Skip to main content
 

หลังจากเขียนบทความ ในหัวข้อโลกยุคหลังอุตสาหกรรม กับสภาวะข้อมูลท่วมโลก เสร็จเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ได้เกิดหนึ่งคำถามขึ้นกับข้าพเจ้า นั่นคือ หากมนุษย์ต้องดิ้นรน เพื่ออยู่รอดบนโลกใบนี้ ในยุคที่คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร โถมกระหน่ำใส่ประชาคมโลกอย่างรุนแรง และได้ทำให้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทิศทางที่ยากจะคาดเดา มากขึ้นทุกที เราต้องทำอย่างไรบ้าง

ในทัศนะของข้าพเจ้า ผู้ที่สามารถโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร พาตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดคลื่น และเป็นผู้กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง คือ ผู้ที่สามารถอยู่รอด และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อบทความในตอนนี้และตอนถัดไป

ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วย การกำหนดความหมายของคำว่า “การอยู่รอด” พร้อมกับการกำหนดตัวแปรสำคัญ ที่จำเป็นต่อการตีกรอบการวิเคราะห์ ในทัศนะของข้าพเจ้า ดังนี้

การอยู่รอด ในที่นี้ หมายถึง การที่มนุษย์เรา ไม่ปล่อยให้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร และกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ผลักไสทิศทางการดำเนินชีวิต โดยปราศจากการควบคุมตนเอง หากแต่มนุษย์ ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากคลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร ต้องตระหนักถึงทิศทางแห่งการเปลี่ยนแปลง และต้องเป็นผู้กำหนดวิถีการดำเนินชีวิต อย่างมีสติ ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ มนุษย์ทุกคนมีเวลาในแต่ละวันเท่ากัน และดูเหมือนว่าทุกอย่างรอบตัวเรา มีแต่จะหมุนหรือเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกที ดังนั้นเวลาจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดของมนุษย์ ที่จะต้องนำมันมาบริหาร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชีวิต

อีกทั้งในปัจจุบัน เราไม่สามารถผลิตทุกสิ่ง ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ได้ด้วยตนเอง การได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น จำเป็นต้องใช้การซื้อหาเป็นหลัก ดังนั้นการสร้างและบริหารจัดการกับรายได้ที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ดังนั้น “เวลา” และ “รายได้” สองสิ่งที่ทวีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที คือ สองตัวแปรที่ข้าพเจ้าเห็นว่า จำเป็นต้องนำมาประกอบการวิเคราะห์ เพื่อทำให้กรอบการวิเคราะห์สมบูรณ์

จากการกำหนดข้างต้น รายละเอียดของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ซึ่งเปรียบได้กับกระดานโต้คลื่นฯ พร้อมทั้งประเภทของความรู้และความสามารถ ซึ่งเปรียบได้กับทักษะในการโต้คลื่น ซึ่งเป็นสองสิ่งที่นักโต้คลื่นทุกคนต้องมี และใช้เพื่อการอยู่รอดในยุคปัจจุบัน ในทัศนะของข้าพเจ้า มีดังต่อไปนี้

กระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร (กระดานโต้คลื่นฯ) คือ

อุปกรณ์ด้าน ICT ที่มนุษย์ใช้เพื่อใช้จัดการกับข้อมูลรอบตัว ที่อยู่ในหลากหลายรูปแบบ และเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกที โดยอุปกรณ์ดังกล่าวช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าถึง ประมวลผล แบ่งปัน บริหาร จัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลรอบตัว ได้ทุกเวลาที่ต้องการ เพื่อประโยชน์ในการแสวงหารายได้ การศึกษาหาความรู้ การพักผ่อนและรับความบันเทิง หรือเพื่อใช้จัดการกับภาระในการดำเนินชีวิตต่างๆ”

อุปกรณ์ ICT ตามความหมายข้างต้น สามารถอยู่ในลักษณะหรือรูปแบบใดก็ได้ไม่จำกัด หากแต่ต้องมีคุณสมบัติต่างๆดังนี้

1. สามารถบริหารจัดการข้อมูล ในรูปแบบที่ต้องการได้

2. สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เนต

3. สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์

4. สามารถพกพาได้สะดวก

5. หน่วยประมวลผล หน่วยความจำ หน่วยจัดเก็บข้อมูล และจอภาพแสดงผล มีศักยภาพเพียงพอต่อความต้องการ

6. มีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการใช้งาน ที่เพียงพอ


เหตุผลสำคัญของการมีคุณสมบัติข้างต้น ของอุปกรณ์ ICT ที่ถือว่าเป็นกระดานโต้คลื่นฯ เนื่องจากปัจจุบัน ข้อมูลต่างๆถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบแตกต่างกันไป โดยแหล่งเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ถูกเชื่อมโยง หรือสามารถถูกเข้าถึงได้ผ่านอินเตอร์เนต อีกทั้งบริการต่างๆในยุคนี้ ทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจ ถูกสร้างและให้บริการอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เนต เพิ่มมากขึ้นทุกที ดังนั้นการที่อุปกรณ์ดังกล่าว มีคุณสมบัติข้อที่ 1 และ 2 จึงสอดคล้องกับความจริงในส่วนนี้ เพื่อทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ จากข้อมูลและบริการจำนวนมหาศาลต่างๆได้

เหตุผลประการถัดมา นั่นคือ อุปกรณ์ดังกล่าวจักต้อง ต้องส่งเสริมให้มนุษย์สามารถนำมันไปใช้งาน ได้ทุกที่ทุกเวลา นั่นคือ อุปกรณ์ดังกล่าวต้องง่ายต่อการใช้งาน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการถูกนำไปใช้งาน และสอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานส่วนบุคคล ซึ่งคุณสมบัติข้อที่ 4 5 และ 6 นั้น สะท้อนภาพความจำเป็นดังกล่าว

เหตุผลประการสุดท้าย เนื่องจากในปัจจุบันเครือข่ายอินเตอร์เนตและเครือข่ายโทรศัพท์ คือสองเครือข่ายสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงมนุษย์เกือบทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งในแง่ของอำนาจการเชื่อมต่อที่ครอบคลุม และในเรื่องของรูปแบบการสื่อสารที่ครบครัน ดังนั้นการที่มนุษย์สามารถต่อเชื่อมได้กับทั้งสองเครือข่าย ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล และนี่จึงเป็นเหตุผลที่อุปกรณ์ที่จะถูกใช้เป็นกระดานโต้คลื่นฯ จึงควรมีคุณสมบัติข้อที่ 3 ด้วยนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ด้วยความต้องการและความจำเป็น ในการใช้งานข้อมูลที่มีความแตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล ทั้งในเรื่องของประเภทและรูปแบบของข้อมูล จึงเป็นความจำเป็นที่ผู้ที่ต้องการโต้คลื่นฯ ต้องพิจารณากระดานโต้คลื่นฯ โดยนำกรอบแห่งคุณลักษณะต่างๆที่ข้าพเจ้าให้ไว้ข้างต้น มาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น บวกกับความเข้าใจรูปแบบการใช้งาน และรูปแบบการใช้ชีวิตของตน เพื่อให้ได้มาซึ่งกระดานโต้คลื่นฯที่มีคุณลักษณะเฉพาะเหมาะสมกับตัวเอง

แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียวใดๆ ที่รวบรวมคุณสมบัติทั้งหมดข้างต้น ได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้ เหตุผลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการเลือกซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นกระดานโต้คลื่นฯ จึงมีความสำคัญมาก

และเพื่อให้แต่ละบุคคล สามารถตัดสินใจซื้อหาและครอบครองอุปกรณ์ ICT ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งกระดานโต้คลื่นฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมกับตน ชุดคำถามต่อไปนี้ จึงควรถูกนำมาใช้เป็นคำถามนำ

1. อุปกรณ์ใดบ้าง ทำให้เราได้มาซึ่งคุณสมบัติ 6 ประการข้างต้นครบถ้วนไหม

2. เราสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์นั้นอย่างไร โดยให้ความสำคัญจากมากไปน้อยดังนี้

    - เพื่อการศึกษาหาความรู้

    - เพื่อแสวงหารายได้

    - เพื่อจัดการภาระการดำเนินชีวิต

    - เพื่อความบันเทิงและการพักผ่อน

3. อุปกรณ์ที่ต้องการซ้ำซ้อนกับที่เรามีอยู่แล้วไหม แล้วที่มีอยู่หมดสภาพการใช้งานหรือยัง


จากนั้น ก็ให้นำตัวแปรสำคัญสองตัว อันได้แก่ “เวลา” และ “รายได้” มาช่วยกลั่นกรองคำตอบจากชุดคำถามข้างต้น โดย

ในบริบทของ “เวลา” จงพึงระลึกว่า ตลาดเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านประสิทธิภาพ มาตรฐาน และราคา ดังนั้นการเลือกซื้ออย่างถูกเวลา และมุ่งไปที่การใช้งานระยะสั้น น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ได้มาซึ่งอุปกรณ์ที่ต้องการ ในราคาและคุณภาพที่ดีที่สุด

ในบริบทของ “รายได้” เนื่องจากชีวิตเรามีรายได้จำกัด ข้าพเจ้าจึงเห็นว่ามุมมองที่ใช้ได้ดี ในการตัดสินใจซื้อ นั่นคือมุมมองแห่งการลงทุน หมายความว่า ให้ถือว่าการซื้ออุปกรณ์เหล่านี้เป็นการลงทุน ต้องมีการคำณวนให้เหมาะสมกับรายได้ และการซื้อนี้ต้องสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า โดยเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีความสามารถเพียงพอต่อการใช้งาน

นั่นหมายความว่า โดยการตอบคำถามสามข้อข้างต้น จะทำให้เรารู้ว่าอุปกรณ์ใดบ้าง ที่ถือว่าเป็นกระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของเรา จากนั้นขอให้เลือกอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่นการทำงาน แค่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ราคาย่อมเยา อายุการใช้งานเพียงแค่สองถึงสามปี เพื่อให้เราสามารถใช้งานอุปกรณ์นั้นๆ ได้อย่างคุ้มค่าการลงทุนในเวลาอันสั้น และเปิดโอกาสให้เราสามารถเลือกซื้ออุปกรณ์ใหม่ ที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าทดแทนในอนาคตอันใกล้

นั่นหมายความว่า

นักโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสารนั้น ต้องเริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกซื้อกระดานโต้คลื่นของตน ซึ่งแต่ละบุคคลต่างมีกระดานโต้คลื่นที่เหมาะสมกับตนเอง ไม่ใช่ว่าจะใช้กระดานโต้คลื่นแบบไหนก็ได้ หัวใจสำคัญของการได้มา ซึ่งกระดานโต้คลื่นที่เหมาะสม คือการที่แต่ละบุคคลสามารถแยกแยะได้ว่า อุปกรณ์ใดที่มีจำเป็น และอุปกรณ์ใดเป็นเพียงแค่สิ่งที่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้สามารถเลือกซื้อและใช้งานกระดานโต้คลื่นของตนได้อย่างฉลาดและคุ้มค่า

เอ...แล้ว

เราจะใช้กระดานโต้คลื่นของเราอย่างไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ความรู้และความสามารถประเภทไหนและอะไรบ้าง ที่ถือได้ว่าเป็นทักษะที่จำเป็นในการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร

โปรดติดตามได้ในบทความถัดไป

บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
น้ำมาถึงไหนแล้วหว่า...บ้านฉันน้ำจะท่วมมั้ยเนี่ย...จะหาข้อมูลที่จำเป็นได้จากที่ไหนบ้างหว่า...เวลาเดือดร้อนจะต้องแจ้งใคร...ทำไมโทรไป 1111 กด 5 แล้วถามอะไรไปก็ตอบไม่ได้... ........ใครก็ได้ช่วยบอกทีเหอะว่าฉันกับครอบครัวต้องทำยังไงบ้าง.......ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอะไรๆก็ไม่มี ที่มีก็ไม่รู้จะเชื่อได้มากขนาดไหน เชื่อได้รึเปล่า.........
SenseMaker
ขอสวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงอวยพรให้ทุกท่าน สุขกาย สบายใจมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ และมีสติในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ
SenseMaker
  จากที่สัญญาว่าในบทความนี้ ข้าพเจ้าจะมาต่อยอดบทความจากครั้งที่แล้วในหัวข้อ “ความร่ำรวยข้อมูล” ด้วยการวิเคราะห์ความจำเป็น ที่เราจักต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนประกอบสำคัญ อันได้แก่ ความอุดมทางด้านข้อมูล ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล และมุมมองที่มีในการวางแผนโครงสร้างข้อมูลบนเว็บ ไปพร้อมๆกัน เพื่อทำให้ทุกท่านเข้าใจประเด็นดังกล่าวนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
SenseMaker
เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถส่งบทความเข้ามาได้ตามกำหนด โดยคราวนี้ทิ้งระยะไปนานมาก จนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อผู้อ่านและผู้บริหาร blogazine เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
SenseMaker
ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วในหัวข้อ ความเป็นส่วนตัวของคุณราคาเท่าไหร่ ข้าพเจ้าอยากชวนท่านผู้อ่านคิดต่อไปอีกนิดว่า ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่ท่านเปิดเผยไว้บนพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network sites) ต่างๆ เช่น Facebook และ MySpace จะไม่ทำให้ท่านสูญเสียอะไร หรือเสียใจในอนาคต
SenseMaker
จากบทความที่แล้วในหัวข้อ การจัดระเบียบโลกใหม่ การเมืองไทย และICT ข้าพเจ้าได้ชี้ให้เห็นว่า เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ICT ในปัจจุบัน ทำให้ความสามารถของมนุษย์ ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหากอาศัยเพียงประสาทสัมผัสของมนุษย์ จะไม่สามารถเข้าถึงและจัดการได้ และความด้วยความก้าวหน้านี้ ทำให้มนุษย์สามารถเห็นและรับรู้ ในข้อมูลที่เคยยากที่จะเห็นและรับรู้ อีกทั้งยังทำให้เข้าใจในสิ่งที่เคยยากต่อการวิเคราะห์
SenseMaker
ความก้าวหน้าทาง ICT ในปัจจุบัน ช่วยให้เราๆท่านๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ซึ่งยากที่จะเข้าถึงในอดีต ได้ง่ายขึ้น เช่น ข้อมูลของบุคคลหรือข้อมูลขององค์กรที่เราสนใจ ข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เป็นต้น
SenseMaker
หลังจากบทความที่เรียกได้ว่า บทบรรณาธิการแรก ได้ชี้แจงเป้าหมายการดำรงอยู่ ของพื้นที่ทางความคิดแห่งนี้ บัดนี้เวลาล่วงเลยมาครึ่งปี โอกาสแห่งการพูดคุย กับท่านผู้อ่านอีกครั้ง ก็มาถึงทุกๆ12 บทความ ที่ได้ทำหน้าที่ของมันผ่านพ้นไป ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ผู้เขียนกับผู้อ่านจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นประโยชน์กับทุกๆคน อย่างแท้จริงในทัศนะของข้าพเจ้าแล้ว ICT เข้ามามีบทบาท ต่อชีวิตของเราทุกคน ในทุกวันนี้มากขึ้นทุกที แต่ละคนได้รับประโยชน์ ผลกระทบ และผลลัพธ์ ที่แตกต่างกันไป จากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ซึ่งมี ICT เป็นปัจจัยต้นเหตุ
SenseMaker
Peer Review อาจไม่ใช่คำในภาษาอังกฤษ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมคุ้นเคย แต่เป็นคำคุ้นเคยเป็นอย่างดีในสังคมนักวิชาการ อาจารย์ หรือ นักวิจัย เนื่องจากสังคมดังกล่าว มีวัฒนธรรมและกิจกรรมหลัก ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ด้วยการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม ผ่านการพัฒนาผลงานวิจัยใหม่ ซึ่งการยอมรับจากสมาชิกในสังคมเดียวกัน มีความสำคัญกับผลงานวิจัยแต่ละชิ้นมาก เนื่องจากไม่ว่าผลงานดังกล่าว จะมีคุณภาพในสายตาผู้พัฒนาเพียงใด แต่หากไม่ได้รับการตอบรับจากสมาชิกในสังคม ผลงานนั้นก็ถือได้ว่า ไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมมากนัก
SenseMaker
ในอดีต การเกิดขึ้นของสังคม มักจะถูกจำกัดด้วยเส้นขอบเขตของเวลาและสถานที่ การเป็นส่วนหนึ่งในสังคม เกิดจากการมีส่วนร่วมอยู่ในเวลาและสถานที่เดียวกัน เช่น การอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน การไปโรงเรียนหรือสถานศึกษาเดียวกัน การทำงานในบริษัทหรือสถานที่ทำงานเดียวกัน หรือ การอยู่ในกลุ่มทำกิจกรรมเดียวกัน เป็นต้นแต่ด้วยความก้าวหน้าของ ICT และการขยายตัวของอินเตอร์เนต ทำให้ในปัจจุบัน การมีและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ของเราแต่ละคน ไม่ถูกจำกัดโดยสองข้อจำกัดข้างต้น อีกต่อไป และทำให้ในปัจจุบันนั้น เราแต่ละคน มีและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นบนอินเตอร์เนต เพิ่มมากขึ้นๆทุกที
SenseMaker
  หลังจากหลายบทความในคอลัมน์แห่งนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่นับวันดูเหมือนว่า "เป็นการยากสำหรับประชาชน ที่จะทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเท่าทัน" บทความวันนี้ จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับกลไกทางสังคม ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่คุ้มกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือถูกกระทำ จากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้ โดยไม่อาจป้องกันตนเองได้อย่างเท่าทัน หากขาดไปซึ่งกลไกทางสังคมที่จะขอกล่าวถึงในวันนี้เรามาเริ่มทบทวนกันก่อนว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งถูกกล่าวถึงในคอลัมน์แห่งนี้…
SenseMaker
สุขสันต์ปีใหม่แด่ทุกท่าน ผู้ซึ่งให้เกียรติแวะเวียนเข้ามาอ่านบทความในคอลัมน์แห่งนี้ ทั้งขาประจำและขาจร ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงอำนวยอวยพรให้ทุกท่านมีความสุขกาย สบายใจ และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีสติ (และมีสตางค์ใช้อย่างพอเพียง) ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นปีใหม่ ด้วยอีกหนึ่งงานเขียนที่มุ่งสื่อสารให้ผู้คนในวงกว้าง ตระหนักถึงผลกระทบที่ ICT มีต่อการดำเนินชีวิตในทุกระดับ เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเท่าทัน อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้มันอย่างมีประโยชน์