาน (Unconditional)

หลักการและแนวปฏิบัติของเรื่อง การสร้างหลักประกันรายได้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า (Universal Basic Income – UBI) ประกอบไปด้วย
1) มีการประกันรายได้ตามเส้นมาตรฐานต่ำสุดในการดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Guaranteed Floor)
2) มีการแจกจ่ายรายได้ให้เป็นประจำตามระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน เช่น รายปี รายไตรมาส รายเดือน รายสัปดาห์ (Regular Payments)
3) เป็นการจ่ายเงินสดไม่ว่าจะให้เป็นเงินหรือโอนเป็นเงินดิจิทัลที่มีสภาพคล่องสามารถใช้จ่ายได้ทันทีไม่ต้องไปผ่านกระบวนการเพิ่มเติมอื่น ๆ (Cash)
4) ส่งมอบเงินให้กับปัจเจกชน มิใช่การให้กับกลุ่มองค์กร สถาบัน ชุมชนใด ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเก็บค่าธรรมเนียมหรือทุจริต (Individual)
5) การให้โดยไม่มีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนในลักษณะเสื่อมสิทธิหรือเพิ่มภาระหน้าที่แก่ประชาชนเพิ่มเติม (Unconditional)
6) บุคคลเข้าถึงสิทธิในการได้รับรายได้พื้นฐานนี้เป็นการทั่วไป มิต้องมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นพิเศษแตกต่าง  และมีข้อเสนอในบางประเทศว่าท่ามกลางเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ แรงงานต่างด้าวและครอบครัวของเขาก็อาจเข้าถึงสิทธินี้ได้โดยไม่ถูกเลือกประติบัติ แต่บางประเทศก็เสนอว่าจัดให้กับคนชาติทุกคน (Universal)

แม้ข้อเสนอเกี่ยวกับการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานนี้จะมิใช่ข้อเสนอใหม่ทางเศรษฐกิจการเมือง แต่ได้รับการบรรจุเป็นวาระสำคัญของหลายรัฐมากขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของภาวะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีโลกทั้งการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและความเสี่ยงไร้งานถาวรจากเทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลกระทบทางสังคมอย่างรุนแรง   โดยรูปแบบและวิธีการให้หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานมีหลายตัวแบบขึ้นอยู่กับทางเลือกของรัฐบาล ภูมิภาค หรือประชาคมทางเศรษฐกิจที่อาจมีนโยบายร่วมกันในประเด็นข้างต้น  

นโยบายแบบ UBI นี้ต่อยอดจาก MBI และลบจุดอ่อนของ GBI โดยจะจ่ายเงินในจำนวนที่แรงงานรับจ้างอิสระสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยรัฐจะจัดสรรงบประมาณตามจำนวนประชากรที่เข้าเกณฑ์ โดยสามารถจัดเตรียมงบประมาณเป็นปริมาณเงินได้ชัดเจนทั้ง จำนวนเงินที่ให้รายบุคคล และงบประมาณรวมที่จ่ายทั้งหมด   ลดความกังวลของพลเมืองในเรื่องการเสียข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวไปกับระบบจดทะเบียนและมิต้องผ่านกระบวนการคัดกรองใด ๆ ที่จะทำให้สูญเสียสิทธิไปด้วยวิธีการเชิงเทคนิค

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐที่เลือกใช้แนวทางนี้อาจไม่ต้องจ่ายใช้เงินงบประมาณมากอย่างที่กังวลในการทำให้ประชาชนดำรงชีพอย่างมีคุณภาพครอบคลุมสิทธิขั้นพื้นฐานทุกสิทธิ  เนื่องจากรัฐสามารถสร้างหลักประกันสิทธิบางอย่างไว้รองรับประชาชนเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องจ่ายเป็นเงินให้ประชาชนถือไว้ในมือ เช่น รักษาฟรี เรียนฟรี เป็นต้น อันเป็นการลดภาระการจ่ายเงินตรงแก่แรงงานรับจ้างอิสระได้ โดยรัฐสามารถจัดสรรงบประมาณและใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มีอยู่เดิม เช่น บริการสาธารณะด้านคมนาคมและโทรคมนาคม เป็นต้น

อย่างไรก็ดีข้อเสนอนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อถกเถียงเรื่องคนได้เงินแล้วจะไม่ทำงาน จะไม่ผลิตสินค้า ไม่บริการอะไร หรือไปถึงขั้นสงสัยว่าประชาชนจะขี้เกียจใช้ชีวิตด้วยเงินที่รัฐจ่ายให้แต่ไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ เลยแก่สังคม   รวมถึงข้อโต้แย้งว่าอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมิได้เกิดจากเงื่อนไขบีบคั้นทางเศรษฐกิจ การจ่ายเงินแบบ UBI มิได้มีผลลดความรุนแรงในสังคม

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ขาดไปเสียมิได้ คือ สภาพการจ้างงานและความปลอดภัยในการทำงานที่พบว่าคนทำงานอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยจากการทำงานต่อเนื่องยาวนานและความเครียดกังวลสะสมอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ก็ต้องได้รับการพิจารณาในรายละเอียดและสร้างข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

การนำหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานมาปรับใช้เพื่อรองรับปัญหาคนทำงานรับจ้างอิสระในประเทศไทยจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จำเป็นต้องถกเถียงทั้งในเชิงหลักการและนโยบาย เนื่องจากรูปแบบการจ้างงานไม่มั่นคงที่ได้กล่าวไว้จะกลายเป็นรูปแบบการทำงานหลักที่ครอบคลุมชีวิตคนในสังคมเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับความต้องการในแง่ของนโยบายทางการเมืองที่จะมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมากต้องการเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตนและคนในครอบครัวที่ชีวิตแขวนอยู่ในระบบดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

อ้างอิง
Arthur, D., (2016). Basic Income: A Radical Idea Enters the Mainstream. Australia: Parliament of Australia.
Alston, P., (2017). Universal Basic Income as a Social Rights-based Antidote to Growing Economic Insecurity. New York: Law School, New York University.


*บทความนี้นำเสนอทางเลือกที่ปรากฏอยู่ในบทที่ 6 ของวิจัย โครงการการพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21, 2562. สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

บล็อกของ ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”&
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
เมื่อถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นเช่นไรในประเด็นการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมีความคาดหวังให้รัฐไทยปรับปรุงอะไรเพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยง   นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยได้ฉายภาพความฝัน ออกมาดังต่อไปนี้
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในสนามมายาวนานได้วิเคราะห์สถานการณ์การคุกคามผ่านประสบการณ์ของตนและเครือข่ายแล้วแสดงทัศนะออกมาในหลากหลายมุมมอง ดังนี้
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
สถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่เกิดจากข้อค้นพบจากกรณีศึกษา มีปัจจัยดังต่อไปนี้1. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริบทภายในประเทศ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
บทวิเคราะห์ที่ได้จากการถอดบทสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากประสบการณ์ ในหลากหลายภูมิภาคไปจนถึงความแตกต่างของการทำงานกับกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสิทธิแตกต่างกันไป   เป็นที่ชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นมีชีวิตและอยู่ในวัฒนธรรมแตกต่างไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐที่ปรากฏในสังคมตะวันตก ซึ่งสะ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ถูกรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้ความสำคัญประกอบจนก่อให้เกิดอนุสัญญาเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้น ๆ ประกอบไปด้วย สตรี, เด็ก, เชื้อชาติ และ แรงงานอพยพ รวมถึง ผู้พิการ โดยกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิที่ถูกระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วย
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
แนวทางในการสร้างนโยบาย กฎหมาย และกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนจากการสอดส่องโดยรัฐมาจาการทบทวนมาตรฐานและแนวทางตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
ต้นปี 2563 หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ถูกกดไว้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในรัฐไทย จุดสำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าประว