Skip to main content

สังคมที่ขับเคลื่อนโดยระบบตลาดทุนนิยมเสรีนั้น ฝากความหวังไว้กับผู้บริโภคในการคัดเลือกสิ่งที่ดีให้คงอยู่ในตลาด  ผ่านการจ่ายเงินซื้อและสนับสนุนสินค้าและบริการที่ผลิตอย่างมีคุณภาพ ราคาเหมาะสม หรือที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหวังว่า จะมีเพียง “ผู้ใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” เท่านั้นที่จะคงเหลืออยู่ในตลาด ทำให้ผู้ผลิตเหล่านั้นรอดอยู่ในตลาดและได้โอกาสจัดการทรัพยากรต่อไป   แต่ผู้อยู่รอดในตลาด คือ ผู้ที่จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่เกิดจากการผลิตที่ดีหรือไม่? คือ สิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบ

ปัจจุบันเจ้าของสินค้า พยายามสร้าง “แบรนด์” ของตนให้มีลักษณะน่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจต่อผู้บริโภคจนผู้บริโภคอาจจะมองข้ามรายละเอียดปลีกย่อย แล้วเลือกซื้อหาสินค้าที่มีปัญหาการขูดรีดแรงงาน ทำลายสภาพแวดล้อม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน พูดง่ายๆ คนไม่ได้ซื้อสินค้าด้วย “ราคา” อย่างเดียว แต่เลือกเพราะความรู้สึกดีๆต่อ “แบรนด์” เหล่านั้นด้วย

            สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้าง “แบรนด์” คือ ความเป็นธรรมในระบบการผลิต การแลกเปลี่ยน สินค้า เพราะมีผู้ผลิตจำนวนมากสามารถสินค้าและให้บริการได้เหนือจากผู้ผลิตรายอื่น เนื่องจากได้ปิดบัง ซ่อนความฉ้อฉลไว้ใต้หน้ากากของผู้ผลิตที่ห่วงใยสังคม และรักษ์สิ่งแวดล้อม   ปัญหาการขูดรีดผู้ผลิตรายย่อย การใช้แรงงานทาส และทำลายสภาพแวดล้อม เรื่อยไปจนถึงการผลิตที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจึงเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บงำไว้   เพราะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

            การควบคุมทิศทางข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ “แบรนด์” ของบรรษัทจึงมีความสำคัญยิ่งยวดจนต้องมีการลงทุนในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์มหาศาล   จนเป็นที่ทราบกันว่าการสร้างเครือข่ายระหว่างบรรษัทกับสื่อมวลชนกระแสหลัก นักวิชาการ และนักคิดนักเขียน เรื่อยไปจนถึงควบคุมทิศทางความเห็นของประชาชนในวงกว้างจึงกลายเป็นภารกิจสำคัญของบรรษัท  

อุปสรรคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน คือ   เมื่อมีผู้ให้ข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับบรรษัท หรือการแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อแบรนด์ ทีมงานประชาสัมพันธ์จะพยายามติดต่อ กดดันเพื่อให้มีการลบความเห็นเหล่านั้น ในลักษณะคุกคามความเป็นส่วนตัวของบุคคลเพื่อให้มีการเซ็นเซอร์ตัวเองหรือลบความเห็น   ไปจนถึงการกดดันเจ้าของพื้นที่สื่อ ให้ควบคุมเนื้อหา และรับข้อมูลของฝ่ายบรรษัทไปเผยแพร่กลบข้อมูลด้านลบของบรรษัท   ซึ่งนี่คือ ปัญหาใหญ่ของสังคมที่ไร้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และจำกัดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน  โดยความสัมพันธ์ “หลังฉาก”

กลยุทธ์ที่บรรษัทใช้มีหลากหลาย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การใช้มาตรการทางกฎหมายในการกดดันบุคคลที่นำเสนอข้อมูลด้านลบต่อบรรษัท   การฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทถูกหยิบมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ จนบรรษัทต่างๆทั่วโลกหยิบมาใช้ตามๆกัน   เพราะการฟ้องร้องคดีเหล่านี้เป็นวิธีปิดปากที่ได้ผลเร็ว เนื่องจากเมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือฟ้องต่อศาลแล้ว   ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหามักจะยุติการเผยแพร่ข้อมูล ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล  และบรรษัทก็นำการยุติบทบาทผู้เผยแพร่ข้อมูลนี้ไปขยายผลว่า ข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จ จึงได้มีการระงับเผยแพร่

การฟ้องคดีหมิ่นประมาทในประเทศไทยมีอยู่สองลักษณะใหญ่ๆ คือ การเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งฯ และความรับผิดทางอาญา   ซึ่งมีขั้นตอนต่างกัน และผลสุดท้ายของคดีก็ไม่เหมือนกัน   แต่ในบางกรณีอาจมีการฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา   คือ การฟ้องว่าบุคคลนั้นให้ข้อมูลที่ละเมิดเกียรติยศชื่อเสียงตนเป็นความผิดทางอาญา และต้องชดเชยค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งด้วย    ในหลายกรณีมีการเรียกค่าเสียหายนับพันล้าน เพื่อข่มขู่สื่อมวลชน หรือนักวิชาการ   จนทำให้ผู้ที่พูดความจริงเครียดและยุติการเผยแพร่ข้อมูล   จนผู้บริโภคสูญเสียโอกาสในการรับรู้ “ความจริง”

ในกรณีเหล่านี้ สิ่งที่ปกป้องผู้เสนอความจริงก็คือ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามกติกาสากลสิทธิพลเมืองและการเมือง รวมไปถึงข้อยกเว้นความผิดทางอาญาและแพ่งฯ  กล่าวคือ หากสิ่งที่นำเสนอนั้นเป็น “ความจริง” และเป็น “ประโยชน์ต่อสาธารณะ” ก็จะได้รับการคุ้มครองเพื่อประโยชน์ของสังคมในการได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจ       ตราบใดที่เรื่องนั้นมิใช่ข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นโดยแท้ หรือไม่ใช่ข้อมูลที่มีกฎหมายห้ามเผยแพร่   “ความจริงที่พูดไม่ทำให้ผู้พูดผิด”

เช่นเดียวกับ การเปิดเผยข้อมูล หากมีการถกเถียงว่า “ข้อมูล” นั้นเป็นความลับที่ต้องได้รับการคุ้มครองหรือไม่ กฎหมายก็ให้การคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของรัฐหรือเอกชน หากเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง  

พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ได้ให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในการดูแลของรัฐไว้อย่างกว้างขวาง   แต่ก็ยังมีกลุ่มข้อมูลที่เผยแพร่ไม่ได้  ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1)      ข้อมูลสาธารณะที่ห้ามเปิดเผย เช่น ความลับของชาติที่กระทบต่อความมั่นคงฯทางราชการ การทหาร หรือเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีข้อถกเถียงอยู่เสมอว่า คลุมเครือ และรัฐอาจตีความเป็นเรื่องความมั่นคงไปเสียหมดเพื่อปิดโอกาสประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และ

2)      ข้อมูลส่วนบุคคลที่ห้ามเปิดเผย เนื่องจากหน่วยงานรัฐได้จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกชนโดยแท้ เช่น ประวัติสุขภาพ ที่อยู่ หากเปิดเผยจะสร้างความเสียหายและกระทบต่อการใช้ชีวิตส่วนตัว ข้อมูลกลุ่มนี้จึงเปิดเผยไม่ได้   

 

บรรษัทที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน นักกิจกรรม สื่อมวลชน และนักวิชาการ ทั้งเรื่อง ที่อยู่ การเดินทาง สถานที่ทำงาน และข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตส่วนตัว จึงเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเป็นอันมาก และสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย เพราะคุกคามชีวิตของบุคคลชัดเจนแต่เรากลับพบว่า หน่วยงานเอกชนได้ใช้ความพยายามในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของ นักกิจกรรมทางสังคม สื่อมวลชน นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นที่น่ากังวลว่าบรรษัทได้ข้อมูลมาอย่างไร   หากเป็นการลักลอบขโมยข้อมูล หรือตามสืบ ย่อมเป็นการคุกคามสิทธิของบุคคลเหล่านั้น   ยิ่งไปกว่านั้นถ้าบรรษัทร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนในการแสวงหาข้อมูลเหล่านั้น ก็เป็นความผิดของบรรษัท และเจ้าพนักงานอย่างชัดเจน

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะ แต่ก็มีกฎหมายอาญากำหนดความรับผิดต่อผู้ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นไว้อย่างชัดเจน   ซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดก็มีทั้งผู้ที่มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล เช่นหน่วยงานรัฐเจ้าของฐานข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการเอกชนที่มีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในระบบข้อมูลสารสนเทศของตน   เช่นเดียวกับผู้ที่นำข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นไปโดยไม่มีอำนาจ และการนำข้อมูลเหล่านั้นไปเผยแพร่

ในทางกลับกัน การเปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อมของบรรษัทจึงเผยแพร่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสาธารณะอย่างชัดเจน และมิได้เป็นความลับของชาติ หรือข้อมูลส่วนตัวโดยแท้ของบุคคลใด    เนื่องจากการกระทำของบรรษัทกระทบต่อชีวิตของคนในสังคมเป็นจำนวนมาก

แต่อีกสิ่งที่หลบซ่อนอยู่ คือ การร่วมมือกันระหว่างบรรษัทผู้ผลิตสินค้า กับ บรรษัทผู้เป็นเจ้าของพื้นที่สื่อ  โดยสื่อที่มาแรงมาก คือ สื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต อันได้แก่ เว็บบอร์ด โซเชียลเน็ตเวิร์ค และเสิร์ชเอ็นจิ้น ที่เป็นเหมือนหน้าด่านแรงในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนทั่วไป   การร่วมมือกันของบรรษัทเหล่านี้ ในการลบ ระงับ การเผยแพร่ข้อมูล หรือคอยสอดส่องข้อมูลแล้วแจ้งให้บรรษัทรับทราบ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคในสังคมเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารต้องตื่นตัว   เพราะผู้บริโภคจะไม่มีวันรับรู้ “ความจริง” เลย  หากผู้ให้บริการทั้งหลายคัดกรองข้อมูลออกไปแล้ว ดังปรากฏการลบข้อความของเจ้าของเว็บบอร์ดดัง หรือการลบลิ้งค์เชื่อมไปยังข้อมูลด้านลบ อย่างต่อเนื่อง

ในสังคมแบบตลาดเสรี พลังของผู้บริโภคคือสิ่งสำคัญ   การตัดสินใจของผู้บริโภคบนพื้นฐานของความจริง สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้   เพราะผู้บริโภคคือกำลังซื้อ หากเลิกอุดหนุนสินค้าแบรนด์หนึ่ง แล้วเลือกสนับสนุนบรรษัทที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลแรงงาน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแทน

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,