Skip to main content

นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี

ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่

ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด


ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง


จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล


ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด เพราะอาหารทะเลที่ตลาดนัดนี้ ขึ้นชื่อเรื่องความสด และราคาถูก คนที่อยากทำอาหารจานพิเศษในวันหยุดจะมุ่งมาที่ซอยนี้ก่อน


ปลาทูนึ่งเข่งละ
5-10 บาท (ปลาทูสดราคาแพงกว่า)
กุ้งขาวตัวโตโลละร้อย

ปลากะพงโลละร้อย

ปลาฉลามโลละเก้าสิบ

หมึกกล้วยตัวใหญ่โลละเจ็ดสิบ

ปูม้าปูทะเล ไม่ค่อยมีขาย เพราะราคาแพง และไม่ค่อยมีคนนิยม

บางวันมีแมงดาทะเลไข่เต็มกระดอง
ปลากระเบน ทั้งแบบที่ย่างแล้ว และยังไม่ย่าง
ไข่ปลาดุกทะเล หัวปลาริวกิว

ฯลฯ


ถัดจากบริเวณขายอาหารทะเล เป็นอาคารตลาด ภายในตั้งร้านอาหารปรุงสำเร็จนานาชนิด ทั้งข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง กาแฟ น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ผัดไท หอยทอด


ใครมาทานหอยทอดที่นี่เป็นครั้งแรก อาจฉงนกับความต่าง เพราะนอกจากซอสพริกแล้ว คนทานหอยทอดที่นี่ยังนิยมใส่น้ำตาล พริก น้ำส้ม ปรุงเพิ่มอีกด้วย


เวทีด้านหน้า บางครา มีลิเกมาเล่น เติมสีสันให้วันหยุด


เดินทะลุอาคาร ไปออกอีกด้านหนึ่ง เป็นบริเวณที่ขายขนม ผลไม้ และของใช้จำพวก ตะกร้าพลาสติก จาน ชาม มีด ที่เปิดกระป๋อง ฝอยขัดหม้อ ไม้แขวนเสื้อ ฯลฯ


ร้านขนมครก กับร้านขายข้าวต้มมัด ขายดีกว่าใคร เพราะราคาถูกและอร่อยถูกใจทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่

ร้านเครป(ขนมเบื้องฝรั่ง) มีเด็กๆ มายืนต่อคิวรอซื้อ

ร้านขนมหวานจำพวก ทองหยิบ ทอดหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น ตะโก้ วุ้นกะทิ กล่องละสิบบาท แม้จะมีหลายร้าน แต่ก็ขายดีไม่มีเหงา

ที่ควันโขมงเห็นแต่ไกล คือร้านขายไก่ย่างไม้ละห้าบาท ใครผ่านก็ซื้อ ปิ้งกันแทบไม่ทัน

อีกด้านของอาคาร คนละด้านกับบริเวณขายขนม เป็นแผงขายเสื้อผ้า ทั้งเสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าผู้ใหญ่ เสื้อผ้าวัยรุ่น กระเป๋าสะพาย เครื่องประดับ ของเล่น ซีดีหนังซีดีเพลงทั้งของแท้และของไม่แท้

ต้นไม้ กล้วยไม้ คนเดินไม่มากหากเทียบกับซอยอื่น แต่ก็ขายได้เรื่อยๆ


เดินย้อนกลับมาที่ซอยกลาง มีแผงผัก แผงเนื้อไก่ แผงเนื้อหมู แผงเนื้อวัว แผงถั่วงอก-เต้าหู้-เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมกันหลายสิบแผง ผู้คนเดินกันหนาตา


แผงขายหมูแผงหนึ่ง นอกจากเนื้อ-กระดูก-เครื่องในสุกร แล้ว ก็ยังมีหนังสือพิมพ์ขายด้วย

นี่เป็นร้านเดียวในนัดวันอาทิตย์ที่มีหนังสือพิมพ์ขาย

หนังสือพิมพ์มีแค่สองหัวให้เลือก คือ หัวแดง กับ หัวเขียว ถ้าอยากอ่านหัวแดงต้องมาแต่เช้า พอสายหน่อยก็จะเหลือแต่หัวเขียว

ใครจะชอบหัวแดงก็ช่าง ป้าแจ๋น ชอบอ่านหัวเขียว มากกว่า เพราะว่า

... ก็ละครมันมีให้อ่านเยอะดี แถมโฆษณาก็ใหม่ๆ ทั้งนั้น ข่าวน่ะเหรอ...ป้าอ่านแต่ข่าวดารา อย่างอื่นไม่ค่อยได้อ่านหรอก…”

สรุปว่า ป้าแจ๋น ซื้อหนังสือพิมพ์ไว้ดูโฆษณากับอ่านข่าวบันเทิง


ผู้คนมากมายในนัดวันอาทิตย์ ทั้งที่คุ้นหน้าไม่คุ้นหน้า ทั้งที่นานๆ เจอทีและทั้งที่เบื่อหน้าจะแย่แต่ก็ต้องเจอ บ้างก็จับกลุ่มหยุดคุยกันนานเสียจนคนแม่ค้าต้องสะกิดบอกว่า ...ไปคุยที่อื่นเหอะยาย ข้างหลังคนยาวไปถึงหน้าวัดแล้ว...”


บ้างก็ทักทายกัน บ้างก็เดินสวนกันแต่ทำเป็นไม่เห็น บ้างก็หลบหน้าทันทีที่เห็นแต่ไกล

ธุระปะปังก็ทั่วไป นินทากันบ้าง ไหว้วานกันบ้าง ตามประสาชาวบ้าน


“...
ได้ข่าวว่าลูกสาวกลับมาอยู่บ้านแล้วเหรอ เออ...สมัยนี้มันหางานทำยากนะ น่าเสียดายเรียนมาเสียสูง มาหางานทำที่บ้านก็ดีเหมือนกัน แต่ก็น่าเสียดายนะ อุตส่าห์ไปเรียนกรุงเทพตั้งหลายปี...”

...เดี๋ยวๆ ฝากหัวหมูสองหัวไปให้ยายแหวนด้วยสิ แกฝากซื้อน่ะ ไม่ได้ผ่านไปแถวนั้นหรอก หรือ? ...เออน่า ช่วยๆ กันหน่อยสิ...”

...ยายเปียถูกหวยงวดที่แล้วตั้งสองพันแน่ะ เห็นว่าแกได้เลขมาจากจอมปลวกที่ขึ้นอยู่หลังบ้าน แหม...แล้วพอเราไปถามทำอุบเงียบ ทีฉันมีเลขดีๆ ยังไม่เคยปิดใคร...คิดดูสิ คนเรามันจะแล้งน้ำใจกันน่ะ...”

...ทิดเขียว เป็นหนี้สหกรณ์ไม่ยอมใช้ เขาปิดป้ายประจานแล้วนา รีบๆ ไปติดต่อเขาเสียสิ อายเขาตายเลย...”

...ยัยสืบผัวทิ้งไปแล้วเหรอ นั่นสิ ถึงไม่เห็นหน้าผัวมันเลย...ข้าก็ว่าแล้ว ข่มผัวซะขนาดนั้น ใครมันจะไปทนได้...”

ฯลฯ


ยืนฟังคำนินทาจนเบื่อ ก็เดินเลยไปร้านกาแฟ คนนั่งกันเต็มร้าน ส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจกับรายการคุยข่าวยอดฮิต จากทีวีสิบสี่นิ้วที่เจ้าของร้านเปิดทิ้งไว้เสียงดัง


ผู้ดำเนินรายการเป็นนักวิเคราะห์ข่าวที่เขาว่าเป็นหมายเลขหนึ่งในตอนนี้

...นี่ก็มีชาวบ้านมาบอกผมว่า...”


ฟังแค่ขึ้นต้นก็ขำ เป็นถึงคนข่าวระดับประเทศ ดันอ้างแหล่งข่าวชาวบ้าน น่าเชื่อถือจริงๆ

ฟังกันไปสักพัก สภากาแฟก็เริ่มตั้งวงนินทาการเมือง

โธ่...วันหยุดทั้งที ขอให้หูปลอดจากเรื่องการเมืองบ้างเถิด
ตัดสินใจกลับบ้านดีกว่า


ผ่านแผงขายปลาแห้ง น่ากินไม่เบา เลยรี่เข้าไปถาม

...ผมทำเองครับ ไม่ได้รับใครมา...” หนุ่มน้อยพ่อค้าปลาแห้งบอก แล้วแจกแจงราคาปลาแห้งแต่ละชนิดเสร็จสรรพ

พอได้ฟังก็อดบ่นตามประสาผู้บริโภคไม่ได้

...โห แพงจัง ทำเองน่าจะขายถูกกว่านี้นะ...”

พ่อค้าหนุ่มตอบฉะฉาน

อยากให้ปลาถูกเหรอ...รอสมัครเลิกเป็นนายกฯ ก่อนเหอะพี่ !”


บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…