Skip to main content

 

ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษ และผลไม้พิษย่อมเป็นผลไม้พิษไม่ว่ามันจะเคลือบด้วย "ประชามติ" กี่ชั้น หากขอแค่ทำ 'ประชามติ' รับ/ไม่รับ ร่าง รัฐธรรมนูญ แล้วจะถือว่ามันชอบธรรมแล้ว โดยไม่ดูต้นทางว่ามันร่างมาอย่างไร ทำไมตอนประกาศรับสมัคร สปช. ไม่เข้าร่วมกับเขากันตั้งแต่แรก จะได้ให้มันมีความชอบธรรมมากขึ้น? ล่ะครับ (ถ้าเชื่อกันอย่างนั้นจริงๆนะ)

หลังจากวันนี้เว็บ Prachamati.org เปิดเผยว่าผู้โหวต 93.54% เห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการทำประชามติ จากผู้โหวต 2,522 คน[1] ผู้เขียนจึงขอยกโพสต์ที่ผู้เขียนโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อมาปรับปรุงแก้ไขและเผยแพร่ลงในนี้อีกที ถึงเหตุผลที่ผู้เขียน “ไม่เห็นด้วย” กับการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจาก

1. ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษ และผลไม้พิษย่อมเป็นผลไม้พิษไม่ว่ามันจะเคลือบด้วย "ประชามติ" กี่ชั้น

เป็นที่ทราบกันว่ากระบวนการร่างและบุคคลที่เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการแต่งตั้งของ คณะรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ฉบับก่อนหน้าอีกที เท่ากับต้นทางเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้ว หากใช้การทำประชามติเพื่อให้ความชอบธรรมกับกติกาหรือรัฐธรรมนูญที่เกิดจากตรงนี้ ไม่เพียงทำให้รัฐธรรมนูญที่เป็นผลไม้พิษเป็นสิ่งที่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย ยังจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารหรือต้นไม้พิษอีกว่าสามารถทำได้ในอนาคต แล้วก็ให้มีประชามติ จะกลายเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองของไทยต่อไปอีกไม่รู้จบ

ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงวาทะกรรม "ต้นไม้พิษ" ตอนรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ 50 เพราะมันไม่ชอบธรรมเนื่องจากการ "ร่าง" มันมาจากการรัฐประหาร แม้มันจะผ่านประชมติมาก็ตาม จึงต้องถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีสถานะโมฆะในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น

2. ผู้มีบทบาทในการร่างส่วนมากโน้มเอียงไปทางฝั่งฝ่ายเดียว

คณะกรรมมาธิการยกร่างฯ[2] ทั้งที่ คสช. สนช.และสปช. แต่งตั้ง ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนเข้าไปกำหนดโดยตรง ท้ายที่สุดอยู่ที่คสช. และหากดูรายบุคคลพบหลายคนเคยร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป้นถึงประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรเจิด สิงคะเนติ ปกรณ์ ปรียากร ปรีชา วัชราภัย จรัส สุวรรณมาลา ไพบูลย์ นิติตะวัน สุภัทรา นาคะผิว และชูชัย ศุภวงศ์  เป็นต้น รวมทั้งในส่วนของ สปช.เอง ที่จะมีหน้าที่ลงมติพิจราณาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็มีสัดส่วนข้าราชการทั้งอดีตและปัจจุบัน[3] อย่างน้อยประมาณ 52% และแกนนำ แนวร่วม กปปส. กลุ่ม 40 ส.ว. อย่างน้อยประมาณ 13%

จริงๆ ถ้าจะว่าไปแล้วหากกลุ่มรณรงค์เรียกร้องให้ทำประชามติรับร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมนั้น ตอนที่มีการรับสมัคร สปช. ก็ควรเสนอตัวเข้ารับการพิจารณาแต่งตั้งจาก คสช. ด้วย เพื่อเช้าไปช่วงชิงทั้งที่นั่งในการร่างและประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ที่ไม่เข้าร่วมแต่ต้นผู้เขียนก็มองว่าหลายคนล้วนพิจารณาแล้วว่ากระบวนการรัฐประหารและผลพวงจากการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมและไม่อาจรับได้

3. เนื้อหาที่ร่างออกมามีหลายอย่างที่มีปัญหา

ทั้งที่มาของ ส.ว. ประเด็นนายกคนนอก รวมไปถึงประเด็นเรื่องการกำกับเสรีภาพของสื่อมวลชนในมาตรา 48 อีกด้วย[4] รวมทั้งประเด็นความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้วิเคราะห์ไว้ เช่น สิทธิเสรีภาพ ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน องค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมธรรมนูญ (อ่านรายละเอียดคำอธิบาย : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เสนอคว่ำร่างรธน. จัดตั้ง สสร.จากประชาชนใหม่)  เป็นต้น หากผ่านก็เท่ากับเราต้องยอมรับผลของมันเหล่านี้ด้วย

4. หากผ่านก็จะน้ำท่วมปาก

เมื่อเราเรียกร้องกระบวนการนั้น เราย่อมต้องยอมรับผลของมันด้วย จากข้อ 3. หากประชามติผ่านเท่ากับว่าผู้ที่รณรงค์ให้ทำประชามติย่อมต้องยอมรับผลของมันด้วย แม้เนื้อหาและที่มาของมันจะมาจากอะไรหรือเป็นอย่างไร แม้มีการเรียกร้องให้มีการเปิดให้อภิปรายสาธารณะโดยเสรีรายมาตราระหว่างผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีผลให้ไปปรับแก้มาตราเหล่านั้นก่อนลงประชามติ ทำให้การลงประชามติทำได้ได้เพียงรับ/ไม่รับทั้งฉบับอย่างเดียว

5. คสช.ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง มีแนวโน้มว่าจะทำและถ้าทำก็จะผ่าน แต่ไม่ผ่านก็เท่ากับต่ออายุ คสช.

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา คำนูณ สิทธิสมาน พร้อมด้วย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ[5] แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งหนังสือเสนอความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เห็นตรงกันว่าควรให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ และวันต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ไม่มีท่าทีที่ปฏิเสธ แต่ควรพิจารณาทีละขั้นตอน โดยรอให้ สปช. ลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยก่อน[6]

แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่ คสช.จะทำประชามติ ยังไม่นับรวมไปถึง ไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้ทำประชามติเพื่อปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้งอีกด้วย[7]

และเมื่อลงประชามติแล้วมีแนวโน้มว่าจะผ่าน เนื่องจากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ช่วงหลังรัฐประหารก็มีกลุ่มออกมาประท้วงจำนวนมาก รวมทั้งไม่โดนปราบปรามหนักเหมือนอย่างครั้งนี้ สุดท้ายรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติเช่นกัน

อีกทั้งเมื่อคนเลือกหรือโหวตก็มีแนวโน้มที่โหวตเชิงกลยุทธ์ คือ หวังผลที่มีความเป็นไปได้แม้ผลประโยชน์จะไม่ได้หรือดี 100% แต่ตัวเลือกนั้นมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งในภาวะประชามตินี้ คนก็จะมีแนวโน้มเลือกรับรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากหากเลือกไม่รับร่างฯ ก็จะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน คสช.ก็ยังอยู่ในอำนาจ สู้เลือกรับร่างฯ ไปก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้ง จึงเป็นตัวเลือกที่มองเห็นอนาคต ดังนั้น “รับๆไปก่อนแล้วแก้ที่หลัง” ก็เป็นตัวเลือกที่เขามองว่ามันเป็นไปได้ ส่วนฝ่ายที่สนับสนุน คสช.ก็มีแนวโน้มที่จะรับร่างฯ นี้อยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสผ่านสูงมาก

สำคัญรัฐธรรมนูญมันเป็นกติการ่วมกันของสังคม ซึ่งควรผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งต่อต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ การเสนอให้ทำประชามติในสิ่งที่ผิดแต่ต้นด้วยหนึ่งก็กลายเป็นการมัดมือประชาชนชกให้ร่วมรับรองในสิ่งที่ผิดเหล่านั้นด้วย เปรียบเสมือนการใชประชามติพยายามเคลือบผลไม้พิษ

ทางออกในเบื้องต้นคือรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญนี้โมฆะแต่ต้น แล้วเรียกร้องให้พรรคการเมืองชูนโยบายในการเลือกตั้งว่าจะตั้ง สสร. เหมือนปี 40 หรือไม่ก็ชูเลยว่าจะเอา 40 มาใช้ หรือลงประชามติเลือกระหว่าง รัฐธรรมนูญ 40, 50 และ 58 หลังจากที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น

 



[1] ประชาไท, นับคะแนนเว็บประชามติ ผู้ใช้ 93% อยากให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ http://prachatai.org/journal/2015/05/59332

[2] ประชาไท, ใครเป็นใครใน 'กรรมาธิการยกร่าง รธน.' พบหลายคนแนวร่วม 'นกหวีด' http://prachatai.org/journal/2014/11/56344

[3] ประชาไท, สแกนใครเป็นใครใน สปช. : สภาปฏิรูปนายทุนขุนนางและนกหวีด http://www.prachatai.com/journal/2014/10/55889

[4] เทวฤทธิ์ มณีฉาย, บล็อกกาซีน, เสรีภาพยังไม่มี แต่องค์กรสื่อเปิดวาร์ปไปรณรงค์ ‘เสรีภาพบนความรับผิดชอบ’ แล้ว http://blogazine.pub/blogs/tewarit/post/5354

[5] ประชาไท, กมธ.ยกร่างฯ เผย เห็นด้วยกับการทำประชามติ พร้อมเตรียมส่งหนังสือให้ นายกฯ ด้านวิป สปช. เอาด้วย http://prachatai.org/journal/2015/05/59248

[6] ประชาไท, ‘ประยุทธ์’ ระบุทำ ‘ประชามติ’ ควรพิจารณาทีละขั้นตอน ชี้คุ้มค่าหากช่วยลดความขัดแย้ง http://prachatai.org/journal/2015/05/59264

[7] ประชาไท, ‘อภิสิทธิ์-อดีตส.ส.เพื่อไทย’ ค้าน ‘ประชามติ’ ปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง http://prachatai.org/journal/2015/05/59251

 

บล็อกของ เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เทวฤทธิ์ มณีฉาย
อย่าเพิ่งไปกดประชาชนที่ถูกกดจนไม่ไปใช้สิทธิ ว่าเขา 'นอนหลับทับสิทธิ' อย่าเพิ่งไปสร้างความชอบธรรมให้ประชามติแบบเผด็จการของไทย โดยการยกเอาประชามติของอังกฤษมาเทียบผมขออนุญาตทำ 'ความเห็นแย้ง' ท่านที่ยกเอาประชามติของอังกฤษมาเทียบกับไทย รวมทั้งยกวาทกรรม 'นอนหลับทับสิทธิ' มาลงโทษซ้ำประชาชนที่ 'เลือก' ไม่ไปใช้สิทธิ (เบื้องต้น) ดังนี้
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
จากโครงสร้างผลการตอบในนิด้าโพลเกี่ยวกับประชามติ พบ เป็นไปได้ที่คนเปลี่ยนใจจาก "ไปใช้สิทธิแต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอยางชัดเจน" เป็น "ยังไม่ตัดสินใจ"  หลังสถานการณ์การปราบปรามผู้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชามติอย่างหนัก
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
"สื่อที่อิสระย่อมเป็นได้ทั้งสื่อที่ดีและสื่อที่เลว แต่ถ้าหากปราศจากเสรีภาพ สื่อ นั้นจะไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากการเป็นสื่อที่เลว"
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
รวมคำอธิบายอารมณ์-นิสัยตัวเองของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นคนอารมณ์ดี เป็นคนตลก ใจร้อน ขี้โมโห น้อยใจ เสียใจ กล้าหาญ ตอบไปเรื่อย เป็นมนุษย์ปุตุชนธรรมดาคนหนึ่ง สุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อม ฯลฯ 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามนักข่าวปมดำเนินคดี 14 นักศึกษานักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในศาลทหาร ว่า ทำผิดรัฐธรรมนูญตรงไหนไหม คำตอบคือ ผิด มาตรา 4 รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 รัฐธรรมนูญที่คณะท่านเขียนมาเลยครับ #จบข่าว  
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษ และผลไม้พิษย่อมเป็นผลไม้พิษไม่ว่ามันจะเคลือบด้วย "ประชามติ" กี่ชั้น / ผู้มีบทบาทในการร่างส่วนมากโน้มเอียงไปทางฝั่งฝ่ายเดียว / เนื้อหาที่ร่างออกมามีหลายอย่างที่มีปัญหา / หากผ่านก็จะน้ำท่วมปาก / คสช.ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง มีแนวโน้มว่าจะทำและถ้าทำก็จะผ่าน แต่ไม่ผ่านก็เท่ากับต่ออายุ คสช. 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
‘ซีพี-เซเว่นฯ’ ไม่ได้มีแค่เจ้าสัว แต่ยังมีคนงานและ SMEs รวมอยู่ด้วย หากการบอยคอตมีพลังคนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเหล่านั้นก็จะซวยด้วย ปัญหาผูกขาดอยู่ที่ระบบไม่ใช่เจ้าสัวคนใดคนหนึ่ง เสนอ ผลักดัน กม.การแข่งขันทางการค้าให้ฟังก์ชั่น ตั้งสหภาพแรงงานและเก็บภาษีทรัพย์สินมากขึ้น ฯลฯ
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
ขณะที่เรายังไม่มีเสรีภาพ แต่องค์กรสื่อรณรงค์ 'เสรีภาพบนความรับผิดชอบ' จะกลายกระบวนการเซ็นเซอร์สร้างสังคมที่ขาด ‘วิจารณญาณ’ หรือไม่? พร้อมสำรวจประเด็นการจำกัดเสรีภาพสื่อหลังรัฐประการ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97, 103 วิจารณ์ คสช.ก็ต้องโดยสุจริต การปิด PEACE TV และ ร่าง รธน. ฉบับใหม่
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
การนำพลเมืองขึ้นศาลทหาร ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช. เอง ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน เหลือศาลเดียวไม่เปิดโอกาสให้แก้มือ และที่สำคัญเป็นการนำคู่กรณีมาเป็นคนตัดสิน ขาดความเป็นอิสระ ทำลายหลักประกันความยุติธรรม
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
10 ข้อโต้แย้งข้อเสนอบอนไซด้วยอคติสัดส่วนหญิงชาย 50:50 ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ว่าหญิงจะปกป้องผู้หญิง และไม่ใช่ว่าชายจะไม่สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ