Skip to main content

ในขณะที่ผู้คนที่มาดูต้นไม้ ต่างตื่นเต้นกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ใหญ่ที่สุดที่นี่คือต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปูที่สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา เป็นสนามกอล์ฟเก่า เขาเล่ากันว่าต้นไม้นี้มีอายุมากกว่าร้อยปี ส่วนสูง 15 เมตร ผ่านการประกวดต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับรางวัลของเทศบาลมาแล้ว

บางคนบอกว่า น้ำตาแทบไหลเมื่อเห็นต้นไม้ต้นนี้ บางคนยกมือไหว้                    

วันนี้มีนักวิชาการเดินทางมาด้วย เขาบอกว่า"อย่าตื่นเต้นยินดีกับไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว เพราะเป็นเพียงเศษเสี้ยวร่องรอยที่ฝรั่งทิ้งไว้"

บางคนยิ้มบางคนหัวเราะขำ
ฉันเป็นคนที่อื่นที่เดินทางมาอยู่ที่นี่ แต่เคยได้ยินใครต่อใครพูดหลายครั้งว่า ไม้ที่เมืองเหนือหมดไปเพราะฝรั่ง บริษัทฝรั่งเข้ามาทำไม้
ได้ยินได้ฟังมาอย่างนั้นจริง ๆ แต่ก็มีบางคนบอกว่า ไม่ได้หมดไปเพราะฝรั่งเพราะถ้าเจ้าของบ้านรักบ้านรักเมืองจริง ๆ ใครก็มาทำลายไม่ได้

เช้านี้ฉันได้ยินการพูดคุยทำนองนี้อีกครั้ง เพราะได้รับการเชิญชวนจากพวกน้อง ๆ ที่จัดงานทัวร์ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ การเดินทางครั้งนี้มากับทีมจักรยาน

ฉันบอกเพื่อนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ว่า  "คิดดูก็น่าตลก ใครจะคิดว่ายุคหนึ่งลูกหลานของคนในประเทศที่มีป่าไม้หนาแน่นที่สุดจะต้องเที่ยวตามดูต้นไม้ใหญ่  และเทศบาลนครเชียงใหม่จัดประกวดต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงการมีต้นไม้ใหญ่ การมีพื้นที่สีเขียวเพื่อเมืองเชียงใหม่  แล้วต่อไปรุ่นหลังจากเราอาจจะต้องตามดูสายน้ำ ไปดูว่ามีสายน้ำที่ไหนบ้าง เพราะสายน้ำที่สวย ๆ และสะอาดหายไปแล้ว น่าตลกไหม"

เพื่อนที่มาจากเมืองหลวงเพื่อทำข่าวเรื่องนี้บอกว่า
"ใช่ ไม่น่าเชื่อว่า เราจะมาตามดูต้นไม้เพราะต้นไม้กลายเป็นของหายาก แต่ไม่ตลกหรอก น่าเศร้ามากกว่า แต่ก็น่ายินดีอยู่บ้างที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งตระหนักถึงเรื่องนี้ แม้ว่าจะดูสวนทางกับนโยบายการพัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยว

มีผู้ถามว่าทำอย่างไรกับกิ่งไม้ที่จะหักลงมา ผู้ชายคนหนึ่งตอบว่า "ต้องคอยดูแลตัดแต่งกิ่ง อย่างกิ่งไม้ใหญ่เราต้องตัดกิ่งข้างในออกไปบ้าง เพราะกิ่งข้างในไมได้รับแสงมันจะผุ" (แต่คนตอบไม่ได้มีหน้าที่นั่นเขาเพียงแต่เสนอแนวคิดเท่านั้น)

ดูต้นไม้ใหญ่แล้ว เราเดินทางตามเส้นทางถนนสายต้นยางไปลำพูนกับจักรยานโดยชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม่

ฝนตกปรอย ๆ ไปตลอดทางแวะดูต้นยางไปเรื่อย ๆ สังเกตเห็นว่า ต้นยางในช่วงเมืองเชียงใหม่ ไม่ค่อยจะมีใบ มีแต่ต้นสูงชะลูด

เหตุที่ต้นยางไม่สมบูรณ์เพราะว่า ต้นยางไม่เป็นที่ต้องการของหลาย ๆ คน จึงมีความพยายามที่จะทำต้นยางให้ตาย และต้นยางก็ตายไปหลายต้นแล้วด้วย วิธีทำให้ต้นยางตายก็คือ การเอาปูนไปถมบริเวณโคนไม่ไห้น้ำซึมเข้าไป และการตัดใบให้เกรียน แล้วมันก็จะค่อย ๆ ตายไปเอง

ท่านหนึ่งกล่าวว่า "เพราะเราไปรังแกต้นยาง เราไปทำร้ายต้นไม้ เมื่อต้นอ่อนแอกิ่งก็หักร่วงลงมา"

มีผู้เสนอวิธีการดูแลต้นยางอยู่หลายอย่าง เช่นการทำตะแกรงด้านบนเพื่อให้ไม้ที่หักลงมาติดอยู่ในตะแกรง และมีการจัดงบพิเศษสำหรับดูแลต้นยาง มีการปลูกเพิ่มเมื่อต้นยางตายไป ซึ่งก็มีการปลูกเพิ่มอยู่บ้างเหมือนกันในบางแห่ง เช่นปลูกต้นสักและต้นยางเพิ่ม

ต้องยอมรับว่าพื้นที่ในเมืองทุกแห่ง กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำมาค้าขายแม้แต่ทางเท้า พื้นที่สำหรับต้นไม้นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แม้ว่าในทุกครั้งเราจะวิ่งเข้าไปหาต้นไม้เพื่อหลบร้อนหลบแดดก็ตาม

มีชาวบ้านที่อยู่ใกล้ต้นยางใหญ่บนถนนพูดคุยกับเราว่า ปัญหาคือไม่มีผู้มาดูแลจริง บางต้นที่กำลังจะตายหรือที่กำลังจะล้มก็ต้องจัดการไปอย่างถูกวิธี  ถ้าคนอยู่ใกล้ ๆ ไม่เดือดร้อนใครก็คงไม่รังเกียจต้นยาง คนที่ได้อยู่ใกล้ ๆ ไมได้สัญจรไปมาทุกวันนาน ๆ มาทีก็จะเห็นว่าสวย แต่คนที่อยู่ทุกวันก็จะเห็นต่างออกไป มันมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้วย

นี้เป็นเรื่องของต้นยางบนถนนสายสารภีลำพูน ถนนสายประวัติศาสตร์ที่มีต้นไม้ใหญ่ อย่างไรก็ตามในการทัวร์ไม้ใหญ่ครั้งนี้ พบว่าในเมืองเชียงใหม่ยังมีต้นไม้ใหญ่อยู่จำนวนมากที่รอการดูแลอยู่

ฉันได้ยินนักอนุรักษ์ท่านหนึ่งเสนอว่า น่าจะมีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ เพราะต้นไม้ถูกตัดไปหนึ่งต้นนั้นไม่ได้ส่งผลต่อผู้ตัดหรือเจ้าของพื้นที่ที่ต้นไม้อยู่เท่านั้นแต่ส่งผลถึงคนอื่น ๆ โดยทั่วไปด้วย เพราะเราใช้ประโยชน์จากต้นไม้ร่วมกัน เช่นได้อากาศหายใจไปด้วยกัน  เพราะเราใช้ต้นไม้ช่วยต้านหมอกควันช่วยให้เราตายช้าลงด้วยกัน

บทความนี้ เขียนจากการไปร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานทัวร์ไม้ใหญ่ เป็นงานหนึ่งในงาน โฮะโซะ หรือโครงการศิลปวัฒนธรรมในความร่วมมือเพื่อเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5-7 มิถุนายน  2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่หลายอย่าง สนับสนุนการจัดกิจกรรมโดย เทศบาลนครเชียงใหม่ สสส. และบริติช เคานซิล  (โฮะโซะ เป็นภาษาเหนือหมายความว่าเอามารวมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน)

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
บทความที่พยายามนำพาผู้อ่านฝ่าม่านมายาคติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยการป้องกันไฟป่าสู่รูปแบบการจัดการแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้วยการ"ชิงเผา"  
แพร จารุ
บน ฟ้า มี เมฆ ลอย บน ดอย มี เมฆ บัง มี สาว งาม ชื่อ ดัง อยู่ หลัง แดน ดง ป่า     เนื้อเพลงมิดะค่ะ สองบรรทัด....เพราะเหลือเกิน และเข้าไปอยู่ในหัวใจใครต่อใครได้ไม่ยาก บนฟ้ามีเมฆลอยบนดอยมีเมฆบัง ฟังเพียงแค่นี้ก็จินตนาการได้กว้างไกล หัวใจก็ลอยไปถึงไหน ๆ แล้ว  
แพร จารุ
 ฉันเชื่อว่า หากคนเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทุกอย่างก็จะดีได้ไปกว่าครึ่ง บางคนบอกว่า ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เช่น เรื่องทัศนคติที่มีต่อคนอื่น และตัดสินอย่างช้า ๆ   สามีของฉันบอกว่า จงรวดเร็วในการฟัง แต่จงเชื่องช้าในการตอบ คือให้ความสำคัญในการฟังมากๆ ก่อนจะตอบจึงจะดี จริงของเขาเพราะเดี๋ยวนี้มีแต่คนพูดและพูด แต่ไม่ค่อยฟังคนอื่น ฉันเอาเรื่องนี้มาเขียนเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากไปสังเกตการณ์เขาพูดคุยทบทวนประสบการณ์การทำงานกันของโครงการ (CHAMPION/MSM) และสมาคมฟ้าสีรุ้ง    
แพร จารุ
  1   เหมือนเมืองบาป ฉันบอกเพื่อน ๆ จากเมืองกรุงว่า มาเชียงใหม่ อย่าลืมไปกินข้าวที่สุดสะแนนนะ อาหารหลายอย่างอร่อย และพบใครๆ ที่สุดสะแนนได้ไม่ยาก นักเขียน นักข่าว นักดนตรี นักร้อง ศิลปินวาดภาพ งานปั้น และคนที่ยังไม่มีงานทำและไม่อยากทำงานอะไรเลย
แพร จารุ
เก็บดอกไม้สีขาวแล้วไปฟังดนตรีกันค่ะ ใครมาเชียงใหม่ช่วงนี้ มีดอกไม้สีขาวบานรับ เช่น ดอกปีบ มองขึ้นไปออกดอกพราวเต็มต้น สวยงาม หอม ชวนเด็ก ๆ ไปเก็บดอกปีบที่ร่วงอยู่ตามพื้นมาร้อยมาลัยเล่น ปีบเป็นต้นไม้ที่ทนความแห้งแล้งได้ดียิ่ง เรียกว่าแทบไม่ต้องดูแลกันเลยทีเดียว ต้นไม้แกร่งแต่ให้ดอกขาวสวยบอบบางและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เดินไปที่ไหนทั่วเชียงใหม่ก็พบดอกปีบได้ไม่ยากค่ะ คราวนี้ ก็มาถึงฟังดนตรีค่ะ ดนตรีในเมืองเชียงใหม่ก็มีฟังทุกแห่งเหมือนกันค่ะ เรียกว่าหาฟังกันไม่ยาก เพราะนักดนตรีในเมืองเชียงใหม่มีเยอะ ไม่ต้องจ่ายเงินก็ฟังได้ เรียกว่ามีดนตรีฟรีอยู่ทั่วไป…
แพร จารุ
    อย่าเชื่อว่าผู้คนต้องการความร่ำรวยมากกว่าอย่ในบ้านของตัวเองอย่างเป็นสุข แต่ขออภัยก่อนฉันมัวแต่ปลูกต้นไม้ หน้าบ้านของฉันเป็นผืนดินที่มีต้นไม้หนาแน่น เมื่อที่ดินถูกเปลี่ยนมือเป็นของธนาคารกสิกรไทย มันถูกไถจนหมดสิ้นภายในวันเดียว ฉันจึงเริ่มปลูกต้นไม้ใหม่เป็นรั้วแทนกำแพงบ้านอีกชั้นหนึ่ง เพื่อหวังว่ามันจะช่วยให้คลายร้อนได้บ้าง
แพร จารุ
    เปิดเมล์พบข้อความนี้ถูกส่งเข้ามา *** หนูเป็นคนกรุงเทพฯ เคยมีแฟนเป็นหนุ่มกลายสมัยที่เรียนด้วยกัน เขาเคยชวนไปเที่ยวบ้านกลาย หนูอ่านเรื่องบ้านกลายที่พี่เขียนในประชาไท รู้สึกเดือดร้อนแม้ว่าหนูจะไม่ไปที่นั่นแล้ว เพราะหนุ่มกลาย คนที่หนูรักไม่น่ารัก ไม่ดี แต่ทะเลกลายดีสวยงาม อาหารทะเลมีมาก คนอื่น ๆ ที่กลายที่หนูรู้จักก็ดีค่ะ เขาดีกับหนูมาก คนใจดี หนูจึงอยาจะร่วมปกป้องด้วย หนูอ่านพบเรื่อง SSB และลองเขียนสรุปมาให้พี่ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือในชื่อเต็มว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard : SSB)…
แพร จารุ
  งานชั้นนี้ “แพรจารุ” ไม่ได้เขียนเองค่ะ เป็นของคุณวิชัย จันทวาโร ถือโอกาสเอามาลงที่นี่ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงเผยแพร่ให้ผู้อ่านรู้จักทะเลกลาย ทะเลไทย ที่กำลังถูกมือร้ายอย่างเซฟรอนบริษัทขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติทำลาย ภายใต้นโยบายของรัฐไทย ***************
แพร จารุ
  บ้านกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 30 สิงหาคม 2553              คุณหญิงที่รัก  
แพร จารุ
โลกนี้คนชั่วมากเหลือเกิน และบรรดาคนชั่ว ๆ ก็ล้วนเป็นผู้มีอำนาจ พวกเขามีอำนาจที่จะอนุมัติโครงการใหญ่ ๆ ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งอาหารที่คนพอจะทำมาหากินได้ พวก เขาขุดภูเขา ถมทะเล โดยไม่สนใจว่าเจ้าของเขาอยู่กันอย่างไร ต่อไปกะปิอร่อยๆ ที่ฉันเอามาฝากคุณก็จะไม่มีแล้ว เพราะที่บ้านฉันจะมี เซฟรอน คุณรู้ไหมมันคืออะไร คือบริษัทยักษ์ใหญ่ของต่างชาติ ที่เข้ามาถมทะเลสร้างท่าเรือ เพื่อขุดเจาะหาพลังงานไปขาย โดยไม่สนใจว่าเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ป้าของฉัน แกบอกว่า นอนไม่หลับมานานแล้ว แกกังวลว่าจะอยู่อย่างไร แม่ของฉันอายุเก้าสิบปี ฉันไม่กลับบ้านมาสองปี แม่เก็บกระดาษไว้ให้ฉันสามแผ่น…