Skip to main content

ต้องขอโทษท่านผู้อ่าน ที่ติดตามคอลัมน์กรองกระแส ICT ที่บทความสำหรับอาทิตย์นี้ต้องล่าช้าสักหน่อย เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ใคร่สบายเล็กน้อย ในช่วงวันเวลาที่จัดไว้สำหรับเขียนบทความ

ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าพยายามชี้ให้ทุกท่านเห็น ปรากฏการณ์ที่ว่า
ICT เป็นตัวแปรต้นที่สำคัญ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย ให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งในบริบทของผลกระทบจากภายนอกองค์กร ในรูปแบบของ การทำให้สภาพแวดล้อมในการแข่งขันเปลี่ยนแปลง และในบริบทของผลกระทบที่เกิดภายในองค์กร ในลักษณะของการทำให้ รูปแบบการทำงานและแนวการบริหารทรัพยากรองค์กร ต้องเปลี่ยนไป

บทความในวันนี้ เป็นหัวข้อซึ่งสืบเนื่องจากสัปดาห์ก่อน หากแต่ข้าพเจ้ามุ่งเน้นไปที่ แนวโน้มความนิยมแนวคิด การว่าจ้างแรงงานภายนอก หรือการ
Outsourcing ที่เพิ่มขึ้นขององค์กรต่างๆ เพื่อรับมือความกับความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลาย หากแต่ก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งในระดับองค์กรและในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจ

สาเหตุหลักของความนิยมแนวคิด
Outsourcing ขององค์กรต่างๆ มาจาก ความพยายามที่จะสร้างองค์กรของตน ให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างยืดหยุ่น รวมถึงให้มีความสามารถที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างเท่าทัน โดยมีความอยู่รอด เป็นเป้าหมายสูงสุด

วิถีการ
Outsourcing สะท้อนภาพความพยายามลดขนาดองค์กรลง เพื่อลดต้นทุนด้านการจ้างแรงงานถาวรเพิ่มเติม และสะท้อนภาพความพยายามแก้ปัญหา การไม่สามารถพัฒนาบุคลากรภายในองค์ ให้สามารถปฏิบัติงานซึ่งต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ทันตามความต้องการ

หนึ่งในตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ความนิยมการ
Outsourcing เพิ่มขึ้น คือสภาพความจำเป็นที่องค์กรต้องนำ ICT มาประยุกต์ใช้ ในการดำเนินการด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนี้ การที่เทคโนโลยี
ICT มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งเป็นผลผลักดันให้องค์กรต่างๆ มีแนวโน้มเลือกใช้การ Outsourcing เพิ่มขึ้น

เนื่องจาก การประยุกต์ใช้
ICT แต่ละประเภท ทำให้องค์กรมีความต้องการทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้อง กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้

นั่นหมายความว่า ในทุกครั้งที่ประสงค์นำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ องค์กรจำเป็นต้องดำเนินการ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อจัดหาบุคคลที่มีความสามารถสอดคล้องกับเทคโนโลยี มาทำงานให้กับองค์กร

และเมื่อวิเคราะห์จากมุมมองความคุ้มค่าในการลงทุน องค์กรต่างๆมักมองว่า การว่าจ้างแรงงานระยะสั้นจากภายนอก ที่มีความสามารถตามต้องการ หรือการ
Outsourcing มีความคุ้มค่ากว่า การพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายใน ให้มีความรู้และความสามารถ ในระดับที่องค์กรต้องการ เนื่องจากทางเลือกที่สอง มักถูกมองว่า เป็นทางเลือกที่ต้องใช้เวลาและใช้เงินลงทุน แต่ไม่อาจรับประกันความสำเร็จได้ว่า องค์กรจะได้บุคลากรที่มีความสามารถ ในระดับและได้ทันในเวลา ที่ต้องการ

การ
Outsourcing อาจเป็นแนวทาง ที่ช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความต้องการใช้งาน ICT ที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถรับมือกับทางเทคโนโลยี ICT ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แต่การ
Outsourcing จะเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆต่อไป หากแนวทางดังกล่าว มุ่งรับมือแค่เพียงอุปสรรคข้างต้น โดยไม่สนใจผลกระทบ ทั้งในระดับองค์กรและในระดับปัจเจกบุคคล อันเกิดจากการ Outsourcing

ผลกระทบในระดับองค์กรที่อาจเกิดขึ้น หากองค์กรใดขาดการวางแผนการ
Outsourcing อย่างรอบคอบ ก็คือ ความเสี่ยงต่อการสูญเสีย ความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร

ความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร หมายถึง ความรู้ ความสามารถ วิถีปฏิบัติ แนวความคิด รวมทั้งวัฒนธรรมและจิตวิญญาณองค์กร ที่ทำให้องค์กรยังคงสามารถแข่งขันได้ในตลาด หรือทำให้องค์กรมีความได้เปรียบในการแข่งขัน

หากองค์กรทำการ
Outsourcing การดำเนินงาน ที่ถือว่ามีความสำคัญ หรือมีคุณค่าต่อองค์กรออกไป องค์กรนั้นมีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย ความรู้ ความสามารถ และวิถีปฏิบัติ ที่สำคัญและจำเป็นต่อการแข่งขันในตลาด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร

หากองค์กรใช้การ
Outsourcing มากจนเกินไป อาจส่งผลให้ความเข้มแข็ง ของความสัมพันธ์ภายในองค์กรลดลง อันเนื่องจากสังคมการทำงานภายในองค์กร ถูกแทรกแทรงด้วยสังคมการทำงาน ของบุคลากรภายนอก ซึ่งอาจส่งผลให้องค์กร มีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย วัฒนธรรมและจิตวิญญาณองค์กร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร

นอกจากนี้ หากมองในด้านความสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรและบุคลากรภายใน การ
Outsourcing มักทำให้ความสัมพันธ์นี้อ่อนแอลง อีกทั้งยังส่งผลให้พนักงานมีความรักองค์กรลดลงอีกด้วย ซึ่งความรักองค์กรนั้น ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง

แนวโน้มการนำการ
Outsourcing มาใช้ สะท้อนภาพที่ว่า องค์กรต่างๆให้ความสำคัญ กับการได้มาซึ่งแรงงาน ที่มีความสามารถตามที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญ กับผลประโยชน์ระยะสั้น มากกว่าการให้ความสำคัญกับบุคลากรภายใน โดยการพัฒนาบุคลากรภายใน ให้มีความรู้ความสามารถ ที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ในระยะยาว

อีกทั้งการ
Outsourcing ยังก่อให้เกิดความเสี่ยง ในการสูญเสียบุคลากรผู้มีความสามารถสูง หรือที่เรียกว่า “ภาวะสมองไหล” อันเนื่องมาจากองค์กร มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับบุคลากรภายในลดลง

ในขณะที่การ
Outsourcing ส่งผลกระทบในระดับองค์กร มันก็ส่งผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล ด้วยเช่นกัน

โดยผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล เกิดขึ้นในลักษณะของ ความไม่พร้อมของแต่ละปัจเจกบุคคล รวมทั้งความไม่พร้อมของกลไกทางสังคมต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปของความสัมพันธ์ ระหว่างพนักงานผู้ถูกจ้างและองค์กรผู้ว่าจ้าง และการเปลี่ยนแปลงไปของตลาดแรงงาน

ภาพที่เกิดขึ้น คือ บุคลากรภายในองค์กร มีแนวโน้มได้รับการพัฒนา ศักยภาพในการทำงานน้อยลง และเริ่มมีการปลดพนักงานมากขึ้น เนื่องจากองค์กรต่างๆมุ่งลดขนาดองค์กรลง อีกทั้งรูปแบบองค์กรต่างๆเริ่มเปลี่ยนเป็นลักษณะของ องค์กรมืออาชีพที่มีความสามารถเฉพาะมากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่าง พนักงานผู้ถูกจ้างและองค์กรผู้ว่าจ้าง จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์ระยะสั้นมากขึ้น นั้นคือ ผู้ว่าจ้างและผู้ถูกจ้าง จะทำงานร่วมกันเป็นรายโครงการ ตกลงร่วมงานกันโดยดูที่ ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับระดับความสามารถ ในการทำให้โครงการเกิดผลสัมฤทธิ์

ในปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ถูกสะท้อนด้วย การเกิดขึ้นอย่างมากมายและการได้รับความนิยม ของบริษัทที่ปรึกษาหรือบริษัทรับเหมาทำงานเฉพาะด้าน
(Professional Services Organisation) ในด้านต่างๆ

นั่นหมายความว่า แต่ละปัจเจกบุคคลผู้กำลังเล่นบท ผู้ถูกว่าจ้าง มีแนวโน้มที่จักต้องรับผิดชอบพัฒนา ศักยภาพในการทำงานด้วยตนเอง และต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ของรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์ ระหว่างตนเองกับผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นความสัมพันธ์ระยะสั้นมากขึ้น

นอกจากนี้ หากมองจากมุมของตลาดแรงงาน จักต้องมีการนำกลไกใหม่ๆ เข้ามาใช้สนับสนุนการทำงานของตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงข้างต้นได้

ตัวอย่างของกลไกดังกล่าว ได้แก่ กลไกการให้ความรู้ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว กับผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง กลไกสนับสนุนผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง ให้สามารถพัฒนาตนเอง อย่างเหมาะสมในสายอาชีพตน และกลไกอื่นๆ ที่สามารถช่วยรับมือกับ สถานการณ์ซึ่งผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนไปของตลาดแรงงาน เป็นต้น

นอกจาก
ICT จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีผลโดยตรงกับปรากฏการณ์ทั้งหมดข้าง ความสามารถของมันยังเป็นตัวแปรสนับสนุน ซึ่งมีผลทางอ้อมกับปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกด้วย

โดยความสามารถของ
ICT ที่ทำให้โลกทั้งใบสื่อสารถึงกันได้อย่างง่ายดาย ภายในระยะเวลาอันน้อยนิด และด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอย่างมาก ทำให้องค์กรที่กำลังมองหาผู้เข้ามาดำเนินการ Outsourcing สามารถเข้าถึงตัวเลือกอย่างมากมาย อีกทั้งยังทำให้การประสานงาน ระหว่างผู้ต้องการและผู้รับการ Outsourcing ทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดนี้ ช่วยสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ มีแนวโน้มเลือกใช้การ Outsourcing มากขึ้น

ภาพทั้งหมด ที่ข้าพเจ้าได้สะท้อนผ่านบทความนี้ มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันทุกท่าน ให้เริ่มสนใจกับสถานการณ์และผลกระทบ อันเกิดจากความนิยมในการ
Outsourcing เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับ ICT เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านพื้นที่ของบทความนี้

อันที่จริง ยังมีตัวแปรอีกหลากหลาย นอกเหนือจากตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับ
ICT ที่ทำให้ปรากฏการณ์การ Outsourcing ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากบทความนี้จะมีประโยชน์ ข้าพเจ้าของให้มันเป็นแรงผลักดัน ให้ทุกท่านเริ่มตระหนัก และเริ่มศึกษา ผลกระทบของการปรากฏการณ์
Outsourcing ที่มีต่อตัวท่านมากขึ้น ไม่ว่าทั้งจากบริบทของตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับ ICT และจากบริบทอื่นๆ เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้อย่างเท่าทัน


บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของอุปกรณ์ ICT ที่ถูกนำมาใช้เป็นกระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวความคิดในการเลือกกระดานโต้คลื่นฯ ที่เหมาะสมกับแต่ละปัจเจกบุคคล ในบทความนี้เรามาพิจารณาว่า...เมื่อเราได้กระดานโต้คลื่นฯที่เหมาะสมมาแล้ว เราจะใช้กระดานโต้คลื่นฯของเราอย่างไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วความรู้และความสามารถประเภทไหนและอะไรบ้างที่ถือได้ว่า เป็นทักษะที่จำเป็นในการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร ในการวิเคราะห์นี้ “เวลา” และ “รายได้” สองสิ่งที่ทวีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที ยังคงเป็นสองตัวแปรหลัก ที่ข้าพเจ้าใช้ประกอบการพิจารณา…
SenseMaker
  หลังจากเขียนบทความ ในหัวข้อโลกยุคหลังอุตสาหกรรม กับสภาวะข้อมูลท่วมโลก เสร็จเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ได้เกิดหนึ่งคำถามขึ้นกับข้าพเจ้า นั่นคือ หากมนุษย์ต้องดิ้นรน เพื่ออยู่รอดบนโลกใบนี้ ในยุคที่คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร โถมกระหน่ำใส่ประชาคมโลกอย่างรุนแรง และได้ทำให้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทิศทางที่ยากจะคาดเดา มากขึ้นทุกที เราต้องทำอย่างไรบ้างในทัศนะของข้าพเจ้า ผู้ที่สามารถโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร พาตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดคลื่น และเป็นผู้กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง คือ ผู้ที่สามารถอยู่รอด และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อบทความในตอนนี้และตอนถัดไปข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วย…
SenseMaker
หัวข้อวิพากษ์วันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ในการประยุกต์ใช้ ICT ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และไม่ว่าจะเป็นองค์กรแสวงหากำไรหรือไม่ โดยข้าพเจ้าเจาะจงไปที่ ทัศนะของผู้บริหารองค์กร ที่ต้องการนำ ICT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในลักษณะของการลดต้นทุนแรงงานคน กระชับขบวนการทำงาน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ให้กับขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะกับทัศนะองค์กรที่ว่า “ประสิทธิภาพในการทำงานของ ICT สูงกว่ามนุษย์”หรือที่ว่า ”ICT สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้” สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ความคิดในลักษณะดังกล่าวแพร่หลาย สืบเนื่องมาจาก…
SenseMaker
“โลกยุคหลังอุตสาหกรรม (Post industrial Age)” คือชื่อเรียกขานโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าหรือ ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) ซึ่งเป็นยุคที่โลกของเราถูกผลักดัน ด้วยการแข่งขันของแต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ผ่านการพัฒนาความสามารถและเทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในที่สุดอย่างไรก็ดี โลกยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ยังคงดิ้นรนต่อสู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในบั้นปลายเช่นเดิม หากแต่ความสำเร็จดังกล่าว กลับถูกขับเคลื่อน…
SenseMaker
เมื่อพูดถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ บนโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีคือตัวการอันดับต้นๆ โดยในช่วงหนึ่งศตวรรษหลังสุด ICT ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกสังคม และในวงกว้างไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ICT ยุคแรกๆ ซึ่งได้แก่โทรเลข ตามมาด้วยโทรศัพท์ มาจนถึง ICT ในยุคปัจจุบัน นั่นคือโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์ต่อเชื่อมอินเตอร์เนตต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์พกพาขนาดต่างๆความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏการณ์ชัดเจน คือ การที่ ICT ทำให้สังคมมนุษย์ มีรูปแบบการติดต่อสื่อสาร และรูปแบบการเข้าถึง ประมวลผล…
SenseMaker
หน้าเว็บไซท์ที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา หากไม่นับรวมเว็บไซท์ขายของออนไลน์ ส่วนมากยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับยุคก่อนหน้านี้ นั่นคือ เป็นเว็บไซท์ที่พยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ เข้ามาสร้างหัวข้อและบทสนทนาร่วมกัน สร้างกิจกรรมระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเป็นช่องทางให้ผู้ใช้ทำความรู้จักกันวัตถุประสงค์ของเว็บไซท์ดังกล่าว คือเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ที่มีความสนใจหรือความต้องการคล้ายๆกัน ซึ่งทำให้ในขณะที่ ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ ในรูปแบบของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ผู้จัดทำเว็บไซท์ก็ได้ประโยชน์ ผ่านการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางอ้อม…
SenseMaker
ข่าวต่างๆทางด้าน ICT ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นผลกระทบของ “การโลกาภิวัฒน์ (Globalisation)” ที่มีต่อมนุษย์ทุกคน เนื่องจากอิทธิพลของการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีแบบเดียวทั่วโลก จะลดทอนความหลากหลายของวิถีชีวิตมนุษยชาติ ก่อให้เกิดตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนข้ามชาติ แต่ในขนะเดียวกัน ปัญหาลักษณะเดียวกัน จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นวงกว้าง หากแต่จะเกิดผลกระทบแตกต่างกันไป ตามบริบทของสังคมนั้นข่าวแรกที่อยากนำเสนอ คือการเกิดขึ้นของ “ปฏิญญากรุงเทพ” ซึ่งถูกจัดทำขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค หรือ APEC (Asia-…
SenseMaker
แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงสิบปีหลัง เป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “convergence” หมายถึงแต่ละเทคโนโลยี พยายามรวบรวมความสามารถของเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าไว้ในตัวเอง ดังจะเห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของกระแสของศัพท์คำว่า ICT ซึ่งสะท้อนถึง การที่เทคโนโลยีเพียงหนึ่งเดียว แต่สามารถให้บริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และ เทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับ โครงข่ายสื่อสารและระดับสินค้าอุปโภคทางเทคโนโลยี
SenseMaker
วันนี้อยากชวนสนทนาถึงศัพท์คำว่า “การเข้าถึงเทคโนโลยี” ซึ่งในทัศนะส่วนตัวคือสภาวะที่บุคคล องค์กร หรือประเทศหนึ่งสามารถได้มาซึ่งความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่และจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องปัจจุบันแนวทางการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก เป็นไปในลักษณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการการผลิต และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมายเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจโลก…