Skip to main content

การพัฒนารัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นสาธารณะของผู้ตื่นตัวทางการเมืองในลักษณะ “นิติรัฐอย่างเป็นทางการ” แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ไม่เป็นทางการ” ที่รัฐอาจหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจปกครองภายใต้กรอบของกฎหมายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายของประชาชนอย่างเสมอภาค บทความนี้วิเคราะห์บทบาทของรัฐบาลไทยในการไม่บังคับใช้กฎหมายเพื่อประกันสิทธิของประชาชนเนื่องจากมีสถาบันไม่เป็นทางการขัดขวางอยู่ โดยจะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง กลุ่มทุน เจ้าพนักงานของรัฐ ผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง  ซึ่งขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและการเยียวยาสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นธรรมเมื่อผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนใช้เสรีภาพในการแสดงออก ชุมนุมและสมาคม อันนำไปสู่การบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนในสถาบันทางกฎหมายอย่างเป็นทางการของรัฐไทย

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเต็มไปด้วยความอยุติธรรม แสดงให้เห็น “สถาบันอย่างไม่เป็นทางการ” ซึ่งมีพลังอย่างแท้จริงในสังคมไทย อันเหลื่อมซ้อนอยู่กับ “สถาบันอย่างเป็นทางการ” ของรัฐไทยที่ประกาศผ่านบทบัญญัติกฎหมายแต่อาจไม่สามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคม ในเบื้องต้นของอธิบายความหมายของสถาบัน 2 ชนิดนี้เสียก่อน


สถาบันอย่างเป็นทางการ (Formal Institution) คือ  สถาบันหรือความคิดที่เป็นการรับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมการเมืองไทยที่ประกาศต่อชาวโลกว่ามีความเป็นประชาธิปไตย เช่น การมีกลุ่มการเมืองที่สานความสัมพันธ์เพื่อกุมอำนาจในท้องถิ่นและระดับชาติผ่านการเลือกตั้ง ระบบตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมืองหรือข้าราชการการเมืองหรือทหารที่เข้ามาทำการเมือง การคาดหวังว่าผู้นำของรัฐจะมาจาการเลือกตั้งแต่ก็ไม่ได้ต่อต้านการรัฐประหารหรือผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ การมีองค์กรใช้อำนาจอธิปไตยที่แบ่งแยกกันใช้อำนาจที่มีการถ่วงดุลกันแต่กลับเชื่อเรื่องตัวบุคคลที่มีภาพลักษณ์ดีโดยปราศจการตรวจสอบด้วยโครงสร้างกฎหมายที่เข้มแข็ง การมีระบบศาลตุลาการที่เป็นอิสระในการวินิจฉัยคดีที่อาจไม่มีประสิทธิภาพและอาจไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และค่านิยมสิทธิมนุษยชนสากล และการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปตามกรอบของนิติรัฐแต่อาจมีลักษณะสองมาตรฐาน เป็นต้น   ในประเทศไทย ผู้มีประสบการณ์ขับเคลื่อนขบวนการสิทธิมนุษยชนล้วนแล้วแต่เห็นว่าสังคมไทยมีองค์ประกอบเหล่านี้ในรัฐอย่างครบถ้วน   แต่อุดมคติที่ต้องการให้รัฐไทยมีเพียงสถาบันอย่างเป็นทางการเท่านั้นหรือสร้างการเมืองการปกครองที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมนั้น  งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่เป็นเช่นนั้น


สถาบันอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Institution) ในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามพื้นฐานที่มาทางประวัติศาสตร์และบริบทที่แวดล้อมอยู่ในแต่ละสังคม โดยในไทยปรากฎสถาบันอย่างไม่เป็นทางการแต่มีพลังอำนาจคัดง้างสถาบันทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสากล อาทิเช่น ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก การมีมุ้งก๊กเหล่าย่อย ๆ อยู่ในพรรคการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น การสร้างทายาททางการเมืองแบบเป็นที่รู้กันและอยู่ในโอวาททั้งในแนวระนาบ และแนวดิ่งลงลึกไปในพื้นที่ท้องถิ่น   การตกลงของผู้มีอิทธิพลที่เป็นคู่แข่งกันเพื่อรับประกันว่าหลังการตกลงจะมีการจัดสรรผลประโยชน์และตำแหน่งแห่งที่กันโดยไม่มีการขัดขวางผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือมีการสนับสนุนกันโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมาย ตลอดจนถึงการสถาปนาความคิดเรื่องการส่งเสริมการลอบสังหารบุคคลที่มีการสงสัยว่าเป็นผู้มีอิทธิพล หรือคุกคามรัฐ   โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำฆาตกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด หากมีผู้ที่ริเริ่มการสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากการวิสามัญฆาตกรรมเหล่านั้นก็ต้องเผชิญอันตรายที่มาจากวิธีการนอกกฎหมายแต่กลับเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากมีการส่งสัญญาณจากผู้บังคับบัญชาและนักการเมืองระดับสูงให้ละเว้นการบังคับใช้กฎหมาย   กระบวนการของสถาบันไม่เป็นทางการนี้ทำให้เกิดปัญหาความไร้นิติธรรมในระบบกฎหมาย และการไร้ธรรมาภิบาลในทางการเมืองอย่างเรื้อรัง  ไปจนถึงขั้นมีการฟ้องเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการออกมาเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง หรือมีการฟ้องตบปากผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลไปสู่การรับรู้ของสาธารณะชน (SLAPPs – Strategic Lawsuits Against Public Participation) ซึ่งเป็นความพยายามในการยกระดับสถาบันการคุกคามอย่างไม่เป็นทางการให้กลายเป็นกระบวนการฟ้องร้องคดีความที่เกิดผลลัพธ์ในสถาบันทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ


อย่างไรก็ดีมีความแตกต่างกันระหว่างสถาบันอย่างไม่เป็นทางการ กับ การกระทำทั่วไปที่ไม่เป็นทางการ   ว่า หากไม่กระทำการตามรูปแบบหรือทิศทางที่สถาบันอย่างไม่เป็นทางการนั้นชี้นำ ผู้ใช้สิทธิตามกฎหมายยังประเมินการณ์ได้ว่า “จะต้องเกิดผลร้าย” ขึ้นอย่างแน่นอน   เนื่องจากสถาบันที่ไม่เป็นทางการในไทยเป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาและมีความคิดความเชื่อความคาดเดาได้ในสังคมว่าทุกอย่างต้องดำเนินไปตามนั้น  เช่น การขับเคลื่อนประเด็นแล้วมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนมาเจรจาหรือขอให้ยุติการเคลื่อนไหวแล้วไม่ทำตามยังคงต่อสู้หรือส่งเสียงอยู่ก็จะถูกการถูกเบียดขับออกจากเครือข่ายทางสังคม เป็นผู้ก่อความไม่สงบ หัวรุนแรง   การมีปัญหาหรือท่าทีชัดเจนตรงไปตรงมากระทบต่อภาพลักษณ์ของบรรษัทและกลุ่มทุนที่ไปสนับสนุนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองท้องถิ่นก็จะต้องมีการตัดหนทางทำงานด้วยการข่มขู่คุกคาม  การตกลงรวมกลุ่มตามกรอบของรัฐธรรมนูญแล้วแต่กลับเสี่ยงที่จะถูกฟ้องตบปากหากมีการแสดงออก ชุมนุม หรือเรียกร้องสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของรัฐและบรรษัทเจ้าของโครงการพัฒนาที่กระทบต่อกลุ่มเสี่ยง ก็จะไม่มีการเปิดพื้นที่ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตัดสินใจให้ หรือหากมีกรณีที่ใครจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือลอบสังหารก็จะ มีโอกาสที่จะถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้าย ลอบสังหารหรืออุ้มหาย   ซึ่งผลร้ายเหล่านี้เป็นไม่ได้เป็นการบังคับบนฐานของกฎหมาย หากแต่ปรากฏผลในทางปฏิบัติจริงโดยไม่มีมาตรการทางกฎหมายมาเอาผิดหรือยุติวงจรความรุนแรง

อุปสรรคต่อกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตย (Democratization) อย่างชัดเจนในลักษณะของการใช้ความรุนแรง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยไม่มีหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนมาปกป้องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ  แม้กระแสโลกจะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนควบคู่กับประชาธิปไตยและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในนาม “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” แต่นั่นอาจจะไม่เพียงพอและล้าสมัยไปแล้ว   เพราะได้มองข้ามหรือจงใจปิดตาไม่มองหา “ความจริงทางสังคม” ซึ่งมีอิทธิพลเชื่อมโยงกับสถาบันต่าง ๆ ที่สถาปนาขึ้น   ปรากฏการณ์ที่เกิดในโลกกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประสบการณ์ในประเทศไทย นั้นปรากฏสิ่งที่มากกว่าสถาบันอย่างเป็นทางการ (Formal Institution) ตามกฎหมายที่บัญญัติและสร้างกลไกของรัฐไว้   นั่นคือ สถาบันอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Institution) ที่มีพลังจริงอยู่ในสังคมแม้ไม่ปรากฏในกฎหมาย นั่นเอง

เมื่อไล่เรียงประวัติศาสตร์ด้านกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเห็นทิศทางที่น่ากังวลของรัฐไทย กล่าวคือ ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่สั่นคลอนอำนาจรัฐ รัฐไทยมักเปลี่ยนวิธีการคุกคามใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง การละเมิดสิทธิก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้าง รัฐตอบโต้ด้วยวิธีการทางกฎหมายมากขึ้น แต่ในภายภาคหน้าอาจรุนแรงมากขึ้น หากรัฐเริ่มจนตรอก และไม่สามารถใช้วิธีการที่ปราศจากความรุนแรงเพื่อกำราบประชาชนได้อีกแล้ว เช่นเดียวกับการใช้กลยุทธ์สลายการรวมกลุ่มและจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. .... ที่รัฐต้องการตราออกมาเพื่อควบคุมการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน อาจทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต้องเจอกับอุปสรรคมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ สถาบันอย่างไม่เป็นทางการ เข้ามากัดกร่อน สถาบันอย่างเป็นทางการ ผ่านกฎหมาย


อย่างไรก็ดี สถาบันอย่างไม่เป็นทางการนั้น มิได้มีแต่ลักษณะที่เป็นภัยและทำลายกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตย หรือการรักษาธรรมาภิบาล หรือนิติรัฐ นิติธรรม ไปเสียทั้งหมด   ยังมีสถาบันไม่เป็นทางการจำนวนมากที่เอื้อให้ภาวะชะงักงันทางการเมืองสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น การตกลงกันเพื่อลดความรุนแรงหลังการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงจุดยืนของทุกฝ่ายให้ปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะที่ผ่านกระบวนการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่จนเป็นที่ยอมรับผ่านคำพิพากษาของศาลให้กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมใหม่   หรือ การเข้าไปอุดช่องว่างของภาวะไร้ประสิทธิภาพประสิทธิผลของกระบวนการยุติธรรม เช่น ระบบกฎหมายหรือความสัมพันธ์ของแกนนำชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมกับกลุ่มผลประโยชน์หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่สามารถจัดการความขัดแย้งในระดับพื้นที่ห่างไกลได้    หากรัฐเลือกรักษาหรือส่งเสริมสถาบันไม่เป็นทางการในหลายกรณี ก็จะทำให้รัฐนั้นมีเครื่องมือที่หลากหลายในการรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้  และในหลายกรณีก็ชี้ให้เห็นว่าการเลือกกำจัดสถาบันไม่เป็นทางการที่มีหน้าที่บางอย่างทิ้งเสียแล้วแทนที่ด้วยสถาบันอย่างเป็นทางการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ  กลับจะทำลายความเชื่อถือต่อกฎหมาย และทำลายวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นไปโดยไม่อาจคาดการณ์ได้

การออกแบบ และวางระบบการเมืองหรือหลักประกันสิทธิมนุษยชนใด ๆ ก็ตามที่มีจุดมุ่งหมายจะให้เกิดการสลายอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเสี่ยงและส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม ซึ่งหวังผลลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องทำความเข้าใจเครือข่าย กลุ่มผลประโยชน์ และความคิดความคาดหวังเดิม ๆ ที่มีอยู่ก่อนในสังคม   หาไม่แล้วก็มิอาจบรรลุเป้าหมายได้ 


จากการสังเคราะห์ประสบการณ์ของขบวนการเมืองภาคประชาชนผ่านกรอบทฤษฎี “ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง สถาบันอย่างเป็นทางการ กับ สถาบันอย่างไม่เป็นทางการ”  ได้ข้อเสนอในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในจังหวะที่สังคมเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันทางกฎหมายในรัฐไทย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนรัฐไปในทิศทางที่สังคมต้องการโดยงานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะได้ 4 แบบใหญ่ๆ คือ


1) ให้สถาบันทั้งสองช่วยอุดช่องว่างกัน (Complementary) กล่าวคือ หากในสภาวการณ์ใดที่สถาบันเป็นทางการทำงานไม่ได้ก็จะมีสถาบันอย่างไม่เป็นทางการมาอุดช่องว่างให้ เพื่อให้สถาบันอย่างเป็นทางการนั้นสามารถดำรงอยู่ต่อไป เช่น กรณีรัฐยอมรับพหุนิยมทางกฎหมายก็จะมีกฎหมายท้องถิ่นที่เข้ามารองรับคดีต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไร้กลไกทางการของรัฐ   ทำให้สังคมนั้นยังเชื่อในระบบกฎหมาย และปฏิบัติตามครรลองและยังมีความเคารพกฎหมายต่อไป อาทิ ยุติธรรมชุมชน การไกล่เกลี่ยโดยอาศัยเครือข่ายของสถาบันจารีตที่มุ่งหมายต่อความสงบและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ยอมรับความรุนแรง


2) ให้สถาบันทั้งสองส่งเสริมสนับสนุนกัน (Accommodation) กล่าวคือ หากในพื้นที่และห้วงเวลาเดียวกันนั้นสถาบันอย่างไม่เป็นทางการไม่ขัดแย้งกับสถาบันเป็นทางการก็จะช่วยหนุนเสริมกันทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เช่น การส่งเสริมนักการเมืองหรือผู้มีบารมีในเขตที่มีโครงการพัฒนา หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเสื่อมโทรมให้เข้าถึงทรัพยากรงบประมาณ หรือดำรงตำแหน่งสำคัญ หากได้มีการตกลงกันไว้กับชุมชนหรือเครือข่ายของประชาชนกลุ่มเสี่ยงไว้ล่วงหน้าว่า กลุ่ม มุ้งทางการเมือง หรือผู้มีบารมีในท้องถิ่นนั้น จะแลกคะแนนเสียงสนับสนุนให้กันและกัน เนื่องจากกลุ่มตนได้เข้าไปดูแลในชุมชนนั้นมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นปากเป็นเสียงให้กับชุมชน รวมถึงคอยป้องกันระมัดระวังมิให้มีการใช้ความรุนแรงเข้าประหัตประหารกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม


3) ให้สถาบันทั้งสองแข่งขันแย่งชิงกัน (Competition) กล่าวคือ สถาบันเป็นทางการและสถาบันไม่เป็นทางการทำหน้าที่ในกิจกรรมคล้ายๆกันและมีเป้าหมายใกล้เคียงกัน ทำให้คนที่อยู่ในสถาบันทั้งสองพยายามประชันขันแข่งกันโดยใช้กลไกของสถาบันทั้งสองคร่อมสลับไปมา จนทำให้สถาบันเป็นทางการโดนเสียดทานจากปัญหาการแข่งขันนี้   เช่น  การวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่และฝ่ายความมั่นคงนั้นเกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับเพราะระบบและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถที่จะเอาผิดผู้มีอิทธิพลในสังคมได้ แต่การวิสามัญนั้นเองกลับเป็นภัยต่อสังคมเองในแง่ที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่สามารถประกันได้ว่าคนที่ตายเป็นคนผิดจริง  สถาบันทางการก็จะสูญเสียความเชื่อมั่นมากขึ้นไปอีก  ดังนั้นการกระทำผิดกฎหมายที่มีลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การอุ้มหาย ซ้อมทรมาน การไม่ให้หลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม หรือฟ้องตบปากเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนหรือกลุ่มเสี่ยง ย่อมเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ต้องลด ละ เลิก แล้วเสริมกระบวนการนิติธรรมและการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน


4) ให้สถาบันหนึ่งแทนที่อีกสถาบันหนึ่ง (Substitution) กล่าวคือ หากสถาบันอย่างเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ ไม่สามารถขับเคลื่อนความต้องการของกลุ่มคนในสังคมให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ ก็อาจมีการละทิ้งไปใช้อีกสถาบันหนึ่ง หรือ สถาบันอย่างเป็นทางการถูกสถาปนาขึ้นมาทดแทนและให้สถาบันอย่างไม่เป็นทางการสิ้นผลไป   เช่น   กรณีการยกเลิกกฎหมายหรือกระบวนการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นเพื่อนำกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายสมัยใหม่มาแทนโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐและโครงการของภาคเอกชน   หรือ ในกรณีการควบคุมและจัดการการทุจริตหรือใช้ความรุนแรงของกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและนายทุนผู้สนับสนุนในช่วงหลังการเลือกตั้งจะไม่ถูกนำมาใช้ หากมีการทำตามสัญญาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายผลประโยชน์ด้วยอยู่ในสถานะเสี่ยงที่จะขาดการมีส่วนร่วม และอาจไปถึงขั้นโดนปล่อยปละละเลยจากรัฐและนักการเมือง หากผู้ที่กระทำการผิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและกลุ่มเสี่ยงนั้น เป็นกลุ่มทุนที่อยู่ในเครือข่ายกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  

ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงและบทบาทของเหล่าข้าราชการและนักการเมืองที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนที่มีลักษณะการทำธุรกิจร่วมกันในลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ยังต้องการงานศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อยกระดับการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในสังคมไทย เพราะได้มีเสียงสะท้อนจากบทสัมภาษณ์และกรณีศึกษาในประเทศไทยจำนวนมากว่า การดำรงอยู่ของเครือข่ายหน่วยงานความมั่นคงและข้าราชการระดับสูงแม้เกษียณไปแล้ว ก็ยังมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อต้านการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และผลักดันยุทธวิธีที่หนุนเสริมหน่วยงานรัฐและบรรษัทจนสร้างภัยคุกคามต่อตัวผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและกลุ่มเสี่ยงด้วย อันนับเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายตามหลักนิติธรรมซึ่งเป็นสถาบันทางการที่ต้องธำรงรักษาไว้เพื่อประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างเสมอภาค

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน.
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น หนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคนั้น ได้แก่ หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ควบคุมการสื่อสารและการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และส่งผลเสียต่อการยืนหยัดสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น อาทิ กอง
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านตกอยู่ในสถานะของกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญจากการเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยตรงจากการละเมิด และยังอาจไม่ได้รับการดูและแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากต่าง ๆ เพราะถูกจัดให้อยู่ในสถานะต่ำต้อยเสี่ยงต่อการเลือกประติบัติจากรัฐ จนไปถึงการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่จะแก้ปัญหาให้คนไร้บ้
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนไร้บ้านเป็นเสียงที่ไม่ถูกนับ การใช้พลังในลักษณะกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้มีอำนาจให้จัดสรรทรัพยากรให้จึงเป็นเรื่องยาก ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้บ้านจำเป็นต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายที่ประกันสิทธิของบุคคลโดยมิคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางสถานภาพใด ๆ แม้คนไร้บ้านจะเป็นปัจเจกชน หรือกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยเพียงไร รัฐก็มีพันธกรณีในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิให้กลุ่มเสี่ยงนี้โดยเหตุแห่งความเป็นสิทธิมนุษยชนที่ร
ทศพล ทรรศนพรรณ
หากต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมตลาดดิจิทัลที่มีเข้มข้นของกิจกรรมข้ามพรมแดนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาศักยภาพของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายขยายไปเหนือหลักเขตอำนาจศาลเหนือดินแดนของตนแบบเก่า เมื่อต้องกำกับกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่อยู่ในการบังคับของกฎหมายรัฐอื่นซึ่งมีบรรทัดฐานในหลายประเด็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติกับรัฐ จะกระทำใน 3 ประเด็นหลัก คือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากน้อยอย่างไร หรือแบ่งปันกันอย่างไร อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมายในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ กับรัฐและองค์การระหว่างประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทความนี้จะทำการทบทวนข้อกฎหมายทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความสัมพันธ์ของนิติบุคคลเจ้าของแพลตฟอร์มที่มักเป็นบรรษัทข้ามชาติ เรื่อยมาจนถึงสำรวจความพร้อมของกฎหมายในการรองรับปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าสามารถบริหารจัดการให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลระหว
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นพื้นฐานที่รัฐต้องคิด คือ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไร แล้วจึงจะไปสู่แนวทางในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลขึ้นมาในแพลตฟอร์ม
ทศพล ทรรศนพรรณ
Kean Birch นำเสนอปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะสินค้าของตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 5 ประเด็น คือ1.ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแพลตฟอร์มในฐานะเจ้าของข้อมูลทึ่ถูกรวบรวมโดยนวัตกรรม,