Skip to main content

 

 

"การจำกัดสื่อคือการเหยียดหยามชาติ การห้ามไม่ให้อ่านหนังสือบางเล่มคือการประกาศให้พลเมืองเป็นพวกงั่งหรือไพร่ทาส" - แอลเวติอุส(Claude Adrien Helvetius), 1715-1771 นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส[1]

 

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาสื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ ร่วมกันสวมเสื้อที่มาข้อความว่า “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” ซึ่งเป็นเสื้อที่จัดทำขึ้นโดย 4 องค์กรสื่อ คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายใต้สโลแกน “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” เพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี[2]

ความรับผิดชอบหรือกระบวนการเซ็นเซอร์สร้างสังคมที่ขาด ‘วิจารณญาณ’

การรณรงค์ฟังดูขัดแย้งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สื่อแทบจะไม่มีเสรีภาพในการนำเสนออะไรเลยภายใต้รัฐบาลทหารนี้ เพราะสุดท้ายมันคือกระบวนการสนับสนุนการเซ็นเซอร์ซ้อนมาอีกชั้นจากที่รัฐคอยเซ็นเซอร์อยู่แล้ว ผ่านอุดมการณ์ของรัฐนี้ที่มักอ้างคำอย่างความมั่นคงและศีลธรรมมาคอยกำกับสื่อและประชาชน

อีกทั้งระบบปกติความรับผิดชอบของสื่อก็ทำงานผ่านกระบวนการฟ้องร้องอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นการรณรงค์ลักษณะนี้จึงเท่ากับเป็นกระบวนการส่งเสริมให้เซ็นเซอร์กันเองและตัวเองอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ โดยความเชื่อที่ว่าพลเมืองในรัฐนี้ที่เสพสื่อขาด ‘วิจารณญาณ’ และการกำกับผ่านการนำเสนอที่อ้างว่ามันต้อง 'ความรับผิดชอบ' ก็จะเป็นารผลิตซ้ำตอกย้ำการขาดวิจารณญาณไปเรื่อยๆ ดังที่ เฮนรี สตีล คอมมาเจอร์(Henry Steel Commager)[3] นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า

"การเซ็นเซอร์ทำลายเป้าหมายของตัวเองเสมอ เพราะถึงที่สุด มันสร้างสังคมแบบที่ไม่สามารถใช้วิจารณญาณได้"

ตัวอย่างกระบวนการจำกัดสื่อในรอบเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากที่ มีประเด็น ฐปณีย์ เอียดศรีไชย กับการรายงานกระบวนการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลออกมาอัดอย่างหนักแล้ว ยังมีกรณีการขอให้เปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" จาก ‘ณาตยา แวววีรคุปต์’ ไปเป็นคนอื่น เนื่องจาก ณาตยา ตั้งคำถามพาดพิงการรัฐประหาร ซึ่งกรณีเหล่านี้เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง

แต่ยังมีสื่ออิสระบางคนยังถูกคำสั่ง คสช. เรียกเข้ารายงานตัวในช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร นอกจากถูกสอบสวนโดยไม่เป็นธรรม และกักขังในค่ายทหารแล้ว การออกมายังถูกเงื่อนไข ห้ามชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองแลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่รับอนุญาต ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะตีความ เพราะการไปทำข่าวในพื้นที่ที่มีการชุมนุมอาจถูกเหมารวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมได้

อีกทั้งพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ เองที่มาการปฏิบัติกับนักข่าว อย่างการโยนเปลือกกล้วย การบีบหู หรือการพูดข่มขู่ทีเล่นทีจริง ก็อาจเป็นการแสดงให้เห็นมุมมองของผู้มีอำนาจมองสื่อมวลแทบจะไม่ต่างจากคนในบังคับ คนในสังกัดหรือกรมประชาสมัพันธ์ของตนเอง ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากัน

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97, 103 วิจารณ์ คสช.ก็ต้องโดยสุจริต

รวมทั้ง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97(ประกาศเมื่อ 18 ก.ค.57) และ 103(ประกาศเมื่อ 21 ก.ค.57) ก็เป็น เป็นอุปสรรคของสื่อในการเชิญบุคคลไปออกรายการทีวี ซึ่ง คสช. ให้งดนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ส่งผลต่อความมั่นคง สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะห้ามสื่อเสนอ “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช.โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ” นั่นเท่ากับว่าหากมีเรื่องที่มีการวิจารณ์ คสช.แล้ว คสช.เอาเรื่อง ก็ต้องมาพิสูจน์เจตนาว่าสุจริตด้วย

ไล่ปิดสื่อ ล่าสุดช่อง PEACE TV

หลัง รปห. ใหม่ๆ มีคำสั่งระงับสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายต่างๆ แม้ภายหลังจะอนุญาตให้ออกอากาศได้ แต่คณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก ก็เคยร้องเรียนกับ กสทช.ให้พิจารณาลงโทษ กรณี ช่อง PEACE TV, ช่อง 24 TV,ช่องฟ้าวันใหม่  ล่าสุด กสช. ก็ถอนใบอนุญาต PEACE TV โดยอ้างว่ากระทำผิดซ้ำมีเนื้อหายุยง[4] และเมื่อดูจากข้อความตัวอย่างที่ กสช. อ้างว่าเป็นการยุยงจนนำมาซึ่งการสั่งปิด 2 ข้อความ ที่ออกในรายการ มองไกล เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ ในนาทีที่ 15 ข้อความว่า "อย่ามองคนมีความเห็นต่างเป็นศตรู บรรยากาศบ้านเมืองจะมีความน่ารักมากกว่านี้ ไม่ใช่พอพูดแบบนี้จะหาเรื่องปิดโทรทัศน์กันอีก" และนาทีที่ 20 ระบุว่า ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวในรายการเกี่ยวกับเหตุการณ์วางระเบิดที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี และเหตุการเพลิงไหม้ ที่ จ.สุราษฏร์ธานี ในลักษณะที่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายบ้านเมืองและนักการท้องถิ่นเพื่อใส่ร้ายกลุ่มคนเสื้อแดง 

ถ้าข้อความเท่านี้ถึงขั้นถอนใบอนุญาตได้ ผมก็คิดว่าสื่อทุกช่องก็มีโอกาสโดนได้เช่นกัน เพราะยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่ายุยงปลุกปันเลย เป็นเพียงการแสดงความเห็นของผู้ดำเนินรายการธรรมดาเท่านั้น อย่างที่ สุภิญญา กลางณรงค์[5] กรรมการ กสท. เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดช่องนี้กล่าว่า “..จากที่ดูเนื้อหาด้วยใจเป็นธรรม ช่องการเมืองเลือกข้างทั้งสอง ยังไม่ถึงขั้นปลุกปั่น แบ่งสี หลักๆคือวิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐ คนร่าง รธน. และ กสทช. อาจมีบางสิ่งที่ดูขัดรสนิยมหรือมาตรฐานจรรยาบรรณไป ถ้าผิด ก็ควรลงโทษแบบไต่ระดับ เบาไปหนักตั้งแต่แรก ที่สำคัญควรเปิดให้เขาชี้แจงก่อน”

นอกจากนี้หลังรัฐประหารยังมีวิทยุชุมชนที่ถูกไล่ปิดจำนวนมาก เว็บไซต์ข่าวสารที่ถูกไล่บล็อก ตั้งแต่มีการรัฐประหาร แม้กระทั่งเว็บข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอชประจำประเทศไทยก็ถูก ICT บล็อก

อีกทั้งยังมีรายละเอียดข้อจำกัดต่างๆที่เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการรายงานข่าวหลังรัฐประหาร เช่น เรือนจำมีการออกข้อจำกัดผู้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ทำให้โอกาสที่ผู้สื่อข่าวจะทำข่าวประเด็นนี้ยากมากขึ้น รวมถึงมีการพิจารณาลับในคดีความผิด ม.112 ในศาลทหาร

ประเด็นเสรีภาพสื่อใน ร่าง รธน. ฉบับใหม่

ประเด็นเรื่อง "เสรีภาพของสื่อมวลชน" ใน ร่าง รัฐธรรมนูญ 58 นี้อยู่ในมาตรา 48 ที่น่าสนใจและต่างจาก ม.39 รธน.40 และ ม.45 รธน.50 คือ

1. เปลี่ยนจากคำว่า "บุคคลยอมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมาย" เป็น "เสรีภาพของสื่อมวลชน"

2. มีการระบุว่า 'เสรีภาพ' ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อ

2.1. เป็นไปตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

2.2. อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน

2.3. รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ซึ่ง รธน.2 ฉบับก่อนหน้านี้ไม่ระบุไว้ เท่ากับผิดไปจาก 2.1-2.3 แล้วจะไม่ได้รับการคุ้มครอง 

3. ระบุข้อห้ามไว้ด้วยว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน มิได้ ไม่ว่าในนาม ของตนเองหรือให้ผู้อื่น" ซึ่งมีในรธน. 50 แต่ไม่มีใน รธน.40

4. ระบุข้อห้ามผูกขาดสื่ออีกว่า "เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม" ซึ่ง รธน.2 ฉบับก่อนหน้าไม่มี

5. และ ร่าง รธน.58 แถมอีกในมาตรา 49 ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพ และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคล

หากดูจากสถานการณ์การจำกัดสื่อหลังรัฐประหาร และดูจากทิศทางการในอนาคตจาก ร่าง รัฐธรรมนูญ ที่มีเงื่อนไขในการคุ้มครองเสรีภาพสื่อว่าต้อง เป็นไปตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถึงจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ แล้วผมคิดว่าสื่อมวลชนก่อนที่จะรณรงค์ ‘เสรีภาพบทความรับผิดชอบ’ ควรรณรงค์ให้เรามีเสรีภาพก่อนดีไหม

เว้นแต่ ‘ความรับผิดชอบของสื่อ’ ในที่นี้จะหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะสร้างสังคมที่มีวิจารณญาณ ด้วยการเรียกร้องเสรีภาพให้กับประชาชนในฐานะผู้เสพสื่อ เรียกร้องเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อ แล้วให้ประชาชนผู้เสพตัดสินเอง ไม่ใช่ให้ใครมาเป็นคุณพ่อรู้ดีคอยตัดสินว่าอันนั้นมีความรับผิดชอบอันนี้ไม่มี



[1] http://www.bookbrowse.com/quotes/detail/index.cfm?quote_number=199

[2] ASTVผู้จัดการออนไลน์, สื่อทำเนียบสวมเสื้อ“เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”รับวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050080

[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Henry_Steele_Commager

[4] ประชาไท, เปิดข้อความที่ทำให้ กสท.สั่งปิด ‘PEACE TV’ อ้างยั่วยุปลุกปั่นฯ 'จตุพร' เผยปรับเป็นสื่อ Social Network http://prachatai.org/journal/2015/05/59068

[5] ประชาไท, เสียงแตก ‘สุภิญญา’ ค้านปิดช่อง Peace TV แจง ‘ยังไม่ถึงขั้นปลุกปั่น’ ชี้มติไม่ผ่านอนุฯ ก่อน http://prachatai.org/journal/2015/04/59003

 

บล็อกของ เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เทวฤทธิ์ มณีฉาย
อย่าเพิ่งไปกดประชาชนที่ถูกกดจนไม่ไปใช้สิทธิ ว่าเขา 'นอนหลับทับสิทธิ' อย่าเพิ่งไปสร้างความชอบธรรมให้ประชามติแบบเผด็จการของไทย โดยการยกเอาประชามติของอังกฤษมาเทียบผมขออนุญาตทำ 'ความเห็นแย้ง' ท่านที่ยกเอาประชามติของอังกฤษมาเทียบกับไทย รวมทั้งยกวาทกรรม 'นอนหลับทับสิทธิ' มาลงโทษซ้ำประชาชนที่ 'เลือก' ไม่ไปใช้สิทธิ (เบื้องต้น) ดังนี้
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
จากโครงสร้างผลการตอบในนิด้าโพลเกี่ยวกับประชามติ พบ เป็นไปได้ที่คนเปลี่ยนใจจาก "ไปใช้สิทธิแต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอยางชัดเจน" เป็น "ยังไม่ตัดสินใจ"  หลังสถานการณ์การปราบปรามผู้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชามติอย่างหนัก
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
"สื่อที่อิสระย่อมเป็นได้ทั้งสื่อที่ดีและสื่อที่เลว แต่ถ้าหากปราศจากเสรีภาพ สื่อ นั้นจะไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากการเป็นสื่อที่เลว"
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
รวมคำอธิบายอารมณ์-นิสัยตัวเองของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นคนอารมณ์ดี เป็นคนตลก ใจร้อน ขี้โมโห น้อยใจ เสียใจ กล้าหาญ ตอบไปเรื่อย เป็นมนุษย์ปุตุชนธรรมดาคนหนึ่ง สุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อม ฯลฯ 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามนักข่าวปมดำเนินคดี 14 นักศึกษานักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในศาลทหาร ว่า ทำผิดรัฐธรรมนูญตรงไหนไหม คำตอบคือ ผิด มาตรา 4 รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 รัฐธรรมนูญที่คณะท่านเขียนมาเลยครับ #จบข่าว  
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษ และผลไม้พิษย่อมเป็นผลไม้พิษไม่ว่ามันจะเคลือบด้วย "ประชามติ" กี่ชั้น / ผู้มีบทบาทในการร่างส่วนมากโน้มเอียงไปทางฝั่งฝ่ายเดียว / เนื้อหาที่ร่างออกมามีหลายอย่างที่มีปัญหา / หากผ่านก็จะน้ำท่วมปาก / คสช.ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง มีแนวโน้มว่าจะทำและถ้าทำก็จะผ่าน แต่ไม่ผ่านก็เท่ากับต่ออายุ คสช. 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
‘ซีพี-เซเว่นฯ’ ไม่ได้มีแค่เจ้าสัว แต่ยังมีคนงานและ SMEs รวมอยู่ด้วย หากการบอยคอตมีพลังคนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเหล่านั้นก็จะซวยด้วย ปัญหาผูกขาดอยู่ที่ระบบไม่ใช่เจ้าสัวคนใดคนหนึ่ง เสนอ ผลักดัน กม.การแข่งขันทางการค้าให้ฟังก์ชั่น ตั้งสหภาพแรงงานและเก็บภาษีทรัพย์สินมากขึ้น ฯลฯ
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
ขณะที่เรายังไม่มีเสรีภาพ แต่องค์กรสื่อรณรงค์ 'เสรีภาพบนความรับผิดชอบ' จะกลายกระบวนการเซ็นเซอร์สร้างสังคมที่ขาด ‘วิจารณญาณ’ หรือไม่? พร้อมสำรวจประเด็นการจำกัดเสรีภาพสื่อหลังรัฐประการ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97, 103 วิจารณ์ คสช.ก็ต้องโดยสุจริต การปิด PEACE TV และ ร่าง รธน. ฉบับใหม่
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
การนำพลเมืองขึ้นศาลทหาร ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช. เอง ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน เหลือศาลเดียวไม่เปิดโอกาสให้แก้มือ และที่สำคัญเป็นการนำคู่กรณีมาเป็นคนตัดสิน ขาดความเป็นอิสระ ทำลายหลักประกันความยุติธรรม
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
10 ข้อโต้แย้งข้อเสนอบอนไซด้วยอคติสัดส่วนหญิงชาย 50:50 ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ว่าหญิงจะปกป้องผู้หญิง และไม่ใช่ว่าชายจะไม่สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ