Skip to main content

แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

แม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนา

หมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระ

แกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว พวกทหารญี่ปุ่นเกณฑ์เชลยศึกที่เป็นฝรั่งมาสร้างทางรถไฟอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน เชลยศึกพวกนี้ผอมโกรกแต่ต้องทำงานหนัก พอไม่มีแรงก็โดนเฆี่ยนโดนตี ที่ทนไม่ไหวตายไปก็มาก มีชาวบ้านสงสารเอาอาหารมาให้ พวกทหารญี่ปุ่นรู้เข้าก็ห้าม มีแม่ค้าคนหนึ่งสงสารพวกฝรั่งมาก แต่จะเอาของกินไปให้ก็กลัวพวกญี่ปุ่น เลยทำอุบายเอาหาบใส่ของมาเจาะรู พอเข้ามาใกล้บริเวณที่ทำทางรถไฟ ก็เอาขนมเอาผลไม้มาใส่หาบ เดินไปเขย่าไป ผลไม้ก็ร่วงลงตามทาง พวกเชลยฝรั่งก็มาเก็บไปกิน พอพวกผู้คุมมาเอาเรื่อง แกบอกว่า มันร่วงของมันเอง ไม่ได้ตั้งใจจะให้

ชะรอยว่า เชลยฝรั่งคงจะซึ้งใจจนกลายเป็นความรัก เพราะพอสถานการณ์พลิกกลับ ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยเหนืออักษะ ทหารญี่ปุ่นล่าถอยไป เชลยได้รับการปลดปล่อย อดีตเชลยคนหนึ่งก็พาแม่ค้าคนนั้นขึ้นเครื่องบินกลับไปอยู่เมืองฝรั่งด้วย

ผลจากสงครามโลกครั้งที่สอง ยังมีต่อชุมชนแถบนั้นอีกสองอย่าง คือหนึ่ง สนามบินที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ ได้กลายมาเป็นตลาดค้าส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ของอำเภอท่ายาง ที่เรียกกันว่า “ตลาดหนองบ้วย” และสอง ทหารญี่ปุ่นติดใจ “กล้วยหอมทอง” ของท่ายางมาก จึงทำให้กล้วยหอมทอง กลายเป็นผลไม้ส่งออกญี่ปุ่นเป็นประจำนับแต่นั้นมา

ผมฟังหนแรก รู้เลยว่า นี่คือเรื่องจริงที่สามารถเปลี่ยนเป็นเรื่องเล่าชั้นดีได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือนวนิยาย

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องผีที่ยายหอมบอกว่าเป็นเรื่องจริงในสมัยก่อน คือมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อยายสุ่ม มีผีมาบอกว่าจะยกสมบัติให้ แต่แกปฏิเสธเพราะกลัวว่าจะต้องตายแล้วกลายไปเป็นผีเฝ้าสมบัติแทน ผีก็มาตื๊อไม่ยอมเลิก เอาไหใส่เพชรพลอยเต็มใบมาให้ดูกลางวันแสกๆ แกก็ไม่เอา พอแกจะไปทำนา ทำไร่ หรือออกไปไหน ผีก็ยกเอาไหใส่สมบัติตามไป ยายสุ่มเห็นเมื่อไรก็ต้องร้องว่า “...กูไม่เอาๆ เอาคืนไป...” ไหสมบัติมันลอยตาม แกก็ต้องวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิง เป็นอย่างนี้อยู่นานหลายปี แน่นอนในเมื่อเป็นเรื่องผี เรื่องทั้งหมดแกจึงเห็นของแกอยู่คนเดียว

ฟังเรื่องนี้แล้วคิดภาพตามอาจสงสัยว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นคนสติไม่ดีหรือเปล่า แต่เปล่าเลย ยายสุ่มเป็นคนปกติ เพียงแต่จะเกิดอาการเวลาที่แกเห็นไหสมบัติของผี(ซึ่งไม่มีใครมองเห็น)เท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องดังที่คนแถวนั้น ในสมัยนั้นรู้จักกันทุกคน

ถ้าเป็นสมัยนี้ มีผีมายกสมบัติให้ คงจะวิ่งเข้าหารีบคว้าเอาไว้ก่อน เผลอๆ มีแย่งกันด้วย

เรื่องของยายหอมเองก็มี
แกเคยโดนงูกะปะงับเข้าที่เท้าซ้าย อาการสาหัสชนิดที่ว่า ต้องตัดเท้าทิ้งเท่านั้นแต่ “หลวงพ่อทองสุข” เกจิฯ ระดับตำนาน แห่งวัดโตนดหลวง ได้ช่วยรักษาจนหายเป็นปกติอย่างน่าอัศจรรย์

ทีแรกผมก็ไม่ทราบว่า หลวงพ่อทองสุข เป็นตำนานระดับไหน จนกระทั่ง มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระเครื่องท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า  ก็ระดับที่ เหรียญหลวงพ่อทองสุขรุ่นแรก ปัจจุบัน คนที่มีเขาเก็บใส่ตู้เซฟกันแล้ว

ยายหอมแกชอบเล่าเรื่องสมัยสาวๆ เพราะแกเป็นคนสวย ทำขนมเก่ง พอไปขายขนมในงานวัดก็มีหนุ่มๆ มารุมจีบ พอผัวแกเห็นเข้าก็หึง เลิกขาย เก็บของกลับบ้านทันที

เวลาเล่าเรื่องตอนที่แกเป็นสาวเสน่ห์แรง แกจะชอบใจมาก เล่าไปหัวเราะไป คนฟังต้องระวังดีๆ เดี๋ยวน้ำหมากกระเด็นใส่

ยายหอมกินหมากจัด ปากแดงทั้งวัน เข้าวัยแปดสิบ แกเดินหลังค่อม ต้องใช้ไม้เท้า แต่ยังหูตาดี เสียงดัง ปากจัด ไม่กลัวใครทั้งนั้น ลูกหลานคนไหนแกไม่ชอบ หรือไม่ถูกใจแกด่าเปิง แต่ถ้าคนไหนแกรัก ทำอะไรก็ถูกไปหมด

แกเป็นคนรุ่นที่เห็นไปรษณีย์ตอนล่วงเข้าวัยกลางคน เห็นโทรทัศน์กับโทรศัพท์ตอนมีหลานหลายคนแล้ว แกเห็นมาตั้งแต่มีเกวียน จนกระทั่งเกวียนเล่มสุดท้ายหมดไปและรถคันแรกแล่นเข้ามา

แกเล่าว่า สมัยก่อนจะเข้าเมืองเพชรฯ ก็ต้องออกเดินแต่เช้ามืด ไปถึงค่ำๆ  
“...ไอ้ห้างใหญ่ๆ ที่พวกมึงชอบไปกันน่ะ เมื่อก่อนเป็นที่ขี้กู...” แกเกทับ เพราะที่ตั้งห้างใหญ่ตอนนี้ เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนเป็นป่าต้นสะแก ที่ใครผ่านก็ต้องแวะปลดทุกข์

สมัยที่แกเป็นสาว อยากได้น้ำตาลก็ต้องปลูกอ้อย อยากได้ฟืนได้ถ่านก็ต้องตัดต้องเผา อยากกินขนมก็ต้องโม่แป้ง    
แกชอบบอกหลานๆ ว่า “...สมัยพวกมึงสบาย อะไรก็มีขาย สมัยกู อยากได้อะไรต้องทำเองหมด...” ดังนั้น แม้แกจะมีฝีมือทำขนมอร่อย มีสูตรโบราณหลายสูตร แต่เวลาหลานๆ มาขอสูตรเพื่อลองทำบ้าง แกจึงบอกปัดรำคาญแกมประชดว่า
“...อย่าทำเลย พวกมึงไปซื้อกินเอาเหอะ ง่ายดี...”
    
เนื่องจากเป็นคนรุ่นบุกเบิก ยายหอมเลยมีที่เยอะ อยู่ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ขายไปก็มาก ให้ลูกให้หลานก็มี แต่ลูกหลานที่อยู่ดูแลแกจริงๆ มีอยู่แค่ไม่กี่คน

พระแก่ๆ แถวนั้น รู้จักแกดี เพราะแกชอบทำบุญทีละมากๆ ซื้อเสาศาลาวัดบ้าง บริจาคทีละหลายหมื่นบ้าง แต่ถ้าแกไม่สนใจ ต่อให้มาหว่านล้อมแค่ไหนแกก็ไม่ให้ เคยมีคนมาขายพระแล้วอวดอ้างสรรพคุณว่า ถ้าซื้อแล้วไปถวายวัด ยายจะหายเจ็บหายป่วย ร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว ได้บุญกุศลแรง หน้าตาอ่อนเยาว์ มีสง่าราศี เดี๋ยวจะถูกหวย เงินทองไหลมาเทมา ฯลฯ

ปรากฎว่าแกด่าคนขายเผ่นแน่บไปเลย
    
วันที่ยายหอมเริ่มไม่สบาย แกบอกว่า มีเส้นใยอะไรก็ไม่รู้ออกมาจากหน้าแก ดึงเท่าไรก็ไม่หมด แต่ให้คนอื่นมาจับก็ไม่เห็นมีอะไร แต่แกเถียงว่ามี แล้วแกก็นั่งแกะนั่งดึงทั้งวันทั้งคืน

แกให้ลูกหลานพาไปรักษาหลายที่ ทั้งหมอแผนปัจจุบัน ทั้งพระ ทั้งคนทรง ตระเวนไปทั่วเพชรบุรี ท่ายาง ชะอำ พระองค์หนึ่งมาดูอาการยายหอม แล้วท่านก็บอกลูกหลานว่า เป็นกรรมเก่าของแก รักษาไม่หายหรอก

ปีกว่าๆ ต่อมาแกก็ไม่สบาย เดินไม่ค่อยไหว อาการทรุดลงเรื่อยๆ  
เช้าวันหนึ่งแกก็จากไปอย่างสงบ

ยายหอมเป็นย่าของภรรยาผม แกให้ความเอ็นดูผมเหมือนเป็นหลานอีกคนหนึ่ง
เรื่องที่แกเล่าหลายๆ เรื่อง สำหรับผม มันฟังดูเหลือเชื่อ แต่สำหรับแกมันเป็นเรื่องปกติ
ทว่า เรื่องปกติในสมัยนี้ หลายเรื่อง เมื่อได้รู้ แกไม่อยากเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง
เวลาที่ผมมองรูปถ่ายแก(แน่นอน-รูปสมัยยังสาวที่แกภูมิใจ) ผมมักจะคิดถึงเรื่องที่แกเล่า และบุคลิกแบบคนโบราณของแก

เรื่องราวในอดีต ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับความตายของคนสมัยนั้น
ในอนาคต เมื่อปัจจุบันของเรากลายเป็นอดีต หัวใจของเรา อาจล้าต่อยุคสมัยเสียแล้ว ความชราภาพถีบเราออกห่างจากคนหนุ่มคนสาว

แต่สำหรับยายหอม แกไม่เคยกลัวยุคสมัย ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าล้า ทั้งไม่เคยสนใจหรือตื่นเต้นตกใจต่อเทคโนโลยีความก้าวล้ำใดๆ ทั้งสิ้น  

ครั้งหนึ่ง หลานคนหนึ่ง โทรมาหาหลานอีกคนหนึ่ง บอกว่าอยากคุยกับแก หลานก็เลยยื่นโทรศัพท์มือถือให้ ยายหอมแกจับผิดๆ ถูกๆ เอาด้านที่ฟังมาพูด เอาด้านที่พูดมาฟัง พอหลานหัวเราะ แกด่าเปิง

“...ห่า...ก็กูไม่รู้นี่หว่า...พวกมึงมันบ้า คุยกับท่อนอะไรอยู่ได้ทั้งวัน...”
    

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…