Skip to main content
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา


เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้


อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก

 

คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด ดังสนั่นลั่นทุ่งตลอดวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ลำคลองสายเก่ากว้างแค่เมตรกว่าถูกถ่างให้กว้างถึงห้าเมตร ต่อยาวพาดข้ามหมู่บ้านระยะทางเกือบสองกิโลเมตร เพื่อจะทะลุไปถึงหนองน้ำใหญ่ที่อยู่อีกฟากหนึ่ง


ที่นา ที่สวน ของชาวบ้านก็โดนตัดโดนเฉือนกันไปคนละนิดละหน่อย ส่วนใหญ่ก็ยินยอม เพราะนั่นหมายถึงความสะดวกของน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนที่ไม่ยอมก็ต้องยอม ไม่งั้นคลองก็ไม่เสร็จเสียที


คนที่โดนคลองผ่าเข้าไปกลางสวนเต็มๆ คือยายรวย เพราะที่แกกั้นกลางระหว่างทางที่จะทะลุไปทางหนองน้ำพอดี

"...โดนเข้าไปร่วมสองงานเลยนะนั่น..." ยายรวยบ่นทุกทีที่เห็นแนวลำคลอง

"...เอาเหอะ...เพื่อส่วนรวม..." น้าหวี ปลอบ

 

ถึงแม้ การชลประทานกำลังจะไปทั่วถึงพื้นที่เกษตร แต่ชาวบ้านก็รู้ดีว่า พอถึงหน้าแล้ง แม้คลองส่งน้ำจะใหญ่ หรือทอดยาวไปไกลแค่ไหน ก็อาจช่วยอะไรไม่ได้ เพราะปริมาณการใช้น้ำ มันมากกว่าปริมาณน้ำที่ได้


ฟังดูเหลือเชื่อ แต่มันเป็นเรื่องจริง


และปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ใช่แค่ปัญหาส่วนรวม อย่างน้ำน้อย ไม่พอใช้ หรือน้ำมาก จนท่วม เท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องของการใช้น้ำ "ร่วมกัน" ด้วย

 

เมื่อปีก่อน น้าชน กับลุงล้วน เกือบจะได้ขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะมีเรื่องกับไอ้ดุก

เรื่องของเรื่อง คือ ตอนนั้นทุกคนเขาทำนากันหมดแล้ว หว่านกันแล้ว ข้าวก็งอกแล้ว ต้องการเพียงแค่น้ำเพื่อเลี้ยงให้ข้าวโตเท่านั้น

แต่ไอ้ดุก มาทำนาทีหลังชาวบ้านเขา เนื่องจากเมียมันคลอดลูก มันจึงต้องดูแลครอบครัว กว่าจะเรียบร้อย กว่าจะมีเวลามาทำนา ต้นข้าวในนาของคนอื่นก็สูงเกือบคืบแล้ว


ไอ้ดุก ต้องการเปิดน้ำมาทำนา ซึ่งต้องเป็นน้ำปริมาณมากเสียด้วย เนื่องจากมันทำนาหลายไร่

งานนี้น้าชน กับลุงล้วน ซึ่งมีที่นาติดกับไอ้ดุกจึงยอมไม่ได้ เพราะถ้าน้ำมาก มันก็จะท่วมนาของทั้งสอง พลอยทำให้ต้นข้าวจมน้ำไปด้วย

น้าชน กับลุงล้วน ว่าไอ้ดุกที่ไม่ทำนาพร้อมคนอื่น จะมาทำทีหลังก็ทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อน


ไอ้ดุกก็บอกว่า น้าชน กับลุงล้วนใจแคบ ไม่ยอมเห็นใจมันมั่ง แล้วไอ้เรื่องน้ำจะท่วม ก็ไม่น่าจะท่วมนาน ถ้าปิดทางน้ำที่ต่อระหว่างนาเสีย มันก็แค่ซึมไป เดี๋ยวก็ลด

แต่น้าชน กับลุงล้วน ส่ายหน้าไม่เอาด้วย ก็ใครจะไปอยากเสี่ยงให้น้ำท่วมนาตัวเอง

ต่างฝ่ายต่างยืนยันและไม่ยอม


ไอ้ดุก ประกาศจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากน้ำชนกับลุงล้วน เพราะมันเตรียมเมล็ดพันธุ์ เตรียมไถ เตรียมปุ๋ย ยาไว้พร้อมหมดแล้ว ถ้าไม่ได้ทำนามันก็สูญ


แต่ก่อนที่จะเรื่องจะลุกลามไปไกล ทั้งกำนัน ทั้งอบต. ก็รีบเข้ามาห้ามศึก เจรจากันจนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า กำนัน ควักเงินส่วนตัวจ่ายค่าเสียหายให้ไอ้ดุกไปส่วนหนึ่ง แล้วบอกให้มันทำนาคราวหน้า ไอ้ดุกแม้ไม่ค่อยพอใจนัก แต่ก็ต้องยอมรับ

 

หน้าแล้งปีนี้เกิดเหตุซ้ำแบบปีก่อนอีกครั้ง เมื่อน้าตุ้ย จะเปิดน้ำทำนา เพราะทางชลประทานเขาประกาศมาแล้วว่า จะเปิดน้ำให้สำหรับทำนาเป็นเวลาครึ่งเดือน ข้าวราคาดีอย่างนี้ใครต่อใครก็อยากทำ ทว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เอาที่นาไปปลูกพืชล้มลุกกันหมดแล้ว จึงมีเพียงส่วนน้อยที่คิดจะทำนา


ถ้าลำพังน้าตุ้ยจะเปิดน้ำเข้านาตัวเองก็ไม่เท่าไร แต่ ที่นาของน้าตุ้ยอยู่ติดกับที่นาของพี่ชุมกับพี่แหวว สองสามีภรรยา ที่ปลูกแตงโมเต็มไร่ อีกแค่สิบกว่าวันก็จะเก็บได้แล้ว


งานนี้ไม่ต้องถึงกับน้ำท่วมไร่ แค่น้ำซึมมาถึง แตงโมก็มีสิทธิ์เน่าทั้งหมด


พี่ชุมขอร้องให้น้าตุ้ยรอก่อนเพราะแตงโมแกใกล้จะเก็บได้แล้ว แต่น้าตุ้ยยืนยันว่าแกจะต้องเปิดน้ำทำนาให้ได้ เพราะถ้าเลยช่วงนี้ไปแล้ว ชลประทานจะงดส่งน้ำ แกก็จะหมดสิทธิ์ทำนา


พูดยังไงก็ไม่ฟัง น้าตุ้ยอ้างว่าเป็นสิทธิ์ของแกที่จะเปิดน้ำทำนา ไม่มีใครมาห้ามแกได้


งานนี้พี่ชุม พูดไม่ออก จำต้องยอมรับแบบช้ำใจสุดๆ ไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องบาดหมางใหญ่โต เพราะ น้าตุ้ยก็ใช่ใครที่ไหน เป็นพี่คนโตของพี่แหวว แฟนแกนั่นเอง

 

กรณีพิพาทแบบนี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเอง แค่ได้ยินได้ฟังก็ยังหดหู่

ชาวบ้านก็เห็นใจทั้งสองฝ่ายเพราะมันก็ญาติๆ พี่น้องกันทั้งนั้น

แต่เรื่องอย่างนี้มันไม่เข้าใครออกใคร หากคนเรายังยืนยันว่าตัวเองถูก ไม่ฟังใคร ไม่ประนีประนอมรอมชอมกัน จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

สำนวนที่ว่า เลือดข้นกว่าน้ำ

คงต้องเปลี่ยนเป็น

น้ำข้นกว่าเลือด

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…