Skip to main content
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์


โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา

หลังจากทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ลุงอู๋ก็มุ่งเข้าประเด็น

"ขอบใจทุกคนที่มาประชุมนะ วันนี้มีเรื่องสำคัญมากจะมาแจ้งให้พวกเราได้รู้กัน...นั่นก็คือบริษัทแปรรูปผักผลไม้จะเข้ามาตั้งโรงงานในเขตหมู่บ้านเรา เขาจะรับซื้อผักผลไม้หลายชนิดจากพวกเราในราคาสูง ซึ่งก็จะทำให้เรามีรายได้มากขึ้น...ทีนี้พวกเราก็ไม่ต้องลำบากไปขายไกลๆ หรือถูกแม่ค้ากดราคาอีกแล้ว"


สิ้นประโยค ชาวบ้านก็พากันส่งเสียงฮือฮาหันมาคุยกันด้วยความตื่นเต้นดีใจพลางมองลุงอู๋อย่างชื่นชม แต่คนที่เริ่มหน้านิ่วคิ้วขมวดก็คือ บรรดาแม่ค้าผู้ที่ต้องซื้อผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้านไปขายต่อ


"...ดีแล้วๆ ที่พวกเราดีใจกัน เรื่องนี้มันเป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคนจริงๆ..." ลุงอู๋ ยิ้มอย่างปลาบปลื้ม

"แล้วโรงงานจะมาตั้งเมื่อไรล่ะผู้ใหญ่ ?" พี่แววร้องถาม

"...ก็นี่แหละ สาเหตุที่ฉันเรียกพวกเราให้มาประชุมกัน ปัญหามันก็คือว่า ทางบริษัทเขาต้องการที่ดินที่จะตั้งโรงงาน ประมาณสามสิบไร่ เพราะว่ามันมีทั้งส่วนที่ใช้แปรรูป ส่วนที่ใช้เก็บผลผลิตที่เขารับซื้อ แล้วก็ส่วนที่เก็บสินค้าของเขา แ่ต่ไอ้ที่ดินแปลงใหญ่ขนาดนั้น คนบ้านเรามันไม่มีใครมีกันหรอก...แล้วถ้าเราไม่สามารถหาให้เขาได้ เขาก็อาจจะต้องย้ายไปตั้งที่ตำบลอื่นที่ห่างออกไป หรือไม่ก็...อำเภออื่นไปเลย ซึ่งมันก็จะทำให้พวกเราเสียโอกาสดีๆ ไป..."


ผู้ใหญ่อู๋ อธิบายอย่างมีเหตุผล ลูกบ้านพยักหน้างึกๆ งักๆ เห็นด้วย

"แล้วเราจะทำยังไงล่ะผู้ใหญ่?" น้าเปรี้ยวนั่งแถวหน้าโพล่งถาม

"มันก็หมายความว่า...ถ้าพวกเราอยากให้โรงงานเข้ามาตั้งในหมู่บ้าน เราก็ต้องเสียสละร่วมกัน ด้้วยการ เอ่อ..."


ผู้ใหญ่เงียบไปอีกรอบ เหมือนไม่ค่อยอยากพูดเท่าไร

"วิธีอะไรล่ะลุง...พูดให้จบสิ อย่าทำค้างๆ คาๆ" เจ้าปุ้ยวัยรุ่นใจร้อน เร่งให้พูดต่อ

"เราก็ต้องตัดใจขายที่ดินคนละซักไม่กี่ไร่ แต่พอรวมๆ กันแล้ว ให้ได้สักสามสิบไร่เป็นผืนเดียวติดกันไปนั่นแหละ..." ผู้ใหญ่พูดจบก็ถอนหายใจพรืดใหญ่

สิ้นประโยค ชาวบ้านทุกคนก็ส่งเสียงฮือฮา หันไปคุยกันด้วยความตกใจ พลางมองลุงอู๋เหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน


ผู้ใหญ่อู๋ กลืนน้ำลายเอื้อกใหญ่ หันไปกระซิบถามตายิ่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะคุยต่อดีมั้ย

"อย่าเพิ่งกลัวไปสิผู้ใหญ่...ลองคุยดูก่อน ของพรรค์นี้มันเปลี่ยนใจกันได้" ตายิ่งกระซิบ

"อ่า...แปลงที่นาพวกเรามันก็อยู่ติดๆ กันไม่ใช่รึ แบ่งๆ กันแค่คนละไม่กี่ไร่ก็ได้แล้ว" ผู้ใหญ่หันกลับมาพูด

"ไม่ได้หรอกผู้ใหญ่...ไร่สองไร่สามไร่ก็ยังพอว่า นี่จะเอาตั้งสามสิบไร่ มันจะไปแบ่งกันอย่างผู้ใหญ่ว่าได้ยังไง ถ้าจะเอาขนาดนั้น มันต้องมีคนขายที่ทั้งหมดอย่างน้อยก็สองคนละ เอ้า" เจ้าหนุ่ย มือขับรถไถประำจำหมู่บ้านลุกขึ้นโต้

"แล้วอย่างฉันมีแค่ห้าไร่ ถ้าแบ่งขายไปสองสามไร่ ฉันจะพอทำกินรึ?" ป้าแป้นลุกขึ้นถามบ้าง

"อ่า..." ลุงอู๋พยายามจะหาคำตอบ

"แล้วถ้าเขาสร้างโรงงานเขาก็ต้องถมที่น่ะสิ...แล้วถ้าพวกเขาถมที่กัน เราจะยังทำนาได้อยู่รึ? รถสิบล้อมันไม่ต้องวิ่งผ่านที่นาเราด้วยรึ?" ลุงน้อยถามบ้าง

"ก็..."

"แล้วถ้าตั้งโรงงาน เขาจะทิ้งน้ำเสียลงที่ไหนล่ะ?...ลงนาเราหรือเปล่า?...หรือลงคลองส่งน้ำ?"

"อืม...เอ่อ..."


ผู้ใหญ่อู๋ชักจะมึนกับคำถามที่มากขึ้นทุกที แต่ละคำถามแกก็ไม่ได้เตรียมคำตอบมาเสียด้วย

"เดี๋ยวก่อนๆ นะพวกเรา...คืออย่างนี้ จากที่ฉันรู้มาคือเขาจะให้ราคาสูงเลยแหละ ยิ่งใครขายทั้งแปลงก็ยิ่งให้ราคาสูงเป็นพิเศษ ถ้าใครสนใจจะขายก็มาบอกฉันไว้ก็แล้วกัน ฉันจะจดชื่อไว้ แล้วพอเดือนหน้า คนจากบริษัทเขาจะมาคุยกับพวกที่จะขายอีกที ใครสงสัยอะไรก็เก็บไว้ถามเขาก็แล้วกันนะ"

ผู้ใหญ่พูดตัดบท แล้วก็ส่งไมค์ให้ผู้ช่วยฯ

"ฉันมีธุระต้องรีบไป เดี๋ยวผู้ช่วยช่วยชี้แจงต่อก็แล้วกัน" ผู้ใหญ่ว่า แล้วก็หันไปโบกมือลาชาวบ้านก่อนจะเดินตรงไปที่รถมอเตอร์ไซค์ของแกที่อยู่ข้างศาลา

ตายิ่งหันซ้ายหันขวา ชาวบ้านต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์เสียงดังขรม บางคนก็จ้องมองแกเขม็งราวกับหวังว่า แกจะพูดอะไรสักอย่างที่น่าจะทำให้พวกเขาหัวเราะได้

"ตกลงมาตั้งโรงงานนี่...พวกเราได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ?" เจ้าหนุ่ย ตั้งคำถามเสียงเครียด

"จริงสิ...จริงแท้แน่นอน" ตายิ่งยืนยันหนักแน่น แม้ว่าหัวสมองกำัลังทำงานหนักเพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์

"แล้วถ้าเขาไม่ได้มาตั้งในเขตหมู่บ้านเรา เราจะยังได้ประโยชน์หรือเปล่าล่ะ?" เจ้าหนุ่ยรุกไล่

"ได้สิ...ได้ ถึงยังไงพวกเราก็ต้องได้ประโยชน์แน่นอน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะต้อนรับเขาแค่ไหน" ตายิ่งพยายามเปิดประเด็นใหม่

"หมายความว่ายังไงลุง? พวกเขาไม่ใ่ช่โจรผู้ร้ายมาจากไหน แล้วยังจะเอาเงินมาให้พวกเราไม่ใช่หรือ ทำไมเราจะไม่ต้อนรับพวกเขาล่ะ?" น้าเปรี้ยวขมวดคิ้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์เงียบสนิท ทุกคนหันมามองตายิ่ง


ตาิยิ่งหัวเราะหึๆ อาศัยความเก๋า แกก็สามารถเบี่ยงเบนประเด็นได้สำเร็จ

"ไอ้ที่ฉันว่าต้อนรับเขา มันไม่ได้หมายถึง มานั่งคุย เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ แต่ฉันหมายถึงว่า เราต้องทำให้เขาเชื่อมั่น ทำให้เขามั่นใจว่า ถ้าเขามาลงทุนตั้งโรงงานที่หมู่บ้านเรา เขาจะไม่ถูกต่อต้าน แล้วเขาก็จะสามารถสร้างโรงงานจนสำเร็จได้ ไอ้ตรงนี้เขาเรียกว่า เอ่อ..."

ตาิยิ่งเว้นจังหวะ พอเห็นชาวบ้านกำลังรอฟังแกพูด แกก็เน้นย้ำทันที

"เขาเรียกว่า...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน...พวกเราต้องจำไว้ให้ดี ถ้าเราอยากจะร่ำรวย อยากกินดีอยู่ดีมีเงินมากกว่านี้ เราต้องทำให้พวกเขาเชื่อมั่น แล้วเขาก็จะเอาเงินมาให้พวกเรา...ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก...อ่า...เอาละ วันนี้ประชุมแค่นี้ก็แล้วกัน ขอบใจทุกคนมากนะ"

 

เมื่อเสร็จการประชุม ชาวบ้านต่างพากันแยกย้ายกลับบ้าน ที่ยังนั่งคุยกันอยู่ก็มีหลายคน

"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" น้าเป้า ท่องทวนคำซ้ำไปซ้ำมา

"ทำไมล่ะน้า? สงสัยที่ตายิ่งแกพูดรึ?" เจ้าปุ้ยหันมาถาม น้าเป้า พยักหน้าหงึกๆ บอกว่า ทำนองนั้นแหละ

"แหม...ไอ้คำนี้ฉันก็เคยได้ยินในทีวี พวกรัฐบาล นายกฯ กับพวกนักการเมืองเขาชอบพูดกันว่า ถ้าเราอยากจะมีเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ เราต้องทำให้นักลงทุนต่างชาติเขาเชื่อมั่น...ก็พูดแบบเดียวกับตายิ่งนี่แหละ ใครได้พูดแล้วมันดูโก้ดีนะ" เจ้าปุ้ยแสดงความเห็น


"ข้าสงสัยอยู่อย่างเดียว" น้าเป้าขมวดคิ้วตามประสาคนช่างคิด "ถ้าไอ้พวกนักลงทุนมันเกิดไม่เชื่อมั่นขึ้นมา...แล้วพวกเราจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า?"

เจ้าปุ้ยได้ฟังแล้วหัวเราะก๊าก พลางส่ายหัว

"ไอ้พวกเราน่ะไม่มีปัญหาอยู่แล้วล่ะลุง ทำมาหากินอยู่กันมาตั้งนมนานแล้ว ส่วนไอ้พวกบริษัทมันก็ไม่เป็นไรหรอก ที่ทางเยอะแยะไม่ได้ที่เราเดี๋ยวมันก็ไปหาที่อื่น"

 

"แต่ไอ้ที่จะแย่น่ะคือ ลุงผู้ใหญ่กับลุงผู้ช่วย ไปรับปากพวกมัน หรือไปรับกะตังค์พวกมันมาเท่าไรก็ไม่รู้"

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก